19 ต.ค. 2020 เวลา 04:47 • การเมือง
ว่าด้วย “หลักสากล" สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม ซึ่งมีหลายสื่อที่ยังไม่เข้าใจ และโยงไปสู่เรื่องอื่นจนมั่วไปหมด
ในช่วงการเมืองที่กำลังร้อนระอุเช่นนี้ ผมจะไม่ขอพูดถึงประเด็นอื่นที่บอบบางและซับซ้อนจนเกินไป
แต่ขอมุ่งเจาะลึกและวิเคราะห์ในมาตรการการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตัดสินใจทำการสลายการชุมนุม ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง พร้อมอ้างอิงตัวบทตามหลักสากลเข้าร่วมประกอบครับ
วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2563 ผู้ชุมนุม “คณะราษฎร 63” ได้ทำการนัดหมายรวมตัวกันที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ย้ายมาที่แยกปทุมวัน
ในช่วงเวลาประมาณ 18:45-19:30 ตำรวจชุดปราบปรามจราจลพร้อมโล่ กระบอง และรถฉีดน้ำ เข้ากระชับพื้นที่ใกล้ผู้ชุมนุมและใช้กำลัง
โดยอันดับแรก เริ่มด้วยการประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม โดยใช้เวลาเพียง 5 นาที เมื่อผู้ชุมนุมไม่มีการยุติกิจกรรม จึงเกิดการปะทะกันบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม
ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังหลายร้อยนาย ขยับแนวตั้งแถวหลายชั้นเดินเข้าหาผู้ชุมนุม ร่วมกับใช้กำลังรถแรงดันน้ำฉีดไปที่ผู้ชุมนุมหลายครั้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแรงดันน้ำและถอยร่นไปทางสี่แยกปทุมวัน พร้อมทั้งยังมีการใช้น้ำสีฟ้าฉีดสลับกัน โดยมีผู้อยู่ในเหตุการณ์ให้การว่า รู้สึกแสบตาและแสบบริเวณผิวหนัง
การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ ถือเป็นการใช้ความรุนแรงไหม วันนี้ผมจะวิเคราะห์โดยอ้างจาก "หลักสากล" นะครับ
ก่อนอื่นเลยหลักสากลที่ว่านี้โยงไปถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศครับ ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุม และหลักปฎิบัติหากเจ้าหน้าที่จะทำการสลายการชุมนุม มีเนื้อหาดังนี้ครับ
1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 21 กำหนดว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
2) หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อจำเลย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2533 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ข้อ 12 กำหนดว่า
"ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัด ตามหลักการ ที่ว่า
หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น
หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้ "
3) หลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) ที่ได้รับการรับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ 34/169 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2522 ข้อ 2 กำหนดว่า
"ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และในข้อ 3 ได้ระบุว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น”
4) แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจน ดังนี้
++ ปืนใหญ่ฉีดน้ำ หรือ Water Canon ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสลายการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพย์สินหรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง “เท่านั้น” โดยวัตถุประสงค์ที่จำเป็นและได้สัดส่วน การตระเตรียมการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะต้องวางแผนการอย่างดี และควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัด ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง
ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ไม่ควรใช้ยิงใส่บุคคลในระดับสูง ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) ความเสี่ยงอื่นๆ รวมถึงอาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง การใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้
++ การใช้สารที่ก่อและความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants) ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
การใช้สารดังกล่าวในพื้นที่ปิดอาจทำให้เกิดการเหยียบย่ำกันเองของฝูงชน และก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม และอากาศเกิดอันตรายต่อชีวิตหากใช้ในพื้นที่ปิดในจำนวนมาก
การใช้สารดังกล่าวกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรงอาจทำให้บุคคลดังกล่าวขยับเข้ามาใกล้ผู้บังคับใช้กฏหมายมากขึ้นทำให้มีความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากันมากขึ้น การใช้สารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองทางเคมีอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการหายใจ อาการเวียนหัวอาเจียนหรือการระคายเคืองในระบบหายใจ ต่อมน้ำตา ลูกตา อาการกระตุก เจ็บหน้าอก ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้ ในจำนวนมากอาจเกิดน้ำท่วมปอด เซลในระบบหายใจและระบบย่อยอาหารตาย และเลือดออกภายใน คนที่ถูกสารเหล่านี้ต้องได้รับการฆ่าเชื่ออย่างเร่งด่วนที่สุด
การใช้น้ำเคมีระคายเคืองต้องไม่ยิงพุ่งไปหาบุคคลโดยตรง หากโดนหน้าหรือหัวอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิต และต้องไม่ใช้ในพื้นที่ปิดหรือที่ไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อความระคายเคืองที่มีระดับของสารอันตรายสูง
สรุปสั้นๆกระชับๆ
1
"หลักสากล" สำหรับการชุมนุม และการสลายการชุมนุม
๐ ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights)
รับรองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ
๐ หลักการพื้นฐาน ของ UN การชุมนุมที่ไม่ก่อความรุนแรง ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือใช้เท่าที่จำเป็น
๐ แนวปฏิบัติของ UN ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ใช้เพื่อหยุดความรุนแรงโดยไม่เล็งตัวบุคคล
๐ แนวปฏิบัติของ UN การใช้สารเคมี เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัว การใช้ในพื้นที่ปิดเสี่ยงต่อชีวิต
จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นไปได้ว่าทางฝ่ายรัฐบาลใช้มาตรการหลักสากลนี้เข้าสลายผู้ชุมนุม แต่เมื่อตัดสินใจใช้กำลังแล้ว ผมต้องมาทวนดูตัวบทหลายต่อหลายครั้ง เพื่อหาจุดบกพร่องดังกล่าวซึ่งก็ต้องใช้วิธีอิงตัวบทตามเช่นกันครับ
โดยหลักสากลนั้นก็ยังให้เสรีภาพการชุมนุมที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงครับ แต่ทั้งนี้เมื่อมีการเผชิญหน้าเกิดขึ้น การคอนโทรลสติและกำลังของทั้งสองฝ่ายคงจะทำได้ยาก เราจึงเห็นภาพการปะทะกันเกิดขึ้น จนตัดสินได้ยากครับ ว่าใครผิด ใครถูก
เช่นเดียวกัน คงไม่มีใครอยากให้ความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้นหากวิเคราะห์ตามหลักการแล้ว ฝ่ายรัฐบาลควรใช้วิธีเจรจาก่อนสลายการชุมนุม เจรจาในที่นี้คือการการเจรจาที่ไม่ใช่การเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมครับ การเจรจาในพื้นที่ชุมนุมนั้นสุ่มเสี่ยงครับ
มันมีหลักการและวิธีการอีกมากมายที่จะใช้หลีกเลี่ยงการปะทะ แม้ฝ่ายรัฐบาลจะอ้างความชอบธรรมเข้าสลายการชุมนุม แต่ถ้าให้อ้างหลักสากลขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในอีกมุมนั้นรัฐบาลยังสามารถหาวิธีอื่นมาใช้ได้เช่นกันครับ
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เกิดผลดี ผลร้าย ต่อฝ่ายรัฐบาล หรือ คณะราษฎร63 มันส่งผลไปในทางแย่ต่อประเทศไทยทุกทางครับ
สุดท้ายนี้ ผมไม่ได้จะกล่าวโจมตีรัฐบาล หรือ จะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนะครับ ผมอ้างอิงตามตัวบทหลักสากลและเพียงมุ่งไปที่ประเด็นเรื่องการสลายการชุมนุม ในวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมาเท่านั้นนะครับ โดยไม่พาดพิงถึงเรื่องอื่นๆ
เพื่อจะนำมาสื่อให้ท่านผู้อ่านเพิ่มต้นทุนความรู้ได้ไม่มากก็น้อย ลบอคติบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม ผมไม่ต้องการให้สังคมแบ่งแยกกันเป็นฝักฝ่ายอย่างที่เกิดขึ้นในเวลานี้ครับ เพราะอย่างไรแล้วสุดท้ายก็คือประเทศไทยที่ถูกทำร้ายครับ
กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ
เพจของผมมุ่งเสนอประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจ โดยเน้นไปทาง Fact Finding ที่เกิดขึ้นจริง หรือบันทึกทางเอกสารที่มีจริง และนำเสนอออกมาในหัวข้อประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจโดยไม่พยายามบิดเบือนครับ
ขอบพระคุณครับ
โฆษณา