21 ต.ค. 2020 เวลา 05:02 • กีฬา
ประวัติและความเป็นมาของ "ถุงมือผู้รักษาประตู"
ในกีฬาประเภทที่ตามกติกาจะต้องมีการทำคะแนนโดยการนำลูกบอลผ่าน เข้าไปยัง "ประตู" ของฝั่งคู่แข่ง เช่น ฟุตบอล ฮอกกี้ โปโลน้ำ หรือฟุตซอล จะมีผู้เล่นในตำแหน่งที่สำคัญอยู่ตำแหน่งหนึ่ง นั่นคือ ตำแหน่ง "ผู้รักษาประตู" (Goalkeeper)
สำหรับกีฬาฟุตบอลนั้น ในกติกายุคปัจจุบันกำหนดให้มีจำนวนผู้เล่นในสนาม ได้ฝ่ายละ 11 คน แต่ต้องไม่น้อยกว่า 7 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นจะต้องมีตำแหน่งผู้รักษา ประตูอยู่ด้วย 1 คน ตำแหน่งนี้จึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เพราะเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียวในทีมเท่านั้นที่จะสามารถใช้ "มือ" ในการเล่นได้ (บริเวณภายในพื้นที่ที่กำหนด) แต่ก็เป็นตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหนักๆ ได้เพราะหน้าที่หลักของตำแหน่งนี้ก็คือการป้องกันมิให้ลูกบอลผ่านเข้าประตูไปได้ จึงมีโอกาสที่จะต้องปะทะกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม หรือต้องพบกับลูกบอลที่พุ่งเข้ามาหาด้วยความเร็วและรุนแรง อยู่ตลอดเวลา
และนอกเหนือจากการเสี่ยงต่อการบาดเจ็บแล้ว ตำแหน่งนี้ยังถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความกดดันในการเล่นสูงมากกว่าตำแหน่งอื่น เนื่องจากหากเกิดการผิดพลาดขึ้นในการเล่นแล้วโอกาสที่ทีมของตนจะเสียคะแนน หรือเสียประตู ย่อมมีมาก เพราะเป็นผู้เล่นคนสุดท้ายที่อยู่หน้ากรอบประตูนั่นเอง
ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ หรือความผิดพลาดในการเล่น ผู้รักษาประตูในอดีตจึงมีความพยายามพัฒนา หรือแสวงหาวิธีการ และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเล่นให้สนองตอบความต้องการดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การคิดค้น "ถุงมือ" สำหรับการเล่นเป็นผู้รักษาประตูขึ้น และมีการพัฒนาผสมผสานกับเทคโนโลยีทางการกีฬาในแต่ละยุคสมัย จนกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญ และเป็น "สัญลักษณ์" สำหรับผู้เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูในปัจจุบันไปแล้วโดยปริยาย
อลิซง เบคเกอร์ ผู้รักษาประตูทีมชาติบราซิล และทีมสโมสรลิเวอร์พูล กับรางวัล "ถุงมือทองคำ" จาก พรีเมียร์ลีกอังกฤษ ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกส์ และโกปาอเมริกา ในปี ค.ศ.2019
แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมา และชื่อของผู้ที่ใช้ถุงมือเป็นรายแรกกันอยู่พอสมควร โดยจากแหล่งข้อมูลสืบค้นทั่วไปมักจะปรากฏชื่อ ของ Amadeo Raul Carrizo นักฟุตบอลชาวอาร์เจนตินา ว่าเป็นผู้รักษาประตูคนแรกที่สวมถุงมือลงทำการแข่งขัน ในช่วงที่เขาเล่นให้กับทีมสโมสรลิเวอร์เพลท ในประเทศอาร์เจนติน่า เมื่อปี ค.ศ.1940
Amadeo Raul Carrizo
ในขณะที่ก็ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีผู้รักษาประตูที่สวมถุงมือลงทำการแข่งขันฟุตบอลมาก่อนหน้านั้น เช่น ภาพถ่ายของผู้รักษาประตูชาวสก็อตแลนด์ชื่อว่า Archie Pinnell ที่สวมถุงมือนั่งอยู่ระหว่างเสาประตูระหว่างการแข่งขันฟุตบอล Lancashire League side Chorley ที่เมือง Dole Lane ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1890 หรือ ภาพวาดของ Leigh Richmond Roose นักฟุตบอลทีมชาติเวลส์ที่ปรากฎอยู่ใน cigarette card ที่สวมถุงมือที่ทำมาจากขนสัตว์ลงทำการแข่งขันให้กับสโมสรซันเดอร์แลนด์ ในปี ค.ศ.1909 หรือ ภาพถ่ายของ Bill Mercer back ของสโมสรฮัดเดอร์ฟิลด์ทาวน์ ที่นำเอาผ้าพันแผลมาใช้พันมือระหว่างการแข่งขันในช่วงสงคราม เมื่อปี ค.ศ.1925 หรือภาพถ่ายของ Elisha Scott ผู้รักษาประตูชาวไอร์แลนด์เหนือ ที่เล่นให้กับทีมสโมสรลิเวอร์พูลตั้งแต่ปี 1912 ถึง 1934 ที่สวมถุงมือและถือลูกฟุตบอล
