เทวรูปเปลือยกายในศาสนาเชน
สืบเนื่องจากคนสงสัยรูปปั้นรูปนี้ว่าใช่พระพุทธรูปปรางอะไร เลยขอชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อป้องการเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้จาก การขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่พระพุทธรูปในพระพุทธศาสนาครับเป็นศาสดามหาวีระ หรือนิครนนาฎบุตร ของศาสนาเชน ซึ่งการทำรูปบูชาจะคล้ายคลึงกันมากขอ้แตกต่างสังเกตุที่ถ้าไม่มีจีวรจะเป็นศาสดามหาวีระ เพราะศาสนาเชนนักบวชเขาจะไม่นุ่งผ้ากัน ซึ่งปัจจุบันเขาแบ่งออกเป็นสองนิกาย คือนิกายนุ่งผ้า กับไม่นุ่งผ้า นิกายนุ่งลมห่มฟ้าเป็นนิกายดั้งเดิม ศาสนาเชนเกิดหลังพุทธศาสนาประมาณ24ปี และศาสดามหาวีระเคยมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า แต่ว่าไม่เคยเจอกันตรงๆเสียทีมีแต่ลูกศิษย์ของศาสดามหาวีระมาประวาทะกับพระพุทธเจ้าซึ่งมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกคือในสมัยที่พระพุทธเจ้าได้เสียชีวิตลงแล้ว เหล่าลูกศิษย์ต่างทะเลาะกันเรื่องคำสอน ท่านพระสารีบุตรเห็นเหตุจึงทูลเรื่องการจัดความสอนของพุทธองค์ให้เป็นหมวดหมู่เรียกว่าไตรปิฎก
ประวัติของศาสดามหาวีระก็คล้ายคลึงกับเจ้าชายสิทธัตถะคือเป็นเจ้าชายเหมือนกันมีมเหสีมีโอรสเหมือนกัน แต่เกิดเบื่อหน่ายเลยออกบวช (ที่ยกมาเพื่อป้องกันการดราม่า เพราะเคยมีกรณีเรื่องพระพุทธรูปปางเสพย์เมถุนมาแล้ว)ถ้าความคิดผม ผมเชื่อว่าเชน - ฑิฆัมพร เป็นรูปแบบความเชื่อที่ สุดโต่งศาสนานึง และใกล้เคียงคำสอนในพุทธศาสนามาก เพียงแต่องค์ศาสดาพระสัมมาสำพุทธเจ้ารู้แจ้งเห็นจริงเรื่องทางสายกลางครับ และเราจะไปบอกว่าศาสนาเชน ผิด ไม่ได้ เพราะเป็นวิธิปฆิบัติ เป็นหลักปฏิบัติของศาสนาเค้า
ประวัติของศาสนาเชน
แนวคิดตามหลักศาสนาเชนมีมานานจนไม่ทราบเวลาที่แน่ชัด บ้างก็ว่ามีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระเวท (Veda) ของศาสนาพราหมณ์ มีผู้ประกาศศาสนาหรือตีรถังกร (Tirthankara) ที่สำคัญมาทั้งสิ้น 24 คน โดยตีรถังกรคนแรกคือฤษภะ (Rishabha) หรือพระอาทินาถะ (Adinatha) ราว 7,200 ปีก่อนคริสตกาล แต่ศาสนาเชนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนเช่นในปัจจุบันในยุคพระมหาวีระ (Mahavira) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยเดียวกับพระพุทธเจ้า และนับเป็นตีรถังกรของศาสนาเชนคนสุดท้าย
พระมหาวีระ เดิมมีพระนามว่า วรรธมานะ (Vardhamana) เป็นเจ้าชายวรรณะกษัตริย์ในแคว้นพิหาร (Bihar) ของอินเดีย ประสูติเมื่อ 599 ปีก่อนคริสตศักราช หรือ 24 ปีหลังพระพุทธเจ้าประสูติ เป็นพระราชโอรสในกษัตริย์สิทธารถะ (Siddhatha) และราชินีตริศาลา (Trishala) นับเป็นราชวงศ์ที่ยึดถือปฏิบัติตามหลักปรัชญาคำสอนของพระปารศวะ (Parshava) ซึ่งเป็นตีรถังกรคนก่อนหน้า
