Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dhamma Story
•
ติดตาม
26 ต.ค. 2020 เวลา 22:05 • การศึกษา
พระโพธิสัตว์ ใช้ปัญญา ตัดสินคดีความอย่างไร ตอนเป็นพระราชาอายุ ๗ ขวบ ... ตอนที่ ๑.>>>>>.. ฝากกดติดตามด้วยครับ...>>>>>
พระบรมโพธิสัตว์ก็เป็นผู้มีปรีชาญาณ เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องในทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องความเป็นผู้มีปัญญามากนี้ ทรงปรารภเหตุที่พระภิกษุหมู่ใหญ่ได้สรรเสริญพระปัญญาธิคุณของพระบรมศาสดาที่เชตวนาราม เรื่องมีอยู่ว่า...
ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า ชนสันธะ เสวย สิริราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า อาทาสมุขกุมาร เหตุที่ทรงได้พระนามนี้ เพราะพระราชกุมารมีพระพักตร์ผ่องใส บริสุทธิ์ประดุจคันฉ่องที่ส่องเงาหน้า เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง ๗ ชันษา พระราชบิดา เสด็จสวรรคต หลังจากที่บรรดามหาอำมาตย์ราชบริพารช่วยกันถวายพระเพลิงพระราชาแล้ว ครั้นถึงวันที่ ๗ ต่างประชุมปรึกษาหารือกันว่า ก่อนที่จะสถาปนาพระราชกุมารเป็นบรมกษัตริย์ พวกเราควรทดสอบพระปรีชาญาณของพระองค์ก่อน
ครั้นตกลงกันแล้ว ต่างพากันตกแต่งราชบัลลังก์สำหรับวินิจฉัย และทูลอัญเชิญพระราชกุมารซึ่งมีวัยเพียง ๗ ชันษา ขึ้นประทับนั่งบนบัลลังก์ หมู่อำมาตย์ได้ออกอุบายในการทดสอบ โดยเอาลิงตัวหนึ่งมาแต่งตัวให้เหมือนมนุษย์ และให้เดินสองเท้ามาเข้าเฝ้าพระราชกุมาร อำมาตย์ท่านหนึ่งได้กราบทูลว่า "บุรุษผู้มาเข้าเฝ้านี้ เป็นอาจารย์ผู้รู้วิชาดูที่ ตั้งแต่ครั้งพระชนกของพระโอรส ขอพระองค์ทรงแต่งตั้งบุรุษนี้ ให้มีฐานันดรอย่างใด อย่างหนึ่งเถิดพระเจ้าข้า"
พระกุมารทอดพระเนตรเห็นผู้มาเข้าเฝ้า ทรงรู้ว่า นี่คือชาติวานร อีกทั้งหยั่งรู้ถึงจิตใจของเหล่าอำมาตย์ทั้งหลายว่า ต้องการจะทดสอบพระองค์ เพราะความไม่มั่นใจในวัยที่ทรงพระเยาว์ และความไม่ไว้วางใจในพระปรีชาสามารถ จึงทรงรับสั่งด้วยความรอบรู้ว่า "ท่านทั้งหลายเอาสัตว์ชาติวานรมาแต่งกายเลียนแบบมนุษย์ สัตว์จำพวกนี้มีใจโลเล ไม่ฉลาด ได้แต่วิ่งเล่นสนุกสนาน ไม่เหมาะแก่การงานของบ้านเมือง เพราะมีแต่จะก่อความเสียหายให้เกิดขึ้น ไฉนเลยจะสามารถทำบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้"
อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ต่างมีใจชื่นชมโสมนัสเปรมปรีดิ์ และกราบทูลรับรองว่า "ที่พระองค์ตรัสมานั้น เป็นความจริงพระเจ้าข้า พระองค์ทรงมีพระปรีชาญาณรอบรู้ ข้าพระองค์ทั้งหลายขอกราบถวายความจงรักภักดีเหนือเศียรเกล้า"
กาลเวลาล่วงมาอีกไม่นาน เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายต่างประชุมกันว่า จะทดสอบพระกุมารอีกครั้งหนึ่ง เพื่อความมั่นใจ จึงให้พวกสนมฝ่ายในจัดการตกแต่งวานรตัวหนึ่งให้เหมือนมนุษย์มากที่สุด และนำตัวมาเข้าเฝ้าพระกุมารอีกครั้งหนึ่ง มหาอำมาตย์กราบทูลว่า "บุรุษนี้เป็นผู้ตัดสินคดีความ เป็นผู้มีความกตัญญู สมควรที่พระองค์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้วินิจฉัยคดีความของบ้านเมืองต่อไปพระเจ้าข้า"
