14 ต.ค. 2020 เวลา 11:39 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หนี้สาธารณะของอเมริกากับผลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อัตราส่วนทางการเงินในระดับบุคคล เราดู Debt-to-Income = หนี้/รายได้ (แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้เทียบกับรายได้ ถ้าเกิน 100% แสดงว่าหนี้สูง ยิ่งหนี้สูงก็ยิ่งเสี่ยง เพราะมีเงินไม่พอจ่ายหนี้) ในระดับประเทศ เราดูที่ Debt-to-GDP หรือหนี้สาธารณะต่อ GDP โดยใช้หลักการเดียวกัน
หนี้สาธารณะของอเมริกาล่าสุด ปิดปีงบประมาณไปวันที่ 30/9/2020 อยู่ที่ $26.95 Trillion หรือ Debt-to-GDP 135.64% เป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เทียบกับตัวเลขที่เคยสูงที่สุดปี 1946 ช่วงจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ 118% และตอนนี้อเมริกากำลังก่อหนี้สูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆไปสู่ระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังไม่เยอะขนาดนี้ ในปี 2001 มีอเมริกาหนี้สาธารณะต่อ GDP แค่ 55% และค่อยๆเพิ่มขึ้นจนปี 2008 ที่ 68% ตอนนั้นเกิดวิกฤต Subprime หลังจากนั้นมาปี 2009 หนี้ก็เกิน 80% และเพิ่มขึ้นมาเกือบทุกปี จนถึงปัจจุบันที่ 135.64%
ตอนนี้อเมริกากำลังกู้เงินสกุลดอลล่าร์ของตัวเองซึ่งเป็นเงินสกุลสำรองของโลก สถานการณ์ตอนนี้ต่างกับช่วง The Great Financial Crisis ปี 2008 เพราะตอนนั้นความมีอิทธิพลของค่าเงินดอลล่าร์ยังไม่ได้ลดลง
ธนาคารกลางสหรัฐ(FED)ก็มีความพยายามทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยการลดดอกเบี้ยจนเข้าใกล้ 0 เพื่อลดภาระต้นทุนด้านดอกเบี้ย และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากตลาดรองจนตอนนี้ FED ถือพันธบัตรรัฐบาล (US Treasury) มากกว่า 20% สูงที่สุดที่ผ่านมาเช่นกัน
World Bank พบว่าที่หนี้สาธารณะต่อ GDP 77% เป็น Tipping point ถ้ามากกว่า 77% อเมริกาจะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และยังทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงด้วย
สาเหตุที่ทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น ส่วนใหญ่มาจาก
1. การลดภาษี
2. การอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ(ทำให้ขาดดุลเพิ่มขึ้น)
3. ค่าใช้จ่ายทางการทหาร ตั้งแต่เหตุการณ์ 911 ปี 2001
4. ค่าใช้จ่ายด้านผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการประกันสังคม และการช่วยเหลือต่างๆ
จะเห็นว่า รายจ่ายของประเทศส่วนมากไม่ได้ทำให้เกิดผลผลิต ต่างกับประเทศจีนที่ลงทุนด้าน R&D, Future Technology และเน้นการจ้างงาน
นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Paul Krugman บอกว่าเรากำลังติดกับดักสภาพคล่อง และเราควรใช้เงินไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่การให้เงินช่วยเหลือไปเฉยๆ
ในทางทฤษฎี  supply-side economics  โดยการลดภาษี และกระตุ้นการใช้จ่าย จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้ และถ้าเศรษฐกิจเติบโตมากพอ จะเกิดรายได้มากพอที่จะมาชดเชยภาษีที่หายไป รัฐก็จะเก็บภาษีแล้วนำมาจ่ายหนี้ หนี้ก็จะลดลงไปเอง แต่ตามทฤษฎีภาษีต้องมากกว่า 50% ของรายได้ ถ้าภาษีน้อยอยู่แล้ว แล้วยังลดภาษีลงอีกก็จะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่กลับทำให้แย่ลงอีก
การขาดดุลงบประมาณ(Deficit) ที่เพิ่มขึ้น ในปีงบประมาณ 30/9/2020 มาจาก
1. รายได้ภาครัฐ(การเก็บภาษี) อเมริกาเก็บภาษีได้ $3.419 Trillion (ลดลง -1% จากปี 2019)
2. การใช้จ่ายภาครัฐ $6.55 Trillion (มากกว่าปี 2019 ถึง +47%)
ผลต่างของรายได้และรายจ่ายนี้กลายเป็นการขาดดุลงบประมาณ (Deficit) $3.131 Trillion สูงที่สุดที่ผ่านมา
(เทียบกับปี 2019 ขาดดุลการค้า $984 Billion แสดงว่าปี 2020 ขาดดุลมากกว่าเดิม 3 เท่า)
ประเทศที่มีการขาดดุลมากๆ ในอนาตคมักจะพบกับภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง และเศรษฐกิจเติบโตช้า จึงเป็นเหตุผลให้ราคาโลหะมีค่าเพิ่มสูงขึ้น
ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณเรื่องเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยสูง มันอาจจะเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปี แต่วันนึงถ้ามันเกิดขึ้นเราอาจจะเห็นผลที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึง
คนทีมีอำนาจก็ไม่ได้แคร์เรื่องการขาดดุลงบประมาณ
การหาเสียงของพรรค Republicans เน้นเรื่องการลดภาษี ในขณะที่ พรรค Democrats เน้นเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ เท่ากับว่าทั้งสองพรรคมีนโยบายสร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต การเลือก Biden น่าจะทำให้ประเทศขาดดุลงบประมาณมากกว่า Trumph และ GDP อาจจะโตมากกว่า เพราะมีการกระตุ้นการใช้จ่าย
การแก้ปัญหาในทางเศรษฐศาสตร์นั้นง่ายกว่าในทางการเมือง เพราะทั้งสองพรรคต้องร่วมมือกัน ลดหนี้โดยการ ตัดรายจ่าย และขึ้นภาษีให้กลับมาเท่าเดิม ทั้ง 2 วิธีจะช่วยลดการขาดดุลได้อีกด้วย
การก่อหนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือในตลาดการเงินลดลงแต่ ทำไมอเมริกายังไม่ล้ม เหมือนบางประเทศที่ทำแบบเดียวกัน?
1. เศรษฐกิจอเมริกามีขนาดใหญ่และมีความยืดหยุ่นมาก เวลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ นักลงทุนจะขายหุ้น ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล(US Treasury) เพราะเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุด โดยปกติแล้วความต้องการซื้อ US Treasury มีสูงมาก เพราะได้รับการการันตี 100% อเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจและยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเเข็งแกร่งที่สุดในโลก นักลงทุนเชื่อมั่นใน US Treasury จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมดอลล่ายังคงเเข็ง และด้วยความมีอิทธิพลของค่าเงินดอลล่าร์จึงทำให้อเมริกามีความสามารถในการทนต่อปริมาณหนี้ที่สูงได้มากกว่าประเทศอื่น
2. ไม่ได้มีแค่อเมริกาที่มีหนี้สูงขึ้นประเทศเดียว แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็เป็นเหมือนกันในช่วง COVID
ไม่มีใครรู้ว่าหนี้ของรัฐบาลสูงระดับไหนถึงจะเริ่มเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจ แต่ตราบใดที่ดอกเบี้ยยังต่ำแบบนี้อยู่รัฐบาลก็จะสามารถรับมือกับหนี้สูงได้มากขึ้น และการมีหนี้เยอะขนาดนี้น่าจะเป็นแค่ชั่วคราว ที่ใช้เพื่อต่อสู้กับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพราะการพิมพ์เงินเพื่อใช้จ่ายไม่ใช่วิถีทางที่ยั่งยืน
อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือ เพดานหนี้(Dept Ceiling)
ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สภาคองเกรสมีข้อกำหนดที่เคร่งครัด ในการกำหนดเพดานหนี้ ทุกครั้งการก่อหนี้จะต้องมีวัตถุประสงค์อย่างเฉพาะเจาะจงว่ากู้ไปทำอะไร ซื้อพันธบัตรแบบไหน ต่อมามีการหยุดพักการกำหนดเพดานหนี้เพื่อการกู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งในด้านการทหาร และค่าใช้จ่ายในประเทศ ปธน.Trumph ได้เซ็นสัญญาในเดือนสิงหาคม ปี 2019 สภาคองเกรสได้มีมติให้หยุดพักการกำหนดเพดานหนี้เป็นเวลา 2 ปี จนถึง 31 กรกฎาคม ปี 2021 หลังจากนั้นจะนำการจำกัดเพดานหนี้มาใช้อีก
เรายังไม่รู้ว่าในอนาคตยังมีการขยายระยะเวลาการจำกัดเพดานหนี้นี้อยู่หรือไม่ ถ้ายังมีการขยายเวลาก็จะทำให้ประเทศขาดดุลมากขึ้น หนี้สาธารณะสูงขึ้น ต้นทุนของสวัสดิการประกันสังคมและสุขภาพเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ
แต่ถ้าปีหน้า มีการจำกัดเพดานหนี้มาใช้เหมือนเดิม ก็จะเป็นการหยุดอัดฉีดสภาพคล่อง ทำให้นักลงทุนมีความกังวล เทขายทำกำไรในสินทรัพย์ต่างๆที่ราคาขึ้นมาสูงมากแล้ว เราต้องติดตามดูกันต่อไป
References
โฆษณา