Archie Pinnell
Leigh Richmond Roose )
Bill Mercer back
Elisha Scott
นอกเหนือจากผู้รักษาประตูในสหราชอาณาจักรแล้ว ก็ยังมีหลักฐานปรากฏว่าผู้เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูของทีมในประเทศอื่นๆ ของดินแดนภาคพื้นยุโรปก็มีการสวมถุงมือลงทำการแข่งขันด้วย เช่น Carlo Ceresoli ชาวอิตาเลี่ยนที่สวมถุงมือลงทำการแข่งขันทั้งในการเล่นระดับสโมสร และทีมชาติ โดยเฉพาะนัดที่ทีมชาติอิตาลี พบกับทีมชาติอังกฤษเมื่อ ปี ค.ศ 1934
Carlo Ceresoli
Cr:ภาพ: Wikipedia
แต่ถึงแม้ข้อมูลว่าใครเป็นผู้รักษาประตูที่เป็นผู้ใช้ถุงมือเป็นรายแรกจะยังไม่มีความชัดเจนนักก็ตาม ก็ยังมีข้อมูลหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับตรงกันก็คือ ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อ William Sykes เป็นผู้ที่ได้จดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการพัฒนาถุงมือสำหรับเล่นฟุตบอลเป็นรายแรก ในปี ค.ศ.1885 ด้วยการคิดค้นถุงมือที่ทำด้วยยางเพื่อใช้ปกป้องมือของผู้รักษาประตูในการเล่นฟุตบอล ซึ่งแม้ว่าในที่สุดแล้วจะไม่มีการผลิตถุงมือชนิดนี้ออกมาจำหน่าย แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาถุงมือสำหรับผู้รักษาประตูมาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารสิทธิบัตรเกี่ยวกับถุงมือผู้รักษาประตูของ William Sykes
เอกสารสิทธิบัตรเกี่ยวกับถุงมือผู้รักษาประตูของ William Sykes
เอกสารสิทธิบัตรเกี่ยวกับถุงมือผู้รักษาประตูของ William Sykes
Cr: ภาพ&ข้อมูล: https://twitter.com.
่ โดยภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เล่นในตำแหน่งรักษาประตูหลายคนในสหราชอาณาจักรก็มีความนิยมสวมใส่ถุงมือลงแข่งขันมากขึ้น เช่น George Swindin ของสโมสรอาร์เซนอล ก็สวมถุงมือลงทำการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล F.A Cup ในปี 1950 กับสโมสรลิเวอร์พูล และในปี 1952 กับสโมสรนิวคาสเซิลยูไนเต็ด ซึ่งในยุคแรกๆ ถุงมือส่วนมากก็มักจะทำมาจากผ้าฝ้าย หรือวัศดุอื่นบ้าง เช่นหนังสัตว์ หรือขนสัตว์ และจะนิยมสวมใส่ลงแข่งขันในทุกนัดไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นเช่นไร
George Swindin
ทั้งนี้ Gordon Banks อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลก ปี ค.ศ.1966 ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ Soccer Gift Book ของ Charlie Buchan เมื่อปี ค.ศ.1967 ว่า เขาเชื่อว่าถุงมือมีความสำคัญสำหรับผู้รักษาประตูโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในสภาพสนามที่ลูกบอลมีความลื่น และแนะนำให้ผู้อ่านรุ่นเยาว์พกถุงมือติดตัวไว้เสมอ โดย Gordon Banks ได้สวมถุงมือลงแข่งขันฟุตบอลโลกให้ทีมชาติอังกฤษที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศในปี ค.ศ.1966 ได้ และต่อมาเขาก็ได้มีโอกาสสวมถุงมือที่ผลิตขึ้นมาสำหรับผู้รักษาประตูโดยเฉพาะลงแข่งขันในฟุตบอลโลก ปี ค.ศ.1970 ที่ประเทศแมกซิโก พร้อมด้วยภาพประทับใจในการป้องกันลูกโหม่งของเปเล่ ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “The save of the century” ในนัดที่แข่งขันกับทีมชาติบราซิล อีกด้วย
