10 ต.ค. 2020 เวลา 01:10 • ไลฟ์สไตล์
ปาท่องโก๋ - จากเมืองจีนถึงสเปน
1
ข่าวเกี่ยวกับบริษัทการบินไทยทำปาท่องโก๋ขายมีรายได้เดือนละกว่า 10 ล้านบาทกำลังเป็นข่าวที่ฮือฮากันไปทั่วทำให้มีคนไปต่อคิวซื้อปาท่องโก๋การบินไทยกันยาวเหยียด
ขอบคุณภาพประกอบที่ส่งเวียนกันมาทาง Line
เรื่องของเรื่องก็คือนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการและรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งว่า ขณะนี้ปาท่องโก๋การบินไทยและสังขยาเจ้าจำปีของครัวการบินได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า พบว่ายอดขาย 5 สาขาในกรุงเทพมหานคร จำหน่ายได้วันละ 4-5 แสนบาทหรือประมาณเดือนละกว่า 10 ล้านบาท!!!
นับเป็นข่าวดีของบริษัทการบินไทยนะครับ จากบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินจนใกล้จะล้มละลายสามารถหาของมาขายทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ก็น่าจะเปลี่ยนแผนฟื้นฟูกิจการจากสายการบินมาขายปาท่องโก๋แทนก็ดีเหมือนกันนะครับ
1
วันนี้เรามาพูดถึงเรื่องของปาท่องโก๋ดีกว่านะครับ เรื่องประวัติของปาท่องโก๋นั้นก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า เป็นขนมที่ชาวบ้านจีนในสมัยราชวงศ์ซ้องทำเพราะมีเหตุเจ็บแค้นต่อฉิ่งก่วย (秦檜) ขุนนางกังฉินที่ทำให้งักฮุย (岳飛) ขุนนางผู้ซื่อสัตย์ต้องถูกประหารชีวิต เลยทำเป็นรูปคนสองคน(คือฉิ่งก่วยและภรรยา)ติดกันแล้วนำมาทอดน้ำมันร้อน ๆ สาปแช่งให้ตายไปตกนรกหมกไหม้ในกระทะทองแดง Gourmet Story คงไม่จำเป็นต้องไปฉายหนังซ้ำอะไรอีกมากมาย
ใครที่มีเชื้อสายจีนก็คงจะได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เรียกขนมทอดน้ำมันนี้ว่า “อิ่วจาก้วย” ไม่มีใครในหมู่คนจีนเรียกปาท่องโก๋เลย ในบอร์ดของเว็บ “postjung.com” โดยคุณ AugustVinth บอกเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
“ชื่อแรกสุดของอิ่วจาก้วย จึงเป็น 油 炸 檜 (ออกเสียงว่า อิ่วจาก่วย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ โหยวจาหุ้ย ในสำเนียงจีนกลาง) หมายถึงเอาขุนนางกังฉินที่ชื่อก่วย (檜) มาทอดในน้ำมัน
รูปปั้นฉิ่งก่วยและภรรยาถูกลงโทษ ขอบคุณภาพประกอบจาก 維基小霸王 ใน Wikimedia Commons
ต่อมาเมื่อฉิ่งก่วยตายเป็นผีไปแล้ว จึงเปลี่ยนเป็น 油 炸 鬼 (ออกเสียงว่า อิ่วจากุ้ย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ โหยวจาเกว่ย ในสำเนียงจีนกลาง 鬼 แปลว่า ผี) และปัจจุบันเป็น 油 炸 粿 (ออกเสียงว่า อิ่วจาก้วย ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ โหยวจาโกว่ ในสำเนียงจีนกลาง 粿 แปลว่าขนม)”
คือเปลี่ยนแต่คำท้ายแต่ออกเสียงคล้ายกัน แต่ในปัจจุบันขนมมีชื่อเรียกใหม่อีกชื่อหนึ่งว่า Youtiao (油条) ซึ่งแปลว่าแป้งทอดเท่านั้น
ก็ต้องบอกว่าคนไทยเรียกชื่อขนมนี้ผิด แล้วคำว่า “ปาท่องโก๋” มาจากไหน? ในโพสต์ของคุณ AugustVinth อันเดิมบอกไว้ว่า
“ปาท่องโก๋ เป็นชื่อของขนมอีกชนิดหนึ่ง คือ 白糖糕 อ่านออกเสียงว่า ปะถ่องโก๊ ในสำเนียงจีนกวางตุ้ง หรือ แปะถึ่งกอ ในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว หรือ ไป่ถางกาว ในสำเนียงจีนกลาง
白 แปลว่า ขาว 糖 แปลว่าน้ำตาล 糕 แปลว่าขนมที่เป็นก้อน
白 糖 糕 เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาลทรายขาว นึ่งในถาด แล้วตัดขายเป็นชิ้นๆ เนื้อขนมมีลักษณะพรุน ไม่เนียน ไม่เรียบเป็นมันเท่าขนมเปียก แต่ไม่แห้งเท่าขนมถ้วยฟู เปียกประมาณขนมน้ำดอกไม้ เหนียวนิดๆ เคี้ยวหนึบๆ สีขาวบริสุทธิ์”
1
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.huangkitchen.com
