8 ต.ค. 2020 เวลา 03:07 • ปรัชญา
เมื่อเริ่มเรียกตัวเองว่า “นักสะสม” ข้าวของที่เราปรารถนาจะสะสมก็ทวีคูณขึ้น
คล้ายกับว่ามันได้กลายเป็น “สิ่งเรียกเพื่อน” คือเรียกพวกมาเพิ่มเรื่อยๆ
ยิ่งสะสมได้มาก ก็ยิ่งรู้สึกเท่ รู้สึกยิ่งใหญ่ และภาคภูมิใจ
เชื่อมั่นแน่วแน่ว่า “นี่คือความสุข”
จนลืมสังเกตว่า “เราสูญเสียอะไรไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่าสะสม”
“คอลเล็กชั่นใหม่” “ลิมิเต็ดอิดิชั่น” “สีพิเศษ”
“รับฤดูกาลพิเศษ” “จำนวนจำกัด” “สั่งทำเฉพาะคุณ”
คำเหล่านี้ลอยล่องล่อตาล่อใจให้กดโอนเงินไวว่อง
เพียงกดโอน ก็ได้สัมผัสประสบการณ์ “นักสะสมสุดเจ๋ง”
นอกจากเสียเงินซึ่งบางครั้งก็ควรเก็บไว้ยามฉุกเฉิน
บรรดานักสะสมยังเสียเวลาในการตามล่าหาแรร์ไอเท็มทั้งหลาย
อันที่จริงการสะสมสิ่งของก็ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย
เพราะของสะสมบางอย่าง ก็ให้ความสุขทางใจ
บางอย่างก็มีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต แต่ก็ควรสะสมอย่างมีสติ
ที่สำคัญคือ ถามตัวเองให้ชัดเจน
ว่าที่เรากำลังสะสมอยู่นั้น เป็นการสะสมจากความปรารถนาของเราจริงๆ
หรือเพียงเพราะตามกระแส ทั้งจากเพื่อนและจากสื่อโฆษณาต่างๆ
การสะสมตามกระแสโลก เมื่อพ้นกระแส ก็ตกกระแส
แต่ถ้าสะสมตามที่เราตั้งจิตตั้งใจจริงๆ แม้จะไม่ใช่ของยอดฮิตแล้ว
แต่เราก็ยังจะรู้สึกดีที่ได้สะสมต่อไป
ถ้ายังนึกไม่ออก หาไม่ได้ ว่าจะเป็นนักสะสมอะไรดี
ระหว่างที่ถามใจตัวเอง
ก็ลองสะสมบุญบารมี สะสมสติไว้กับตัว ก็น่าจะดีไม่เบา
เพราะการสะสมที่ว่านั้น
ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใดก็ไม่ล้าสมัย
ธรรมทันธีร์
8/10/2020
โฆษณา