เมื่อมีพระชนมายุได้ 30 พรรษา เจ้าชายวรรธมานะก็ตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช สละราชสมบัติทุกประการ เจ้าชายวรรธมานะประทับบำเพ็ญสมาธิและอัตตกิลมถานุโยคโดยปราศจากเครื่องทรงเป็นเวลากว่า 12 ปี จนในที่สุดก็ตรัสรู้เป็นพระมหาวีระ พระมหาวีระได้ทรงเผยแผ่คำสอนศาสนาเชนทั่วชมพูทวีปนานถึง 30 ปี และได้ประทับบำเพ็ญสมาธิและทรงอดพระกระยาหารจนสวรรคตเมื่อ 527 ปีก่อนคริสตศักราช หรือปีพุทธศักราชที่ 16 สิริพระชนมายุ 72 ชันษา
ความเชื่อและหลักปฏิบัติของศาสนาเชน
ปรัชญาเชนมีความเป็นแนวคิดจักรวาลวิทยา (Cosmology) กล่าวคือ เชื่อว่า วิญญาณหรือชีวิต (Jiva) มีอยู่คงที่ ไม่สามารถสร้างหรือทำลายได้ ชีวิตนี้ไม่ได้มีเพียงในคนหรือสัตว์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงพืช จุลินทรีย์ แมลง หรือแม้แต่ธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ ชีวิตแต่ละชีวิตจะพึ่งพาตนเอง ไม่สามารถพึ่งพากันได้ อีกทั้งยังจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำไว้ เสมือนแนวคิดเรื่องกรรม (Karma) ของศาสนาอินเดียอื่นๆ จักรวาลนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจำแนกออกเป็น 5 ระดับ อาทิ เหนือโลก โลกบน โลกกลาง โลกล่าง และใต้โลก
นอกจากเรื่องวิญญาณแล้ว ศาสนาเชนยังเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ (Samsara) คล้ายพระพุทธศาสนา เมื่อคนซึ่งอาศัยอยู่ในโลกกลางประพฤติดีก็จะได้รับบุญ ให้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ คือโลกบน ในขณะที่คนประพฤติชั่วจะเป็นบาป และไปลงนรก คือโลกล่าง หรือกลับชาติไปเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อยกว่าที่ระดับใต้โลก และหากลบล้างกรรมหมดก็จะหลุดพ้นจากวงจรนี้ ไม่มาเกิดอีก หรือบรรลุโมกษะ (Moksha) ซึ่งเทียบเท่ากับการบรรลุนิพพานของศาสนาพุทธ และได้กลายเป็นพระเจ้า หรือ ชินะ (Jina) สถิตอยู่เหนือโลกอย่างถาวร
พระเจ้าในศาสนาเชนไม่เหมือนกับพระเจ้าในศาสนาอื่น กล่าวคือ จะไม่บันดาลหรือควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับกฎของธรรมชาติแห่งจักรวาล แต่จะมีปัญญา พลัง และญาณรับรู้ไม่จำกัด เสมือนกับการตรัสรู้ หากมีผู้บรรลุโมกษะมากขึ้น จำนวนพระเจ้าก็จะมากขึ้น และทุกคนมีโอกาสได้เป็นพระเจ้า ทว่าศาสนาเชนก็ไม่เชื่อในพระเจ้าผู้สร้าง และพระเจ้ารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ คือ จักรวาล ในทางเทววิทยาจึงกล่าวว่า ศาสนาเชนเป็นทั้งศาสนาอเทวนิยม (Atheism) เอกเทวนิยม (Monotheism) พหุเทวนิยม (Polytheism) และสรรพเทวนิยม (Pantheism) ในเวลาเดียวกัน
หนทางนำไปสู่ความหลุดพ้นประกอบไปด้วย 3 องค์สำคัญ คือ รู้ชอบ เห็นชอบ และประพฤติชอบ ศาสนิกชนของเชนถือคำปฏิญาณ 5 ประการ เรียกว่า มหาวรตะ (Mahavrata) ได้แก่
