19 ต.ค. 2020 เวลา 01:09 • ธุรกิจ
สิ้นสุด 20 ปี ความร่วมมือทางธุรกิจ Yakult-Danone
Danone ผู้แปรรูปอาหารสัญชาติฝรั่งเศสได้ขายหุ้นที่ถือใน Yakult Honsha บริษัทญี่ปุ่นออกมา เป็นการยุติความสัมพันธ์ด้านการลงทุนที่ยาวนาน 20 ปีกับผู้ผลิตเครื่องดื่มโพรไบโอติคส์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่สามารถบรรลุความร่วมมือตามที่ได้คาดหวังไว้
Yakult ซึ่งก่อนหน้านี้มีความวิตกว่า Danone จะเข้าซื้อกิจการ ก็ได้กลับมามีอิสระในการบริหารอย่างเต็มที่อีกครั้ง แต่ก็ต้องพบว่าบริษัทอยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะต้องหนุนธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทให้ได้
Yakult ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (14 ต.ค.) ว่า Danone ได้แจ้งมายังบริษัทถึงการขายหุ้นที่ถือใน Yakult 6.61% นอกจากนี้ Yakult ยังมีถ้อยแถลงในวันเดียวกันว่า ทั้งสองบริษัทยังคงทำงานร่วมกัน โดยยังคงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นยาวนานนี้ต่อไปและสานต่อการสนับสนุนโพรไบโอติคส์ในอนาคต ซึ่งโพรไบโอติคส์ คือ จุลินทรีย์ขนาดเล็ก จัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ สามารถพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ
ทั้งสองบริษัทได้ตกลงที่จะยังคงดำเนินการบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ในอินเดีย และเวียดนาม แม้ว่าจะมีการยกเลิกความสัมพันธ์ด้านการลงทุนก็ตาม และทั้งสองบริษัทจะยังคงให้การสนับสนุนโพรไบโอติคส์ในสหรัฐฯ และอินเดีย ซึ่งรวมถึงจัดสัมมนาและให้การสนับสนุนนักวิจัยในสหรัฐฯด้วย
ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน Danone-Yakult นั้นเกิดขึ้นเมื่อ Danone ได้เข้าซื้อหุ้น 5% ใน Yakult เมื่อปี 2543 โดย Danone ได้ให้ความสนใจในแลคโตบาซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus Casei Strain Shirota) ของ Yakult ซึ่งเป็นสายพันธุ์เฉพาะในยาคูลท์ซึ่งต่างจากแบคทีเรียที่ใช้ในโยเกิร์ต จึงช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังว่าความร่วมมือเป็นพันธมิตรจะส่งผลดีต่อบริษัท ต่อมา Danone ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในYakult และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งด้วยการถือหุ้นเกือบ 21% ใน Yakult มูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสองบริษัทก็ได้ข้อสรุปข้อตกลงการเชื่อมโยงทางธุรกิจ
Yakult ขยายการลงทุนเป็นครั้งแรกในต่างประเทศช่วงทศวรรษที่ 60 ส่วนใหญ่เป็นการขยายไปยังตลาดเกิดใหม่ และบริษัทก็ยังคงขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่องหลังจาก Danone ได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยสัดส่วนยอดขายต่างประเทศของบริษัทกระโดดขึ้นถึง40% ในปีงบประมาณสิ้นสุด มี.ค. 2563 ปรับเพิ่มขึ้นจากราวๆ 10% ในปีงบประมาณสิ้นสุด มี.ค. 2544 ในปัจจุบัน 70% ของกำไรจากการดำเนินงานมาจากต่างประเทศ
แต่ผู้บริหารของ Yakult รายหนึ่งกล่าวว่า ความร่วมมือกับ Danone นั้น “มีผลด้านความร่วมมือน้อยมาก” ทั้งนี้ Yakult มีความพอใจกับผลการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งบริษัทเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง เมื่อปีที่แล้วบริษัทมียอดขายเครื่องดื่มโพรไบโอติคส์เฉลี่ยในอินโดนีเซีย 6.36 ล้านขวด และในจีน 8.12 ล้านขวด
