Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนในบัญชีและภาษี
•
ติดตาม
15 ต.ค. 2020 เวลา 11:58 • การศึกษา
นโยบายการเงินการคลัง
เคยสงสัยกันไหมคะ ว่านโยบายการเงินและการคลังต่างกันยังไง แต่มีคุณผู้อ่านท่านหนึ่งสนใจเรื่องนี้ เลยอยากให้ช่วยไขความสงสัยให้หน่อย เมื่อถูกเรียกร้องมาเช่นนี้ ผู้เขียนก็คงอยู่เฉยมิได้ ก็เลยอาสาไปค้นคว้าข้อมูลมาให้ค่ะ (แถมแทรกขึ้นมาให้ก่อนเลยนะคะ 😉) จะเป็นอย่างไรนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับความหมายกันสักนิดหนึ่งก่อนนะคะ
👉 การเงิน หมายถึง สิ่งที่สังคมยอมรับในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการ
1
👉 การคลัง หมายถึง การดำเนินการด้านการเงินของภาครัฐทั้งด้านรายรับและรายจ่าย
3
เมื่อเข้าใจความหมายกันไปแล้ว ต่อไปเราทำดูเกี่ยวกับนโยบายการเงินและนโยบายการคลังกันต่อเลยค่ะ
นโยบายการเงิน (Monetary policy)
คือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน ได้แก่ ปริมาณเงิน (Money supply) อัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate) และอัตราดอกเบี้ย (Interest rate) ทำโดยการปรับลด-เพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจที่จะมีผลต่อการกำหนดทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าหรืออ่อนค่า และการปรับลด-เพิ่มของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำหนดทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินค่ะ ซึ่งนโยบายการเงิน ก็มีดังนี้ค่ะ
⛳ นโยบายการเงินแบบขยายตัว (Expansionary monetary policy) สามารถทำได้หลายวิธีได้แก่
📌 การเปลี่ยนแปลงอัตราเงินสดสำรองที่ต้องดำรง (Reserve ratio) ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหมายถึง เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต้องฝากไว้กับธนาคารกลาง ซึ่งอาจกำหนดไว้ที่ร้อยละ 6 หมายถึงว่าหากธนาคารพาณิชย์รับเงินฝากจากประชาชนมา 100 บาท ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องฝากเงินสดสำรอง (Required reserve) ไว้ที่ธนาคารกลาง 6 บาท และเหลือเงินสดสำรองส่วนเกิน (Excess reserve) เพื่อปล่อยกู้ หรือลงทุนแสวงหากำไรอีก 94 บาท เป็นต้น
2
หากมีการปรับลดอัตราเงินสดสำรองเหลือร้อยละ 3 ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรองส่วนเกินเพื่อปล่อยกู้ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น 97 บาท เป็นต้น (เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อเพิ่มความเข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว เงินสดสำรองส่วนเกินดังกล่าวยังจะต้องผ่านกระบวนการสร้างเงินฝากของธนาคารพาณิชย์อีกกระบวนการหนึ่ง)
ซึ่งเมื่อธนาคารพาณิชย์มีเงินสดสำรองส่วนเกินมากขึ้น และกลไกการปล่อยสินเชื่อทำได้เต็มที่ จะทำให้การบริโภคและการลงทุนปรับสูงขึ้น การจ้างงานก็ปรับสูงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้
📌 การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือพันธบัตรของธนาคารกลางกับภาคเอกชน (Open market operation) การดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัว ธนาคารกลางจะซื้อหลักทรัพย์จากภาคเอกชน เพื่อปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการบริโภค การลงทุนและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป
2
📌 การเปลี่ยนแปลงอัตราซื้อลด (Discount rate) คือ การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารกลางคิดจากธนาคารพาณิชย์ การดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัวจะทำโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ซึ่งจะมีผลทำให้เงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
📌 การขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม (Moral suasion) เช่น การขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทที่มีความสำคัญ เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เป็นต้น
⛳ นโยบายการเงินแบบหดตัว (Contractionary monetary policy)
