16 ต.ค. 2020 เวลา 07:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"การเดินทัพทางไกล" เพื่อผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจในอวกาศของจีน ไม่ได้มีเพียงการไปสำรวจทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์และดาวอังคารเท่านั้น แต่ยังมีโครงการที่ใกล้ตัวกว่านั้นมาก และอาจทำให้มหาอำนาจอย่างอเมริกาต้องขยับตัว เพราะรู้สึกได้ถึงภัยคุกคาม และโครงการนั้นคือ...
[สถานีอวกาศ]
สถานีอวกาศนานาชาติเป็นบ้านให้กับนักบินอวกาศจาก 19 ประเทศทั่วโลกมากว่าสองทศวรรษ แต่ไม่ใช่ทุกชาติที่สามารถเข้าร่วมได้ นาซ่าเป็นหัวหอกในการพัฒนาสถานีอวกาศนานาชาติโดยมี 15 ประเทศและ 5 องค์การอวกาศเข้าร่วม แม้แต่รัสเซียที่อเมริกาไม่ค่อยไว้ใจนัก เพราะกังวลว่าจะขโมยเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ทางการทหาร แต่หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย นาซ่าไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพึ่งพารัสเซียในการส่งนักบินอวกาศของตนไปกลับสถานีอวกาศนานาชาติ
นาซ่าต้องซื้อที่นั่งในจรวดโซยุซอันแออัด เพื่อเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลานานนับทศวรรษหลังโครงการกระสวยอวกาศถูกยกเลิก จนกระทั่งอีลอน มัสก์และ SpaceX ทำให้อเมริกาปล่อยจรวดบนแผ่นดินตัวเองได้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา - ที่มา RKK Energia/Serena Auñón-Chancellor/Twitter
แต่จีนกลับไม่ได้รับเชิญ แม้จะเคยแสดงเจตจำนงว่าต้องการเข้าเป็นสมาชิก แถมยังถูกแบนอย่างเป็นทางการ เมื่อสภาคองเกรสผ่านกฎหมายในปี 2011 ห้ามไม่ให้นาซ่าและบริษัทสัญชาติอเมริกันแบ่งปันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับรัฐบาลจีน
1
แม้จะดูรุนแรง แต่อเมริกาก็มีเหตุผลอย่างเต็มเปี่ยมที่จะไม่เชื่อใจจีน เพราะในปี 2007 จีนเคยปล่อยขีปนาวุธยิงดาวเทียมตรวสภาพอากาศที่ใกล้หมดอายุของตัวเอง ทำให้อเมริกาตระหนักว่าจีนมีศักยภาพในการยิงทำลายดาวเทียมขนาดเล็กเท่าตู้เย็นที่อยู่สูงขึ้นไปถึง 600 กิโลเมตรในวงโคจร ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง
หนึ่งทศวรรษต่อมา มีชาวจีนสองคนถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯตั้งข้อหาแฮกเข้าไปล้วงข้อมูลของห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ของนาซ่า โดยยังระบุว่าเป็นการกระทำที่มีรัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลัง
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แถลงข่าวเมื่อเดือนธันวาคมปี 2018 เรื่องแฮกเกอร์ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ซึ่งได้แฮกหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนหลายแห่งรวมถึงนาซ่าและกองทัพเรือสหรัฐฯ - ที่มา AFP/GETTY IMAGES
เมื่อถูกกีดกัน จีนจึงวางแผนสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง โดยจะมีขนาดพอๆ กับสถานีอวกาศ Mir ของสหภาพโซเวียตในอดีต หรือมีน้ำหนักราว 1 ใน 5 ของสถานีอวกาศนานาชาติ ในปี 2017 จีนได้ปล่อยยานเสบียงเทียนโจว-1 ขึ้นสู่วงโคจรและเทียบท่ากับห้องปฏิบัติการอวกาศเทียนกง-2 ได้สำเร็จ ปูทางสู่การประกอบสถานีอวกาศในอนาคต และวางแผนจะส่ง “เทียนเหอ” ชิ้นส่วนหลักของสถานีขึ้นสู่วงโคจรในปี 2021 และทยอยส่งชิ้นส่วนอื่นๆ ตามขึ้นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีกำหนดประกอบแล้วเสร็จในปี 2023
และล่าสุดจีนเพิ่งประกาศแต่งตั้งนักบินอวกาศอีก 18 คน (ชาย 17 คน หญิง 1 คน) เพิ่มจากสองรอบก่อนหน้านี้ที่ได้แต่งตั้งไปแล้ว 21 คน แสดงให้เห็นว่าจีนวางแผนเดินหน้าเต็มกำลังในการสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง
ภาพจำลองสถานีอวกาศจีน - ที่มา CMSA