สาวยาคูลท์ สามารถสร้างยอดขายในอินโดนีเซียได้ แหล่งข่าวกล่าวว่า รูปแบบการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมของ Yakult แบบนี้เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น และ Danone ไม่ค่อยเข้าใจรูปแบบนี้เท่าไหร่
บริษัทร่วมทุนของ YaKult กับ Danone สัญชาติอินเดีย ขายเครื่องดื่มดังกล่าวได้ 238,000 ขวดต่อวันเมื่อปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าความร่วมมือดังกล่าวของทั้งสองพันธมิตร จะมีผลเล็กน้อยในประเทศเอเชียใต้นี้
แหล่งข่าวจาก Yakult กล่าวว่า บริษัทไม่สามารถทำให้ Danone เข้าใจความเชี่ยวชาญของบริษัทได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการตลาดผ่านสาวยาคูลท์ ซึ่งเป็นเครือข่ายการขายและส่งถึงบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัท นอกจากนี้ Yakult ยังมีความกังวลว่าทั้งสองบริษัทอาจจะจบลงที่การแข่งแย่งลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพกันเอง สำหรับ Yakult นั้น ช่วงเวลาความสัมพันธ์ 20 ปีกับ Danone ไม่ได้ให้ผลตามที่คาดหวังไว้
ประธาน Yakult กล่าวว่า บริษัทต้องการขายเครื่องดื่มโพรไบโอติคส์ Yakult ในจีน ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า บริษัทอาจจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆนอกเหนือจาก Danone เพื่อขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น
ราคาหุ้น Yakult ที่มีการซื้อขายที่ตลาดหุ้นโตเกียวปิดที่ 5,480 เยนเมื่อวันพุธ ลดลง 420 เยน หรือ 7.12% จากวันอังคาร แรงเทขายมาจากการยกเลิกความร่วมมือทางธุรกิจกับ Danone และความกังวลในเรื่องจำนวนหุ้นที่มากเกินไปของหุ้น Yakult
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก บล. Tachibana Securities ในโตเกียวกลับไม่สนใจข่าวดังกล่าว โดยมองว่าความร่วมมือระหว่างYakult และ Danone ให้ผลลัพธ์ด้านความร่วมมือน้อยมากตั้งแต่แรกแล้ว และดังนั้นก็จะส่งผลกระทบน้อยมากต่อการบริหารของ Yakult แม้ Danone จะไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นก็ตาม สิ่งที่สำคัญต่อ Yakult คือการขยายธุรกิจไปยังจีนและประเทศอื่นๆในเอเชีย
แต่ที่แน่ๆ Yakult ในประเทศไทยนั้น ยังคงได้รับความนิยมเสมอมาเป็นเวลา 50 ปี โดยจุดเริ่มต้นมาจาก นายประพันธ์ เหตระกูล (ซึ่งปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2496 ในนามนักเรียนทุนและนักเรียนต่างชาติคนแรก ของมหาวิทยาลัยโกเบ ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น มักมีอาการท้องเสียจากการรับประทานอาหาร จนได้ดื่มยาคูลท์ จึงทำให้เริ่มมีสุขภาพลำไส้ที่แข็งแรงขึ้น ถือเป็นประสบการณ์จริงที่พิสูจน์มาแล้วด้วยตนเองว่า ยาคูลท์ที่มีจุลินทรีย์ แลคโตบาซิลลัส คาเซอิ ชิโรต้า มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารและลำไส้ เมื่อกลับมายังประเทศไทย จึงคิดที่จะนำยาคูลท์เข้ามาจำหน่าย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพลำไส้ที่ดี จึงได้ก่อตั้งบริษัท ยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2513 และเริ่มจำหน่ายในปีถัดมา
อีกทั้งกลยุทธ์การกระจายสินค้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อาศัยช่องทางขายตรงผ่าน “สาวยาคูลท์” ที่สวมชุดยูนิฟอร์มเอกลักษณ์ ควบพาหนะคู่ใจในอดีตคือ “จักรยาน” ไปเคาะประตูถึงหน้าบ้านลูกค้า กลายเป็นสูตรสำเร็จที่ทำยอดขายให้เติบโตจนถึงปัจจุบัน และYakult ในไทยสามารถทำยอดขายได้ถึง 5 ล้านขวดต่อวัน
ที่มา:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา