14 ต.ค. 2020 เวลา 15:16 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ของเวียดนามก่อนถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ (2)
ที่มา: http://www.aseanthai.net/mobile_detail.php?cid=56&nid=4038
เวียดนามได้เริ่มยุคใหม่ด้วยความพยายามที่จะปลดแอกจากฝรั่งเศส ซึ่งภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศส มีชาวเวียดนามลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชมาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาแบบฝรั่งเศส เช่น ในปี ค.ศ. 1925 มีการก่อตั้งพรรคสมาคมชาวเวียดนามหนุ่มนักปฏิวัติ ซึ่งต่อมาคือ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน” มีเหงวียน อาย กว๊อก เป็นหัวหน้า หรือที่รู้จักในนาม โฮจิมินห์ในยุคที่ชาติตะวันตกได้ขยายอิทธิพลเข้าในเอเชีย
ในระยะเวลาใกล้ๆ กันนี้ คือ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และที่ 2 ญี่ปุ่นเป็นชาติเอเชียชาติเดียวที่สามารถพัฒนาประเทศขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทหารแข่งกับชาติยุโรปได้ ญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยมอย่างขนาดหนัก หลังจากที่ญี่ปุ่นชนะในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น จากนั้นญี่ปุ่นได้เริ่มจากผนวกเกาหลีใน ค.ศ. 1910 ยึดแมนจูเรียใน ค.ศ. 1932 รุกรานจีน
ในระยะเวลาเดียวกันนี้ญี่ปุ่นก็กำลังขยายอิทธิพลอยู่ในเขตเวียดนามเหนือและในทางด้านยุโรปฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้สงครามแก่เยอรมันนี ทำให้ในส่วนอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้นญี่ปุ่นก็ได้เข้ามายึดครองอย่างเต็มที่ เป็นอันว่าฝรั่งเศสหมดอำนาจลงในทันที จากนั้นญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองเวียดนาม ได้สนับสนุนให้จักรพรรดิบ๋าวด่ายมีอำนาจและประกาศเอกราชให้แก่เวียดนาม แต่ชาวเวียดนามไม่ได้ภูมิใจกับเอกราชที่ญี่ปุ่นหยิบยื่นให้ จึงมุ่งดำเนินงานใต้ดินเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติ
ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามมหาเอเชียบูรพาในเอเชีย) โฮจิมินห์จัดตั้งขบวนการเวียดมินห์ หรือสันนิบาตเพื่อเอกราชเวียดนาม ในเวียดนามตอนใต้ใน ค.ศ. 1941 ขบวนการนี้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชและรวมชาติเวียดนามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ต่อมาญี่ปุ่นได้ยอมยุติสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข ถือได้ว่าเวียดนามได้ก้าวสู่ยุคใหม่ แต่เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสพยายามกลับเข้ามาเวียดนามปกครองอีก การพยายามกลับมามีอำนาจของฝรั่งเศสทำให้เกิดสงครามอีกครั้ง
แต่หลังจากฝรั่งเศสรบแพ้ที่เดียนเบียนฟูในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1954 ฝรั่งเศสจึงยอมให้เอกราชแก่เวียดนามตามข้อตกลงเจนีวา ข้อตกลงดังกล่าวแบ่งเวียดนามออกเป็น 2 ส่วนที่เส้นรุ้งที่ 17 องศาเหนือ ได้แก่ เวียดนามเหนือภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียตและจีน และเวียดนามใต้ภายใต้การสนับสนุนของฝรั่งเศสและชาติสัมพันธมิตร
แหล่งข้อมูล:
1. คึกฤทธิ์ ปราโมช. สงครามเวียดนาม. นนทบุรี : ดอกหญ้า, 2557.
2. พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์. สงครามเวียดนาม : สงครามกับความจริงของ “รัฐไทย”.กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2549.
3. ปรีชา ศรีวาลัย. สงครามปัจจุบัน : สงครามเวียดนาม, สงครามอาหรับ-อิสราเอล, สงครามเลบานอน และสงครามฟอลก์แลนด์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2553.
4. นิจ ทองโสภิต. สงครามเวียดนามและไทยจะเป็นเวียดนามแห่งที่สองหรือไม่. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2516.
5. วีระชัย โชคมุกดา. สงครามกลางเมืองฆ่ากันเองในแผ่นดินเดียวกัน. กรุงเทพฯ : ยิปซี, 2557.
6. อนันตชัย จินดาวัฒน์. มหาสงครามที่โลกจารึก = Megar wars . กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2557.
7. สงครามเวียดนาม. เข้าถึงได้จาก : https://www.l3nr.org/posts/363356 / สืบค้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560.
โฆษณา