21 ต.ค. 2020 เวลา 04:02 • เกม
ม็อบกับการเล่าเรื่องในเกมดิจิทัล
-เกริ่น- (Intro)
ปฏิบัติการม็อบเยาวชนปลดแอกครั้งนี้ทำให้ต้องมาทบทวนครุ่นคิด ก่อนจะพบว่าทั้งรูปแบบ แบบแผน การออกแบบ รวมไปถึงการกระทำต่างๆ นั้นมีความแตกต่างจากม็อบในอดีตอย่างยิ่ง อาทิเช่น การนับจำนวนผู้มาชุมนุม ซึ่งแต่เดิมเป็นการประเมินจากผู้ที่มาร่วมชุมนุม ณ จุดใดจุดหนึ่ง เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สี่แยกราชประสงค์
แต่วิธีการนับเช่นนี้ใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เหมือนกับวิธีนับเรตติ้งคนดูโทรทัศน์แบบในอดีตนั้นใช้ไม่ได้กับพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ในปัจจุบัน เพราะมีทั้งดูผ่านหลากหลายแพล็ตฟอร์ม และยังไม่นับการดูย้อนหลังได้อีกสารพัดวิธี การนับจำนวนหัวคนดูที่นั่งดูทีวีในเวลาออกอากาศพร้อมกันเป็นเรื่องเชยสิ้นดี เช่นเดียวกับม็อบที่ไม่อาจนับจำนวนคนเข้าร่วมม็อบด้วยวิธีการนับจำนวนที่ปรากฏในม็อบที่นั้นๆ หรือแม้แต่เอาผลรวมของจำนวนคนไปม็อบทุกแห่งมารวมกัน เพราะยังมีคนที่เตรียมจะไปม็อบ แต่การประกาศสถานที่นัดชุมนุมแบบกระทันหัน หรือการแจ้งแบบสับขาหลอก ทำให้คนจำนวนนี้โดนแกงโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะไม่สามารถเข้าร่วมได้ หรือไม่ก็ไปไม่ทัน การนับจำนวนม็อบจึงควรต้องรวมคนกลุ่มนี้เข้าด้วย
อย่างไรก็ตาม หากจะนิยามหรืออธิบายปฏิบัติการของม็อบครั้งนี้ น่าจะอธิบายได้ด้วยรูปแบบของการเล่าเรื่องแบบดิจิทัล (Digital Storytelling) และเกม
(อย่างไรก็ตาม มิได้มีเจตนาจะหมายความว่าชีวิตของคนจริงๆ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามมีค่าเท่ากับชีวิตในเกมแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการมองถึงการออกแบบ “การเล่าเรื่อง” ในม็อบเท่านั้น)
1. -เกมมิฟิเคชั่น- (Gamification)
ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ม็อบครั้งนี้คือการนำเอา Gamification มาผนวกเข้า เกมมิฟิเคชั่น หรือ “การทำให้เป็นเกม” คือการนำเอาองค์ประกอบบางอย่างของเกมมาใช้กับปฏิบัติการหรือการกระทำที่ไม่ใช่เกม
องค์ประกอบหลักของเกมนั้นก็เช่น ผู้เล่น เป้าหมายของเกม กลไกของเกม การแข่งขัน รางวัลที่จะได้รับ เป็นต้น โดยใช้แรงกระตุ้นทางจิตวิทยาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอยากบรรลุเป้าหมาย ตัวอย่างง่ายๆ ของเกมมิฟิเคชั่นก็อย่างเช่น การสะสมสแตมป์เซเว่น (เป้าหมายคือการได้สแตมป์ให้มาก จนบางครั้งซื้อของที่ไม่ได้อยากซื้อเพียงเพื่อจะได้สแตมป์โบนัส หรือจ่ายเงินเพิ่มอีกไม่กี่บาทเพื่อให้ได้สแตมป์เพิ่ม) การใช้แอพการออกกำลังกายที่เห็นสถานะและความก้าวหน้าของผู้ใช้แอพรายอื่น (การเห็นว่าผลงานของตัวเองอยู่ลำดับเท่าไรเป็นแรงกระตุ้นที่อยากไต่อันดับให้สูงขึ้น) เป็นต้น
สำหรับม็อบครั้งนี้ หากมองจากฝ่ายรัฐ นี่เหมือนเกมทุบหัวตัวตุ่นที่เห็นได้ชินตาในมังงะญี่ปุ่น เป้าหมายของผู้เล่นคือการทุบตัวตุ่นให้เต็มแรงโดยใช้ฆ้อนไม้ในมือเป็นอาวุธ ในขณะที่เหล่าตัวตุ่นโผล่ขึ้นมาแบบคาดเดาไม่ได้ ทำให้ผู้เล่นหัวเสียเอาง่ายๆ
