14 ต.ค. 2020 เวลา 07:28 • ประวัติศาสตร์
*** 'ชา' ทางบก 'ที' ทางน้ำ รากเหง้าคำเรียกใช้ใบชาของชาวโลก ***
โลกนี้มีการเรียก “ชา” อยู่แค่สองแบบ คือเรียกว่า “ฉา-ชา-ไช-เช” หรือเรียกว่า “ที-ตี-เต-เต๋” ทั้งสองคำนี้มีต้นกำเนิดในจีนทั้งสิ้น
อนึ่ง “ชา” เป็นพืชที่เกิดบนจีนแผ่นดินใหญ่ ตามตำนานบอกว่ามีกษัตริย์ชื่อเสินหนงโปรดรับประทานน้ำร้อน วันหนึ่งมีใบชาแห้งลอยมาตกในน้ำร้อนของเขาจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เสินหนงสงสัย ลองรับประทานแล้วกลับชอบกว่าเดิมจึงคิดสูตรชาขึ้นเป็นครั้งแรก
จีนค้าขายใบชาผ่านเส้นทางสายไหม ไม่ว่าไปที่ไหนคนก็จะเรียกมันในแนว “ฉา-ชา” ตามจีนกลาง
ต่อมาชาวดัตช์บุกเบิกการค้าทางเรือ มีท่าเรือหลักที่มณฑลฮกเกี้ยน (หรือฝูเจี้ยน) ในจีน จึงเรียกชาว่า “เต๋” ตามสำเนียงฮกเกี้ยนไปด้วย ชาติยุโรปอื่นๆ รับชาจากดัตช์ก็เรียกตาม คำว่าเต๋นี้จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า “ที” ในภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวมีข้อยกเว้น คือโปรตุเกสค้าขายชากับจีนทางเรือเช่นกัน แต่มีท่าเรือหลักที่มาเก๊า จึงยังเรียกว่า “ชา” ตามสำเนียงมาเก๊า นี่ทำให้ในทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้นั้นมีเพียงบราซิลที่เรียก “ชา” เพราะเป็นเมืองขึ้นโปรตุเกส
การเรียกว่า “ชา” และ “ที” นี้เป็นสัญลักษณ์ของโลกาภิวัฒน์ในสองยุคสมัย คือยุคที่เดินทางตามเส้นทางสายไหมบนบก (เรียกชา) และยุคที่ค้าขายทางเรือ (เรียกที) นั่นเองครับ
:: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
กรุ๊ปประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ https://www.facebook.com/groups/thewildchronicles/
กรุ๊ปท่องเที่ยว เที่ยวโหดเหมือนโกรธบ้าน https://www.facebook.com/groups/wildchroniclestravel/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา