23 ต.ค. 2020 เวลา 14:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อาการเมาอวกาศ หรือ Space Adaptation Syndrome
รูปภาพประกอบบทความ ที่มา - Spaceth.co
วันที่ 6 สิงหาคมปี 1961 จรวด Vostok-K ของภารกิจ Vostok 2 ของสหภาพโซเวียตได้ส่งคุณ Gherman Titov จาก Baikonur Cosmodome ไปโคจรรอบโลกเป็นคนที่ 2 ของโลกต่อจากคุณ Yuri Gagarin ก่อนที่จะกลับลงมาในวันที่ 7 สิงหาคม เขาได้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนแรกที่อยู่บนชั้นวงโคจรของโลกเกินกว่า 1 วัน และในฐานะที่เป็นมนุษย์คนแรกที่อาเจียนบนอวกาศอีกด้วย และสิ่งที่คุณ Titov ได้ประสบพบเจอก็คืออาการ “เมาอวกาศ” นั่นเอง
คุณ Gherman Titov นักบินของภารกิจ Vostok 2 – ที่มา Roscosmos
อาจมีคนจำนวนไม่มากมายที่ประสบกับอาการเมายานพาหนะบนโลกอย่างรถ เรือหรือเครื่องบิน แต่นักบินอวกาศที่ขึ้นไปบนอวกาศถึงกว่าร้อยละ 60 ที่จะมีโอกาสได้พบกับอาการ “เมาอวกาศ” ในช่วงวันแรก ๆ ของเที่ยวบินและในบางช่วงของภารกิจที่ร่างกายอาจจะปรับสภาพไม่ทัน แต่ทั้งนี้ก็ขอพนันได้เลยว่ามันรุนแรงกว่าและรักษาได้ยากกว่าอย่างมาก
อาการ “เมาอวกาศ” หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า Space Adaptation Syndrome (SAS) เกิดขึ้นมาจากค่า g ที่เปลี่ยนไปส่งผลกับระบบการทรงตัวของมนุษย์ซึ่งอยู่ในหูชั้นใน ที่ไม่สามารถระบุทิศบนล่างได้เหมือนกับบนโลกที่มีแรงโน้มถ่วงคอยดึงไว้ จนเกิดภาวะ Disorientation ของร่างกาย ผลกระทบต่อร่างกายอาจะแตกต่างกันออกไปตั้งแต่คลื่นไส้ เวียนหัวไปจนถึงอาเจียน และก็ยังต่างจากการอาการเมาเรือที่เรามองไปที่ไกล ๆ แล้วอาจจะหาย อาการเมาอวกาศต้องใช้วิธีรอจนกว่าร่างกายจะปรับตัวได้เองหรือการกินยาที่ลดการเกิดภาวะ Disorientation
การที่ SAS เกิดขึ้นกับนักบินอวกาศกว่าร้อยละ 60 หมายความว่านักบินอวกาศที่ผ่านการคัดเลือก ตรวจสอบสภาพร่างกายและผ่านการเทรนนิิ่งมาอย่างยาวนานยังมีโอกาสเจอกับอาการนี้ได้กว่า 3 ใน 5 แล้วหากในอนาคตเราสามารถซื้อตั๋วไปดวงจันทร์เหมือนกับเราไปต่างประเทศได้ อัตราการเกิดอาการดังกล่าวคงเกิน 60% แน่นอน และมันคงไม่ดีแน่ ๆ หากบนจรวดไปดวงจันทร์มีผู้โดยสาร 20 คนแล้ว 14-15 คนเกิดอาเจียนขึ้นมา จึงทำให้การกินยาอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ถูกนำมาใช้แต่เชื่อได้ว่าจะมีการคิดค้นวิธีที่ยั่งยื่นกว่านี้ออกมาแน่นอน
ภาพจำลอง Starship บนดวงจันทร์ – ที่มา SpaceX
ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการสร้างแรงโน้มถ่วงเทียมขึ้นมาจริง ๆ บน spacecraft ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในอวกาศได้เลย ซึ่งเรื่องนี้เราอาจะได้นำมากล่าวในเชิงลึกกันในภายหลัง (ถ้าแบบสั้น ๆ คือมันเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎีแต่ถ้าจะทำให้เป็นจริงในเชิงปฏิบัติด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันมันจะต้องใช้ทรัพยากรและเงินทุนมหาศาล
อ้างอิง
Space Motion Sickness (Space Adaptation) - https://humanresearchroadmap.nasa.gov
Nauseating News About Spacesickness - https://www.space.com/
โฆษณา