15 ต.ค. 2020 เวลา 02:25 • ไอที & แก็ดเจ็ต
เปรียบเทียบ Kindle ทุกรุ่น
30 มีนาคม 63
ข้อมูลเปรียบเทียบ Amazon Kindle ทุกรุ่น ที่ดีที่สุดบนเว็บเท่าที่ผมเคยเจอให้คลิกที่ link นี้ครับ ลองเปรียบเทียบดูกันเองได้เลยครับ
สืบเนื่องจากมีเพื่อนสมาชิกส่งข้อความหาผมหลายวันมาแล้ว อยากให้รีวิว Kindle แต่ละรุ่น และยี่ห้ออื่นๆ ที่มีคนโพสต์ขาย แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นเพื่อนกันบน Facebook ข้อความจะไปอยู่ในคำขอส่งข้อความ ซึ่งเป็นอีกหน้าหนึ่งบน Facebook Messenger ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็นครับ สรุปว่ากว่าจะเห็นเครื่องเหล่านั้นก็ขายไปแล้ว ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเลือกซื้อ คือเปรียบเทียบ specifications และราคาเทียบกับการซื้อของใหม่ด้วยตนเอง และสอบถามกับผู้ขายซึ่งทุกคนยินดีที่จะให้ข้อมูลอยู่แล้ว
ต้องขอออกตัวว่าผมเองเพิ่งมี Kindle มือสองเครื่องแรก เมื่อปลายปี 2019 ไม่นานมานี้เอง โดยซื้อจากสมาชิกท่านหนึ่งในกลุ่มนี้ จึงมิอาจเรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญด้านนี้แต่อย่างใด แต่อาศัยความเป็นนักอ่านอย่างพวกเรา อยากรู้เรื่องอะไรเราก็สืบค้น หาอ่านเอาเราก็รู้จนได้ครับ
สำหรับ eBook Reader ยี่ห้ออื่นๆ ปัจจุบันมีมากมายหลายยี่ห้อหลายรุ่นเหลือเกิน นอกจาก Kindle เช่น Kobo, Boox, และอื่นๆ อีกมากมาย แม้แต่ Xiaomi ที่ทำเกือบทุกอย่างก็มี วิธีที่ดีที่สุดคงต้องเทียบ specifications กับราคาครับ ซึ่งยี่ห้ออื่นๆ ถ้า OS เป็น Android ลง app เพิ่มได้ก็มีข้อดีคือ สามารถลง app อ่านหนังสือภาษาไทยเช่น MEB, Naiin ได้ด้วย บางรุ่นก็มีปากกาสามารถเขียนบันทึกได้ด้วย มีหน้าจอขนาดและความละเอียดต่างๆ หน่วยความจำหลายขนาดให้เลือก แบบที่มีปุ่มเลื่อนหน้าหนังสือได้ด้วยก็มี บางรุ่นมีช่องต่อหูฟัง ลำโพง หรือมี bluetooth ซึ่งจะสามารถฟัง Audiobook ที่เป็นเสียงคนจริงๆ อ่านได้ด้วย บางรุ่นก็สามารถใส่ SD Card เพื่อเพิ่มหน่วยความจำได้ด้วย น้ำหนักเครื่องก็แตกต่างกันไป
ความจริง Tablet และ iPad หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ทั่วไป ก็สามารถลงแอพ Kindle ได้ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการพกหลายเครื่อง เพียงแต่ eBook Reader ที่ใช้จอแบบ e-ink เช่น Kindle จะมีน้ำหนักเบากวา พกพาสะดวก ใช้พลังงานน้อยกว่า การชาร์จครั้งหนึ่งหากปิด Wifi จะใช้งานได้หลายสัปดาห์ และถนอมสายตามากกว่า อย่างไรก็ดี ผู้ที่ใช้แอพ Kindle บนจอสี ใช้วิธีตั้งสีเป็น Sepia ก็พอช่วยได้บ้างครับ
ขนาดหน้าจอก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ควรเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน สำหรับผม Kindle หน้าจอ e-ink 6 นิ้ว ความละเอียดหน้าจอ 300 ppi มีไฟสำหรับอ่านในที่มืดได้ น้ำหนักเบา ถือว่าตอบโจทย์ของตนเอง ติดฟิล์มกันรอยหน้าจอเสียหน่อย ใส่เคสแม่เหล็กที่เปิดปิดหน้าจอเองได้ ก็ช่วยให้สะดวกสบายขึ้น ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเครื่องจะเป็นรอย และช่วยถนอมปุ่มในระยะยาว
ความละเอียดหน้าจอก็มีทั้ง 167, 212, 300 ppi
หน้าจอ Kindle รุ่นใหม่ๆ จะไม่มีขอบ ทำให้กันน้ำได้ด้วย
ภาพหน้าจอ Lock Screen ของ Kindle นี่แทบจะไม่ใช้พลังงานเลยครับ ด้วยความที่เป็นหน้าจอ e-ink มันจะคงภาพสุดท้ายเอาไว้ได้เองโดยไม่ต้องใช้พลังงาน