- อหิงสา (Ahimsa) หรือ ไม่เบียดเบียน คือ ไม่สร้างความทุกข์ให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่น ชาวเชนส่วนมากจึงไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ตัดหรือถอนต้นไม้ รับประทานแต่ผลไม้และถั่วซึ่งเป็นผลพลอยได้จากสิ่งมีชีวิตแต่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตโดยตรง เช่น ส่วนลำต้นหรือราก ไม่นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าที่ทำจากขนหรือหนัง ไม่ทำงานในสวนสัตว์หรือคณะละครสัตว์ รวมถึงไม่ทำธุรกิจค้าขายอาวุธและยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดวัชพืช นับเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญที่สุดของชาวศาสนาเชน
- สัตยะ (Satya) หรือ ไม่พูดเท็จ คือไม่กล่าวถ้อยคำอันไม่มีมูลและกล่าวเฉพาะถ้อยคำที่เป็นความจริง มีความจริงใจ เป็นต้นว่า พ่อค้าจำหน่ายสินค้าก็ไม่ควรปิดบังข้อบกพร่องของสินค้านั้น บุคคลหนึงๆ ไม่ควรหลีกเลี่ยงการชำระภาษี และนักเรียนก็ไม่ควรทุจริตการสอบ
- อัสเตยะ (Asteya) หรือ ไม่ลักขโมย คือ ไม่นำเอาทรัพย์สินที่คนอื่นไม่ให้มา หรือให้มาโดยไม่เต็มใจ หลักอัสเตยะนี้มีความเชื่อมโยงกับหลักสัตยะอย่างใกล้ชิด
- อปริครหะ (Aparigraha) หรือ ไม่ถือครอง คือ ไม่แสดงความเป็นเจ้าของสิ่งของใดๆ อีกทั้งไม่มีสิ่งของในครอบครองเกินความจำเป็น สมณเพศในศาสนาเชนยังถือกฎอปริครหะอย่างเคร่งครัดโดยแทบไม่ครอบครองสิ่งใดเลย นอกจากที่อยู่อาศัยและอาหารประทังชีวิต นับว่าเป็นกุศโลบายเพื่อกระจายความเท่าเทียมทางฐานะระหว่างชาวศาสนาเชน อีกทั้งไม่ให้มนุษย์ยึดติดกับวัตถุมากเกินไป อันเป็นทัศนคติที่ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏได้
- พรหมจรรยะ (Brahmacharya) หรือ ไม่ผิดพรหมจรรย์ คือ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ได้สมรสด้วย ผู้ที่ถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดจะละเว้นจากการสมรสอย่างสมบูรณ์ ส่วนบรรพชิตในศาสนาเชนจะไม่คิดถึงการมีเพศสัมพันธ์และพยายามไม่ระลึกถึงเพศสัมพันธ์ที่เคยมีก่อนการถือสมณเพศ
โดยศีลสี่ข้อแรกถือปฏิบัติกันมานานแล้วตั้งแต่ปรัชญาเชนถือกำเนิดขึ้น แต่ข้อสุดท้ายคือพรหมจรรยะเพิ่งปรากฏในยุคของพระมหาวีระ หรือตีรถังกรคนสุดท้าย ส่วนหลักอหิงสาซึ่งเป็นแก่นของศาสนาเชนก็ได้ถูกปรับนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียในยุคมหาตมะ คานธี
ศาสนาเชนในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 นิกาย คือ นิกายทิคัมพร (Digambara) และเศวตัมพร (Shvetambara) ผู้นับถือนิกายเศวตัมพรนี้มักเรียกว่า "นุ่งขาวห่มขาว" คือแต่งกายด้วยผ้าสีขาวทั้งตัว บ้างก็มีผ้าปิดปากเพื่อป้องกันการสูดกินสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ โดยไม่เจตนา ส่วนนิกายทิคัมพรมีการแต่งกายแบบ "นุ่งลมห่มฟ้า" คือละแล้วซึ่งเสื้อผ้าใดๆ แต่มักพกเพียงน้ำเต้าสำหรับดื่มและพัดขนหางนกยูงสำหรับปัดแมลงและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นออกจากร่างกาย ชาวเชนทิคัมพรในปัจจุบันมีอยู่น้อย และค่อนข้างกระจุกตัวกันทางภาคใต้ของอินเดีย ด้านความเชื่อของทั้งสองนิกายแตกต่างกันไม่มากนัก โดยนิกายเศวตัมพรเชื่อว่าทุกเพศสามารถบรรลุโมกษะได้ ส่วนนิกายทิคัมพรเชื่อว่าเฉพาะเพศชายเท่านั้นที่จะบรรลุโมกษะ
ลักษณะการแต่งกายของชาวเชนทิคัมพรและเศวตัมพร
