12 ต.ค. 2020 เวลา 12:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา เมื่อตลาดหลักทรัพย์ ก้าวเข้ามาในตลาด Digital Asset
ในโลกยุคเก่าที่ทุกคนคุ้นเคยกันแต่คำว่า “ตลาดหุ้น”
คงไม่มีใครคิดว่า ในยุคนี้สิ่งที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์
อาจไม่จำเป็นต้องเป็น หุ้น เสมอไป
ตัวอย่างที่เห็นแล้วในวันนี้ก็คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กำลังก้าวเข้าสู่ “สินทรัพย์ดิจิทัล”
ซึ่งในคราวนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้ร่วมมือกับ KBTG บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของไทย
ในการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Digital Asset ในประเทศไทย
แล้วเรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
หากพูดถึง Digital Asset หลายคนอาจจะนึกถึง สินทรัพย์ประเภท Crypto Currency เช่น Bitcoin และ Ethereum แต่จริงๆแล้ว Digital Asset มันสามารถเป็นได้หลายอย่าง ที่มากกว่าสกุลเงิน
คอนเซ็ปต์ของ Digital Asset ก็คือ การนำสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง ของจริง มีลักษณะทางกายภาพชัดเจนในโลกจริง มาแปลงให้ทุกคนมีส่วนร่วมในสิทธิ์ของสินทรัพย์นั้น โดยสิทธิ์นี้จะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆให้ครอบครอง และซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในรูปแบบดิจิทัล
ซึ่งเราเรียกกลไกนี้ว่า การ Tokenize
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีคอนโดหนึ่งโครงการ เราก็นำคอนโดนี้มา Tokenize ให้เป็น Digital Asset โดยอาจจะกำหนดสิทธิ์ในสินทรัพย์เป็นรูปแบบผลตอบแทนจากค่าเช่าที่ได้รับจากคอนโดนั้น บวกด้วยสิทธิ์การใช้พื้นที่ส่วนกลางของคอนโดนั้น
หรือตัวอย่างถัดมาเช่น ถ้าเรามีร้านอาหารหนึ่งสาขา เราก็นำร้านอาหารนี้มา Tokenize ให้เป็น Digital Asset โดยให้มีสิทธิ์ได้รับผลตอบแทนเป็นกำไรที่ได้จากร้านอาหารสาขานั้น บวกด้วยสิทธิ์การทานอาหารฟรี 5 มื้อต่อปี
Cr. Forex Academy
แล้วการทำให้เป็น Digital Asset น่าสนใจอย่างไร?
อย่างแรกเลยคือความคล่องตัวในการระดมทุน
จากเดิม การที่บริษัทจะระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือกู้เงินธนาคาร อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่ใช้เวลานาน บางคนก็ไม่มีเครดิตมากพอ หรืออาจติดขัดเรื่องผลประกอบการโดยรวมของบริษัท หรือ มีข้อจำกัดในเรื่องกฎเกณฑ์
แต่ Digital Asset นี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจต่างๆ นั้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
อย่างที่สองก็คือเรื่องของการแตกย่อยสินทรัพย์
สำหรับในการะดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบเดิม เราต้องเอาเข้าทั้งบริษัท แต่ในกรณีของ Digital Asset เราสามารถแบ่งแยกสินทรัพย์ ที่ต้องการระดมทุนได้ตามต้องการ
เช่นการซื้อคอนโดสักหนึ่งห้อง เพื่อปล่อยเช่าในอนาคต มูลค่า 5,000,000 บาท สำหรับหลายคนอาจเป็นเงินก้อนใหญ่ การทำให้เป็น Digital Asset และแตกหน่วยย่อย (Token) ให้หลายคนมีสิทธิ์ครอบครอง ก็จะช่วยให้เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่อยากลง โดยใช้เงินไม่มาก แต่ขอแค่สิทธิ์บางส่วนของสินทรัพย์นั้น
นอกจากนั้นการที่เป็น Token หรือเป็นหน่วยเล็กลง ยังทำให้สามารถซื้อขายง่ายขึ้น ส่งผลให้สภาพคล่องของสินทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ซึ่งสมัยก่อน การนำสินทรัพย์มาทำเป็น Digital Asset อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ด้วยความไม่พร้อมของเทคโนโลยี เช่น เมื่อก่อนเราจะขายสิทธิ์ที่เราถือในสินทรัพย์ต่อให้คนอื่น เราก็ต้องทำสัญญา และมีเอกสารต่างๆมากมาย และก็ต้องหาคนมาตรวจสอบและยืนยันว่าสินทรัพย์นั้นได้ถูกเปลี่ยนมือไปที่ผู้ซื้อจริงๆ
แต่ในปัจจุบันเรามี Blockchain ที่เป็นเทคโนโลยีช่วยในการยืนยันความถูกต้อง ซึ่งสามารถตรวจสอบไปถึงต้นตอได้หมด ไม่ว่าสินทรัพย์นั้นจะถูกเปลี่ยนมือไปแล้วกี่ทอด
Cr. Material Handling and Logistic
ซึ่งพอเรื่องเป็นแบบนี้ สินทรัพย์ต่างๆที่เราเห็นในโลกปัจจุบัน ก็พร้อมแล้วที่จะถูกทำให้เป็น ดิจิทัล..
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาคือ
เราจะสามารถวัดมูลค่าสินทรัพย์แต่ละอย่างได้ทันที
ตัวอย่างเช่น โครงการคอนโด หรือ โรงแรมแห่งใหม่ ที่จะให้ผลตอบแทนตามที่กำหนด
เมื่อถูกนำมา Tokenize แล้ว เราก็จะได้ราคาของการซื้อขาย ซึ่งทำให้เราสามารถรู้มูลค่าสินทรัพย์นั้นได้ทันที..
พอถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้ว Digital Asset ประเภทนี้ต่างจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT อย่างไร?
คำตอบคือ เมื่อสินทรัพย์นั้นอยู่ในรูปของ Digital Asset จะทำให้รูปแบบของผลตอบแทนนั้นมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ไม่ใช่แค่เพียง เงินปันผลแบบเดิมอีกต่อไป แต่อาจมาในรูปของ ส่วนลดที่พัก หรือ ดีลรับประทานอาหารฟรีก็เป็นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเสนอของผู้เสนอขายที่กำหนด
แล้วใครจะมาเป็นผู้ดูแล คัดเลือก สินทรัพย์ดิจิทัลที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดนี้?
จากเดิมที่เวลาบริษัทจะระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะต้องผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า IPO หรือ Initial Public Offering แต่สำหรับ Digital Asset แล้ว การระดมทุนนี้จะเรียกว่า ICO ซึ่ง ก็คือ Initial Coin Offering
Cr. NYTimes
ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา กลั่นกรอง ตรวจสอบ ประเมิน จัดการ รวมทั้งการให้ข้อมูลที่จำเป็น สำหรับผู้ที่ต้องการออก Digital Asset นั้น คือหน่วยงานเอกชน ที่เรียกว่า ICO Portal
1
สำหรับตลาด Digital Asset ที่เกิดขึ้นในรอบนี้ จะเป็นความร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ KBTG
โดยทางตลาดหลักทรัพย์จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบในเรื่องของ Digital Asset Exchange หรือตลาดรองสำหรับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล
ส่วน KBTG จะดูแลเรื่องของการพัฒนาแพลตฟอร์ม ICO Portal หรือแพลตฟอร์มการซื้อขายตลาดแรก (นักลงทุนซื้อตรงจากผู้ประกอบการ)
Cr. KBTG
ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ เปรียบเสมือนการวางโครงสร้างเพื่อรองรับ Digital Asset
และจะมีแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมา ที่มีลักษณะคล้ายกับแอป Streaming ที่หลายคนใช้ซื้อขายหุ้นในปัจจุบัน
เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า
ภาครัฐ และเอกชนในไทย ตอนนี้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Digital Asset กันมากขึ้น
ซึ่งการพัฒนา Digital Asset นี้ น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ธุรกิจในการระดมทุน และเพิ่มทางเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปแบบใหม่ๆให้แก่นักลงทุน และสุดท้ายแล้วก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต
และที่สำคัญที่สุด การที่มีตลาดหลักทรัพย์เข้ามาเป็นผู้ควบคุมดูแล ก็น่าจะทำให้มีความเป็นมาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ กว่าการที่ผู้ประกอบการจะต้องไปหาช่องทางการระดมทุนเอง
ในอนาคตเราอาจได้เห็น หลายคอนโด หลายร้านอาหาร หรือแม้แต่วงศิลปินชื่อดังต่างๆ นำสินทรัพย์ของตัวเองมา Tokenize ให้คนอื่นมีสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินนั้น
ซึ่งถ้าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ โครงการนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการตลาดทุนในประเทศไทย เลยทีเดียว..
สอบถามความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการระดมทุนในรูปแบบ Digital Asset สามารถติดต่อ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้ที่: DigitalAsset@kbtg.tech
References
-ข่าวประชาสัมพันธ์ Thai Digital Asset Ecosystem, Where Financial and Real Sector Become One
โฆษณา