26 ต.ค. 2020 เวลา 05:03 • ปรัชญา
Ep.01: ลัทธิเทวสิทธิ์ (Divine Rights)
Policraticus (Statesman's Book) (รูปจากกูเกิ้ล)
ลัทธิเทวสิทธิ์ คือ ลัทธิที่อ้างว่ากษัตริย์มีความชอบธรรมที่จะปกครองเพราะได้อำนาจมาจากพระเจ้า ลัทธินี้เป็นที่ยกขึ้นอ้างเพื่อชี้ว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองศักดินาที่ดำรงอยู่ในยุโรปสมัยกลางเป็นระบบที่ชอบธรรมแล้ว ทั้งๆที่แท้จริงแล้วระบบศักดินาเป็นระบบที่มีการขูดรีดระหว่างชนชั้น
ระบบศักดินาเป็นระบบที่เจ้าขุนมูลนายผูกขาดเป็นเจ้าของที่ดินและมอบให้ไพร่เช่าไปทำกิน แต่เป็นการเช่าชนิดพิเศษ คือ ผู้เช่าและผู้สืบสายโลหิตต้องติดอยู่กับที่ดินนั้น ที่ดินที่เจ้านายมอบให้ไพร่เข้าไปทำกินเรียกว่า "Fief" ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "Feudalism (ระบบเจ้าขุนมูลนาย)" เจ้าของที่ดินต้องให้ความคุ้มครองแก่ไพร่ ส่วนไพร่มีพันธะต้องส่งส่วยผลผลิตส่วนหนึ่งให้เจ้าของที่ดิน ถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานให้เจ้าของที่ดินโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม ไพร่ขึ้นกับเจ้าขุนมูลนาย เจ้าขุนมูลนายขึ้นกับกษัตริย์อีกต่อหนึ่ง อำนาจในการปกครองและกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตถูกผูกขาดอยู่เฉพาะในมือของกษัตริย์และเจ้านาย ส่วนไพร่หรือประชาชนธรรมดาไม่มีกรรมสิทธิ์และไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆ ต้องทำงานหนักและส่งส่วยผลงานของตนแก่เจ้านายและกษัตริย์
ศาสนาคริสต์สนับสนุนระบบศักดินา ศาสนาคริสต์เป็นความคิดแบบจิตนิยม (Idealism) เชื่อว่ามีจิตสมบูรณ์คือพระเจ้า พระเจ้าบันดาลให้ระบบเศรษฐกิจการเมืองเป็นไปตามประสงค์ของพระองค์ ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ย่อมถูกต้องดีแล้ว ผลของความคิดจิตนิยมต่อระบบสังคมคือทำให้มนุษย์ไม่คิดเปลี่ยนแปลงระบบสังคมให้ดีขึ้นด้วยตัวของมนุษย์เอง เพราะไม่เชื่อว่าจะทำได้
ศาสนาคริสต์สอนให้เชื่อพระเจ้า ไม่เชื่อมนุษย์ ทำให้เกิดการยอมนับระบบที่เป็นอยู่ไม่คิดแก้ไข ไม่คิดว่าตามความเป็นจริงแล้วมนุษย์ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างไร และจะแก้ไขด้วยตัวเองอย่างไร กลับคิดว่าเป็นเพราะบาป มนุษย์จึงถูกพระเจ้าลงโทษ และการแก้ไขในโลกนี้ทำไม่ได้ ให้หวังสุขสมบูรณ์ในโลกหน้า คือ ขึ้นสวรรค์ไปอยู่กับพระเจ้าหลังจากตายแล้ว ฉะนั้นคริสต์ศาสนิกชนในยุคกลางจึงมุ่งสวรรค์ในโลกหน้าซึ่งถือว่าเป็นความสุขนิรันดร์ มากกว่าการเอาชนะเปลี่ยนธรรมชาติ และระบบเศรษฐกิจการเมืองในโลกนี้ ระบบศักดินาจึงได้รับการยอมรับและคงอยู่ได้นับเป็นเวลาพันปี