แต่เหตุที่ทำให้คนไทยไปเรียก “อิ่วจาก้วย” ว่า “ปาท่องโก๋” ว่ากันว่าเดิมขนม 2 ชนิดนี้ขายร่วมกัน ต่อมาปาท่องโก๋ไม่ได้รับความนิยม จึงเลิกขายไปคงเหลือแต่อิ่วจาก้วย แต่คนไทยก็ยังคงเรียกขนมนี้ว่า “ปาท่องโก๋”คนไทยเลยได้เป็นเพียงชาติเดียวในโลกที่เรียก “ปาท่องโก๋” เพราะที่อื่น ๆ เขาก็เรียก “อิ่วจาก้วย” กันทั้งนั้น แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร “อิ่วจาก้วย” หรือ “ปาท่องโก๋” ก็อร่อยแน่นอน ทอดมาร้อน ๆ จะกินเปล่า ๆ ก็ได้ จิ้มสังขยาก็ได้ หรือถ้าเป็นนมข้นหวานยิ่งดีใหญ่ เอามาใส่โจ๊กก็ได้ ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เขาก็เอาใส่ต้มกระดูกหมูหรือที่เรียกกันว่า “ไปกุ๊ดเต๋” ก็อร่อยไปทั้งนั้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.hungrygowhere.com
มีขนมของชาวสเปนอยู่อย่างหนึ่งที่คนไทยเรียกกันเล่น ๆ ว่า “ปาท่องโก๋สเปน” ขนมนั้นก็คือ “ชูโรส” (Churros)
ชูโรส เป็นขนมแป้งทอดที่เป็นอาหารของชาวสเปน ทำจากแป้งโดด ๆ ไม่มีไส้ ไม่มีอะไรผสม อุ่นเนยให้ร้อนเป็นน้ำมัน แล้วใส่เกลือ น้ำตาล กับน้ำเปล่า คนให้เข้ากันเสร็จแล้วก็โรยผงแป้งลงไปคลุกจนงวด ตัวแป้งกลายเป็นดินน้ำมัน ใส่ไข่ไก่ลงไปแล้วนวดต่อจนไข่ไก่ผสมเป็นเนื้อเดียวกับแป้ง เอาแป้งใส่ถุงบีบ(piping bag)ที่มีหัวบีบเป็นรูปดาว บีบแป้งออกมาเป็นเส้นลงทอดในกระทะน้ำมัน พอเป็นสีน้ำตาลแล้วตักขึ้นเอามาคลุกกับน้ำตาลที่ผสมผงซินนามอน ก็เป็นอันเสร็จพิธี เอามารับประทานได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก https://mooshujenne.com/
ชูโรสเป็นขนมที่มีประวัติพิสดารอยู่ไม่น้อย มีสายหนึ่งเชื่อว่าขนมนี้มาจากประเทศจีนและเป็นเชื้อสายของปาท่องโก๋ ที่ไปโผล่ในทวีปยุโรปได้เพราะนักสำรวจชาวโปรตุเกสในอดีตที่มาถึงเมืองจีนนำกลับไป แต่ในโปรตุเกสเองคนกับไม่ค่อยนิยม ผลสุดท้ายกลับไปนิยมในประเทศเพื่อนบ้านคือสเปนแทน ก็แปลกเหมือนกันนะครับ
ที่น่าแปลกใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวสเปนจะกินชูโรสเป็นอาหารเช้าเช่นเดียวกับปาท่องโก๋ แต่ก็ไม่ได้เอาไปใส่โจ๊กอย่างคนจีน เสียดายที่นักสำรวจชาวโปรตุเกสไม่ได้เอาโจ๊กกลับไปเผยแพร่ด้วย ไม่อย่างนั้นเราอาจจะเห็นชาวสเปนกินโจ๊ก(แบบสเปน)กับชูโรส
แต่วิธีที่ชาวสเปนนิยมกินชูโรสก็คือ กินกับช็อกโกแลต โดยชงช็อกโกแลตร้อนเป็นเครื่องดื่ม แล้วเอาชูโรสลงไปจิ้มกิน หรือโดยอีกวิธีหนึ่งก็คือ เอาชูโรสไปจิ้มในช็อกโกแลตเหลวหวาน ๆ แบบเดียวกับที่เราเอาปาท่องโก๋ไปจิ้มนมข้นหวาน ก็อร่อยไปอีกแบบ ความจริงในเมืองไทยใครจะทำแบบฟิวชั่นด้วยการเอาปาท่องโก๋ไปจิ้มช็อกโกแลต ก็ดูท่าทางจะอร่อยไม่เบาเหมือนกัน
1
ขอบคุณภาพประกอบจาก Roger Sherman photo จาก www.florentinefilms.com
ร้านขายชูโรสจิ้มช็อกโกแลตที่มีชื่อเสียงร้านหนึ่งของกรุงมาดริด เมืองหลวงของประเทศสเปนคือร้าน Chocolatería San Ginés ร้านนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1894 นับอายุได้ก็ 130 ปีมาแล้วนะครับ ร้านนี้จำหน่ายชูโรสกับช็อกโกแลตเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ใครที่มีโอกาสผ่านไปกรุงมาดริดก็สามารถไปแวะชิมดูได้ แต่ถ้าไม่ได้ไป ร้าน Chocolatería San Ginés นี้ก็ยังมีสาขาในโตเกียวและเซี่ยงไฮ้ให้ไปลิ้มลองได้
1
แต่ในสถานการณ์ covid ที่การท่องเที่ยวต่างประเทศไม่อาจทำได้โดยสะดวกอย่างทุกวันนี้ ใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ไป ถ้าหากอยากลองชิมชูโรสในเมืองไทยก็มีขายตามร้านอาหารสเปนหรือร้านขนมหวานก็มีหลายร้าน รสชาติก็ไม่ได้แตกต่างจากของแท้ในประเทศสเปนแต่อย่างใด
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นความรู้ เล่าสู่กันฟัง
เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา