14 ต.ค. 2020 เวลา 00:30 • ประวัติศาสตร์
ทำไมคนญี่ปุ่นถึงเป็น 'โรคฮิคิโคโมริ' (หมกตัวในห้อง)
2
สังคมญี่ปุ่นไม่ได้มีแต่ผู้คนที่ทุ่มเททำงานอย่างขยันขันแข็ง เพื่อความมั่นคงและ
ครอบครัวที่อบอุ่น บนท้องถนนยังมีคนที่หมดเรี่ยวหมดแรงจากการทำงาน แบก
ภาระอันหนักอึ้งจากค่านิยมของสังคม ส่งผลให้มีคนเลือกที่จะหลีกหนีจากสังคมที่มีความกดดันสูง กลายเป็นคนสันโดษ หมกตัวอยู่ในห้องพักเกือบจะตลอดเวลา
ทามากิ ไซโตะ (Tamaki Saito) จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น เป็นผู้ฉายไฟส่องปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 1998 เขาตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า 'ฮิคิโคโมริ' (Hikikomori) แปลตรงตัวว่า
เก็บตัว, ขังตนเองไว้ หรือ 'ภาวะถอนตัวจากสังคมเฉียบพลัน' (Acute Social
Withdrawal)
ปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นรายงานว่า มีชาวญี่ปุ่นอายุ 15-39 ปี ป่วยเป็นฮิคิโคโมริถึง
5.4 แสนคน และในปี 2019 ยอดผู้ป่วยฮิคิโคโมริพุ่งไปถึง 1.15 ล้านคน โดย 6.1
แสนคนมีอายุ 40-64 ปี ทามากิคาดการณ์ว่า ยังมีฮิคิโคโมริจำนวนมากไม่ยอมเปิดเผยตนเอง ตัวเลขจริงอาจสูงถึง 2 ล้านคน และอาจพุ่งสูงถึง 10 ล้านคนในอนาคต
1
ฮิคิโคโมริมักถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นโรคจิตและฆาตกร เนื่องจากคดีลักพาตัวและ
กักขังเด็กหญิงที่เขตนีกาตะ (Niigata) โดยชายโรคจิตซึ่งเก็บตัวเงียบ ในช่วงปี
2000 รวมถึงคดีชายชราซึ่งเป็นฮิคิโคโมริ ไล่แทงคนจนบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เมืองคาวาซากิ ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2019 นอกจากนี้ ฮิคิโคโมริยังถูกมองว่าเป็นพวกขี้เกียจ ขลุกตัวแต่ในห้อง เล่นเกมและอ่านการ์ตูนไปวันๆ ไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ได้แต่อาศัยพ่อแม่เลี้ยงดู สร้างความหนักใจให้แก่คนในครอบครัว
1
อันที่จริง มีฮิคิโคโมริมากมายที่ไม่ได้เป็นตามที่สังคมเข้าใจ ผู้ป่วยแต่ละคนมีสภาพ
จิตใจ ประสบการณ์ และสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน เช่น ชูโจ (Chujo) หนุ่มอายุ 24 ปี ฝันที่จะเป็นนักร้องอุปรากร แต่ด้วยความที่เป็นลูกคนโต ทางบ้านคาดหวังให้สืบ
ต่อธุรกิจครอบครัว ชูโจต้องออกจากงานประจำหลังทำได้เพียงปีเดียว เนื่องจาก
เครียดหนักจนปวดท้อง ทั้งยังต้องมาเจอกับความอับอายใจ ถ้อยคำตำหนิจากครอบครัว และการเปรียบเทียบตนเองกับน้องชาย ซึ่งมีอิสระในการดำเนินชีวิตมากกว่า ทำให้เขาขังตนเองอยู่ในห้องนานหนึ่งปีเต็ม กระทั่งถูกครอบครัวส่งตัวเข้าคอร์ส
บำบัดในที่สุด
1
เคนจิ ยามาเสะ (Kenji Yamase) อายุ 53 ปี เป็นฮิคิโคโมริสลับมนุษย์เงินเดือนนานร่วม 30 ปีแล้ว เขาป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) ทำให้เขาต้องลาออกจาก
มหาวิทยาลัยขณะกำลังศึกษานิติศาสตร์ แม้าจะหางานทำได้ แต่เขาไม่สามารถ
บริหารเวลาเหมือนคนทั่วไป วงจรชีวิตของเขาจึงสลับระหว่างทำงานประจำ 2-3 ปี
และอาศัยอยู่แต่ในบ้าน โดยมีแม่อายุ 87 ปีคอยเลี้ยงดู
ในมุมมองผู้บัญญัติศัพท์ฮิคิโคโมริ ทามากิมองว่าคนธรรมดาทั่วไปที่เผชิญสถานการณ์ยากลำบากสามารถปลีกวิเวกได้ เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นกำลังเจอปัญหามากมาย
