Telegram เป็นแอพส่งข้อความสัญชาติรัสเซียแบบคลาวด์ที่มีอยู่ในมือถือและคอมพิวเตอร์โดยเน้นที่ความปลอดภัยและความเร็ว ให้บริการฟรี ถูกก่อตั้งโดยสองพี่น้อง Nikolai และ Pavel Durov ในปี 2013
จุดเด่นของ Telegram คือเป็นแอพที่มีความปลอดภัยสูง ความรวดเร็วในการใช้งาน มีระบบ Secret Chat ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้หลายอุปกรณ์พร้อมกัน สามารถสร้าง Bot เพื่ออำนวยความสะดวกการใช้งานต่างๆได้ และที่สำคัญคือรองรับการสร้าง Community ที่ใหญ่มากโดยรองรับสมาชิกกลุ่มได้สูงสุดถึง 200,000 คน
การเติบโตของผู้ใช้งาน Telegram
จำนวนผู้ใช้งานที่ออนไลน์ต่อเดือนตั้งแต่ปี 2014-2020
ปี 2014 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน 35,000,000 คน
ปี 2015 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน 50,000,000 คน
ปี 2016 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน 100,000,000 คน
ปี 2017 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน 180,000,000 คน
ปี 2018 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน 200,000,000 คน
ปี 2019 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน 300,000,000 คน
ปี 2020 มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน 400,000,000 คน
และคาดว่าจะมีผู้ใช้ถึง 1,000,000,000 คนต่อเดือนภายในปี 2020
--ความปลอดภัยของตัวแอพลิเคชันนี้เองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลรัสเซีย--
เรื่องเริ่มเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2018 หน่วยงานกลางของรัฐบาลรัสเซียที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการสื่อสารเทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อมวลชน( Roskomnadzor ) มีคำสั่งให้ผู้บริการอินเตอร์เนตของรัสเซียบล็อคการเข้าถึงแอพ Telegram เนื่องจากไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ให้แก่รัฐบาลกลางรัสเซีย (FSB) ที่รัฐบาลอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันการก่อการร้าย
แต่อย่างไรก็ตาม Pavel Durov ปฏิเสธในการให้ความร่วมมือเนื่องจากการรักษาความลับของผู้ใช้งาน และความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และรัฐบาลไม่ควรมีสิทธิในการเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้งานตามใจชอบ
--ทำไมรัสเซียถึงล้มเหลวในการบล็อคการเข้าถึง Telegram --
ในการที่จะบล็อคการเข้าถึง Telegram ได้อย่างสมบูรณ์ต้องสามารถบล็อคที่อยู่ของ IP ของทุกเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้อยู่ แม้ว่ารัฐบาลของรัสเซียจะพยายามตรวจสอบเซฺร์ฟเวอร์ที่ Telegram ใช้อยู่ และไล่บล็อค IP ไปหลายล้าน IP ที่เป็นของ Amazon และ Google ที่ Telegram ใช้บริการเซิร์ฟเวอร์อยู่ก็ยังไม่สำเร็จ ผู้ใช้งานส่วนใหญ๋ยังสามารถเข้าใช้งานได้ปกติ และมีบางกลุ่มที่ใช้ VPN ในการเข้าถึงการใช้งาน
เทคนิคนี้เรียกว่า Domain fronting คือการใช้บริการ Host กับบริษัทอื่นในที่นี้คือ Google และ Amazon ซึ่งมีประสิทธิภาพในการซ่อนแหล่งเซิร์ฟเวอร์ ทำให้ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ Telegram กำลังใช้อยู่ ทำให้รัฐบาลต้องเลือกแบน IP แบบสุ่ม ซึ่งวิธีนี้ถูกนิยมใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูก Censor
และการไล่บล็อคทุก IP หรือการบล็อคแบบสุ่มไม่ใช่กระทบต่อ Telegram อย่างเดียวแต่กระทบต่อผู้ให้บริการอื่นอย่าง แอพ Viber และโรงเรียนออนไลน์ Skyeng ที่ได้รับผลกระทบจากการบล็อค IP ทำให้หน่วยงานของรัฐบาลโดนขู่ฟ้องร้อง
--จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อรัฐบาลรัสเซียสามารถบล็อคได้ทุกเซิร์ฟเวอร์ที่ Telegram ใช้อยู่--
Telegram ก็แค่แก้ปัญหาโดยการใช้เซิร์ฟเวอร์ใหม่ Telegram จะแจ้งเตือนผู้ใช้งานเพื่อส่งข้อมูลเซิร์ฟเวอร์ใหม่ และผู้ใช้งานก็เพียงแค่คลิ๊กบนการแจ้งเตือนหรือในบางครั้งก็จะเป็นการเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์อัตโนมัติ และรัฐบาลก็ไม่สามารถติดตามได้เนื่องจากการส่งมูลเซิร์ฟเวอร์ใหม่ถูกควบคุมดูแลโดย Apple และ Google
--บทสรุปของเกมแมวไล่จับหนู--
สุดท้ายรัฐบาลรัสเซียพ่ายแพ้ไปในเกมนี้เนื่องจากไม่สามารถปิดกั้นการใช้งาน Telegram ได้อย่างสมบูรณ์ และนอกจากจะไม่สำเร็จแล้วผู้ใช้งานของรัสเซียยังเพิ่มขึ้นอีกด้วยจากผู้ใช้งาน 3.7 ล้านคนในเดือนเมษายน 2018 และเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ตามข้อมูลของ Mediascope data และสุดท้ายรัฐบาลรัสเซียอ้างว่าบริษัท Telegram ได้ให้ความร่วมมือกับการตอบโต้ลัทธิหัวรุนแรง และกลุ่มก่อการร้ายแล้ว จึงขอปลดการบล็อคตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2020 เป็นต้นไป