Gordon Banks & Pele
Cr: ภาพ: https://www.amazon.com
แต่เนื่องจากถุงมือที่ใช้ในยุคแรกๆ นั้นนิยมทำมาจากผ้าฝ้าย จึงมักจะประสบปัญหาเมื่อต้องลงเล่นในสภาพอากาศที่เลวร้ายอย่างฝนตก หรือหิมะตก โดยเฉพาะปัญหานิ้วมือชา และถุงมือขาดความยืดหยุ่น จนส่งผลให้จับลูกบอลได้ยากจึงมีความพยายามคิดค้นวิธีที่จะทำให้ถุงมือมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยวิธีต่างๆ เช่น การนำเอาหมากฝรั่งมาถูบนฝ่ามือของถุงมือเพื่อให้สามารถจับลูกฟุตบอลได้ดีขึ้น
ต่อมาจึงได้เริ่มนำเอาแผ่นยางที่มีปุ่มแบบเดียวกับที่ใช้กับไม้ปิงปองมาติดบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ เพื่อช่วยให้ผู้รักษาประตูจับและชกลูกฟุตบอลได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถใช้ได้กับทุกสภาพอากาศ จนส่งผลให้ถุงมือชนิดใหม่ๆ สามารถนำออกจำหน่ายในร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาได้อย่างรวดเร็วในช่วงต้นทศวรรษ 1970 และนอกจากคุณสมบัติในการใช้งานแล้ว ยังเริ่มมีการพัฒนาด้านความสวยงามด้วย ดังเช่น Sondico ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดังของอังกฤษได้ผลิตถุงมือออกมาให้สำหรับ Peter Bonetti ผู้รักษาประตูของสโมสรเชลซี และตัวสำรองของ Banks ในทีมชาติอังกฤษสวมใส่โดยเฉพาะ ซึ่งถุงมือชนิดนี้มีลักษณะเด่น คือ การใส่ อักษรตัว "B" ขนาดใหญ่ที่ด้านหลังมือ จนส่งผลให้ถุงมือผู้รักษาประตูได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น
Peter Bonetti
ถุงมือ Sondico ของ Peter Bonetti
ในส่วนของประเทศทางแถบภาคพื้นยุโรปอื่นๆ เองก็มีการพัฒนาถุงมือผู้รักษาประตูเช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน โดยในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 Uhlsport ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับกีฬาสกีจากประเทศเยอรมัน ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกที่ได้เริ่มทำการพัฒนาถุงมือสำหรับผู้รักษาประตูในกีฬาฟุตบอล แต่ผู้ผลิตที่ทำการผลิตถุงมือสำหรับผู้รักษาประตูออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจังก็คือ Reusch ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาจากประเทศเยอรมันที่ได้ทำความตกลงร่วมกับ Sepp Maier ผู้รักษาประตูทีมสโมสรบาร์เยิร์นมิวนิก และทีมชาติเยอรมันตะวันตก (ในขณะนั้น) ในปี ค.ศ.1973 เพื่อพัฒนาถุงมือผู้รักษาประตูแบบใหม่ที่มีลักษณะพิเศษ คือมีการนำเอายางมาติดลงที่ด้านฝ่ามือ เรียกว่า Soft-Grip ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากในขณะนั้น โดย Sepp Maier ได้นำถุงมือดังกล่าวมาใช้ครั้งแรกในฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 1974 และสามารถพาทีมชาติเยอรมันตะวันตกชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนั้นได้ จึงยิ่งส่งผลให้ถุงมือของ Reusch มีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น ซึ่งภายหลังจากความสำเร็จของ Reusch ทาง Uhlsport และ Adidas จึงได้เริ่มที่จะทำการผลิตถุงมือผู้รักษาประตูออกมาจำหน่ายบ้าง
ถุงมือ Reusch ของ Sepp Maier
หลังจากนั้น ในช่วงกลางทศวรรษที่ 70 ก็เริ่มมีนักฟุตบอลจากสหราชอาณาจักรเริ่มให้ความสนใจถุงมือที่ผลิตมาจากประเทศภาคพื้นยุโรปมากขึ้น เช่น John Burridge จากสโมสรแอสตันวิลล่า และ Phil Parkes จากสโมสรควีนส์ปาร์คเรนเจอร์