ศาสนาคริสต์ต่างกับแนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) อย่างตรงกันข้าม หลักการสำคัญที่สุดของศาสนาคริสต์คือ การเชื่อและยอมรับว่าพระเยซูเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นผู้ไถ่บาป หมายความว่า มนุษย์ต้องเชื่อว่ามีพระเจ้า และพระเจ้าโปรดให้พระเยซูลงมาไถ่บาปมนุษย์ มนุษย์เป็นคนบาป ไม่มีทางล้างบาปได้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะประกอบกรรมดีอย่างไร การล้างบาปทำได้วิธีเดียว คือ ให้ผู้ที่บริสุทธิ์ที่สุด (คือพระเยซูบุตรพระเจ้า) มารับบาปนั้นแทนเสีย ซึ่งพระเยซูก็ได้มารับบาปแทนจริงๆ คือ ยอมลงมาเกิดเป็นมนุษย์และถูกทรมานจนตาย หน้าที่ของมนุษย์มีอย่างเดียวคือรับว่าพระเยซูนี่แหละคือบุตรพระเจ้าผู้มาไถ่บาป เมื่อมนุษย์ยอมรับดังนี้ก็ถือว่าหมดบาป และจะเกิดความสัมพันธ์กับพระเจ้าใหม่ (มนุษย์เคยเสียความสัมพันธ์นี้ไปเมื่ออดัมกับอีฟทำผิดกินแอปเปิ้ลในสวน) มนุษย์ก็จะขึ้นสวรรค์หลังจากตายไปแล้ว แต่ถ้ามนุษย์ไม่ยอมรับว่าพระเยซูคือบุตรพระเจ้า ไม่ยอมรับว่าพระเยซูคือผู้บริสุทธิ์ที่สุดผู้มาไถ่บาป การไถ่บาปก็ไม่เป็นผลสำหรับผู้ที่ไม่ยอมรับ ในเมื่อผู้บริสุทธิ์ที่สุดมาทำดีที่สุด (ไถ่บาป) ให้กับผู้ที่เลว แล้วผู้ที่เลวนั้นยังไม่สำนึก ไม่ยอมรับในกรรมดีของผู้บริสุทธิ์ที่มาทำให้ ตัวคนเลวนั้นก็ไม่มีทางพ้นโทษ แนวคิดลักษณะนี้สอนว่า มนุษย์ต้องละความหยิ่งของตัว รับว่าตัวเองเป็นคนบาป พระเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์ มนุษย์จะรอดพ้นด้วยการพึ่งพระเจ้า รับและเคารพบุตรพระเจ้าผู้อุตส่าห์ลงมาไถ่บาป มนุษย์จะไม่รอดถ้าหยิ่งคิดพึ่งตัวเอง การไม่ยอมรับพระเยซู ไม่ยอมรับพระเจ้าเป็นบาปใหญ่หลวงที่สุด
แนวคิดของศาสนาคริสต์ต่างกับแนวคิดมนุษยนิยมมาก เพราะมนุษนิยมสอนให้มนุษย์เชื่อในตัวมนุษย์เอง เชื่อในความสามารถของมนุษย์ สิ่งทั้งหลายเป็นมาอย่างไรและจะเป็นไปอย่างไร มนุษย์เป็นผู้กำหนด ไม่ใช่พระเจ้า แนวคิดของศาสนาคริสต์จึงโน้มนำให้มนุษย์ไม่ต่อสู้ ยอมรับพึ่งคัมภีร์ศาสนาและองค์การศาสนา แทนการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจการเมืองและสภาพธรรมชาติ
ในพระคัมภีร์ใหม่ (The New Testament) มีข้อความระบุชัดว่าผู้ปกครอง คือ ตัวแทนของพระเจ้า รัฐบาลเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ (Divine) ได้อำนาจและการรับรองจากพระเจ้า การปฏิเสธหรือต่อต้านรัฐและรัฐบาลเท่ากับการปฏิเสธพระเจ้า ตามหลักในคัมภีร์รัฐบาลมีความชอบธรรมทางศาสนาที่จะปกครองและเก็บภาษีจากพลเมือง นี่คือ "ทฤษฎีเทวสิทธิ์" อำนาจของผู้ปกครองมีความชอบธรรม เพราะผู้ปกครองได้รับอำนาจมาจากพระเจ้า ทฤษฎีเทวสิทธิ์นี้กษัตริย์ทั้งหลายยกเป็นข้ออ้างสนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองของตัวเอง
การถือว่ารัฐและรัฐบาลเป็นสถาบันของพระเจ้า เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์นี้ ทางฝ่ายศาสนจักรสันตะปาปาอ้างด้วยว่า เป็นเช่นนั้นได้เพราะรัฐได้รับอำนาจมาจากพระเจ้าผ่านทางสันตะปาปา รัฐที่ไม่ใช่รัฐคริสเตียนย่อมไม่ใช่สถาบันศักดิ์สิทธิ์ รัฐนอกศาสนาเป็นรัฐของมนุษย์คนบาป ดังนั้นการที่ผู้ปกครองจะอ้างอำนาจที่พระเจ้าให้ได้ต้องหมายความว่าผู้ปกครองนั้นยอมรับศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะยอมรับสันตะปาปา สันตะปาปาได้รับมอบอำนาจทั้งทางศาสนาและทางการปกครองจากพระเจ้า แต่สันตะปาปาไม่ต้องการใช้อำนาจทางการปกครอง จึงมอบต่อให้กษัตริย์