Kindle บางรุ่น มีหลายขนาดหน่วยความจำให้เลือกด้วย โดยทั่วไป Kindle ที่มีความจุ 4 GB จะใช้กับระบบไปประมาณ 1 GB เหลือเป็นที่เก็บหนังสือประมาณ 3 GB ซึ่งเท่ากับเก็บหนังสือได้ประมาณ 3,000 เล่ม หรือถ้าเครื่องที่มีความจุ 8 GB จะมีที่ว่างประมาณ 6 GB ซึ่งเท่ากับหนังสือประมาณ 6,000 เล่มเลยทีเดียว อันนี้พูดถึงหนังสือขนาดปกติโดยทั่วไปนะครับ เคยเจอเหมือนกันหนังสือตำราบางเล่มขนาดใหญ่มาก เล่มเดียวหลาย GB ไม่สามารถซื้อได้ หากเจอกรณีเช่นนี้ อาจต้องเลือกซื้อใส่แอพ Kindle บนคอมพิวเตอร์ที่มีพื้นที่เก็บเยอะๆ แทนถึงจะซื้อได้
Kindle ที่ใช้ OS รุ่น 5.9.6 คือ Kindle Paperwhite 3 (6th generation) เป็นต้นมา แม้เมนูจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็รองรับการอ่านภาษาไทย สามารถลง fonts ภาษาไทยได้โดยต่อสาย USB กับคอมพิวเตอร์ แล้วนำ fonts ที่ชอบใส่ลงในโฟลเดอร์ชื่อ fonts ถามว่าจะเอา fonts ภาษาไทยมาจากไหน จะดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ตก็ได้ หรือจะ copy มาจาก C:\WINDOWS\FONTS ก็ได้
* ใช้ได้กับหนังสือฟอร์แมต azw3 ที่ซื้อจาก Amazon หรือส่งเข้าเครื่องผ่านสาย USB เท่านั้น ไม่สามารถ send to kindle ทาง email
สำหรับ Dictionary ภาษาอังกฤษ-อังกฤษ มีมาให้ฟรีอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการ English-ไทย ก็สามารถซื้อจาก Amazon Store ลงเพิ่มได้ราคาเริ่มต้นที่ 2.99 USD มีหลายตัวให้เลือกครับ ถ้าลงแล้วไม่ถูกใจ สามารถยกเลิกการซื้อได้ภายใน 7 วัน
หนังสือบน Amazon Store ไม่มีภาษาไทยนะครับ แต่เราสามารถต่อสาย USB กับคอมพิวเตอร์เพื่อลงหนังสือภาษาไทยในเครื่องได้โดยตรง หรือใช้วิธีการส่งเป็นอีเมล์ไปยัง Send-to-Kindle Email ก็ได้ ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวต้องไม่ติด ลิขสิทธิ์ดิจิตอล ที่เรียกว่า DRM (Digital Right Management) ครับ
หมายเหตุ:
* Kindle ที่วางขายในไทยส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นที่มี Special Offers หรือปัจจุบันเรียกว่า Ads Supported คือมีโฆษณาแสดงบน Lock Screen สามารถ chat กับ support ของ Amazon เพื่อขอเอาออกได้ฟรี (ปกติมีค่าบริการ 20 USD)
* Kindle เองก็มีรุ่น Fire และ Fire HD หน้าจอ 7, 8, 10 นิ้ว ที่เป็น Tablet ใช้จอสี LCD เครื่องจะมีน้ำหนักมากกว่ารุ่นที่ใช้จอ e-ink และแบตอยู่ได้แค่วันเดียวถ้าใช้งานต่อเนื่อง บางรุ่นสามารถใส่ SD Card เพื่อเพิ่มหน่วยความจำได้ อาจเหมาะกับความต้องการเฉพาะด้าน เช่น ต้องการดูหนังฟังเพลงด้าย และต้องการจอใหญ่ๆ เพื่ออ่าน ไฟล์ pdf ได้สะดวกเป็นต้น โดย Kindle Fire และ Fire HD จะมี OS เป็น Kindle Fire OS ที่พัฒนาต่อมาจาก Android อีกทีหนึ่ง ส่วนแอพก็สามารถดาวน์โหลดได้จาก Amazon Kindle Store ซึ่งแอพจะมีน้อยกว่าบน Google Play Store
* สำหรับท่านที่ไม่ทราบว่า Kindle ของตนเองเป็นรุ่นอะไร สามารถดูจาก Serial Number 4-6 ตัวแรก แล้วเทียบกับตารางตาม link ด้านบนได้ครับ
* ข้อควรพิจารณาในการเลือกซื้อ Kindle มือสอง สภาพภายนอก ร่องรอยต่างๆ สภาพแบต สามารถ login amazon account เพื่อซื้อหนังสือได้หรือไม่ ผู้ขายโดยทั่วไปจะให้ข้อมูลสภาพตามความเป็นจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจครับ
* ข้อดีอย่างหนึ่งของการซื้อ Kindle มือสองคือ บางเครื่องผู้ขายลง fonts ไทย, หนังสือภาษาไทย และ English-ไทย Dictionary ไว้ให้แล้ว เราเพียงแค่นำมา Deregister แล้ว Register ใหม่ด้วย amazon account ของเราเองก็สามารถซื้อหนังสือเพิ่มเองได้ครับ
* ก่อนขาย Kindle ให้กับผู้อื่น แนะนำให้ Deregister เครื่องก่อนเพื่อยกเลิกการผูกกับ amazon account ของเราเอง และอาจ Factory Reset ด้วย ซึ่งหนังสือและ Dictionary ที่ซื้อไว้จะหายหมดครับ
โฆษณา