19 ต.ค. 2020 เวลา 07:58 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มุมมองที่เปลี่ยนไปของชายผู้จุดชนวนการปฏิวัติ ‘อาหรับสปริงส์’
Social Media - The Social Dilemma
"เมื่อห้าปีที่แล้วผมเคยพูดว่าถ้าคุณต้องการทำให้สังคมดีขึ้น สิ่งที่คุณต้องมีคืออินเทอร์เน็ต....มาถึงวันนี้ผมเชื่อว่าถ้าเราต้องการทำให้สังคมดีขึ้น เราต้องทำสิ่งที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้นเสียก่อน" - Wael Ghonim
Wael Ghonim ชายผู้จุดชนวนการปฏิวัติ ‘อาหรับสปริงส์’ ในอียิปต์ โดยการใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อในการเรียกรวมคนนับล้านให้ออกมา ปลดแอก จากการ ถูกกดทับทางสังคม ของอียิปต์ในสมัยนั้น (ปี 2011)
มุมมองของเขาที่ได้นำมาถ่ายทอดในปี 2016 มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
'อาหรับ สปริง' มีจุดเริ่มต้นจากประเทศตูนีเซีย ซึ่งได้ลุกลามกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน และผู้นำเผด็จการ โดยอียิปต์นับเป็นประเทศที่สองที่รับเอาคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้
Wael เป็นผู้ริเริ่ม Facebook Page ที่นำเสนอเรื่องราวจนเกิดเป็นกระแสต่อต้านรัฐบาล ชาวอียิปต์นับล้านได้ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ก้าวลงจากตำแหน่ง
ชัยชนะเป็นของประชาชนผู้เรียกร้อง ในที่สุดประธานาธิบดีมูบารัก ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปและถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมา
หลังจากชัยชนะ Wael ก็ได้ค้นพบอะไรหลายๆ อย่าง
โซเชียลมีเดีย...สิ่งที่นำมาซึ่งชัยชนะของประชาชนในวันนั้น...มาพร้อมกับอีกด้านหนึ่งของมันที่ Wael ได้พูดถึงความท้าทายสำคัญ 5 ประการ
1. เราไม่รู้ว่าจะจัดการกับข่าวลือข่าวลวงอย่างไร ผู้คนเชื่อสิ่งที่พวกเขาต้องการจะเชื่อในทันทีโดยแทบไม่มีการตรวจสอบ และแพร่กระจายมันต่อไปอย่างรวดเร็ว
2. เราสร้าง echo-chambers ของเราเอง เรามักจะสื่อสารเฉพาะกับคนที่เราเห็นด้วย (และเห็นด้วยกับเรา) เท่านั้น....เราทนไม่ได้กับความเห็นที่ไม่ตรงกับเรา เราสามารถเลิกติดตาม/บล็อกคนอื่นได้ (ไม่นับที่ AI ของโซเชียลมีเดียจะฟีดเฉพาะเรื่องทีี่คิดว่าเราชอบมาให้)...ข้อมูลที่เราได้รับจึงเป็นเรื่องเดิมๆ สิ่งเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนติดแน่น และสังคมก็ถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างไม่มีทางเข้ากันได้
3. เราผลักคนที่เห็นไม่ตรงกับเราไปเป็นฝ่ายตรงข้าม สรรหาคำเรียกขานที่ส่อเสียดเหยียดหยาม การสนทนาออนไลน์เต็มไปด้วย Hate Speech (ถ้าพวกเราเองทำผิด เราจะมองไม่เห็น หรือไม่ก็จะมีเหตุผลมารองรับเสมอ...แต่ถ้าอีกฝ่ายทำผิด มันคือเรื่องหนักหนาสาหัส) ความโกรธแค้นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนในออนไลน์เหล่านั้นมีตัวตนอยู่จริงๆ หรือเป็นแค่อวตาร
4. มันยากมากที่จะเปลี่ยนความคิดของเรา เนื่องจากความเร็วของโลกโซเชียล ข้อมูลที่ฟีดเข้ามามากมายจนล้นโลก สมองของคนเราไม่สามารถรับข้อมูลมหาศาลนั้นได้ทั้งหมด มันจึงต้องเลือกเฉพาะข้อมูลที่เข้ากันได้กับข้อมูลเดิมเท่านั้น เราจึงไม่ค่อยมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนมุมมองที่มีอยู่ แม้ว่าจะมีหลักฐานใหม่ๆ มาอยู่ต่อหน้า ถ้ามันไม่ตรงกับมุมมองเดิมของเรา เราก็เลือกที่จะปฏิเสธหรือ ignore มันไป
5. เราอยู่ในโซเชียลมีเดียเพื่อการแสดงตัวตนหรือจุดยืน มากกว่าเพื่อการแลกเปลี่ยนต่อยอดซึ่งกันและกัน โซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาเพื่อการโพสมากกว่าการพูดคุย เราโพสความคิดเห็นสั้นๆ เพียงไม่กี่คำ ต่อเรื่องราวที่ต้องถกกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งก็ทำให้เกิดการสื่อสารไม่ครบถ้วน คนฟังก็ตีความผิดๆ อยู่เสมอ นำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้นอีก (แต่เราก็ไม่แคร์ ใครจะ unfriend ก็เชิญ)
ปิดท้ายอีกครั้ง
"เมื่อห้าปีที่แล้วผมเคยพูดว่าถ้าคุณต้องการทำให้สังคมดีขึ้น สิ่งที่คุณต้องมีคืออินเทอร์เน็ต....มาถึงวันนี้ผมเชื่อว่าถ้าเราต้องการทำให้สังคมดีขึ้น เราต้องทำสิ่งที่อยู่ในอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้นเสียก่อน" - Wael Ghonim
โฆษณา