18 ต.ค. 2020 เวลา 00:30 • การตลาด
ถอดบทเรียนความสำเร็จของแบรนด์ Levi’s กับตำนานที่ไม่มีวันตาย 👖👕👍🏻
หากพูดถึงกางเกงยีนส์ยี่ห้อดังที่น้อยคนจะไม่รู้จักแล้วล่ะก็ แน่นอนครับว่า Levi’s จะต้องถูกนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ ด้วยประวัติอันยาวนานกว่า 170 ปี โดยเริ่มต้นจาก Levi Strauss ชาวเยอรมัน ที่ได้เดินทางไปยังเมือง San Francisco, USA ในปี ค.ศ.1850 ซึ่งเป็นยุคตื่นทอง (Gold Rush) เพื่อทำการค้าขาย
โดยสินค้าที่เป็นตัวจุดประกายให้เขาได้สร้างแบรนด์อันเลื่องชื่อในเวลาต่อมา ก็คือ ผ้าใบสำหรับทำเต็นท์ โดยมีชาวเหมืองแร่ได้มาบอกความต้องการหรือสิ่งที่เป็นปัญหาของชาวเหมืองมาตลอดก็คือกางเกงของพวกเค้า ขาดง่ายเหลือเกิน
ประโยคนี้แหละครับ เป็นประโยคสำคัญที่ทำให้ Levi Strauss ได้นำผ้าใบเต็นท์มาตัดเป็นกางเกงและเสื้อเพื่อจัดจำหน่าย และผลลัพธ์ก็ออกมาดีกว่าที่เค้าคาดคิดไว้ซะด้วย เมื่อกางเกงและเสื้อขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว เค้าจึงได้สั่งผ้ามาเพิ่มอีก คราวนี้ได้ย้อมผ้าเป็นสีน้ำเงิน เพื่อให้ตรงกับสีสัญลักษณ์ของเครื่องแต่งกายชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเค้าครับ
ไม่เพียงแค่นั้น Levi Strauss ยังได้นำเทคนิคการตอกหมุดกระเป๋ากางเกงของช่างตัดเสื้อที่ชื่อ Jacob Devis มาประยุกต์ใช้กับเสื้อผ้ากางเกงชนิดหนาของเค้า และให้กำเนิดแบรนด์ที่ชื่อว่า Levi’s ในปี ค.ศ.1873 นั่นเองครับ
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กางเกงยันส์ Levi’s ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย แม้กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีรุ่น Levi’s 501XX ที่มีลักษณะเฉพาะคือกระดุมจะเปลี่ยนจากฐานรางแบบกระดุม (Fly Button) มาใช้กระดุมแบบกลมทรงโดนัทธรรมดา (Donut Button) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประหยัดทรัพยากร
นี่เป็นตัวอย่างการปรับตัวตามยุคตามสมัย ตามสถานการณ์ของ Levi’s ที่ทำให้มีรุ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และกลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าที่เปรียบเสมือนมรดกของแบรนด์ Levi’s เอง
แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป จากความสำเร็จอย่างท่วมท้นในช่วงปี 1980’s ที่ Levi’s ได้รับความนิยมอย่างมาก และคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นแบรนด์ที่มีความ “เจ๋ง วัยรุ่น ทันสมัย และมีเสน่ห์ดึงดูด” กลับถูกลดความนิยมลงเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลาย 1990’s
ดังนั้นทีมการตลาดของแบรนด์ Levi’s จึงได้เล็งเห็นความจำเป็นของการปรับปรุงและฟื้นฟูภาพลักษณ์ของแบรนด์โดยด่วน อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการเน้นการผลิตและจำหน่ายสินค้าเพื่อกำไรสูงสุด มาเป็นการให้ความสำคัญที่ตัวลูกค้าและภาพลักษณ์ของแบรนด์มากขึ้น โดยเปลี่ยนการตั้งคำถามจาก “เราขายไปได้กี่ตัวแล้ว” มาเป็น “ตอนนี้ลูกค้ามองแบรนด์เรายังไงบ้าง”
และในที่สุด ทีมการตลาดของแบรนด์ Levi’s ก็ได้คิดพันธกิจของแบรนด์ (Brand Mission) ขึ้นมาใหม่ นั่นก็คือ การเป็นแบรนด์เสื้อผ้ายีนส์ที่ดูดีและสามารถทำกำไรได้มากที่สุด และได้นำกลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์ที่ชัดเจน มุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายอีกด้วยครับ 🔊🧔🏻👩🏻
กลยุทธ์ของแบรนด์ Levi’s ที่ถูกปรับใหม่นี้ ได้ให้ความสำคัญกับทั้ง 3 ปัจจัยประกอบกัน นั่นก็คือ 1) ตัวสินค้า 2) การสื่อสาร 3) ลูกค้า โดย Levi’s ได้ผลิตสินค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่แตกกต่างกัน ตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่น ไปจนถึงวัยทำงาน และขยายสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าผู้หญิง โดยการออกคอลเลคชั่นใหม่ ๆ ให้ผู้หญิงสามารถใส่ยีนส์ได้อย่างมั่นใจอีกด้วย
นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์ที่แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด โดยใช้ Presenter ที่สะท้อนภาพลักษณ์ความเจ๋งและสะท้อนความเป็นหนุ่มสาววัยเยาว์มากขึ้น 👦🏻👧🏻
ผลลัพธ์ก็คือ Levi’s สามารถกลับมาครองตลาดและได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นอีกครั้ง 🚀 นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา และสามารถทำกำไรได้ทะลุเป้าที่บริษัทได้ตั้งไว้ อีกทั้งยังได้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ใหม่ที่สามารถนำเสนอความเป็น Levi’s ในบริบทของสังคมสมัยใหม่ ในขณะที่ยังไม่ทิ้งตัวตนและมรดกของแบรนด์ (Brand Heritage) ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน 🧔🏻
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของ Levi’s ที่ “รับฟัง” 👂🏻 ลูกค้าอยู่เสมอ และเราจะสังเกตได้อย่างนึงนะครับว่าสิ่งที่ทำให้ Levi’s ได้รับความนิยมตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม จนถึงการกลับมาบูมอีกครั้งในยุคปัจจุบัน ก็คือ “ความเข้าใจลูกค้า” เพราะ Levi’s เกิดขึ้นมาได้จากการรับฟังปัญหาและความยุ่งยาก (Pain Points) ของลูกค้า จึงทำให้เกิดกางเกงยีนส์สีฟ้าขึ้นมา และการหันกลับมาสนใจลูกค้าอีกรอบหลังปี 2000 ก็ทำให้แบรนด์กลับมานั่งในใจลูกค้าได้ครั้งอย่างง่ายดาย ❤
บทเรียนจาก Levi’s อาจจะกำลังสอนเราว่า ไม่ว่าเราจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอะไรก็ตาม หากเรายังไม่เข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย หรือยังไม่รู้จักพวกเค้าดีพอ ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งในแง่เงินลงทุนและเวลาที่เราใช้ไปกับการแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกจุด หลายท่านอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ลูกค้ากำความลับเงินล้าน” ซึ่งหากมองในเคส Levi’s นี้ ผมคิดว่าอาจจะจริง แล้ววันนี้คุณเข้าใจลูกค้าของคุณดีหรือยังครับ?
ขอบคุณที่ติดตามมาถึงตอนนี้นะครับ
หากอ่านแล้วชอบ รบกวนช่วยกด
Like กด Share และ Follow ด้วยนะครับ 👉🏻
และสามารถติดตาม The Marketing Cube
ได้ในช่องทางอื่น ๆ ดังนี้ครับ
🔵 FB page:
🔴 Youtube Channel:
โฆษณา