วิถีปฏิบัติอื่นๆ ของศาสนิกชนชาวเชน ได้แก่ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อสัตว์และมนุษย์ ทำความเคารพและให้สินบริจาคแก่บรรพชิต รับประทานอาหารเสร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดิน อีกทั้งควรศึกษาพระธรรมและนั่งสมาธิอยู่เนืองๆ พระคัมภีร์ของศาสนาเชนนี้เรียกว่า อาคมะ (Agama) ซึ่งรวบรวมจารึกคำสอนของพระมหาวีระเป็นภาษาสันสกฤต (Sanskrit) และปรากฤต (Prakrit)
พิธีกรรมและวันสำคัญของศาสนาเชน
ชาวเชนโดยทั่วไปจะสวดมนต์ประจำทุกวัน โดยครั้งแรกคือก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เรียกว่าบทสวดปัญจนมัสการสูตร (Panchanamaskarasutra) แปลว่าการบูชา 5 ประการ ได้แก่ บูชาวิญญาณที่ตรัสรู้ วิญญาณที่หลุดพ้น ผู้นำศาสนา ผู้สอนศาสนา และสมณเพศ รวมถึงยังมีการสวดบทประติกรมนะ (Pratikramana) คือการขออโหสิกรรมแก่บาปที่ได้กระทำไปในช่วงกลางคืน บทสวดนี้ยังใช้สวดอีกครั้งในช่วงพลบค่ำเพื่ออโหสิบาปที่กระทำไปในช่วงกลางวัน นอกจากนั้น ชาวเชนควรเข้าวัดไปบูชาชินะและตีรถังกร และฟังเทศน์ในช่วงเช้า และอีกครั้งในช่วงเย็น แต่ในปัจจุบัน การเข้าวัดในช่วงเย็นมักจะเปลี่ยนเป็นการทำพิธีบูชาภายในบ้านแทน
วันและเทศกาลทางศาสนาที่สำคัญของเชน ได้แก่
- วันมหาวีรชยันติ (Mahavira Jayanti) เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระมหาวีระ ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำเดือนไจตระ (Chaitra) ซึ่งเป็นเดือนแรกในปฏิทินฮินดู อยู่ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายนตามปฏิทินสากล ชาวเชนมักระลึกถึงพระมหาวีระด้วยการไปฟังเทศน์ที่วัดและเดินขบวนแห่รูปเคารพพระมหาวีระไปตามท้องถนน
- เทศกาลปรรยุษณะ (Paryushana) ซึ่งเป็นช่วง 8 วันติดต่อกัน ชาวเชนจะอดอาหารเป็นเวลา 1-30 วันตามความเหมาะสมและความสามารถของตน เว้นจากการกระทำบาป สวดมนต์ นั่งสมาธิ และทำพิธีบูชา ตรงกับเดือนสิงหาคมหรือกันยายน
- เทศกาลทิวาลี (Diwali) หรือทีปาวลี (Dipavali) เป็นวันเทศกาลที่สำคัญของอินเดียและเนปาล เรียกว่า"เทศกาลแห่งแสง" ประชาชนจะประดับบ้านเรือนด้วยตะเกียงและโคมไฟอย่างสว่างไสว เพื่อเป็นการระลึกถึงการกลับมาของพระราม (Rama) สู่กรุงอโยธยา (Ayodhya) หลังจากปราบราวณะ (Ravana) หรือทศกัณฐ์ นอกจากนี้ ชาวเชนยังเชื่อว่าวันทิวาลีเป็นวันที่พระมหาวีระได้ทรงบรรลุโมกษะ จะไม่จุดประทัดหรือพลุอย่างชาวฮินดู แต่จะทำพิธีสวดร้องเพลงในบ้านและในวัด ผู้นับถือนิกายเศวตัมพรจะมีการอดอาหาร 3 วัน เทศกาลทิวาลีมักอยู่ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายนของทุกปี และวันสุดท้ายของเทศกาลทิวาลีซึ่งเรียกว่าวันทิวาลี เป็นวันสิ้นปีของปฏิทินเชนอีกด้วย [สำหรับบทความเดิมเกี่ยวกับเทศกาลทิวาลี
สัญลักษณ์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรมของศาสนาเชน
สัญลักษณ์ของศาสนาเชนเป็นรูปฝ่ามือข้างขวาตั้งขึ้น แต่ละนิ้วยาวไม่เท่ากัน โดยเรียงลดหลั่นความยาวเป็นนิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วชี้ นิ้วก้อย และนิ้วหัวแม่มือ ตามลำดับ ปลายนิ้วหัวแม่มืองอนออก กลางฝ่ามือมีวงกลมซ้อนกันสองชั้นและซี่ล้อปลายแหลมชี้ออกจำนวน 24 ซี่ ลักษณะกระจายตัวกันโดยรอบคล้ายกลีบดอกไม้ กำเกวียน หรือฟันเฟือง ในวงกลมชั้นในสุดเขียนไว้ว่า अहिंसा ซึ่งเป็นการสะกดคำว่า "อหิงสา" ด้วยอักษรเทวนาครี โดยฝ่ามือนี้เปรียบเสมือนพระพุทธรูปปางห้ามญาติ กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการยุติความรุนแรง
รูปบูชาของศาสนาเชนมักมีท่าทางคล้ายกับพระพุทธรูป จนคนนอกศาสนาเชนและพุทธแยกไม่ออก แต่มีความแตกต่างที่สำคัญคือ รูปบูชาของศาสนาเชนมักเปลื้องผ้า ไม่มีเครื่องปกปิดร่างกายอย่างจีวรของพระพุทธเจ้าหรือภิกษุสงฆ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือรูปสลักหินเดี่ยวพระพหุพลี (Bahubali) หรือพระโกมมเฏศวร (Gommateshvara) สูงประมาณ 17 เมตรตั้งอยู่บนยอดเขาในเมืองศระวณเพฬโกฬา (Shravanabelagola) รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ประเทศอินเดีย สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 981 พระพหุพลีเป็นพระอฤหันตะ (Arihanta) องค์หนึ่งของศาสนาเชน คือเป็นผู้สละแล้วซึ่งกิเลส อาทิ โมหะ โทสะ และโลภะ จนเป็นวิญญาณที่หลุดพ้น เทียบเท่ากับพระอรหันต์ของศาสนาพุทธ
วัดของศาสนาเชนก็เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม มีการตกแต่งภายในเป็นลายที่อ่อนช้อย และมีรายละเอียดที่ซับซ้อน วัดเชนส่วนมากตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะในแคว้นพิหาร อุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) คุชราต (Gujarat) และราชสถาน (Rajasthan) บ้างก็อยู่ในแคว้นทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) ทางตอนใต้ ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคือกลุ่มวัดทิลวารา (Dilwara) ซึ่งตั้งอยู่บนเขาอาพู (Mount Abu) ทางตะวันตกของรัฐราชสถาน ประกอบด้วยวัดสร้างจากหินอ่อนทั้งสิ้น 5 วัด แต่ละวัดสร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรต่างๆ คนกัน กลุ่มวัดทิลวารานี้ได้ชื่อว่าเป็นวัดเชนที่สวยที่สุดและเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมปราณีตที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย
ถึงแม้ว่าจำนวนผู้นับถือศาสนาเชนจะมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับศาสนาอินเดียอื่นๆ แต่หลักของศาสนาเชนได้พัฒนาผสมผสานมานานหลายพันปี หล่อหลอมจากความเชื่อและหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นๆ ในสังคมอินเดีย การศึกษาความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรมจึงควรเป็นไปเพื่อให้มนุษยชาติอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ไม่มีเรื่องบาดหมางเกลียดชัง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่กันและกัน ดังเช่นหลัก"อหิงสา"อันเป็นธรรมะสูงสุดของศาสนาเชนนี้เอง