15 ต.ค. 2020 เวลา 00:11 • การ์ตูน
#ความเติบโตของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น
เชื่อว่าหลายคน น่าจะเคยสัมผัสและคุ้นเคยกับการอ่านหนังสือการ์ตูนมาไม่มากก็น้อย มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือ สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ
โดยมี บ.ก.วุฒิ-วรวุฒิ วรวิทยานนท์ บรรณาธิการบริหารของวิบูลย์กิจ พับลิชชิ่ง กรุ๊ป ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนานเกือบ 40 ปี ในเส้นทางอันยาวไกลของการ์ตูนญี่ปุ่น ที่สำคัญเขาเป็นคนที่รักการ์ตูนมาก และเชื่อว่าใครที่รักการ์ตูนแล้วจะรักตลอดไป
ย้อนหลัง ไปเมื่อ พ.ศ. 2508 เมื่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม และช่อง 7 สนามเป้า ได้นำหนังการ์ตูนชุดเข้ามาทยอยฉาย เช่น เจ้าหนูปรมาณู เจ้าหนูลมกรด หงอคงผจญภัย สายลับ 009 ตามด้วยหนังฮีโร่อย่าง อุลตร้าแมนหุ่นอภินิหาร
จากเดิมที่แผงหนังสือเคยมีการ์ตูนไทยครองตลาดผู้อ่านกลุ่มนี้ จึงเริ่มมีการ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยออกมาชน ใช้ชื่อไทยๆ เช่น การ์ตูนเด็ก ธิดา การ์ตูนทีวี พิริยะสาสน์ และได้รับความนิยมจนทำให้นักเขียนการ์ตูนไทยหลายคน นำตัวการ์ตูนญี่ปุ่นมาแต่งเป็นเรื่องราวแบบฉบับของตัวเอง
ในช่วง พ.ศ. 2527 กระแสการ์ตูนญี่ปุ่นเปลี่ยนแนวจากซูเปอร์ฮีโร่ หันมานิยมการ์ตูนแอคชัน วิบูลย์กิจจึงออกนิตยสารการ์ตูนเล่มใหม่อีกเล่มคือ The Zero โดยเปลี่ยนขนาดเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก และรวมการ์ตูนที่ได้รับความนิยม อย่าง ดราก้อนบอล โดราเอมอน ซิตี้ฮันเตอร์ หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ
ใครจะเชื่อว่า สำนักพิมพ์แห่งนี้ มีคนทำงานหลักๆอยู่เพียง 5 – 6 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เวลาปิดเล่ม The Zero พวกเขาจะค้างกันที่ออฟฟิศ ตั้งโต๊ะทำงานติดเครื่องแฟ็กซ์ ข้างหลังคือที่นอน เตรียมพร้อมทำงานให้ได้เร็วที่สุด ทุกสัปดาห์วนเวียนอยู่อย่างนั้น แต่ทุกคนก็มีความสุขเมื่อย้อนนึกถึงช่วงการทำงานที่เข้มข้นในวันวาน
แน่นอนที่ว่า เส้นทางเดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อุปสรรคที่เข้ามาคือเรื่อง "กฎหมายลิขสิทธิ์ " ที่มีการแข่งขันกันมาก ในปี พ.ศ. 2535 เป็นเหตุให้หยุดพักไปชั่วคราว
หลังผ่านช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย วิบูลย์กิจ กลับมาออกหนังสือการ์ตูนเล่มใหม่อีกครั้ง คือ จิ๋วพลังอึด ซึ่งต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า เป็นการ์ตูนลิขสิทธิ์เล่มแรกของเมืองไทย จากสำนักพิมพ์ อาคิตะ โชเต็น (Akita Shoten) เจ้าของลิขสิทธิ์การ์ตูนเรียก เขาว่าอีกา สิงห์นักปั่น โอตาคุน่องเหล็ก ฯลฯ
ต่อจากนั้น สำนักพิมพ์ที่ยอมให้ลิขสิทธิ์ ก็คือ โคดันฉะ (Kodansha) เจ้าของนิตยสาร Kodansha Comic Weekly หรือ KC.Weekly รายนี้ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น และมีการ์ตูนชื่อดังอย่าง คินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา
จนกระทั่ง มาถึงยุค ที่มีนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นมากที่สุดในประเทศไทย ออกทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ มีทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน เช่น KC.Weekly, NeoZ, VIVA! FRIDAY, KC.Trio, Young Friday, Mr. Monthly, RINA เป็นต้น
รวมถึงการได้ลิขสิทธิ์ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน จากสำนักพิมพ์โชกะกุกัง การ์ตูนสืบสวนเล่มนี้สร้างปรากฏการณ์ในหมู่ผู้อ่านทุกเพศทุกวัย ยอดขายจึงเติบโตก้าวกระโดด และยังได้รับความนิยมมาถึงทุกวันนี้
ที่มา : กูเกิ้ลนิวส์ 15/10/2020
โฆษณา