พระกุมารทอดพระเนตรเห็นกิริยามารยาท และอาการของผู้มาเข้าเฝ้าแล้ว ทรงรู้ทันทีว่า นี่ไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นวานรที่ตกแต่งมาอย่างแนบเนียน จึงตรัสด้วยพระปัญญาอันสุขุมว่า... "ผู้ที่แต่งกายเป็นมนุษย์นี้มิอาจปกปิดตนได้ว่าเป็นสัตว์หน้าขน ธรรมดาสัตว์ชนิดนี้ ย่อมไม่ฉลาดในการวินิจฉัย ไฉนเลยจะแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ ถ้าในเมืองของเรามีบุคคลเยี่ยงนี้เป็นผู้ผดุงความยุติธรรม เห็นทีบ้านเมืองเราจะล่มสลาย และสัตว์ชาติวานรพวกนี้ ก็หามีความกตัญญูมั่นคงไม่ ไฉนเลยจะเลี้ยงดูบิดามารดาผู้มีพระคุณได้ เพราะไม่อาจตระหนักถึงความดี และพระคุณของผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง ฉะนั้นเราจึงมิอาจแต่งตั้งท่าน ผู้นี้ให้เป็นอะไรทั้งสิ้น นอกเสียจากเลี้ยงไว้ดูเล่น"
บรรดามหาอำมาตย์ทั้งหลายที่ได้ฟังพระดำรัส ต่างปลื้มปีติปราโมทย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นความเฉลียวฉลาดทันคน และรอบรู้ของพระกุมารตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ และได้ประชุมพร้อมใจกันอภิเษกพระกุมาร ให้เป็นบรมกษัตริย์ตั้งแต่พระชนมายุได้เพียง ๗ ชันษา โดยไม่มีข้อกังขาใด ๆ ทั้งสิ้น ข่าวความเฉลียวฉลาด มีพระปัญญามากของพระกุมารได้แพร่ สะพัดไปทั่วชมพูทวีป พสกนิกรที่มีข้อข้องใจหรือมีปัญหาใดๆ ต่างปรารถนาจะมาเข้าเฝ้า เพื่อทูลถามปัญหากับพระองค์
ครั้งนั้นมีบุรุษผู้เป็นอำมาตย์ท่านหนึ่ง ชื่อว่าคามณิจันท์ มีความคิดว่า เราเป็นผู้แก่เฒ่าแล้ว ไม่เหมาะที่จะเป็นข้าหลวงของกษัตริย์ผู้ยังทรงพระเยาว์ เพราะคิดว่าความคิดของผู้ที่มีอายุมากกับผู้ที่มีอายุน้อย ต่างกันมาก ย่อมไปด้วยกันไม่ได้ พระโอรสควรจะมีข้าเฝ้าที่เยาว์วัยเหมือนกัน คิดดังนี้แล้ว จึงปลีกตัวออกจากราชสำนัก ไปดำรงชีพตามประสาชาวบ้าน โดยไปทำนาในที่ห่างจากตัวเมืองไป ๓ โยชน์
ครั้นถึงเวลาทำนา เขาได้ไปยืมโคคู่หนึ่งของสหายไปไถนา เมื่อถึงเวลาเย็นก็เอากลับมาส่งคืน วันหนึ่ง ขณะที่นายคามณิจันท์ เอาโคมาส่งคืน เห็นเจ้าของบ้านสองสามีภรรยากำลังกินข้าว ก็เกรงใจ ไม่ได้ตะโกนบอกว่าเอาโคมาคืนแล้วเหมือนดังที่เคยทำทุกครั้ง ก็รีบกลับบ้านไป เผอิญคืนวันนั้น มีขโมยมาลักเอาโคคู่นั้นไป รุ่งเช้าเจ้าของไม่เห็นโค แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าถูกพวกโจรลักไปแล้ว ก็ยังไปทวงเอากับนายคามณิจันท์ เพราะหวังจะปรับสินไหม แต่เขาก็ยืนยันว่า "เมื่อวานเอาไปคืนแล้วเพียงแต่ไม่ได้บอก เพราะเห็นว่าไม่สะดวก" เจ้าของโคก็โวยวายว่าตนไม่รู้เรื่องเลย เมื่อตกลงกันไม่ได้ เจ้าของโคจึงบอกว่า "เรื่องนี้จะต้องให้พระกุมารเป็นผู้ตัดสิน ขอราชทูตจงมีแก่ท่าน"
ธรรมเนียมของคนในสมัยนั้น ถ้าใครกล่าวคำว่า "ขอราชทูตจงมีแก่ท่าน" แสดงว่าบุคคลคู่กรณีจะต้องตกเป็นจำเลยทันที ไม่อาจขัดขืนได้ และต้องรอคอยการพิพากษาตัดสินจากพระราชา หรือผู้วินิจฉัยคดีความของหลวงต่อไป ด้วยเหตุนี้นายคามณิจันท์จึงต้องตกเป็นจำเลย และต้องยอมไปโรงวินิจฉัย กับเจ้าของโคแต่โดยดี แต่ในระหว่างทางที่ไปสู่เมืองหลวง ได้มีเรื่องราวต่างๆ และมีคู่กรณีเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งเหตุการณ์ จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
คัดบางส่วนมาจากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๒
หน้า ๓๕๕-๓๖๓
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
คามณิจันทชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๕๑
1 บันทึก
99
24
94
1
99
24
94
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย