19 ต.ค. 2020 เวลา 07:24 • ท่องเที่ยว
จะเปิดบริการ...พร้อมแล้วเหรอ?
ความรู้สึกของชาวเรือสำราญก็เหมือนๆ กับชาวสายการบิน ชาวโรงแรมที่ต่างก็อยากกลับมาให้บริการให้เร็วที่สุด นักท่องเที่ยวยุโรปเองก็แทบจะอดทนไม่ไหว ทันทีที่ สายเรือ เอ็ม.เอส.ซี ครูซ โดยเรือ MSC Magnifica, MSC Grandiosa ที่ประกาศให้บริการไปแล้วในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่ สิงหาคม 2563 ก็ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว สายเรือ คอสต้า ครูซ โดยเรือ Costa Deliziosa ก็ประกาศให้บริการในเดือนเดียวกัน ตามกันมาติดๆ อย่างไรก็ตามเรือเหล่านี้ยังคงล่องทะเลในประเทศเดียวเท่านั้น ไม่มีการข้ามประเทศ จนทุกวันนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะยังไม่พบการระบาดหนักๆ ของ COVID-19 บนเรือ (พูดเสร็จ ชาวเรือต้อง Touch Wood กันเลยทีเดียว)
มาดูขั้นตอนที่เราเหล่านักเดินทาง ต้องผ่านต้องเจอก่อนได้ขึ้นเรือ ทั้งทางท่าเรือ และบนเรือ เขามีมาตรการดูแลควบคุม ป้องกันการระบาดของ COVID-19 กันอย่างไร
อาคารผู้โดยสาร
อาคารสนามบิน อาคารท่าเรือผู้โดยสาร จุดเหล่านี้เป็นจุดที่นักเดินทางต้องผ่าน แล้วอาคารผู้โดยสารเหล่านี้ มีมาตรการป้องกัน และดูแลความสะอาดได้มากแค่ไหน มาดูกัน
ท่าเรือในยุโรป
ในยุโรปเขามีหน่วยงาน ECDC (European Centre for Disease Prevention and Control) ที่คอยควบคุมดูแล และออกระเบียบการดูแลที่สาธารณะต่างๆ สำหรับระเบียบที่ออกมาบังคับให้ทางท่าเรือในยุโรป ปฏิบัติตามคือ
1. ให้ท่าเรือในยุโรปที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว จัดให้มีศูนย์ควบคุมดูแล COVID-19 เฉพาะกิจภายในท่าเรือ
2. ท่าเรือต้องส่งแผนจัดการรับมือและควบคุม COVID-19 ให้ ECDC อนุมัติเช่น มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอดเวลาที่มีเรือเข้า และมีการจำกัด จำนวนเรือที่จะเข้าท่าเรือ
3. จัดชุดปลอดเชื้อ PPE ให้กับเจ้าหน้าที่ และมีจุดคัดกรองทั้งลูกเรือ และนักเดินทาง
4. ดูแลความสะอาดกำจัดเชื้อฯ ทั้งในแถวคน และสายลำเลียงกระเป๋า
5. จัดให้มีแผนรับมือกรณีฉุกเฉิน
แนวทางปฏิบัติของ ECDC
เหล่านี้เป็นมาตรการ ที่ทาง ECDC และ CLIA ยุโรป ร่วมกันออกข้อบังคับใช้กับท่าเรือ ส่วนรายละเอียดในทางปฏิบัติ ยังไม่มีเผยแพร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความพร้อมของท่าเรือในแต่ละประเทศ
ท่าเรือสิงคโปร์
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา STB (Singapore Tourism Board) หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศสิงคโปร์ ได้ประกาศให้เริ่มล่องเรือสำราญได้เริ่ม พฤศจิกายน นี้ โดยออกระเบียบ CruiseSafe ให้มีการควบคุมดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างเข้มงวด มีระเบียบบังคับในตัวอาคารผู้โดยสารว่ายังไงบ้างมาดูกัน
1. จัดให้มี Infection Control ศูนย์ความคุมการติดต่อในท่าเรือ
2. จัดให้มีการทำความสะอาดอาคารผู้โดยสาร โดยเฉพาะจุดที่ให้บริการผู้คน อย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นว่าการบริหารจัดการความเสี่ยงป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 ในตัวอาคารผู้โดยสารยังคงเหมือนๆ กันทั่วโลก จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า นี่เพียงพอหรือไม่
แล้วบนเรือหละ!
สำหรับคนที่นึกไม่ออกว่าบนเรือสำราญเขาอยู่กันยังไง ให้นึกถึงโรงแรม ที่มีห้องพักติดๆ กัน ยังไงยังงั้น นอกจากนี้บนเรือจะมีทั้งส่วนที่เป็นห้างฯ และภัตตาคาร ร้านอาหาร กิจกรรม ฯลฯ สรุปคือเมืองลอยน้ำย่อมๆ นั้นเอง ในเมืองลอยน้ำนี้ มีการดูแลรักษาความสะอาดยังไง ระบบป้องกันการแพร่เชื้อ ติดเชื้อกันยังไง เป็นความท้าทายที่สายเดินเรือต่างๆ จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักเดินทาง
การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เช็ดถูกตามจุดสัมผัสต่างๆ ตลอดจนการรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย เป็นมาตรการที่เรือทุกๆ สายต้องทำอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ส่วนที่สำคัญอีกส่วนที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้ คือระบบ “การระบายอากาศ Air Ventilation” เรือสำราญก็คล้ายอาคารโรงแรม ระบบระบายอากาศเป็นระบบพื้นฐาน แต่เราๆ อาจจะมองไม่เห็นเนื่องจากมันถูกซ่อนบนฝ้าเพดาน การสั่งต่อเรือสำราญจากอู่ต่อเรือต่างๆ ก็มีสเป็ค บางลำระบบการระบายอากาศดี บางลำดีกว่า พูดไม่อ้อมค้อมคือ ขึ้นอยู่กับราคาที่สายเรือนั้นๆ สั่งประกอบนั้นเอง อันนี้คงต้องไปดูในรายละเอียดเชิงวิศวกรรมกันเลยทีเดียว แต่สายเรือต่างๆ มักจะไม่มีข้อมูลเหล่านี้ จุดนี้ถือเป็นความยากของสายเดินเรือ หากเรือลำไหนมีระบบ Air Ventilation ไม่ดีพอ หรือตอนสั่งต่อเรือไม่ได้เน้นจุดนี้ ก็จะต้องเป็นการลื้ออัพเกรดระบบกันขนานใหญ่ ถ้าดีอยู่แล้วก็โชคดีไป
มาดูขั้นตอนบนบกก่อนจะได้ขึ้นเรือสำราญ MSC Cruises (มี วีดีโอ)
1. ฝากกระเป๋า ในระบบขนส่งกระเป๋าก็มีการฆ่าเชื้อ
2. วัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนเริ่มเช็คอิน
3. กรอกแบบสอบถามสุขภาพ
4. Swab test ทางจมูกตรวจหาเชื้อ COVID-19
5. ทำการลงทะเบียน เช็คอินตามปรกติ
6. นั่งรองผลการตรวจหาเชื้อ COVID-19
ขั้นตอนก่อนขึ้นเรือ โดยสายเรือ MSC
นี่น่าจะเป็นขั้นตอนที่เรือหลายๆ สาย จะนำมาใช้ในการคัดกรอง
นอกจากนี้ MSC Cruises ก็ได้ออก VDO สื่อสารให้เห็นว่าบนเรือมีการดูแลความสะอาดอย่างไร
บนเรือ MSC จะมีการรักษาความสะอาด อย่างไร
1. ให้ส่วมหน้ากากอนามัยขณะอยู่บนเรือ
2. มีจุดล้างมือให้กับแขกบนเรือ
3. มีศูนย์ Medical Center พยาบาลบนเรือ
4. มีสัญลักษณ์ให้เว้นระยะห่าง
5. การเที่ยวในเมืองต่างๆ จะต้องไปกับทัวร์ที่เรือจัดเท่านั้น และห้ามออกเที่ยวเอง
สายเรือรอยัล แคริบเบียน ครูซ (Royal Caribbean Cruises) ประกาศเริ่มล่องจริง เดือนธันวาคม ปีนี้ เขามีมาตรการต่างๆ ประกาศมาเพื่อรับมือ ตั้งแต่บนบกก่อนขึ้นเรือ และขณะอยู่บนเรืออย่างไร
1. ทุกคนรวมทั้งลูกเรือต้องผ่านการตรวจคัดหาเชื้อ COVID-19 ไม่มีข้อยกเว้น
2. นักท่องเที่ยวที่ตรวจพบเชื้อ (Positive) ก่อนเดินทาง 3 สัปดาห์หรือในวันเดินทางต้องยกเลิกจะได้รับเงินคืน 100%
3. หากพบเชื้อระหว่างการล่องเรือ จะดูแลค่าใช้จ่ายการรักษาสูงสุด 2 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายการกักตัวและตั๋วเครื่องบินเพื่อบินกลับ
4. มีการอัพเกรดระบบระบายอากาศในห้องพักซึ่งทำให้อากาศหมุนเวียนรับอากาศภายนอกเรือเข้ามามากถึง 12 รอบต่อชั่วโมง (ตามบ้านอากาศหมุนเวียน 4-6 รอบต่อชั่วโมง) และมีแผ่นกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาด 0.3-1.0 ไมครอน (เล็กกว่าฝุ่น PM2.5 ที่มีขนาด 2.5 ไมครอน)
5. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเมดิคัลเกรด ทำความสะอาดในลิฟต์ ทุกๆ 2 ชั่วโมง และในที่สาธารณะทุกๆ 20-30 นาที
6. นอกจากนี้เรือยังจำกัดนักท่องเที่ยงเหลือเพียงครึ่งเดียว เพื่อเพิ่มระยะห่างทางสังคม
7. ต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่บนเรือ ยกเว้นในห้องพัก และบางจุดที่เรือประกาศ
วีดีโอ เผยแพร่มาตรการของ รอยัล แคริบเบียน ครูซ https://youtu.be/-kstDLPowzY
ระบบระบายอากาศบนเรือ รอยัล แคริบเบียน ครูซ
เรือสำราญคอสต้า ครูซ Costa Cruises ก็มี วีดีโอ Safety Protocol ออกมาให้ชม https://www.costacruises.eu/cruising-soon-again/safety-above-all.html
เรือ คอสต้า ครูซ ออกมาตรการ มา 10 ข้อ
มีขั้นตอนปฏิบัติอย่างไรมาไล่เรียงกัน
1. มีการตรวจวัดอุณหภูมินักท่องเที่ยวทุกคน
2. มี App ที่จะอำนวยความสะดวกให้ข้อมูลขณะอยู่บนเรือ
3. มีการจำกัดจำนวนผู้โดยสารบนเรือเพื่อเพิ่มระยะห่างทางสังคม
4. จัดให้มีน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างแพร่หลายบนเรือ
5. เรือจะเสิร์ฟอาหารให้ ลูกค้าไม่ต้องตักเอง
6. กิจกรรมและการแสดงจะมีหลายรอบ เพื่อให้ลูกค้าชมได้อย่างไม่แออัด
7. การเที่ยวในเมืองก็จะจำกัดจำนวน และมีมาตรการรักษาความสะอาดอย่างเคร่งคัด
8. มีการเช็คทำความสะอาดจุดต่างๆ ห้องพักบนเรืออย่างสม่ำเสมอ และระบบกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพ
9. มีกฏระเบียบรักษาความสะอาดบนเรือ
10. มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประจำบนเรือ
คราวนี้ กะลาสี ขอนำข้อมูลเรือ 3 ค่ายใหญ่ๆ มาให้อ่านแค่นี้ก่อน เรือบางค่ายข้อมูลเยอะ เรือบางค่ายอาจจะยังไม่มีเผยแพร่มาให้อ่าน ตอนนี้ก็ยังเป็นช่วงทดลองใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งเรือแต่ละค่ายคงต้องประเมินกันต่อไป หลังจากใช้กันไปสักระยะ
โดย กะลาสีตีข่าว
โฆษณา