22 ต.ค. 2020 เวลา 08:51 • ธุรกิจ
4 แบงค์ใหญ่ไตรมาส 3 กำไรลดลงยกแผงอย่างไร
4 แบงก์ใหญ่ กำไรลดลง
งบการเงินของ 4 ธนาคารใหญ่ในไตรมาส 3 ปี 2563 ได้ประกาศออกมาแล้วในสัปดาห์นี้ โดยมีกำไรสุทธิลดลงยกแผงตามคาด เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน ผลกระทบหลักเกิดจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต (ECL) อันเป็นผลจากการเปลี่ยงแปลงมาตรฐาน TFRS 9 โดยส่วนใหญ่ยังคงรักษารายได้ดอกเบี้ยสุทธิได้ในระดับเดิมหรือดีกว่าเดิม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กราฟแสดงกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปี 2563 เทียบกับ ปี 2562
source: set.or.th
ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 (เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562) ลดลง 5,421 ล้านบาท หรือ 57% เกิดจาก
• การลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยประมาณ 2,726 ล้านบาท หรือลดลง 22.2% โดยสาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้จากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากการเริ่มใช้ มาตรฐาน TFRS 9 และจากการลดลงของปริมาณธุรกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้นโดยการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยชดเชยด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 1,908 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น10.6% ซึ่งเกิดจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา ในประเทศอินโดนีเซีย
• การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน 6,748 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 53.2% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตา และประมาณการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซีย
กำไรสุทธิ 9 เดือนปี 2563 (เทียบกับกำไร 9 เดือน ปี 2562) ลดลง 13,031 ล้านบาท หรือ 47% สาเหตุหลักๆ เกิดจาก
• การลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 5,826 ล้านบาท หรือลดลง 16.1% จากสาเหตุหลักของการลดลงของรายได้จากเงินลงทุนและจากการขายสินทรัพย์ นอกจากนี้รายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิลดลงจากการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อตามมาตรฐาน TFRS 9 ซึ่งการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 3,904 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.2% ซึ่งเกิดจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตาในประเทศอินโดนีเซีย สุทธิกับการที่ธนาคารได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อให้ลูกค้าบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว
• การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 7,984 ล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยงที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
กราฟแสดงกำไรสุทธิงวด 9 เดือน ปี 2563 เทียบกับ ปี 2562
source: set.or.th
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 (เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562) ลดลง 10,157 ล้านบาท หรือ 68.6% เกิดจาก ปี 2562 มีรายได้จากการขายหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว หากไม่รวมรายการพิเศษนี้ กำไรสุทธิจะลดลงเพียง 55.7% โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 9% ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้ง ทั้งนี้ธนาคารได้บริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายในการ ดำเนิงานลง 10.3%
กำไรสุทธิ 9 เดือนปี 2563 (เทียบกับกำไร 9 เดือน ปี 2562) ลดลง 12,678 ล้านบาท หรือ 36% สาเหตุหลักๆ เกิดจากปี 2562 มีรายได้จากการขายหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว การลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 4% และจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามมาตรฐาน TFRS 9 ประมาณ 21.9%
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)
กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 (เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562) ลดลง 3,272 ล้านบาท หรือ 33% และกำไรสุทธิ 9 เดือนปี 2563 (เทียบกับกำไร 9 เดือน ปี 2562) ลดลง 13,695 ล้านบาท หรือ 46% มีสาเหตุหลักจากการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นในปี 2563 จำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24% โดยประเมินจากปัจจัยต่างๆ จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่หดตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ
รายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มจำนวน 5,301 ล้านบาท หรือ 6.87% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ และการรับรู้รายได้และค่าธรรมเนียมรับด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ตามมาตรฐาน TFRS 9
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 8,085 ล้านบาทหรือ 19.41% จากค่าธรรมเนียมรับการให้สินเชื่อลดลงโดยเปลี่ยนไปแสดงเป็นรายได้ดอกเบี้ย และรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์ลดลง
ธนาคารกรุงไทย (KTB)
กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 (เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562) ลดลง 3,298 ล้านบาท หรือ 52% โดยสาเหตุหลักเกิดจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 12,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,316 ล้านบาท หรือ 103.6% ในขณะที่ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2,281 ล้นบาท หรือ 16% เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ จำนวน 1,223 ล้านบาท โดยมีต้นทุนทางการเงินลดลง ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทั้งนี้มีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลงด้วย
กำไรสุทธิ 9 เดือนปี 2563 (เทียบกับกำไร 9 เดือน ปี 2562) ลดลง 8,546 ล้านบาท หรือ 39% โดยสาเหตุหลักเกิดจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 35,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,660 ล้านบาท หรือ 87.7% ในขณะที่ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 5,977 ล้นบาท หรือ 12% เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการดำเนินการอื่นๆ ขยายตัว และมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง
โฆษณา