15 ต.ค. 2020 เวลา 03:46 • ธุรกิจ
‘จงหยุดอ่านข่าว’ แล้วชีวิตคุณจะดีขึ้น…
The Serious - Stop reading the news
ในช่วงเวลานี้ ข่าวสารจำนวนมากกำลังถูกเผยแพร่ออกมาในหลายแง่มุม ในโลกยุค 4.0 ข่าวสารออกมาจากทั้งสื่อสารมวลชนมืออาชีพ ตลอดจนข่าวสารที่ถ่ายทอดโดยบุคคลทั่วไป ที่มักจะมีมุมมองการนำเสนอแตกต่างกันไป ตามแต่บุคคลจะมีมุมมองต่อสถานการณ์นั้น
คำว่า ‘ความเป็นกลาง’ ในทางสังคมนั้นอาจเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เนื่องจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดต่าง ๆ มักผลักดันให้คนทั่วไปต้องแสดงจุดยืน ซึ่งก็เป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ ของมนุษย์และสัตว์สังคมทั่วไป ที่มีแก่นแท้ของ ‘สัญชาติญาณ’ (Human Spirits) ในการรวมกลุ่มก้อนเป็นพื้นฐาน
แม้เพจนี้จะประกาศชัดว่า มุ่งเน้นให้บทวิเคราะห์ในประเด็นที่สำคัญต่อสังคมส่วนใหญ่ ร่วมกับการนำเสนอข่าวรายวันในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์อย่างระมัดระวัง แต่คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า งานเขียนทุกอย่างย่อมมีมุมมองของผู้เขียนเป็นสำคัญ
นั่นคือสิ่งที่นายรอฟ โดเบลลี (Rolf Dobelli) พยายามบอกในหนังสือขายดี ‘จงหยุดอ่านข่าว’ (Stop reading the news) ซึ่งมีที่มาจากบทความสั้น ๆ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน (The Guardian) ของประเทศอังกฤษ จนเป็นบทความที่มีผู้อ่านมากที่สุด ของสำนักพิมพ์นี้เลยทีเดียว
นับว่าเป็นเรื่องน่าสนใจที่สำนักข่าวยักษ์ใหญ่ กลับตีพิมพ์บทความว่าทำไมคนทั่วไปจึงควรเลิกอ่านข่าว ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้
1. ข่าวไม่ช่วยให้คุณมีการตัดสินใจที่ดีขึ้น (Irrelevant to your life) : เนื่องจากเนื้อหาในข่าวส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีสาระที่สนับสนุนการคิดวิเคราะห์ และการตัดสินใจในงานที่คุณกำลังทำ
2. เนื้อหาในข่าวไม่มีความลึกซึ้งมากพอ (No explanatory power) : โดยข่าวส่วนใหญ่เปรียบเสมือนฟองสบู่ที่เกิดขึ้นโดยผิวเผิน และไม่พยายามเจาะลึกลงไปในสาระที่ลึกลงไป ว่าเหตุใดเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงเกิดขึ้น ผู้เขียนเห็นว่า สาระ (Stories) ที่ดีจะต้องผ่านการย่อยข้อมูลอย่างลึกซึ้ง ผ่านการวิเคราะห์ของนักข่าว ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจโลกในภาพใหญ่ มากกว่าเพียงการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น
3. กระบวนการคิดของมนุษย์ถูกรบกวนโดยข่าวรายวัน (Cognitive error) : ซึ่งความผิดพลาดในการตัดสินใจของมนุษย์ส่วนใหญ่คือ ‘การเลือกเสพข้อมูลที่ตนเองชื่นชอบ’ (Confirmation bias) ทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลด้านในด้านหนึ่งมากเกินไป และเกิดเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดในที่สุด
4. บั่นทอนกระบวนการคิดของคน (Inhabits thinking) : เนื่องจากกระบวนการคิดจะเกิดขึ้น เฉพาะในเวลาที่คนมีสติกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ แต่รายงานข่าวที่เกิดขึ้นรายวันนั้น เป็นสิ่งที่สร้างมาเพื่อดึงดูดและหันเหความสนใจของผู้บริโภค (Engineered to distract) เพื่อสร้างการพูดถึงในบทความนั้น ๆ
ซึ่งจากการศึกษาของนักวิจัยชาวแคนาดาพบว่า ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และเชื่อมโยงของคนจะลดลงอย่างมาก หากในบทความหนึ่ง ๆ มีการผูกข้อมูลโยงไปโยงมาจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนถึงข่าวที่เปรียบเสมือนการโยงข้อมูลจำนวนมากไปมา อย่างไม่มีระเบียบ
5. ทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ (Waste of time) : ข้อนี้คงเป็นคำวิพากย์ที่ร้ายแรงที่สุด โดยผู้เขียนให้เหตุผลว่า หากเราต้องเสียเวลาอ่านข่าวในช่วงเช้า-พักเที่ยง-เย็น เพียง 15 นาที/ครั้ง เราจะต้องเสียเวลาราวครึ่งวัน/สัปดาห์ และยังไม่รวมถึงเวลาที่เราต้องพักสมอง หากเป็นข่าวที่ดึงดูดความสนใจของเราออกไป ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากข่าวนั้น ๆ เลย
นอกจากนี้นายรอฟฯ ยังได้พูดถึงการบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ และการทำให้คนเราไม่กระตือรือร้นต่อสิ่งใหม่ ๆ เพราะการเสพข่าวมากจนเกินไปอีกด้วย ซึ่งเนื้อหาที่กล่าวมานั้นมีทั้งมุมมอง และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พอสมควร
ก็คงต้องชั่งใจกันดูว่า ‘ท่านยังจำเป็นต้องอ่านข่าว’ อยู่หรือไม่ ในมุมมองของเรานั้น คงต้องนำเสนอหลักธรรมที่ว่าด้วยทางสายกลางหรือ ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ และสนับสนุนให้ผู้อ่านทุกท่านเลือกอ่าน ‘ข่าว’ และ ‘บทวิเคราะห์’ อย่างสมเหตุสมผล
และแน่นอนว่า ก็ขอให้ ‘เดอะซีเรียส’ เป็นหนึ่งในทางเลือกของท่านต่อไปด้วย #เพราะเราไม่ได้นำเสนอแค่ข่าว
ติดตามเราบน Facebook : www.facebook.com/theseriousth
#เดอะซีเรียสเจาะลึกประเด็นร้อน
#จงหยุดอ่านข่าว
โฆษณา