16 ต.ค. 2020 เวลา 00:00 • การตลาด
หลายคนคงได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ Branding หรือการสร้างแบรนด์ (ตราสินค้า) อยู่บ่อย ๆ และเรามักจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าวอย่างที่เรียกว่า “หลีกเลี่ยงได้ยาก” อยู่เสมอ
จะให้ทุกคนลองนึกถึงแบรนด์ของครีมอาบน้ำ หรือแชมพูที่คุณใช้เป็นประจำ หรือแม้กระทั่งการใช้บริการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ธนาคารผู้ให้บริการทางการเงิน หรือโรงพยาบาลผู้บริการทางด้านสุขภาพ
หากเราใช้เวลาไม่นานในการนึก และใช้เวลาไม่กี่วินาทีในการตัดตัวเลือก
อาจจะสรุปได้ว่าคุณมี “แบรนด์ในใจ” อยู่แล้ว
สถานะ “แบรนด์ในใจ” นี่แหละครับ ทำให้ผู้ผลิต หรือผู้บริการสามารถเอาชนะคู่แข่งได้โดยง่าย เพราะสามารถนำแบรนด์ของตนไปนั่งในใจลูกค้าได้
โดยที่ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวก็จะเป็นทั้งผู้ที่ใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์ และเป็นทั้งผู้บอกต่อหรือชักจูงให้ผู้อื่นมาอยู่ในกลุ่มผู้รักแบรนด์เดียวกัน ซึ่งผู้ผลิตไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เลยแม้แต่บาทเดียว
วันนี้เลยจะขอพูดถึงประโยชน์ของการสร้างแบรนด์ ที่มีอยู่มากมายมหาศาลนอกเหนือจากตัวอย่างที่ยกมาในข้างต้น
ซึ่งจะทำให้ทุกคนเข้าใจเหตุผลว่าทำไมแบรนด์ต่าง ๆ ถึงต้องพยายามสร้างความเข้มแข็ง และต้องคอยสื่อสารแบรนด์อยู่เสมอ
โดยการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งและให้เป็นที่ชื่นชอบ จนสามารถนั่งในใจผู้บริโภคนั้น มีประโยชน์อยู่หลายอย่าง ในหลาย ๆ มิติ ได้แก่
1) แบรนด์ที่เข้มแข็งจะนำพามาซึ่งกำไร อย่างที่ยกตัวอย่างไปในข้างต้น นอกจากลูกค้าปัจจุบันที่พวกเขารักในแบรนด์คุณ และเลือกใช้สินค้าหรือบริการของคุณเหนือคู่แข่งคุณแล้ว
คนกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มในการชักจูงเพื่อนฝูง หรือสมาชิกในครอบครัว ให้หันมาเป็น “พวกเดียวกัน” นั่นหมายความว่าส่วนแบ่งตลาดของคุณจะเพิ่มขึ้น ได้ลูกค้าเพิ่มโดยที่บริษัทไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาทเลย
โดยการตลาดถือว่าวิธีการนี้เป็นหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดครับ (ประหยัดต้นทุน ประหยัดเวลา และการลงแรง)
2) ในบางครั้งแบรนด์ของคุณอาจจะเป็นมากกว่าผู้ส่งมอบสินค้าและบริการ โดยผู้บริโภคอาจจะนำอัตลักษณ์หรือคุณค่าของแบรนด์มาเชื่อมโยงเป็นกับอัตลักษณ์ส่วนตัว เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์เฉพาะตัวได้
จนอาจจะนำไปสู่การสร้างชุมชนของผู้ที่ชื่นชอบแบรนด์นั้น ๆ ทำให้มีวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มเหล่านี้จะเป็นผู้ที่คอยอุ้มชูแบรนด์และคอยส่งเสริมสนับสนุนในกิจกรรมของแบรนด์อยู่เสมอ
3) หากองค์กรหรือบริษัทของคุณถูกมองในแง่ไม่ดี ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากความผิดพลาดอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ หรือจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด และสิ่งเหล่านั้นมีผลกระทบต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร
แบรนด์ที่เข้มแข็งจะเปรียบเสมือนเกราะกำบัง ที่คอยคุ้มกันไม่ให้เรื่องราวมันเลวร้ายลงไปมากกว่าที่ควรจะเป็น และกลุ่มลูกค้าหรือผู้ที่ชื่นชอบแบรนด์ของคุณ จะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ให้แก่แบรนด์ของคุณเป็นอย่างดี
4) ในเรื่องผลกระทบของแบรนด์ที่เข้มแข็งต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในนั้น กล่าวได้ว่า การสร้างแบรนด์ยังเอื้อประโยชน์แก่องค์กรในการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พนักงานในบริษัทอีกด้วย
เพราะแบรนด์ที่เข้มแข็งจะส่งผลให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร จะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างอัตลักษณ์ขององค์กรกับอัตลักษณ์ของตน และสะท้อนออกมาเป็นภาพลักษณ์ที่ต้องการให้คนภายนอกรับรู้
และมีงานวิจัยพบว่าพนักงานที่ภูมิใจในเรื่องดังกล่าว มักจะตั้งใจทำงาน และคอยเป็นกระบอกเสียงที่ดีให้แก่องค์กรของตนเสมอ
สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้อัตราการลาออกลดลงในที่สุด ทำให้การดำเนินงานขององค์กรหรือบริษัทเกิดความต่อเนื่อง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับสมัครและคัดเลือก รวมถึงเวลาที่จะต้องใช้ในการฝึกพนักงานใหม่
ดังนั้น ทุกบริษัทหรือองค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชน จึงควรตระหนักต่อคุณค่าในการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง
ให้สามารถเป็นที่หนึ่งในใจของลูกค้า เป็นแบรนด์ที่ทั้งลูกค้าและพนักงานรัก อันจะขับเคลื่อนให้องค์กรหรือธุรกิจโดยรวมประสบความสำเร็จในที่สุด
ขอบคุณที่ติดตามอ่านบทความจาก The Marketing Cube นะครับ
หากชื่นชอบฝากกดติดตามเพจด้วยนะครับ แล้วผมจะนำสาระดี ๆ แบบนี้มาแบ่งปันเรื่อย ๆ
ขอบคุณครับ
The Marketing Cube
โฆษณา