Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ประวัติศาสตร์กันเอง
•
ติดตาม
10 ต.ค. 2020 เวลา 11:02 • ประวัติศาสตร์
ความสำคัญของเวลากับประวัติศาสตร์
เนื่องจากบริบทสำคัญที่ควรคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาในการศึกษาประวัติศาสตร์คือ กาลเวลาและสถานที่ เพราะประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์ทั้งกิจกรรม เหตุการณ์ ปรากฎการณ์ทางสังคม และประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามกาลเวลาและสถานที่ โดยอาศัยการผลักดันและปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยหลากหลายชนิดร่วมกันในระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นอย่างที่ได้เกิดไปแล้วและไม่เกิดเป็นอย่างอื่น ด้วยเหตุนี้เวลากับประวัติศาสตร์ล้วนมีความสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาประวัติศาสตร์หรือการวิจัยทางประวัติศาสตร์
3
มนุษย์ในสังคมต่างมีความสัมพันธ์กับอดีต โดยเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมีความเกี่ยวข้องผูกพันกันอยู่ เนื่องจากมนุษย์ได้สร้างเครื่องบอกเวลาหรือนาฬิกาเพื่อบ่งชี้ว่ามนุษย์ให้ความสำคัญกับเวลา และตั้งศักราชต่างๆขึ้นมา เช่น คริสต์ศักราช (ค.ศ.) พุทธศักราช (พ.ศ.) รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นต้น เพื่อบ่งบอกว่ามนุษย์ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์โดยอาศัยช่วงเวลาในการเทียบเคียงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถมองความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ความสำคัญของเวลากับประวัติศาสตร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ประการสำคัญดังต่อไปนี้
ประการแรก เวลาสามารถบ่งบอกได้ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อใด สิ้นสุดในเวลาใด และเป็นระยะเวลาเท่าใด อาทิเช่น กรุงธนบุรีเป็นราชธานีของสยามประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2310 – 2325 เป็นระยะเวลา 15 ปี และสงครามสามนครระหว่างหริภุยชัย ลวปุระหรือละโว้ และตามพรลิงก์ ตั้งแต่ พ.ศ.1467 – 1470 เป็นระยะเวลา 3 ปี
ประการที่สอง ช่วงเวลาเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นมานานเท่าใด เช่น พ.ศ.2460 รัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นอีกกรมหนึ่งในกระทรวงธรรมการ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็สังกัดอยู่ในกรมนี้ ดังนั้น เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นมานานกว่า 100 ปี (พ.ศ. 2560 หักลบ 2460)
ประการที่สาม กาลเวลาทำให้ทราบความต่อเนื่องของเหตุการณ์หรือความเป็นเหตุเป็นผลของเหตุการณ์นั้น เช่น ประเทศสหภาพโซเวียตได้ตั้งขึ้นและกลายเป็นประเทศอภิมหาอำนาจในเวลาต่อมา นับตั้งแต่ ค.ศ.1945 เป็นต้นมา ในช่วงสิบปีหลัง ค.ศ.1970 สหภาพโซเวียตขึ้นถึงจุดสูงสุดแห่งอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองของโลก แต่เมื่อถึงปลาย ค.ศ.1991 กลับถึงกาลล่มสลายอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นต้น
ประการที่สี่ เวลาสามารถเปรียบเทียบเหตุการณ์ต่างๆได้ว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง อาทิเช่น การเปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างการเปลี่ยนชื่อจากสภาคณะกรรมาธิการประชาชนเป็นสภามนตรีแห่งสหภาพโซเวียตรุสเซียใน ค.ศ.1946 กับการตั้งโรงเรียนกฎหมายครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2440 เมื่อใช้การเทียบเคียงทางประวัติศาสตร์เปลี่ยนจาก ค.ศ. ให้เป็น พ.ศ. คือ 1946 บวกด้วย 543 เท่ากับ พ.ศ.2489 หรือเปลี่ยนจาก พ.ศ. ให้เป็น ค.ศ. คือ 2440 หักลบ 543 เท่ากับ ค.ศ.1897 ดังนั้น เหตุการณ์การตั้งโรงเรียนกฎหมายครั้งแรกในสมัยรัชการที่ 5 เกิดขึ้นก่อนการเปลี่ยนชื่อจากสภาคณะกรรมาธิการประชาชนเป็นสภามนตรีแห่งสหภาพโซเวียตรุสเซีย
ประการที่ห้า ช่วงเวลาบ่งชี้ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกสถานที่หนึ่งตรงกับช่วงเหตุการณ์ใดในอีกสถานที่หนึ่ง เช่น สงครามระหว่างอิสราเอลและอาหรับในปี ค.ศ.1967 ตรงกับช่วงสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามตั้งแต่ปี ค.ศ.1963 – 1969 และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง , จูเนียร์ และโรเบิร์ท เอฟ. เคนเนดี้ ถูกลอบยิงเสียชีวิตในปี ค.ศ.1968 ตรงกับช่วงอียิปต์สูญเสียรายได้จากแหล่งน้ำมันในซีนายและคลองสุเอช ซึ่งต้องปิดการเดินเรือระหว่าง ค.ศ.1967 - 1975
ประการที่หก กาลเวลาทำให้นักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาสามารถวิเคราะห์และกำหนดรูปแบบต่างๆทางประวัติศาสตร์ได้สะดวกขึ้น เนื่องจากมีการนำการเทียบเคียงทางประวัติศาสตร์เข้ามาใช้ในการตีความและการวิจัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวางและศึกษาอย่างมีหลักเกณฑ์แบบแผนชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเวลาในรูปแบบต่างๆ เช่น ทศวรรษ ศตวรรษ สหัสวรรษ , สมัยก่อนประวัติศาสตร์กับสมัยประวัติศาสตร์ , ยุคเก่า ยุคกลาง ยุคใหม่ , ยุคต้น ยุคกลาง ยุคปลาย ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเวลาที่มีต่อประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น เวลากับประวัติศาสตร์ล้วนมีความสำคัญที่ช่วยให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เข้าใจได้ตรงกัน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์อื่นๆได้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ผู้อื่น สังคม ประเทศชาติ และโลกได้อย่างมากที่สุดเท่าที่ชีวิตหนึ่งของมนุษย์สามารถทำได้
1 บันทึก
8
2
1
8
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย