28 ต.ค. 2020 เวลา 11:00 • ความคิดเห็น
สุขภาพการเงินที่ดี ต้องมีอะไรบ้าง
“การตรวจสุขภาพการเงิน” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปีเลย
เราจึงอยากชวนทุกคนมาตรวจสุขภาพทางการเงินกัน เพื่อจะได้รู้สถานะการเงินในปัจจุบันของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ส่วนไหนแข็งแรงดีแล้ว ส่วนไหนยังต้องคอยปรับปรุงดูแล
🔸 เงินออมเผื่อฉุกเฉิน
เป็นการวัดสภาพคล่องทางการเงินของเรา หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ตกงานกะทันหัน หรือ ไม่มีรายได้ เราจะมีเงินเพียงพอสำหรับรายจ่ายที่จำเป็นไปได้อีกนานแค่ไหน โดยส่วนใหญ่แล้ว เราควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของรายจ่ายที่จำเป็นต่อเดือน
สูตรคำนวณ: เงินสำรองฉุกเฉิน ÷ (ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน + รายจ่ายที่จำเป็นต่อเดือน)
🔸 สัดส่วนเงินออมต่อเดือน
เป็นการบอกว่าเรามีความสามารถในการออมต่อเดือนหรือต่อปีเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเรามีสัดส่วนที่มาก ก็แสดงว่าเรามีโอกาสจะบรรลุเป้าหมายการเงินในอนาคตได้เร็วขึ้น ซึ่งเราควรจะออมต่อเดือนอย่างน้อย 10% ของรายได้ จนถึง 25% ของรายได้ต่อเดือน แต่หากสามารถออมได้เกิน 25% จะถือว่าเก่งมากๆ
สูตรคำนวณ: (เงินออมต่อเดือน ÷ รายได้ต่อเดือน) x 100
🔸 ภาระหนี้สินต่อเดือน
เป็นการบอกว่าเราสามารถมีภาระหนี้สินที่ต้องผ่อนต่อเดือนได้เท่าใด เพื่อจะไม่ส่งผลกระทบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตามทฤษฎีบอกว่าเราไม่ควรมีสัดส่วนหนี้สินเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน หรือคิดเป็นประมาณ 33% เพื่อให้เรายังมีเงินไว้เก็บออมและนำไปใช้จ่ายในแต่ละเดือนเพียงพอ
สูตรคำนวณ: (ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน ÷ รายได้ต่อเดือน) x 100
🔸 หนี้สินต่อสินทรัพย์
เป็นการบอกว่าเรามีหนี้สินในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งเราไม่ควรมีเกิน 50% หรือครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์รวมทั้งหมด ถ้าเรามีหนี้มากเกินไป ก็ควรจะลดหนี้ที่มีลง และยิ่งอายุมากขึ้นก็ควรที่จะมีค่าน้อยลง
สูตรคำนวณ: (หนี้สินรวม ÷ สินทรัพย์รวม) x 100
แต่ละหัวข้อที่เรานำมาเล่าให้ฟังนั้น เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นที่คนนิยมนำมาใช้ตรวจสุขภาพการเงิน ซึ่งสูตรคำนวณเหล่านี้ง่ายและไม่ซับซ้อนเลย เพื่อนๆ ลองนำไปตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองกันนะคะ
สุดท้ายนี้ เราควรจะตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองทุกๆ 6 เดือน หรือ ปีละครั้ง อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเงินของเราอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม และหากพบเจอกับปัญหาสถานะทางการเงิน ณ เวลานั้น ก็จะสามารถหาทางแก้ไขได้ทันก่อนที่จะสายเกินไป
ฝากติดตามเพจ Cashury ด้วยนะคะ เป็นเพจที่ให้ความรู้พื้นฐานด้านการเงินการลงทุนค่ะ
ติดตาม Cashury ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ที่
#Cashury #Investment #FinancialAdvisor #Finance #ลงทุน #การเงิน #กองทุน #หุ้น #มือใหม่เริ่มต้นลงทุน #พื้นฐานการลงทุน #ออมเงิน #สุขภาพทางการเงิน
โฆษณา