ทำได้โดยการเพิ่มอัตราเงินสดสำรอง การขายหลักทรัพย์ให้แก่ภาคเอกชน และการเพิ่มอัตราซื้อลด เป็นการดูดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางมักจะเลือกทำในยามที่ประเมินว่าเศรษฐกิจอาจจะร้อนแรงเกินไปจนอาจเกิดผลเสียตามมาในภายหลัง เช่นในช่วงที่เกิดฟองสบู่ในตลาดที่อยู่อาศัย หรือในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงๆ ในประเทศ เป็นต้น
นโยบายการคลัง (Fiscal policy)
คือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดหารายได้และการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยในการจัดหารายได้ของรัฐบาลจะมาจากการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ หลายช่องทาง ได้แก่
📌 จัดเก็บจากผู้ผลิต เช่น ภาษีนิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่เก็บจากบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ
📌 จัดเก็บจากผู้บริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เราเรียกกันว่า VAT
📌 จัดเก็บจากผู้มีรายได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1
นอกจากนี้ ยังมีภาษีอีกหลายประเภท เช่น ภาษีสรรพสามิต ที่จัดเก็บกับสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ บุหรี่ สุรา ไพ่ หรือภาษีนำเข้าเก็บจากสินค้านำเข้า เช่น ภาษีรถยนต์ น้ำหอม นาฬิกา และเครื่องสำอางค์ เป็นต้น
💦.....ภาษีที่จัดเก็บได้ รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค และการลงทุน ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ในแต่ละปี โดยปกติจะใช้จ่ายผ่านส่วนงานราชการ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน การจัดซื้ออาวุธ งบกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เป็นต้น
โดยรัฐมักจะนำเงินภาษีไปใช้ในการสร้างปัจจัยพื้นฐานให้กับระบบเศรษฐกิจ หรือใช้ในการผลิตสินค้าและบริการที่เอกชนไม่ผลิต หรือที่เรียกว่า สินค้าสาธารณะ (Public goods) เช่น การทหาร การสร้างถนนหนทาง สวนสาธารณะ สะพานลอย เป็นต้น
🚩 การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว
คือ การที่รัฐบาลใช้จ่ายมากกว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ หรือที่เรียกว่า งบประมาณขาดดุล ซึ่งอาจเลือกใช้ในยามที่เกิดปัญหาเงินฝืด หรือเศรษฐกิจถดถอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อรัฐบาลใช้จ่ายมากกว่าภาษีที่จัดเก็บได้ ก็เป็นเสมือนการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ก็ทำให้คนมีเงินเหลือเพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นต้น
🚩 การดำเนินนโยบายการคลังแบบหดตัว
คือ การที่รัฐบาลใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ หรือที่เรียกว่า งบประมาณเกินดุล อาจจะเลือกใช้ในยามที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อรัฐบาลเก็บภาษีได้มาก แต่ใช้จ่ายน้อยลง ก็ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวน้อยลงหรือหดตัว ก็จะช่วยให้เงินเฟ้อปรับลดลงได้
💦.....อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เป็นยังไงกันบ้างคะ ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้ จะช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการเงินและการคลัง ให้คุณผู้อ่านได้กระจ่างกันมากขึ้นนะคะ 😊
1
ที่มา :
https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/MonetaryOperations/Pages/default.aspx
https://sites.google.com/site/aomsinaromyen/neuxha-bth-reiyn/8karngeinkarthnakharlaeakarkhlang
https://sites.google.com/site/suckmoss/kh
1
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
FB :
https://www.facebook.com/BSV.BSerp.BusinessValue
Website :
https://accounting.bsv-th.com/
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘
62 บันทึก
92
101
48
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เศรษฐกิจและการเงิน
62
92
101
48
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย