23 ต.ค. 2020 เวลา 06:20 • ประวัติศาสตร์
‘รถเมล์ขาวนายเลิศ’ ตำนานรถโดยสารชั้นเลิศตลอดกาล แห่งพระนคร
โดย : รัฐพล ศรีวิลาศ (นายโปส)
โฉมหน้ารถเมล์ตัวถังไม้ของนายเลิศ ในยุคบุกเบิก ‘ยี่ห้อฟอร์ด’ แบบที่นั่งสองแถว ที่ นายเลิศ ทำการออกแบบดัดแปลงด้วยตัวเอง มีทางขึ้นลงอยู่ตรงท้ายรถ ทาด้วยสีขาวทั้งคัน อันเป็นที่มาของคำเรียกว่า ‘รถเมล์ขาว’
ถึงแม้ว่าระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้จะมีความสะดวกทันสมัยมากขึ้น
(รึเปล่า?!) เพราะมีทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินให้บริการแก่คนเมืองหลวงแล้ว
แต่ขนส่งมวลชนระบบรางเช่นนี้ ก็ยังเพียงพอรองรับต่อผู้โดยสารส่วนน้อยเท่านั้น
เพราะเส้นทางรถไฟฟ้ายังครอบคลุมอยู่ไม่กี่พื้นที่ของกรุงเทพฯ เท่านั้น ฉะนั้น
‘รถเมล์’ จึงยังเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับคนกรุง ต้นทุนต่ำ ที่ไม่มีรถส่วนตัวใช้อยู่วันยังค่ำ
แม้การโดยสารรถเมล์ จะมีข้อดีในแง่ความประหยัด แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็ต้องทนกับความเบียดเสียดยัดเยียด โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน รถเมล์บางสายก็รอแล้ว
รอเล่า นานเหลือแสนกว่าจะเสด็จมาจอดที่ป้ายได้
แต่ก็ไม่มีอะไรแย่เท่ากับความไม่สุภาพ ไร้มารยาท และไม่เคารพกฎจราจรของทั้ง
คนขับ และกระเป๋ารถ ซึ่งทุกวันนี้หาได้ยากมากที่เราจะเจอะเจอโชเฟอร์ และกระเป๋ารถที่มีมารยาทดีจริงๆ
ทำให้ต้องหวนนึกไปถึงเมื่อครั้งอดีตที่กรุงเทพฯ มีรถเมล์สายแรกวิ่งให้บริการที่เรียกว่า ‘รถเมล์ขาวของนายเลิศ’ ว่ากันว่าทั้งคนขับ และกระเป๋านั้นมีมารยาทสุภาพอ่อน
โยนเป็นที่สุดครับ..
นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ นักบุกเบิกขนส่งมวลชนแห่งสยาม ภาพจาก www.nailertgroup.com/th/about/nai-lert-legacy
ตามประวัติ.. รถเมล์ขาวของนายเลิศ นับเป็นรถเมล์สายแรกที่ให้บริการในกรุงเทพฯ
เริ่มทำการเดินรถมาตั้งแต่ปี 2451 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ที่เรียกว่า รถเมล์ขาว
ก็เพราะคนสมัยก่อนจะเรียกสายรถเมล์ตามสีของรถ ซึ่งแต่ละสีก็เป็นของแต่ละบริษัท มีทั้ง ขาว แดง เขียว เหลือง
เส้นทางแรกที่รถเมล์ขาวนายเลิศวิ่งคือ ‘ยศเส – ประตูน้ำ (ปทุมวัน)’ จากนั้นก็มีการ
ขยายเส้นทางเรื่อยมา เช่น สายสีลม – ประตูน้ำ , บางลำพู – ประตูน้ำ น่าสังเกตว่า
เส้นทางวิ่งรถของ รถเมล์นายเลิศ จะต้องผ่านประตูน้ำทุกสายเพราะสมัยนั้น ประตูน้ำ หรือ ปทุมวัน คือศูนย์กลางย่านชุมชน และการคมนาคมมาตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ 5
รวมทั้งมีตลาดขายสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งก็คงเหมือนกับ อนุสาวรีย์ชัยฯ ในสมัยนี้แหละครับ
ภาพกิจการรถม้าในยุคแรก ก่อนถือกำเนิดกิจการรถเมล์ ภาพจาก www.edubrights.com/resource/2019/09/14/
ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 บริเวณดังกล่าวยังไม่มีการติดตั้ง ‘ประตูน้ำ’ แต่อย่าง
ใด การใช้เรือจึงสะดวกสบาย เพราะชาวบ้านสามารถแล่นเรือเข้าไปตามคูคลองต่างๆ ได้ตลอด
แต่พอถึงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการติดตั้งประตูน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในคลอง การใช้เรือ
จึงไม่สะดวกเหมือนเคย เพราะเจ้าของเรือต้องมารอเข้าคิวให้ประตูน้ำเปิดอยู่หลาย
ชั่วโมง
ด้วยเหตุนี้ ‘นายเลิศ’ ซึ่งดำเนินกิจการ เรือเมล์ขาว วิ่งในคลองมาก่อน ทั้งคลองแสนแสบ คลองบางกะปิ และคลองพระโขนง ได้มองเห็นลู่ทางธุรกิจ จึงเปิดกิจการรถเมล์ขึ้น เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้เรือ และต้องมาใช้รถโดยสารต่อ ซึ่งผู้โดย
สารที่มาใช้รถเมล์ หรือเรือเมล์ของนายเลิศก็เพียงซื้อตั๋วครั้งเดียว ก็สามารถนั่งต่อทั้งรถทั้งเรือได้ในวันเดียวกัน (โอ้ ! แคมเปญ โปรโมชั่นแบบนี้ เค้าคิดได้ เค้ามีมาตั้งแต่สมัย ร.5 โน่นแล้ว)
เรือขนส่งผู้โดยสารทำด้วยไม้ของนายเลิศ แล่นให้บริการอยู่ในคลองแสนแสบ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘เรือเมล์ขาว’ ภาพจาก www.facebook.com/nailertparkheritagehome/photos
นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ เจ้าของฉายา เลิศ สมันเตา นับเป็น
บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในกิจการรถโดยสาร และเรือรับจ้างมาตั้งแต่แรก เริ่มจาก
การเป็นพ่อค้าจักรยานมาก่อน ในยุคที่เมืองไทยยังไม่มีรถยนต์มีแต่รถม้ารถลาก แกก็ใช้ม้ามาวิ่งลากรถ ทำเป็นรถม้ารับจ้างทั่วไป
พอรถยนต์เข้ามาในเมืองไทยแล้ว ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 แกจึงสั่งรถเข้ามาดัดแปลง
วิ่งเป็นรถรับจ้าง ก่อนจะพัฒนามาเป็นรถเมล์ประจำทาง ต่อมา
ยี่ห้อรถที่ นายเลิศ สั่งเข้ามาก็คือ ‘ยี่ห้อฟอร์ด’ โดยทำการออกแบบดัดแปลงรถเมล์
ด้วยตัวเอง ต่อเป็นตัวถังไม้ พื้นไม้ ทางขึ้นลงอยู่ตรงท้ายรถ ทำสีขาวทั้งคัน คนทั่วไปจึงเรียกติดปากว่า ‘รถเมล์ขาว’ ส่วนสัญลักษณ์ของรถเป็น ตราขนมกง คือเป็นวงกลมมีกากบาทอยู่ข้างใน
รถเมล์สาย 8 ยุคต้นกำเนิด ที่เคยเป็นสัมปทานของนายเลิศ ให้บริการครั้งแรก มาตั้งแต่พ.ศ. 2475 วิ่งผ่านย่านใจกลางเมือง คือ ลานพระบรมรูปทรงม้า เยาวราช ไปยังสะพานพุทธ ที่ถูกกล่าวขานถึงการให้บริการที่เป็นเลิศ
ในสมัยแรกนั้นรถเมล์ขาวนายเลิศ จะมีขนาดค่อนข้างเล็กและโปร่ง จุผู้โดยสารได้
15 – 20 คน ที่นั่งเป็นแถวยาว 2 แถว คงเหมือนกับรถสองแถวสมัยปัจจุบัน แต่ต่อมาก็มีการปรับปรุงรถเมล์ให้มีขนาดใหญ่ แข็งแรง มีความปลอดภัยต่อผู้โดยสารมากขึ้น ในยุคที่กิจการเฟื่องฟูสุดๆ บริษัทนายเลิศมีรถเมล์ให้บริการมากถึง 800 คันเลยที
เดียว
สาเหตุที่มีคนให้ความนิยมมาก ทั้งๆ ที่เวลานั้นก็มีรถเมล์หลายบริษัทให้บริการเช่น
กัน คงเป็นเพราะ นายเลิศ ให้ความสำคัญต่อการเอาใจใส่พนักงาน ทั้งคนขับและ
กระเป๋า มีการฝึกอบรมให้มีมารยาทต่อผู้โดยสารนั่นเอง จึงทำให้รถเมล์ขาวนายเลิศครองใจมหาชนได้อย่างมาก
ส่วนการวิ่งให้บริการนั้นก็ยังก้าวล้ำกว่าใคร เพราะในสมัยนั้นรถเมล์ทุกสายจะวิ่ง
ตั้งแต่เวลา ตี 5 ถึง 3 ทุ่มเท่านั้น แต่ต่อมารถเมล์ขาวนายเลิศสาย 2 คือ
บางนา – ปากคลองตลาด ก็นับเป็นสายแรกที่วิ่งบริการตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ตามประวัติ รถเมล์ขาวนายเลิศ ก็แทบไม่เคยมีสถิติเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้โดยสารเลย
โฉมหน้า รถเมล์สาย 2 บางนา - ปากคลองตลาด ของนายเลิศ ที่ให้บริการดีเลิศเป็นประวัติการณ์ ภาพจาก www.facebook.com/WhiteBusCatering.NaiLert/photos
นอกจากจะประสบความสำเร็จในกิจการเดินรถอย่างงดงามแล้ว นายเลิศ ยังเป็น
บุคคลที่มีจิตใจงดงามน่าเอาเยี่ยงอย่าง โรงพยาบาลเลิศสิน ที่เรารู้จักในปัจจุบันนี้
นายเลิศ ก็เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาเอง
นอกจากนี้ในปี 2460 สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ นายเลิศ ยังนำ
เรือเมล์ขาวออกวิ่งช่วยเหลือชาวนาแถวคลองแสนแสบให้ขนข้าวของ วัวควายหนีน้ำโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด คุณความดีนี้เองทำให้ ในหลวงรัชกาลที่ 6
ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ นายเลิศ ให้เป็น เสวกตรี พระยาภักดีนรเศรษฐ
เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป
มาดเท่ๆ ของหนุ่มกระเป๋ารถเมล์นายเลิศ ในยุคนั้น ภาพจาก www.facebook.com/nailertparkheritagehome/posts
ทุกวันนี้ รถเมล์ขาวนายเลิศ ได้กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไปแล้ว
เพราะรถเมล์สายต่างๆ ในอดีตได้ถูกพัฒนากลายมาเป็น ขสมก. ดังเช่นทุกวันนี้
แต่สำหรับเราๆ ที่ช่างได้รับความประทับใจอย่างเหลือล้นกับการใช้บริการ รถประจำทาง ขสมก. อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน รู้สึกอยากจะขี่ ไทม์แมชชีน หรือเดินทะลุกระจกใน
ละคร ‘ทวิภพ’ ไปนั่ง รถเมล์ขาวนายเลิศ สักครั้งจริงๆ
จะได้เปรียบเทียบกันให้เห็นจะๆ ไปเลยว่า มาตรฐานบริการรถเมล์ ในยุค 100 กว่าปีที่แล้วกับปัจจุบันมันจะต่างกันราวเหวกับฟ้าขนาดไหน อยากรู้จริงๆ พับผ่า !!
รถเมล์ขาวนายเลิศจำลอง ในยุคบุกเบิกสไตล์รถสองแถว สาย 101 บนเส้นทางพระโขนง กษัตริย์ศึก ที่พิพิธภัณฑ์กลางสวน บ้านปาร์คนายเลิศ ภาพจาก www.travel.mthai.com/travel_tips/143616.html
เอกสารอ้างอิงประกอบการเขียน :
ย้อนรอยกรุงเทพฯ. เทพชู ทับทอง. สำนักพิมพ์สุวีริยาสาส์น. กรุงเทพฯ , 2546
สิ่งแรกในเมืองไทย. สุวิทย์ วงศ์วิริยะ. สำนักพิมพ์เอกลักษณ์. กรุงเทพฯ , 2533
1
โฆษณา