โดย John Burridge นั้น เกิดความประทับใจถุงมือ Adidas LCURKOVIC ที่ผู้รักษาประตูชาวเยอรมันของทีมคู่แข่งของเขาใช้ ตอนที่ไปร่วมการแข่งขันรายการหนึ่งที่ประเทศสเปน จึงซื้อถุงมือชนิดนั้นเอากลับไปจำหน่ายให้กับผู้รักษาประตูในเกาะอังกฤษ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Pat Jennings และ Peter Shilton
ถุงมือ Adidas LCURKOVIC
Cr:ภาพ: https://twitter.com
ส่วน Phil Parkes ก็จะคล้ายกับกรณีของ John Burridge คือ เมื่อตอนที่สโมสรควีนส์ปาร์คเรนเจอร์ แข่งขันกับทีมมึนเช่นกลัดบัด จากเยอรมัน ในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.1975 Wolfang Kleff ผู้รักษาประตูชาวเยอรมันของกลัดบัดได้ให้เขายืมใส่ถุงมือที่มียางที่ฝ่ามือลงเล่นในครึ่งเวลาหลัง จนเขาพอใจและก็นำมาจำหน่ายในเกาะอังกฤษเช่นกัน เพียงแต่สิ่งที่แตกต่าง คือ Phil Parkes ได้ตกลงร่วมดำเนินธุรกิจกับ Dave Holmes ก่อตั้งบริษัท Sukan Sports ขึ้นในปี ค.ศ.1979 เพื่อจัดจำหน่ายถุงมือให้กับผู้รักษาประตูในทุกระดับ และต่อมา Sukan Sports ก็กลายเป็นผู้จัดจำหน่ายถุงมือ Uhlsport อย่างเป็นทางการในสหราชอาณาจักร และทำข้อตกลงกับผู้รักษาประตูชื่อดังหลายคนเพื่อให้เป็น Brand Ambassadors เช่น Joe Corrigan และ Jimmy Rimmer สองอดีตผู้รักษาประตูทีมชาติอังกฤษ
ภาพโฆษณาถุงมือ และอุปกรณ์สำหรับผู้รักษาประตู Uhlsport ของ Sukan Sports
Jimmy Rimmer กับถุงมือ และอุปกรณ์ของUhlsport
ในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 1980 ผู้รักษาประตูที่ลงสนามโดยไม่สวมถุงมือก็เริ่มจะไม่มีปรากฏให้เห็น โดยผู้รักษาประตูคนสุดท้ายที่ลงแข่งขันโดยไม่ใช้ถุงมือในฟุตบอลอังกฤษ คือ Simon Farnworth ของทีมสโมสรโบลตันวันเดอเรอร์ส ในนัดที่ลงแข่งขันนัดที่แข่งขันกับสโมสรบริสตอลซิตี้ในนัดชิงชนะเลิศของการแข่งขัน Freight Rover Trophy ที่สนาม Wembley ในปี ค.ศ.1986 โดยที่ทีมโบลตันนั้นแพ้ไป 3 ประตูต่อ 0
ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 90 ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับถุงมือผู้รักษาประตูเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การคิดค้นถุงมือแบบมีที่ป้องกันนิ้ว หรือ Fingersave โดย Adidas ซึ่งก็ได้รับความนิยมในหมู่ผู้รักษาประตูของพรีเมียร์ชิพหลายคนในสมัยนั้น เช่น Shay Given แต่ก็แน่นนอนว่าคนที่ไม่ชอบถุงมือแบบนี้ก็ต้องมีบ้างเป็นธรรมดา เช่น มองว่าถุงมือแบบนี้ไม่สามารถจับลูกฟุตบอลได้ถนัดนักเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ หรือการนำยางที่หนานุ่มมากขึ้นมาใช้ในการผลิต อีกทั้งยังพัฒนารูปแบบของการตัดเย็บให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น Flat-palmed gloves, Heavy padded finger roll gloves, Snug-fitting negative cut รวมถึงการใช้สีสันต่างๆ ที่สวยงามมาแต่งเติมให้ถุงมือมีตัวเลือกที่มากขึ้น
ลักษณะการตัดเย็บ ถุงมือผู้รักษาประตูในรูปแบบต่างๆ
ดังนั้นในปัจจุบัน ถุงมือของผู้รักษาประตูจึงได้กลายเป็นจุดสนใจหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอล ควบคู่กับเกมส์การแข่งขันไปด้วย อาทิเช่น
