11 ต.ค. 2020 เวลา 11:15 • ธุรกิจ
'สะพานไทย' เชื่อมแหลมฉบัง-เพชรบุรี
เมกะโปรเจค 9.9 แสนล้าน ต่อยอด EEC
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดำเนินการต่อเนื่องตลอดรัฐบาล คสช.และต่อเนื่องถึงรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ลงนามแล้ว 3 โครงการ คือ
1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
2.ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3
3.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
แนวทางการพัฒนาสะพานไทย หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 9 ต.ค.2563
ในขณะที่การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ขั้นตอนรอประกาศผู้ชนะการประมูล แต่รัฐบาลกำลังผลักดันโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อต่อทันที โดยมีเป้าหมายให้ท่าเรือแหลมฉบังเชื่อมกับภูมิภาค
การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศาภาคตะวันออก (กพอ.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2563 เห็นชอบผลักดัน 3 โครงการ คือ
1. โครงการท่าเรือบก (Dryport) โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทร์ สะหวันนะเขต (ลาว)
ย่างกุ้ง เนปยีดอ มัณฑะเลย์ (เมียนมา) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) ซึ่งคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์ จะมีเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปี
2.โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง หรือ Land bridge) ด้วยรถไฟทางคู่ และ Motorway
3.โครงการสะพานไทย เชื่อม EEC ไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) โดยสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรีและ จ.เพชรบุรี) ระยะทาง 80-100 กม.
ประหยัดระยะเวลาเดินทาง 2–3 ชั่วโมง จากปกติที่ต้องอ้อมผ่านกรุงเทพฯระยะทาง 400 กม. โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ในคณะกรรมการศูนย์บริหารสถารการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 หรือ “ศบศ.” ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในโลกนี้มีการสร้างถนนที่เป็นสะพานเชื่อม 2 ฝั่งของทะเลหลายเส้น เช่น
ญี่ปุ่น : เชื่อมชิบะ-โยโกฮาม่า บริเวณอ่าวโตเกียว
จีน : เชื่อมฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ บริเวณปากแม่น้ำเพิร์ล กับ 11 มณฑลของจีน
ส่วนโครงการสะพานไทยจะใช้เงินลงทุน 9.9 แสนล้านบาท โดยสร้างทั้งอุโมงค์และสะพานเพราะบางช่วงมีเรือแล่นผ่าน แล้วมีเกาะเทียมอยู่กลางทะเลสำหรับเป็นจุดพักรถ ซึ่งจะได้ทั้งถนนและสถานที่ท่องเที่ยว และรูปแบบการลงทุนจะเป็นการลงทุนแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (PPP)
หากเดินทางจากท่าเรือแหลมฉบัง จะเริ่มต้นด้วยการลอดอุโมงค์ใต้ทะเลแล้วมาโพล่กลางทะเลเป็นสะพาน ก่อนจะมุดใต้ทะเลอีกรอบแล้วไปโพล่ที่ จ.เพชรบุรี
โครงการนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหน่วยงานหลักเพราะมีกฎหมายของตัวเอง คือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ทำให้ EHIA และการลงทุนแบบ PPP คล่องตัวกว่าขั้นตอนปกติ
โฆษณา