12 ต.ค. 2020 เวลา 06:24 • การศึกษา
12 ตุลาคม วันสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร
โดยพฤตินัยแล้วมหาวิทยาลัยศิลปากรถือกำเนิดจากโรงเรียนประณีตศิลปกรรมซึ่งสังกัด กรมศิลปากร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2476 เปิดสอนวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมให้แก่ข้าราชการและ นักเรียน โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (เดิมชื่อ Corrado Feroci) ประติมากรชาวอิตาเลียนที่มารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฎเก้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนนี้และได้พัฒนาเจริญเติบโตเป็นลำดับเรื่อยมา (อนุชาติ คงมาลัย, 2562: 1)
ใน พ.ศ. 2480 มีการนำผลงานของนักเรียนจะแสดงเผยแพร่ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ จนเป็นที่ประทับใจแก่นายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีจึงได้รับมอบหมายให้โชว์ฝีมือลูกศิษย์ด้วยการปั้นรูปประติมากรรมประดับฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และงานนี้ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เขียนความสำคัญของศิลปะที่มีต่อชุมชน (พิษณุ ศุภนิมิตร, 2558: 39: หน้า 39)
ต่อมาโรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากรพุทธศักราช 2486 “มหาวิทยาลัยสิลปากร” เป็นชื่อเมื่อแรกสถาปนา ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งศิลปกรรม โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสิลปากร พุทธศักราช 2486 ดังคำปรารภของกฎหมายนี้ที่ว่า “โดยที่สภาผู้แทนราสดรลงมติว่า เพื่อฟื้นฟูบำรุงสิลปกัมของชาติให้เจริญรุ่งเรือง และเพาะสิลปิน ผู้ทรงวิทยาคุนให้แพร่หลายมากขึ้น จึงเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยสิลปากรขึ้น” พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสิลปากร พุทธศักราช 2486 มาตรา 3 จึงบัญญัติให้จัดตั้งหาวิทยาลัยขึ้น มหาวิทยาลัยหนึ่ง เรียกว่า “มหาวิทยาลัยสิลปากร” มีหน้าที่จัดการสึกสาวิชาประติมากัม จิตรกัม ดุริยางคสิลป นาตสิลป วิชาโบราณคดีและวิชาช่างสิลปอย่างอื่น พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสิลปกร พุทธศักราช 2486 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เมื่อพระราชบัญญัตินี้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาวันที่ 12 ตุลาคม 2486 ดังนั้น โดยนิตินัยแล้วมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดตั้งหรือ สถาปนามาตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2486 (อนุชาติ คงมาลัย, 2562) การยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่โดยหลักการแล้ว หมายความว่ารัฐบาลยอมรับและให้ความสำคัญชองวงการศิลปะที่มีต่อสังคมส่วนรวม และยอมรับระดับความรู้ความสามารถของศิลปินไทยว่าทัดเทียมกับผู้ผ่านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สิทธิต่อเนื่องมาคือศิลปินสามารถเข้ารับราชการตามฐานะที่ตนผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัย (พิพัฒน์ พงศ์ระพีพร, 2536: หน้า 19)
อ่านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2486 ฉบับเต็มซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/054/1496.PDF ส่วนรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงการใช้ตัวหนังสือ ติดตามได้จากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทย อ่านได้ที่นี่ค่ะ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/035/1137.PDF
ปีนี้เป็นปีที่มหาวิทยาลัยอายุครบ 77 ปี ...มหาวิทยาลัยศิลปากร แผ่กิ่งสาขากว้างไกล จากรากเหง้าเดียวกัน และแต่ละกิ่งไม่อยู่โดดเดี่ยว... (เทพศิริ สุขโสภา, 2550: หน้า 27)
ชวนอ่านเพิ่มเติมค่ะ................
เทพศิริ สุขโสภา. (2550). ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2550 ภูมิหลังเรื่องเล่า รากเหง้าชาวศิลปากร. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2550. (เลขเรียก LG395.ท9ศ6 ท76)
พิพัฒน์ พงศ์ระพีพร. (2536). “โรงเรียนปราณีตศิลปกรรม โรงเรียนศิลปากร” หน้า 15-21. “รากเหง้า” มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. (เลขเรียกหนังสือ N 5085 ก4ร612)
พิษณุ ศุภนิมิตร. (2558). ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2558 สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์ สู่กลิ่นสี แดนหิมวันต์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2550. (เลขเรียก NB1023 ศ6พ65)
อนุชาติ คงมาลัย. (2562). มหาวิทยาลัย “สิลปากร” : เมื่อแรกตั้งถึงปัจจุบัน. สืบค้น 12 ตุลาคม 2563, จาก http://www.council.su.ac.th/files/document/LAW/Law_SU.pdf
โฆษณา