11 ต.ค. 2020 เวลา 01:39 • ประวัติศาสตร์
ประวัติของขุนพันธรักษ์ราชเดช
ที่มา: http://varitymeeinfo.blogspot.com/2016/03/4.html
เรื่องราวของขุนพันธรักษ์ราชเดชได้รับการกล่าวขานในสังคมอย่างกว้างขวางโดยได้ผลิตออกมาเป็นสิ่งพิมพ์เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงเรื่องราวของท่าน ซึ่งมีผลงานหรือหนังสือจำนวนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงประวัติของขุนพันธ์ไว้อย่างน่าสนใจใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ชีวิตในวัยเด็กหรือวัยเรียน ชีวิตการรับราชการตำรวจ และชีวิตหลังเกษียณอายุราชการดังสามารถอธิบายรายละเอียดได้ต่อไปนี้
ชีวิตในวัยเด็กหรือวัยเรียน: ผลงานที่กล่าวถึงช่วงชีวิตวัยเด็กหรือวัยเรียนของขุนพันธ์อย่างเห็นได้ชัดคือตำนานขุนพันธรักษ์ราชเดช จอมขมังเวทย์ผู้ปลุกกำเนิด ‘จตุคามรามเทพ’ (ปฏิภาณ บูรพา) ที่มีการเรียงลำดับเหตุการณ์ตามกาลเวลาให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าขุนพันธรักษ์ราชเดชเกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2442 ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ 5 ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกกับบิดาตั้งแต่ ก ข ก กา ไปจนจบ หลังจากนั้นได้เข้าสู่การศึกษาระบบโรงเรียนโดยเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน (พ.ศ.2455) เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วส่งผลให้เมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ได้ 1 วัน ทางโรงเรียนได้เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และวันรุ่งขึ้นเลื่อนให้เรียนชั้นประถมปีที่ 3 ต่อมาเมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 (พ.ศ.2456) ได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ และในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขณะเรียนที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรได้เรียนวิชามวย ยูโด และยิมนาสติกจากครูหลายคนจนมีความชำนาญพอสมควรสามารถได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนในการแข่งขันกีฬาจนได้รับรางวัล ต่อมาในปี พ.ศ.2468 ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐมด้วยความสามารถในด้านกีฬาโดยเฉพาะกีฬาประเภทมวย ทำให้โรงเรียนได้แต่งตั้งให้เป็นครูสอนมวยไทยขณะที่เรียนและมียศขณะนั้นคือสิบตรี
ชีวิตการรับราชการตำรวจ: หนังสือที่มีเนื้อหาในด้านการเป็นตำรวจมือปราบของขุนพันธ์อย่างเข้มข้นคือท่านขุนคนสุดท้ายของสยาม (เจริญ ตันมหาพราน) โดยสังเกตได้จากชื่อหัวข้อเรื่องที่มีความน่าสนใจเป็นส่วนใหญ่ เช่น ขุนโจรนามกระฉ่อน โค่นขุนโจรร่างยักษ์ เผชิญนักเลงจอมอาคม เป็นต้น ซึ่งได้บรรยายและอธิบายเหตุการณ์การจับโจรของขุนพันธ์ไว้อย่างละเอียดดังที่กล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างขุนพันธ์กับอะแวสะดอ ตาและว่า “เมื่อถูกขุนพันธ์เตะตัดขาซ้ำอีกตูม อะแวสะดอถึงกับล้มตึง คราวนี้ขุนพันธ์ฯ ทิ้งตัวลงทับล๊อคคอเอาไว้แน่น...” และพล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช สิงห์มือปราบสิบทิศ (สัมพันธ์ ก้องสมุทร) ได้บรรยายการปฏิบัติภารกิจของขุนพันธ์ไว้อย่างเด่นชัด อาทิ การต่อสู้ระหว่างขุนพันธ์กับเสือสายดังความว่า “การยิงต่อสู้ระหว่างเสือสายกับฝ่ายขุนพันธ์ดังระงมป่า...ครู่ต่อมาก็ได้ยินเสียงคนตกลงมาจากห้างด้านหน้าดังตุ๊บ!...จังหวะนั้นขุนพันธ์วิ่งเข้าประชิดทันที...” รวมถึงอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช ท.ม., ต.ช. ณ เมรุชั่วคราววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 ได้กล่าวถึงผลงานในฐานะนายตำรวจของขุนพันธ์มากถึง 49 หน้าโดยเน้นการกล่าวยกย่องเชิดชูมากกว่าเรื่องทั่วไปดังที่กล่าวว่า “...ว่าที่ ร.ต.ต.บุตร์ ได้สร้างวีรกรรมและแสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์หลายครั้ง เช่น เมื่อเดือนกันยายน 2473 ว่าที่ร้อยตรีบุตร์ พร้อมด้วย พลฯ เผือก ด้วงชู และนายขี้ครั่ง เหรียญขำ...ได้ไปติดตามจับตัวนายกลับ คำทอง ผู้ร้ายตัวสำคัญและนักโทษแหกคุก...”
ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ: โดยขุนพันธ์มีบทบาทโดดเด่นอย่างมากในการเป็นผู้นำการประกอบพิธีกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์เป็นอย่างสูง ซึ่งเปิดกรุของขลัง ขุนพันธรักษ์ราชเดช : ผู้สร้างตำนาน จตุคาม รามเทพ (ทศยศ) เป็นหนังสือที่กล่าวถึงขุนพันธ์ในด้านไสยศาสตร์และของขลังเป็นพิเศษดังที่กล่าวไว้ว่า “...ขุนพันธรักษ์ราชเดช...เป็นผู้แรกที่เป็นคนนำเรื่อง ‘ขัตติคามรามเทพ’ มาบอกกล่าวจนขณะนี้กลายเป็นกระแสหนึ่งของวัตถุมงคลในปัจจุบันที่ยากจะฝืนรั้งกระแสเอาไว้ จนกระทั่งผิดเพี้ยนกันใหญ่โตในวงการวัตถุมงคล เนื่องจากให้ความสำคัญกับเทพรักษาเมืองมากกว่า องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า...” นอกจากนี้มีการกล่าวถึงวัตถุของขลังของขุนพันธ์ เช่น กริชเจ้าเมืองไทรบุรี, กริชอะแวสะดอ ตาและ, ตะกรุดพิสมรเบี้ยวา, ดาบพระยาพิชัยดาบหัก (ดาบแดง) ฯลฯ และมีการอธิบายถึงการใช้อาวุธกับวิชาทางไสยศาสตร์ของขุนพันธ์ผสมผสานกันดังเช่นการนำปืนเมาเซอร์มาดัดแปลงต่อเป็นด้ามได้ ซึ่งด้ามไม้นั้นได้ประจุธาตุศักดิ์สิทธิ์หลายอย่าง อาทิ เพชรหน้าทั่ง ข้าวตอกเหล็ก และแร่เหล็กไหล
เพราะฉะนั้น สังเกตได้ว่าช่วงชีวิตของขุนพันธ์ทั้งสามช่วงนั้นช่วงที่ขุนพันธ์มีบทบาทปรากฏเด่นชัดที่สุดคือช่วงชีวิตการรับราชการตำรวจและชีวิตหลังเกษียณราชการ (พ.ศ.2473-2549) ซึ่งทั้งสองช่วงนี้สามารถสะท้อนถึงการเป็นยอดนายตำรวจอัจฉริยะที่แฝงไปด้วยความสามารถทางการต่อสู้ การปราบปราม การเข้าถึงผู้คน และวิทยาคมทางไสยศาสตร์ที่มีอยู่ในตัวของขุนพันธ์ได้เป็นอย่างดี
แหล่งข้อมูล:
1. ปฏิภาณ บูรพา. ตำนานขุนพันธรักษ์ราชเดช จอมขมังเวทย์ผู้ปลุกกำเนิด ‘จตุคามรามเทพ’. กรุงเทพฯ: สิริมงคลคำ, 2550.
2. เจริญ ตันมหาพราน. ท่านขุนคนสุดท้ายของสยาม. กรุงเทพฯ: ปราชญ์, 2554.
3. สัมพันธ์ ก้องสมุทร. พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช สิงห์มือปราบสิบทิศ. กรุงเทพฯ: วสี ครีเอชั่น, 2550.
4. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช ท.ม., ต.ช. ณ เมรุชั่วคราววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2550.
5. ทศยศ. เปิดกรุของขลัง ขุนพันธรักษ์ราชเดช : ผู้สร้างตำนาน จตุคามรามเทพ. กรุงเทพฯ: ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550.
โฆษณา