แต่หากมองจากฝ่ายม็อบ นี่เหมือนการเล่นเกม Pokemon Go ที่ผู้เล่นมีเป้าหมายในการค้นหาข้อมูลว่าการนัดชุมนุมจะเกิดขึ้นที่ไหน และผู้เล่นมีการแชร์โลเคชั่นกัน เราอาจเรียกว่านี่คือเกม Protestmon Go! ก็ว่าได้ (เครดิตชื่อโดยเพจ นอนเล่นเกมกับ non Gaming )
2. -เกมมวลมหาประชาผู้เล่น- (MMORPG / MOBA)
ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในม็อบนี้คือโลกของเกมอย่างแท้จริง โดยเป็นเกมแบบ MMORPG (massively multiplayer online role-playing game) และ MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) ที่มีทั้งยุทธวิธี การเรียกร้องให้คนเข้ามาเล่น ไอเท็มในเกม การออกแบบเซิร์ฟเวอร์ การเติมเงินเกม การแบ่งปันข้อมูลว่าเส้นทางไหนคล่องตัว เส้นทางไหนให้ระวัง การรวม clan บุกเข้าตี dungeon ฯลฯ
ถึงขั้นมีคนบอกว่า การเล่นเกมที่คนรุ่นพ่อแม่บอกว่าไร้สาระ แต่ประสบการณ์การเล่นเกมเหล่านี้ก็ราวกับเป็นการเตรียมตัวสำหรับวันนี้ก็ไม่ปาน (เครดิต อธิป กลิ่นวิชิต)
3. -บทบาท- (Role)
เกมในปัจจุบันเอื้อให้เราเลือกเป็นฮีโร่แบบต่างๆ ได้ ผิดกับเกมสมัยก่อนที่มักเลือกตัวละครไม่ได้ (หรือถ้าเลือกได้ ก็จะมีฮีโร่ตัวเอกที่ความสามารถสูงสุดอยู่คนหนึ่ง ซึ่งหากว่าอยากชนะเกม การเลือกตัวละครนี้ก็เป็นหนทางที่ง่ายที่สุด)
คนในม็อบมีหลากหลายแบบ บางคนอีดถึกทนแบบแทงก์ บางคนเป็นตัวแรงแบบแครี่ บางคนสกิลสูงแต่ถนัดวิธีฉาบฉวยแบบแอสซาซิน บางคนพลังทำลายล้างต่ำแต่ทีมขาดไม่ได้อย่างสายซัพพอร์ต
เกมสมัยใหม่ที่มีการเล่นเป็นทีมนั้นต้องการผู้เล่นที่มีบุคลิกหลากหลายแบบ การมองเห็นคนในม็อบมีบุคลิกแบบเดียวกันทำให้เข้าใจสภาพความจริงของม็อบผิดไป
(หากเข้าใจว่าม็อบคือพวกล้มเจ้า ล้างสถาบัน ก็ไม่ต่างจากเข้าใจว่าทุกคนในเกมเป็นพวกแอสซาซิน) หรือการที่ฝ่ายสนับสนุนม็อบต้องการให้ผู้คนเข้าร่วมมีบุคลิกแบบเดียวกันก็ดูจะผิดความจริงไปหน่อย (หากมีแต่แครี่ โดยไม่มีสายซัพฯ ม็อบก็คงไม่รอดเหมือนกัน)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ม็อบต้องยอมรับก็คือ ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมม็อบทุกคนจะทำตัวน่ารัก แม้จะเชื่อมั่นในหลักการของตน แต่การแสดงพฤติกรรมฮาร์ดคอร์ ซึ่งอาจเร้าอารมณ์ กระพือความฮึกเหิม แต่ก็ต้องแลกด้วยการสูญเสียแนวร่วมบางส่วนไป
4. -การเชื่อมต่อ- (Connectivity)
เกมคอนโซลยุคอดีต (เครื่องอาตาริ แฟมิคอม เมก้าไดรฟ์ เพลย์สเตชั่น เป็นอาทิ) มักเป็นเกมที่ออกแบบสำหรับเล่น 1-2 คน (หรืออย่างดีก็ต่อจอยเล่นได้ 4 คน)
ขณะที่เกมยุคใหม่นั้นเป็น “นวัตเกม” หรือ นวัตกรรมของเกมซึ่งมักอยู่ในรูปเกมออนไลน์ที่มีผู้เล่นจำนวนมหาศาลแบบ MMORPG ดังที่ได้กล่าวแล้ว การสร้างความสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่นจึงมีมากกว่าเกมแบบเดิม ผู้เล่นเกมสื่อสารกับคนจริงๆ ไม่ใช่กับบอทอย่างเกมยุคโบราณ แน่นอนว่าในชุมชนคนเล่นเกมทุกที่ย่อมมีพวกเกรียน ทำตัวไม่น่ารัก โยนเกม ปล่อยจอย ฯลฯ ไม่ต่างจากชุมชนใดๆ ที่มีมนุษย์อยู่จริงในโลกใบนี้ (และแน่นอน ไม่ว่าจะม็อบนี้หรือม็อบไหนก็ตาม)
หากต้องการให้การเล่นเกมไร้ตำหนิก็ต้องเล่น solo game หรือไม่ก็เล่นกับบอทไป การมองไม่เห็นพลังของการเชื่อมต่อกันระหว่างผู้เข้าร่วมม็อบ ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตามม็อบไม่ทัน
5. -กลไกของเกม- (Mechanic)
เกมคอนโซลยุคก่อนมีกลไกเกมที่ไม่ซับซ้อน เกมเหล่านี้มีสูตรสำเร็จในการพิชิตเกม อยากชนะเกมของค่ายโคนามิให้เริ่มจากสูตรเพิ่มชีวิต - บน บน ล่าง ล่าง ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา บี เอ สตาร์ท แล้วก็ผ่านแต่ละด่านไปตามสูตรคู่มือ (ในยุคเกมแฟมิคอมและเกมคอนโซลในยุคถัดมาเฟื่องฟู ถึงกับมีธุรกิจหนังสือคู่มือเกมแต่ละเกมอย่างเป็นล่ำเป็นสัน)
แต่สำหรับเกมยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่ามาก การเล่นเกมแต่ละเกมไม่ต่างจากเรียน 1 วิชา มีสิ่งที่ต้องรู้ ทำความเข้าใจ ฝึกฝน ประชุมทีม มากมาย การลงทุนซื้อไอเท็มในเกมแทบไม่ต่างจากการซื้ออุปกรณ์การเรียน ถ้าไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ก็ยากจะเล่นเกมให้สนุกได้
ม็อบในปัจจุบันจึงมีกลไกที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับกลไกของเกม การที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เชื่อว่าการ “กดสูตร” จะช่วยให้ยุติม็อบได้ก็คิดผิดถนัด หากฝ่ายปราบปรามต้องการทำความเข้าใจกลไกของม็อบในปัจจุบัน พวกเขาจำเป็นต้องหัดเล่นเกมสมัยใหม่เสียก่อน
6. -ผู้ชักใย- (Puppet Master)
ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาถกเถียงหาตัวให้ได้ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังม็อบหรือไม่ แน่นอนว่าม็อบย่อมต้องมีคนจัดการเบื้องหลังซึ่งอาจแสดงตัวหรือไม่ก็ตาม แม้ม็อบจะไม่มีผู้นำ (ที่ปรากฏตัว) แต่นี่มิได้หมายความว่าจะไม่มีผู้ชักใย ประเด็นสำคัญคือการรู้ว่ามีใครเป็นผู้ชักใยแล้วจะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ม็อบผิดไปหรือไม่ การบรรลุเป้าหมายของม็อบขึ้นกับผู้ชักใยเท่านั้นหรือไม่
ในโลกของ ARG (Alternate Reality Game) ซึ่งเป็นการผสานกันระหว่างการสร้างประสบการณ์บุคคลเข้ากับรูปแบบของเกมนั้นมีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังที่เรียกว่า “puppet master” ที่ทำหน้าที่กำหนดเกม ปรับเปลี่ยนเกมตามความเหมาะสม รวมถึงโน้มน้าวใจให้ผู้คนเข้าร่วมเกมให้มาก ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม “ผู้ชักใย” นี้มิได้จะมีความหมายเชิงลบเสมอไป การไม่เปิดเผยตัวกับการไม่บริสุทธิ์ใจต่อเกมก็เป็นคนละเรื่องกัน สิ่งที่สำคัญกว่าคือเกมนั้นออกแบบไว้เพื่อเป้าหมายใด และเรายอมรับเป้าหมายนั้นได้หรือไม่
ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างเกี่ยวกับผู้ชักใยนี้ ในโลกแห่งเกม ARG ช่วงแรกที่ผู้คนเข้าร่วมเกม พวกเขาอาจเกิดความสับสนว่าสิ่งที่ตนเองเผชิญหน้าคือความจริงหรือสถานการณ์ที่มีการจัดตั้งขึ้นกันแน่ บางคนหวาดระแวงต่อการจัดตั้งก็ออกจากเกมไป แต่หากเขายังยืนยันปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย สักพักเขาจะรู้ว่าสภาพแวดล้อมของตนเองคืออะไร แน่นอนว่าเขาย่อมรู้ว่ามี “ผู้ชักใย” อยู่เบื้องหลัง แต่การบรรลุเป้าหมายเกมนั้นสำคัญกว่าการได้รู้ว่ามีคนอยู่เบื้องหลังเกม
สำหรับม็อบ หากเราหวาดระแวงว่าม็อบครั้งนี้มีคนชักใยเบื้องหลังที่แอบอยู่ในเงามืดด้วยเจตนาชั่วร้าย แล้วม็อบที่ผ่านๆ มา หรือว่าเรามองเห็นคนที่อยู่ “ด้านหลังสุด” ของม็อบได้จริงๆ?
โฆษณา