ในขณะที่สถานีอวกาศจีนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทุกที สถานีอวกาศนานาชาติกลับมีอายุกว่า 20 ปีแล้ว และนาซ่าวางแผนจะส่งมอบสถานีปลดระวางให้ไปอยู่ในการดูแลของภาคเอกชนในปี 2024 เพื่อทุ่มทรัพยากรให้กับการส่งมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์ได้อย่างเต็มที่ และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้อำนวยการนาซ่าได้เตือนสภาคองเกรสว่าการดำรงอยู่ของสหรัฐฯในวงโคจรโลก หลังจากที่สถานีอวกาศนานาชาติปลดระวางจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่เช่นนั้นประเทศจีนจะชิงความได้เปรียบทางด้านยุทธศาสตร์ไป
แม้ฝ่ายการเมืองของอเมริกาดูจะไม่ต้องการจับมือกับจีน แต่องค์การอวกาศของประเทศอื่นๆ กลับไม่คิดเช่นนั้น องค์การอวกาศยุโรปมีจุดยืนชัดเจนเรื่องความต้องการร่วมมือกับจีนในอนาคต และได้ทำข้อตกลงกับจีนให้นักบินอวกาศยุโรปขึ้นไปเยือนสถานีอวกาศจีนเรียบร้อยแล้ว
ไม่ว่าการแบนประเทศจีนไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของสถานีอวกาศจะชอบธรรมหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่าจีนกำลังเดินสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จในการพัฒนาโครงการอวกาศของตัวเอง และหลายประเทศก็แสดงความสนใจในการร่วมมือกับจีน
นักบินอวกาศของจีนและองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ฝึกซ้อมร่วมกัน โดยมีเป้าหมายความร่วมมือระยะยาวและส่งนักบินอวกาศของ ESA ไปยังสถานีอวกาศจีน - ที่มา ESA
[จรวดนำกลับมาใช้ซ้ำ และบทบาทภาคเอกชน]
ถึงตอนนี้คงไม่มีใครปฏิเสธความสำเร็จของ SpaceX ในการสร้างจรวดตระกูล Falcon ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งช่วยลดต้นทุนของการส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศได้อย่างมหาศาล และเปิดประตูสู่อุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ ยิ่งกว่านั้น SpaceX กำลังพัฒนาระบบยาน Starship ซึ่งเป็นยานที่จะมีกำลังขับเคลื่อนสูงที่สุดในโลกและสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เต็มรูปแบบ สำหรับภารกิจนอกโลกที่ซับซ้อนและยากลำบากกว่าเดิม เช่นการส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์เพื่อสร้างฐานปฏิบัติการ และการไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร
เรือโดรน Of Course, I Still Love You บรรทุกจรวดขับดัน Falcon 9 ที่ลงจอดหลังปฏิบัติภารกิจกลับเข้าฝั่ง - ที่มา SpaceX
แน่นอนว่าแนวคิดจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำนี้ สะกิดให้หลายชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องการเดินตามรอย SpaceX จีนก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยจีนกำลังซุ่มพัฒนาจรวด ฉางเจิง-8 ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ฉางเจิง-8 ถูกออกแบบให้ลงจอดในแนวตั้งคล้ายจรวดตระกูล Falcon แต่ต่างกันตรงที่จรวดขับดันทั้ง 2 ตัวยังคงติดอยู่ด้านข้างและกลับลงจอดด้วย การทดสอบจรวด ฉางเจิง-8 อาจเกิดขึ้นในปลายปีนี้ แต่เป็นไปได้ว่าเราอาจไม่รู้ข่าวจนการทดสอบจะจบลงแล้ว (ชมคลิปจำลองภาพการลงจอดของจรวดฉางเจิง-8 ด้านล่าง)
รัฐบาลจีนยังสนับสนุนให้ภาคเอกชนด้านอวกาศได้เติบโต เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2019 LinkSpace บริษัทสตาร์ทอัพของจีนปล่อยจรวดขึ้นทดสอบด้วยความสูง 300 เมตรและกลับลงจอดได้ ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยหากเปรียบเทียบกับสิ่งที่ SpaceX ทำ แต่นั่นคือก้าวแรกที่น่าจับตา (ชมคลิปการทดสอบจรวดของ LinkSpace ด้านล่าง)
นอกจากนั้นยังมีบริษัท i-Space ซึ่งเป็นเป็นเอกชนจีนรายแรกที่ส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจร โดยปล่อยจรวด Hyperbola 1 นำส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศในเดือนกรกฏาคม 2019 และ i-Space เองก็กำลังพัฒนาจรวดนำกลับมาใช้ซ้ำอยู่เช่นกัน ประเทศจีนวาดหวังว่าบริษัทเอกชนจะส่งเครือข่ายดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศและให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงคล้ายกับที่ SpaceX กำลังทำอยู่
[บทสรุป]
การบุกบั่นไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้ประเทศอื่นๆ เริ่มตื่นตัวเพราะไม่ต้องการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ญี่ปุ่นและอินเดียหันมาจับมือกันในภารกิจต่างๆ เพื่อไล่กวดจีน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจทางอวกาศในชั่วข้ามคืน ยังมีเรื่องที่จีนต้องเรียนรู้จากข้อผิดพลาดอีกมาก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพิ่งมีข่าวจรวดขับดันฉางเจิง-4b ตกในมลฑลซานซี ในหมู่บ้านใกล้กับฐานปล่อยจรวด โดยหวิดตกใส่โรงเรียน (ชมคลิปจรวดตกด้านล่าง)
การติดตามพัฒนาการด้านอวกาศของจีนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะข้อมูลโครงการอวกาศของจีนมีค่อนข้างจำกัด และเรามักจะได้รู้หลังจากที่เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จากข่าว (ที่จีนยอมให้เผยแพร่) และการค้นพบด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนกันยายน สำนักข่าวซินหัวได้รายงานข่าวเรื่องการปล่อยยานอวกาศทดลองของจีนโดยไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก เพียงระบุว่าประเทศจีนปล่อยยานอวกาศทดลองที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยใช้จรวดฉางเจิง-2F ส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยยานลำดังกล่าวขึ้นไปโคจรรอบโลกสองรอบ และกลับลงมาจอดตามกำหนดการ ข่าวดังกล่าวไม่มีภาพประกอบใดๆ
ภาพถ่ายดาวเทียม รันเวย์ลับของจีน วงกลมด้านล่าง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นยานอวกาศ ส่วนวงกลมด้านบนคือยานพาหนะสนับสนุน - ที่มา Planet Labs/NPR
แต่ภาพถ่ายดาวเทียมจากบริษัทแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก เผยให้เห็นโดยบังเอิญว่า มียานลำหนึ่งจอดอยู่บนรันเวย์ที่จีนสร้างไว้ในพื้นที่ห่างไกลตั้งแต่ปี 2016 เป็นรันเวย์ที่ยาวกว่า 5 กิโล ซึ่งถือว่ายาวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผู้เชียวชาญได้ออกมาให้ความเห็นว่าว่ายานที่ประเทศจีนได้ปล่อยและนำลงจอด เป็นยานขนาดเล็กไร้คนขับที่มีลักษณะคล้ายกระสวยอวกาศ หรือยาน X-37B ของกองทัพอากาศสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจเพราะระบบยานอวกาศอื่นๆ สามารถปฏิบัติภารกิจในอวกาศ เช่นการส่งสัมภาระขึ้นสู่วงโคจรและกลับสู่โลกได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ายานที่ประเทศจีนทำการทดสอบมีลักษณ์คล้ายเครื่องบินอวกาศ X-37B ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในภาพนี้ - ที่มา USAF
การผงาดขึ้นสู่สถานะอันโดดเด่นของจีนอาจเป็นเรื่องดีสำหรับความก้าวหน้าด้านการสำรวจอวกาศของมนุษย์ เพราะประวัติศาสตร์เคยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อเมริกาไม่ใช่ประเทศที่จะยอมสูญเสียตำแหน่งผู้นำด้านอวกาศให้กับใครหน้าไหน การแข่งขันครั้งใหม่ระหว่างสองมหาอำนาจ อาจจุดประกายให้อเมริกาเร่งพัฒนาโครงการอวกาศยิ่งกว่าเดิม ด้วยความช่วยเหลือและบทบาทอันเด่นชัดของภาคเอกเชน เพื่อหนีจีนที่ไล่กวดมาอย่างกระชั้นชิดขึ้นทุกที
โปรดกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้ Space Explorer
สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ มามอบให้คุณเป็นประจำ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา