Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนในบัญชีและภาษี
•
ติดตาม
19 พ.ย. 2020 เวลา 04:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หุ้นเพิ่มทุน คืออะไร
1
อาจจะเป็นคำถามที่นักลงทุนหลายคนเคยสงสัย ว่าหุ้นเพิ่มทุน คืออะไร ทำไมต้องเพิ่มทุน ใครได้ประโยชน์ แล้วทำไมนักลงทุนถึงสนใจ สำหรับนักลงทุนมือใหม่ รีบตามมาศึกษากันเลยค่ะ
⛳ การเพิ่มทุน (Capital Increase)
ก็คือ การที่บริษัทออกหุ้นใหม่หรือที่เรียกว่า “หุ้นเพิ่มทุน” เพิ่มเติมจากหุ้นเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยบริษัทจะนำ “หุ้นเพิ่มทุน” ไปเสนอขายให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งบริษัทสามารถเลือกที่จะเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นรายเดิมหรือนักลงทุนที่สนใจรายใหม่ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถือหุ้นรายเดิม ผู้ลงทุนสถาบัน หรือ ผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งสิทธิประโยชน์ของหุ้นเพิ่มทุนจะเหมือนกับหุ้นเดิมของบริษัททุกประการ
ในกรณีที่บริษัทให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัทจะกำหนดวันขึ้นมาเป็นวัน cut off นักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นหลังวันที่กำหนด จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน วิธีดูง่ายๆ ก็คือต้องซื้อหุ้น หรือมีหุ้นแล้วก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย XR (eXcluding Rights)
1
⛳ วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน
สำหรับวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนนั้น ก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบริษัท อาทิเช่น
>> นำไปขยายกิจการ เพื่อหวังการเติบโตขึ้นของรายได้ที่จะส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
>> นำไปใช้หนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง
>> นำไปล้างขาดทุนสะสม เพื่อให้บริษัทมีกำไรและสามารถจ่ายเงินปันผลได้
>> ฯลฯ
⛳ จะมีผลกระทบอย่างไร หากมีการเพิ่มทุน
📌 การเพิ่มทุน จะทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น และราคาหุ้นลดลง หรือที่เรียกว่า Dilution Effect
ตัวอย่างเช่น หุ้น XXX มีราคาตลาด 10 บาทต่อหุ้น ต่อมาหากบริษัทมีการเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ (2:1) โดยให้สิทธิซื้อหุ้นในราคา 5 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้น XXX หลังเพิ่มทุนจะเป็นเท่าใด? จะมีสูตรการคำนวณ ดังนี้
= [(อัตราหุ้นเดิม x ราคาก่อนวัน XR) + (อัตราหุ้นเพิ่มทุน x ราคาสิทธิ)] / (จำนวนหุ้นเดิม + จำนวนหุ้นเพิ่มทุน)
= [(2 x 10) + (1 x 5)] / (2 + 1)
= 8.33 บาทต่อหุ้น
📌 การเพิ่มทุนทำให้ กำไรต่อหุ้น (Earning per Share : EPS) ลดลง เนื่องจากกำไรสุทธิเท่าเดิม แต่ตัวหารเพิ่มขึ้น คือ จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลงนั่นเอง
📌 การซื้อหุ้นในวันที่ขึ้นเครื่องหมาย XR (Excluding Rights) นักลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ถ้าหากอยากได้หุ้นเพิ่มทุน ต้องซื้อหุ้น ก่อนวัน XR ถึงจะได้สิทธิดังกล่าว
⛳ ควรทำอย่างไร ถ้ามีการเพิ่มทุน
📌 อันดับแรก ควรตรวจสอบวัตถุประสงค์การเพิ่มทุนให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ
-หากวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนชัดเจน มั่นใจว่าเงินที่จ่ายไปจะทำให้ธุรกิจเติบโต ราคาหุ้นจะกลับขึ้นมาใหม่ คุณควร “ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน”
-แต่หากวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนไม่ชัดเจน หรือบริษัทไม่สามารถคลายความสงสัยบางอย่างได้ก็ ก็ไม่ควรลงเงินเพิ่ม เพราะจะเสียเงินและเวลาเปล่าๆ
📌 อันดับสอง นักลงทุนควรถามตัวเองก่อนตัดสินใจ พยายามตอบให้ได้ทุกคำถาม ดังนี้
-การเพิ่มทุนของบริษัทเป็นการรบกวนเงินในกระเป๋าของคุณหรือไม่?
-ถ้าราคาตกจะทำอย่างไร ขายทิ้ง หรือ ยังรอ ให้ขึ้นได้?
-ถ้ารอได้ จะรอจนถึงเมื่อไหร่?
หากคุณเตรียมคำตอบเหล่านี้ให้ตัวเองได้ คุณก็จะรู้ว่า ควรทำอย่างไร ถ้าหากมีการเพิ่มทุนของหุ้นที่คุณถืออยู่ได้ค่ะ
💦.....ในกรณีที่คุณเลือกที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน สิ่งต่อไปที่ควรต้องทำ คือการติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท ว่าคืบหน้ามากน้อยเพียงใด กิจการเจริญเติบโตขึ้นหรือไม่ หากบริษัทไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ก็เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่ต้องตัดสินใจว่าจะถือหุ้นของบริษัทนี้ต่อหรือขายทิ้งไปจะดีกว่า
โชคดีในการลงทุนทุกท่านค่ะ 😊😊
ที่มา :
https://kasikornbank.com/th/k-expert/knowledge/articles/savings/Pages/Invest_A143.aspx
https://www.set.or.th/set/education/html.do?name=decode_strategy_invest_29&innerMenuId=19#:~:text=%
https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1070
https://www.porttoffy.com/article/topic/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
FB :
https://www.facebook.com/BSV.BSerp.BusinessValue
Website :
https://accounting.bsv-th.com/
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘
28 บันทึก
75
86
30
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
28
75
86
30
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย