21 ต.ค. 2020 เวลา 01:51 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หยวนดิจิทอล ไปไกลกว่าที่เราคิดเยอะแล้ว
หลายคนคงน่าจะจำได้ว่า เมื่อช่วงเดือนพ.ค. ทางจีนประกาศทดลองใช้หยวนดิจิทัล เพื่อนำประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้
ล่าสุด จีน ได้เข้าสู่การพัฒนาในเฟสต่อไปเรียบร้อย หลังธนาคารกลางจีนประกาศ ภายใต้โครงการทดลองครั้งใหม่ ด้วยการแจกจ่าย“ อั่งเปา” ในรูปแบบของ E-Wallet ที่มีเงินดิจิทัลมูลค่า 200 หยวน (หรือ ราวๆ $29.75) ต่อ 1 ผู้ใช้งานที่ทางธนาคารกลางทำการสุ่มเลือกจำนวน 50,000 คน ในเมืองเซินเจิ้น
ด้วยเฟสการพัฒนาที่เริ่มเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ณ ชั่วโมงเงินหยวนดิจิทัลสามารถทำงานได้จริงในการใช้ชำระค่าสินค้าได้แล้ว จนถึงตอนนี้ มี Application ไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น Didi, Chuxing และ จัดส่งอาหาร Meituan Dianping และร้านค้าจำนวน 3,389 ร้าน ก็มีส่วนร่วมในการทดลองนี้ด้วย
ดูเหมือนว่า เงินหยวนดิจิทัลของจีนน่าจะกลายเป็นโครงการริเริ่ม Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่ก้าวหน้าที่สุดในบรรดาหลายโครงการทั่วโลกไปแล้ว
จีนเร่งเดินหน้าพัฒนา CBDC ก่อนประเทศอื่นๆ
หลายคนคงยังสงสัยว่า แล้ว หยวนดิจิทอล มันทำงานอย่างไร?
จากมุมมองของผู้ใช้งานในจีนนั้น ต้องบอกว่า แทบจะไม่มีความแตกต่างจากวิธีการชำระออนไลน์ที่มีอยู่เดิมของจีน อย่าง การชำระเงินผ่าน Alipay และ WeChat Pay เลย โดยผู้ใช้งาน ต้องดาวน์โหลดกระเป๋าเงินดิจิทัลที่สามารถเก็บเงินได้ จากนั้นก็สร้างรหัส QR ที่สามารถสแกนได้โดยเครื่องชำระเงินในร้านค้า
แต่เอาจริงๆ ระบบหลังบ้านของดิจิทอลหยวน มีความซับซ้อนกว่านั้นในรายละเอียด เพราะ ผู้ออกและควบคุม ก็คือ ธนาคารกลาง ดังนั้น จึงมีการเพิ่มระบบกลไกลที่สามารถควบคุมดูแลโดยรัฐ พร้อมทั้งต้องเป็นระบบที่รัฐเองสามารถตรวจสอบได้ว่าเงินนี้มีเส้นทางการเงินอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาการฉ้อโกง คอรัปชั่น และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้เข้มข้นขึ้นไปอีก
โดยในกระบวนการการปล่อยหยวนดิจิทอลนี้ เหล่าธนาคารพาณิชย์จะมีบทบาทในการกระจายเงินให้กับผู้ใช้ และในการดำเนินการกระจายเงินนี้ ธนาคารต่างๆจะต้องฝากเงินสำรองไว้กับ PBOC (ธนาคารกลางจีน) เท่ากับเงินหยวนดิจิทัลที่พวกเขาแจกจ่าย นั้นแปลว่า อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลหยวน กับ หยวนดิจิทอล ก็คือ 1:1
ทำไมธนาคารกลางถึงสร้างกลไกให้ดิจิทอลหยวนเป็นแบบนี้?
