13 ต.ค. 2020 เวลา 12:28 • ความคิดเห็น
ถอดรหัสคำแปล “หลุมดำ” สุดมึนของราชบัณฑิตสภา
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊กของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ทำการโพสต์เรื่องคำศัพท์ทางดาราศาสตร์ (โดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ดาราศาสตร์) ผ่านไปหลายเดือน จู่ๆ คำศัพท์คำหนึ่งในโพสต์ดังกล่าวก็ถูกแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย นั่นคือคำว่า “หลุมดำ” เพราะนิยามของคำศัพท์ที่อ่านแล้วมึนสุดๆ เราลองมาอ่านไปพร้อมๆ กัน
black hole
หลุมดำ
เทห์ฟ้าที่มีรัศมีต่ำกว่ารัศมีชวาร์ซชิลด์ของตัวเอง ทำให้เป็นขอบเขตในอวกาศที่มีความโน้มถ่วงสูงมาก มีความเร็วหลุดพ้นเท่ากับหรือมากกว่าอัตราเร็วแสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงไม่สามารถแผ่ออกจากหลุมดำ ขอบเขตของหลุมดำเรียกว่าขอบฟ้าเหตุการณ์ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในขอบฟ้าเหตุการณ์ไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก และกฎทางฟิสิกส์ในปัจจุบันอาจใช้ไม่ได้ภายในขอบฟ้าเหตุการณ์ หลุมดำมวลดาวเป็นสถานะสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่า ๒๕ มวลสุริยะดาวคู่รังสีเอกซ์อาจมีหลุมดำมวลดาวอยู่ด้วย หลุมดำมวลยวดยิ่งอาจเป็นแหล่งพลังงานของเควซาร์
อ่านแล้วคงต้องร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “อิงหยังวะ!” เพราะนอกจากยิ่งอ่านจะยิ่งงงหนักกว่าเดิม ยังเพิ่มคำศัพท์ประหลาดที่ไม่เคยรู้จัก และต้องไปเปิดหาความหมายอีกหลายคำ เราจะมาถอดรหัสกันว่า คำเหล่านั้นมีอะไรบ้าง
"ข้าน้อยเชื่อว่า เกินครึ่งในฮอลล์นี่...งง!"
[ถ้าใครไม่เก็ทมุกจากรูปข้างบน ขอเชิญชมคลิปนี้ครับ]
เทห์ฟ้า (เทห์ฟากฟ้า) = celestial body หรือ astronomical object = วัตถุในอวกาศ เช่น ดาวฤกษ์ ดาวเคราห์ หรืออุกกบาต นิยมเรียกในภาษาไทยว่า วัตถุท้องฟ้า
ขอบฟ้าเหตุการณ์ = event horizon = ขอบเขตรอบหลุมดำที่หากสิ่งใดผ่านเข้าไปจะไม่สามารถกลับออกมาได้ แม้แต่แสง
รัศมีชวาร์ชชิลด์ = Schwarzschild radius = รัศมีจากกึ่งกลางหลุมดำที่ไม่หมุนวน ถึงขอบฟ้าเหตุการณ์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่คาร์ล ชวาทซ์ชิลท์ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน
หลุมดำมวลดาว = Stellar-mass black hole = หลุมดำขนาดเล็กที่เกิดจากการยุบตัวของแก่นดาว โดยมีมวลตั้งแต่ 5 เท่าไปจนถึงหลายสิบเท่าของดวงอาทิตย์
หลุมดำมวลยวดยิ่ง = super-massive black hole = หลุมดำขนาดใหญ่ที่สุด มีมวลประมาณหนึ่งล้านถึงหลายพันล้านเท่าของดวงอาทิตย์
ดาวคู่รังสีเอกซ์ = X-ray binaries = ระบบดาวคู่ที่ส่องสว่างในคลื่นรังสีเอกซ์
เควซาร์ = Quasar = วัตถุพลังงานสูงที่ดูเผินๆจะปรากฏคล้ายดาวฤกษ์ แต่แท้จริงแล้วเป็นกาแล็กซี่ที่มีใจกลางสว่างมากและอยู่ห่างไกลจากโลกมาก เควซาร์อาจจะเป็นวัตถุกลุ่มที่สว่างที่สุดในเอกภพ ด้วยความสว่างที่มากกว่ากาแล็กซีทั่วไปหลายเท่า
ภาพจำลองกาแล็กซี่ที่มีเควซาอยู่ที่ศูนย์กลาง เควซาเป็นวัตถุที่ปลดปล่อยพลังงานมหาศาล - ที่มา NASA, ESA and J. Olmsted (STScI)
แต่ถึงจะรู้ความหมายของคำศัพท์ที่นำมาประกอบการอธิบายเหล่านี้ (ที่แต่ละคำก็มีความซับซ้อนในตัวเองสูงมากอยู่แล้ว) ก็อาจไม่ช่วยให้เข้าใจหลุมดำได้มากกว่าเดิมเลย เพราะเป็นการให้นิยามที่ซับซ้อนเกินความจำเป็นและไม่เอื้อต่อการเรียนรู้
เราลองมาดูตัวอย่างนิยามของคำว่า ”หลุมดำ” ที่เรียบง่ายกันบ้าง
[พจนานุกรมออนไลน์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์]
Black hole - a region in space where gravity is so strong that nothing, not even light, can escape
คำแปล: หลุมดำ - บริเวณในอวกาศที่แรงโน้มถ่วงสูงมากจนไม่มีสิ่งใด แม้แต่แสง หลุดรอดออกมาได้
[พจนานุกรมดาราศาสตร์ สมาคมดาราศาสตร์ไทย]
วัตถุที่มีความโน้มถ่วงสูงมาก มีความเร็วหลุดพ้นเท่ากับหรือมากกว่าอัตราเร็วแสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงแผ่ออกจากหลุมดำไม่ได้
จะเห็นได้ว่าตัวอย่างข้างต้น ให้ภาพรวมของหลุมดำได้ชัดเจน ทำให้เกิดความเข้าใจ และไม่ทำให้สับสนกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊คของสำนักงานราชบัณฑิตได้เกริ่นไว้ในโพสต์ดังกล่าวว่า มีจุดประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนทำการบันทึกลงฐานข้อมูลและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม
ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากฝากไปถึงสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้นิยามและบัญญัติศัพท์ ซึ่งกำหนดกรอบการสื่อสารของภาษาไทย (โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากทั่วโลกได้จากมือถือที่พกติดตัวตลอดเวลา) ว่าควรพิจารณาให้รอบคอบว่าจะเลือกสื่อสารอย่างไรให้เรียบง่ายที่สุด เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาที่สุด และไม่สร้างภาระทางภาษาโดยทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก
เพราะพจนานุกรมควรเป็นสะพานเชื่อมภาษา ไม่ใช่กำแพง
โปรดกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้ Space Explorer
สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ มามอบให้คุณเป็นประจำ
โฆษณา