เช่น การขาดแคลนแรงงานประจำ อายุเฉลี่ยประชากรที่เพิ่มขึ้น และปัญหาการกลับ
เข้าตลาดแรงงานหลังลาออกเพื่อดูแลผู้ปกครองที่ชราภาพ นอกจากนี้ สังคมญี่ปุ่นไม่ได้เคารพหรือยกย่องความเป็นปัจเจกบุคคล ทั้งยังดูถูกคนที่ไม่มีประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคม เมื่อรัฐบาลพยายามผลักดันแนวคิด 'การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของพลเมืองทุกคน' ฮิคิโคโมริที่ได้ยินแนวคิดดังกล่าว อาจรู้สึกไร้ค่าเพราะขาดสมรรถภาพที่จะที่จะ 'มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่'
3
มาสากิ อิเคกามิ (Masaki Ikegami) นักข่าวชาวญี่ปุ่น ผู้เขียนเกี่ยวกับประเด็นฮิคิโคโมรินานกว่า 20 ปี อธิบายว่า โครงสร้างสังคมญี่ปุ่นไม่เอื้ออำนวยให้คนที่หลุดจาก
ขบวนรถ กลับขึ้นขบวนได้โดยง่าย ฮิคิโคโมริส่วนใหญ่เผชิญความยากลำบากใน
ชีวิตการทำงาน และปัญหาเพื่อนร่วมงาน หรือมีประสบการณ์ไม่ดีที่โรงเรียน
เผชิญภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือกระทั่งออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ที่ชราแล้ว เมื่อพวกเขาไม่สามารถกลับไปทำงานประจำได้ อับอายและกลัวเกินกว่า
จะกลับไปทำงาน พวกเขาจึงกลายเป็นฮิคิโคโมริ
ไมกา อีแลน (Maika Elan) ช่างภาพหญิงของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National
Geographic) ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นนิยมมีลูกชายคนเดียวสูงขึ้น
เรื่อยๆ พวกเขาฝากความหวังและความฝันทั้งหมดไว้ที่ลูกชายคนเดียวนี้ และการที่
ไม่มีบุคคลเพศชายในบ้านให้ดูเป็นแบบอย่าง เนื่องจากฝ่ายพ่อทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ พวกเขาจึงถูกครอบงำด้วยบทบาททางเพศสภาพของสังคมญี่ปุ่น นั่นคือ การเป็นหัวหน้าครอบครัว เพศชายคือผู้รับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว
ไมกาเสริมว่า ในภาพใหญ่ วัฒนธรรมญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนจากสังคมที่มีความคิดสอดคล้องกันสู่สังคมที่แต่ละคนมีความคิดของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่
ต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อสังคมญี่ปุ่นเทิดทูนความสอดคล้อง
ชื่อเสียง และลักษณะภายนอกอันดีงาม การแสดงความเป็นเอกลักษณ์ หรือกบฎต่อ
แบบแผนในสังคม จึงมาในรูปแบบไร้เสียงหรือหลบซ่อน เช่นอาการฮิคิโคโมริ
อาจกล่าวได้ว่า หากคุณเกิดและเติบโตในญี่ปุ่น คุณก็มีโอกาสเป็นฮิคิโคโมริ เนื่อง
จากค่านิยมในสังคมคือตั้งใจเรียนจนจบปริญญา ตามด้วยการหางานประจำทำทันที ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างครอบครัว อุทิศศักยภาพของตนเพื่อครอบครัว
สังคม และประเทศชาติ หากคุณไม่เรียน ไม่หางานทำ หรือออกจากงานด้วยเหตุผล
ไม่เหมาะสม คุณก็เสี่ยงโดนกดดันจากคนรอบข้าง จนรู้สึกผิดและอับอายเกินกว่าจะ
เผชิญโลกภายนอก ก่อนจะตัดสินใจถอนตัวกลับสู่พื้นที่สี่เหลี่ยมอันปลอดภัย นามว่า 'ห้องส่วนตัว'
2
บางทีสังคมญี่ปุ่นอาจไม่ใช่สังคมที่สวยหรูอย่างที่บางคนเข้าใจ.
1
เรื่อง : พชร อังคเรืองรัตนา
ภาพประกอบ : ชุติมณฑน์ ปทาน
โฆษณา