22 ต.ค. 2020 เวลา 13:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมบางครั้งเราตื่นได้ใกล้กับเวลาที่นาฬิกาจะปลุกมาก
เคยเป็นแบบนี้กันบ้างไหมครับ
พรุ่งนี้เช้ามีเรื่องสำคัญต้องทำ และต้องตื่นเช้ากว่าปกติเลยตั้งนาฬิกาปลุกเช้าขึ้นกว่าเดิม
ปรากฎว่า เช้าวันถัดมา สามารถตื่นได้เอง ตื่นได้ก่อนนาฬิกา และตื่นได้ใกล้กับเวลาที่ตั้งใจมาก
คำถามคือ เราทำแบบนั้นได้ยังไง ?
ประมาณ 40 ปีที่แล้ว Peretz Lavie นักวิจัยเกี่ยวกับการหลับชาวอิสราเอล ก็เคยสนใจปรากฎการณ์นี้ และอยากรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า
เขาจึงทำการทดลองเล็กๆ ขึ้นมาการทดลองนึง โดยกำหนดเวลาตื่นให้กับอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลอง และพบว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่เข้าร่วมทดลองสามารถตื่นได้ใกล้กับเวลาที่กำหนด แม้ว่าเวลาที่ให้ตื่นจะเช้ามาก เช่น ตีห้า หรือ ตีสามครึ่ง ก็ตาม
นั่นก็น่าจะเป็นครั้งแรกๆที่เรารู้ว่า สมองของมนุษย์มีกลไกที่ทำหน้าที่เหมือนเครื่องนับเวลาอยู่
และเมื่อถึงเวลาตื่นที่ตั้งใจไว้ สมองก็จะส่งสัญญานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในร่างกาย เช่น มีการหลั่งเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเครียด (ที่ชื่อ ACTH) มีการเปลี่ยนแปลงของการเต้นของหัวใจ และความดันเลือด จากนั้นความรู้สึกว่าตื่นจะค่อยๆตามมาช้าๆ
1
(ใครตื่นเองได้แบบนี้บ่อยๆ เล่าให้ฟังไว้ในคอมเมนต์หน่อยนะครับ)
แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ทุกเช้าเรายังสะดุ้งตื่น เมื่อนาฬิกาปลุกดังขึ้น
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน
มีไฟนีออน มีทีวี มี tablet มีมือถือและเราก็ปล่อยให้ตารับได้รับแสงสีฟ้าที่รบกวนการนอนของเรา
1
เรานอนดึก ตื่นเช้า
เราอดนอนกันต่อเนื่องมานานเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ จนร่างกายสะสมหนี้การนอนไว้ค่อนข้างมาก
ดังนั้น แม้ว่าเราจะตั้งใจตื่นตามเวลาที่คิดไว้
แต่ด้วยความที่สมองรู้สึกว่ายังนอนไม่พอ
สมองจึงประท้วงและไม่ค่อยยอมตื่นตามเวลาอย่างที่เราอยากจะให้เป็น
2
ดังนั้นถ้าใครอยากจะลองดูว่า
ความสามารถนี้ของสมองยังทำงานดีหรือไม่
ก็ลองนอนพักผ่อนให้พอสักระยะ แล้วทดลองดูได้นะครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
สนใจหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ที่หมอเอ้วเขียน
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ลิงก์ข้างล่างเลยนะคะ
โฆษณา