เชื่อว่า (ความเห็นส่วนตัว) ธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลาง ต้องการเก็บฐานข้อมูลและติดตามการไหลเวียนของเงินหยวนดิจิทัลจากผู้ใช้หนึ่งสู่ผู้ใช้หนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลก ไม่เคยทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการที่ transaction ที่เกิดในระบบ เกิดจากการใช้ เหรียญหรือธนบัตร
ถ้าหยวนดิจิทอลถูกใช้อย่างแพร่หลาย จะเป็นอย่างไร?
น่าจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายของจีน ทั้งรัฐบาล หรือ ธนาคารกลางเอง มีความเข้าใจมากขึ้นว่าเงินที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจของจีนมีลักษณะเป็นอย่างไร ผลที่ตามมาก็คือ หน่วยงานรัฐสามารถติดตามการไหลเวียนของเงินที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน หรือการจัดหาเงินทุนของผู้ก่อการร้าย ได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
แต่ก็เชื่อว่า เหล่าผู้ก่อการร้าย ก็จะหาวิธีหลบ โดยใช้เงินสกุลดิจิทอลอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการควบคุมอย่างหยวนดิจิทอลแทนอยู่ดีนะครับ ซึ่งก็ถือเป็นปัญหาในอนาคตที่จะต้องไปแก้กันต่ออีกที
อีกด้าน ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นวัตถุประสงค์หลักของการใช้หยวนดิจิทอลเลย ก็คือ เมื่อระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ ก็สามารถกำหนดเป้าหมายในการเข้าแทรกแซงด้วยนโยบายการเงิน แบบเฉพาะเจาะจงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หรือ ในเคสแบบสุดโต่ง หากสถานการณ์เศรษฐกิจดูจะทรุดรุนแรง ธนาคารกลางก็สามารถประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบสำหรับการใช้เงินสดเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย หรือการผันย้ายเงินกระดาษเข้าสู่หยวนดิจิทอลด้วย
1
ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีเครื่องมือนโยบายการเงินหลายตัวอยู่เดิมแล้ว
การปล่อยหยวนดิจิทอล ในมุมมองของผม มองว่า นี่คือส่วนหนึ่งของเป้าหมายระยะยาวของจีน ที่ต้องการสร้างสกุลเงินให้เป็นสากล ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น ที่หากมองในแง่จังหวะและเวลา ก็ต้องถือว่า เหมาะสมมากๆ เพราะการอัดฉีดนโยบายการเงินแบบไร้เพดานโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าแบบที่เราเห็นตอนนี้ ทำให้ประชาคมโลกตั้งคำถามกับการมีอยู่ และคุณค่าของการถือดอลล่าร์สหรัฐฯเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ
ดอลล่าร์ยังเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีสัดส่วนเยอะที่สุด เมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ
หากโมเดลหยวนดิจิทอลประสบความสำเร็จในประเทศจีนมากขึ้น?
หลังจากนี้ ก็อาจจะง่ายขึ้นที่หยวนดิจิทัลจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ หันมาคบค้ากับจีน และใช้สกุลหยวนเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อแลกกับการเข้าไปเจาะตลาดแผ่นดินใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ก็เป็นได้
จากการพยากรณ์ของ Oxford Economics คาดว่า GDP ของจีน จะแซงสหรัฐฯขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าหลังจากวันนี้
เรามารอดูกันว่า การเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจของโลกจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่กัน
GDP จีนจ่อแซงสหรัฐฯขึ้นเป็นเบอร์หนึ่ง แต่ GDP per Capita ยังห่างไกลกันมาก
วกกลับมาในเรื่องของการลงทุน ต้องยอมรับว่า การวางนโยบาย และการปรับตัวของรัฐบาลจีนรวมถึงเศรษฐกิจจีนเอง ดูจะทำได้ดีโดยเฉพาะกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ดังนั้น มันเลยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ดี ที่ใครจะมีพอร์ตการลงทุนในหุ้นกลุ่ม New Economy ของจีนไว้ในระยะยาวหลังจากนี้บ้าง ไม่มากก็น้อย
Mr.Messenger รายงาน
โฆษณา