Jens Lehmann ผู้รักษาประตูชาวเยอรมันเคยเปิดเผยว่าในปี ค.ศ.2004 เขาอาจจะถูกปลดจากทีมชาติในชุดที่จะร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2006 ที่ประเทศเยอรมันได้หากยังคงสวมถุงมือผู้รักษาประตูของ Nike ที่เขาใช้เป็นประจำในการทำหน้าที่ให้สโมสรอาร์เซนอลในการแข่งขันพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ลงทำการแข่งขัน แทนที่จะเป็นถุงมือของ Adidas ที่เป็นผู้สนับสนุนชุดแข่งขันให้กับทีมชาติเยอรมันที่มีมูลค่า 8 ล้านยูโรต่อปี ในขณะนั้น นั่นเอง
Jens Lehmann ในชุดทีมชาติเยอรมัน
Petr Cech ผู้รักษาประตูจากสาธารณรัฐเชคของสโมสรอาร์เซนอลได้สวมถุงมือ Puma evoDISC ที่มีราคา 120 ปอนด์ ลงแข่งขันกับทีมสโมสรลิเวอร์พูลที่สนามแอนฟิลด์ ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2017และด้วยลักษณะรูปทรงที่แปลกตากว่าถุงมือปกติในขณะนั้น จึงดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนได้อยู่พอสมควร
ถุงมือ Puma evoDISC ของ Petr Cech
ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2016 ทีมชาติฮังการี ได้มีการมอบถุงมือของ Marton Fulop อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติที่เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี ค.ศ.2015 ให้กับ Gabor Kiraly ผู้รักษาประตูทีมชาติฮังการี ก่อนเกมส์การแข่งขันที่ฮังการีจะพบกับโปรตุเกส
Gabor Kiraly กับถุงมือของ Marton Fulop
ปัจจุบัน แม้ว่าถุงมือผู้รักษาประตูจะกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญ และเป็นที่นิยม แต่ก็มีข้อสังเกตว่า FIFA ก็ไม่ได้มีข้อกำหนดใดที่บังคับให้ผู้รักษาประตูจะต้องสวมถุงมือลงทำการแข่งขัน จะมีก็เพียงการออกข้อกำหนดต่างๆ ไว้ในกรณีที่ต้องการจะสวมใส่เท่านั้น เช่น ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 FIFA ได้มีการออกข้อกำหนดเกี่ยวกับชุดที่อนุญาตสำหรับการแข่งขันและระบุรายละเอียดสำหรับถุงมือว่า ผู้รักษาประตูได้รับอนุญาตให้ “สวมถุงมือสีใดก็ได้ แต่ต้องตรงกันข้ามกับเสื้อ โดยชื่อหรือหมายเลขของผู้รักษาประตูอาจปรากฏได้ บนถุงมือด้านซ้าย ในขณะที่ธงหรือตราสัญลักษณ์ของประเทศ อาจปรากฏได้บนถุงมือด้านขวา”
FIFA Equipment Regulation
ถึงแม้ว่า FIFA จะไม่มีการระบุบังคับให้ผู้รักษาประตูต้องสวมถุงมือลงแข่งขันในนัดแข่งขันอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วในปัจจุบันผู้รักษาประตูทุกคนต่างก็นิยมสวมถุงมือลงเล่นเกือบทั้งนั้น ดังนั้นหากว่ามีผู้รักษาประตูรายใดที่ไม่สวมถุงมือลงแข่งขัน โดยเฉพาะนัดการแข่งขันแบบเป็นทางการที่สำคัญ ก็จะกลายเป็นจุดสนใจอยู่มากพอสมควร เช่น ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปรอบสุดท้าย ปี ค.ศ.2004 ที่ประเทศโปรตุเกส รอบแปดทีมสุดท้าย ระหว่างทีมชาติโปรตุเกส กับทีมชาติอังกฤษ ซึ่งทั้งสองทีมเสมอกันในเวลาการแข่งขันปกติ 120 นาที 2-2 ประตู จึงต้องตัดสินผลการแข่งขันด้วยการยิงลูกโทษที่จุดโทษ ซึ่งมีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจหนึ่งเกิดขึ้น คือเมื่อ Ricardo ผู้รักษาประตูของทีมโปรตุเกสได้ถอดถุงมือออกในระหว่างการยิงลูกโทษ และสามารถป้องกันประตูจากการยิงของ Darius Vassell ได้ และหลังจากนั้นเขาก็เป็นผู้ที่ยิงประตูตัดสินให้ทีมโปรตุเกสสามารถคว้าชัยชนะเหนือทีมชาติอังกฤษไปได้ จนมีข้อสงสัยกันว่าการถอดถุงมือของเขาน่าจะมีผลทางจิตวิทยาในการยิงลูกโทษ เพราะในยุคใหม่ทุกคนต่างก็เคยชินกับการที่ผู้รักษาประตูมักจะใส่ถุงมือเสียเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
การป้องกันจุดโทษโดยไม่สวมถุงมือของ Ricardo
โฆษณา