ตามแนวคิดนี้การอ้างทฤษฎีเทวสิทธิ์สนับสนุนความชอบธรรมของอำนาจปกครองกระทำได้ก็ต่อเมื่อทางฝ่ายศาสนาให้คำรับรองด้วย แนวคิดนี้ส่งเสริมให้พระมีอำนาจมากทีเดียว สันตะปาปาเกรกอรี ที่ 7 (Gregory VII, 1023-1085) เป็นผู้เสนอความคิดในแนวนี้
แนวคิดนี้มีผู้เห็นแย้งอยู่บ้าง แต่มีจำนวนเป็นส่วนน้อย
เมื่อปลายศตวรรษที่ 5 สันตะปาปาเจลาสิอุสที่ 1 (Gelasius I) เคยเสนอว่าทั้งสันตะปาปาและกษัตริย์ต่างได้รับมอบอำนาจมาจากพระเจ้าโดยตรงทั้งคู่ กษัตริย์ไม่ได้รับอำนาจผ่านสันตะปาปา ฉะนั้นทั้งสันตะปาปาและกษัตริย์ต่างเป็นอิสระจากกัน ต่างมีอำนาจกันคนละทาง สันตะปาปามีอำนาจทางศาสนานา กษัตริย์มีอำนาจทางการปกครอง เรียกแนวคิดนี้ว่าทฤษฎี "ดาบสองเล่ม (The two Swords)" หมายถึงการที่พระเจ้าให้ดาบสันตะปาปาเล่มหนึ่งแล้วให้กษัตริย์อีกเล่มหนึ่งแยกจากกัน ต่างจากทฤษฎีของสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 ที่พระเจ้าให้ดาบทั้งสองเล่มแก่สันตะปาปาก่อน แล้วสันตะปาปาเอามามอบให้กษัตริย์หนึ่งเล่ม
Policraticus (Statesman's Book) (รูปจากกูเกิ้ล)
ไม่ว่าจะถือตามทฤษฎีของเกรกอรี หรือ เจลาสิอุส ก็ตาม หลักการพื้นฐานของทฤษฎีเทวสิทธิ์ก็คือ กษัตริย์ได้รับมอบอำนาจการปกครองมาจากพระเจ้า จึงมีความชอบธรรมที่จะปกครอง รัฐอันเป็นสถาบันการปกครองจึงเป็นสถาบันศาสนาไปด้วยพร้อมกัน อำนาจกลายเป็นความชอบธรรมทันทีที่กษัตริย์ยอมรับศาสนาคริสต์
ทฤษฎีว่าด้วยจักรวาลและโลกของศาสนาคริสต์สนับสนุนทฤษฎีเทวสิทธิ์ ในทรรศนะของศาสนาคริสต์ระบบชุมชนของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกกำเนิดมาได้ก็เพราะพระเจ้า กลุ่มใดๆ บนพื้นโลกย่อมเป็นองค์ประกอบอินทรียะ (Organic Member) ของนครของพระเจ้าซึ่งรวมทั้งโลกพิภพและสวรรค์ กลุ่มเหล่านี้ผูกพันผสานกลมกลืนเข้าด้วยกันด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า (Divinely Instituted Harmony) แต่ละส่วนที่ดำรงอยู่มีฐานะต่างกัน แต่ผสานรวมเป็นอินทรีย์หนึ่งเดียวกัน (One Organism) เคลื่อนไหวตามพลังผลักของจิตอันเดียวกัน (พระเจ้า)
หลักพื้นฐานของจักรวาล คือ ความสามัคคี เอกพจน์มาก่อน พหูพจน์ พหูพจน์เกิดจากเอกพจน์หนึ่งเดียวกัน ฉะนั้นในทุกระบบความหลายหลาก (Plurality) ต้องยอมนอบน้อมต่อความสามัคคี (Unity) ในระบบการเมืองและสังคมประชาชนทั้งหลายต้องเคารพยอมรับผู้ปกครองคนเดียว ผู้ซึ่งจะนำประชาชนทั้งหลายไปสู่จุดหมายปลายทาง
ทฤษฎีที่ว่าสังคมเป็นอินทรีย์เดียวกัน (Organism) นี้นำไปสู่ข้อสรุปสำคัญหลายประการ ส่วนประกอบของอินทรีย์ต้องประสานกันสนิท ผสมกลมกลืน (Harmony) จะขัดแย้งกันเองไม่ได้ แม้การผสมกลมกลืนนี้เกิดจากการกำหนดบังคับโดยพระเจ้า ไม่ได้เกิดจากความปรารถนาโดยสมัครใจของแต่ละส่วนประกอบก็ไม่ใช่ความผิดอะไร ขอให้มีความผสมกลมกลืนเป็นใช้ได้ อินทรีย์ต้องมีพลังผลักดันพลังเดียว ฉะนั้นจึงต้องมีผู้ปกครองคนเดียว สมาชิกของอินทรีย์ต้องยอมเสียสละสิทธิและสวัสดิการส่วนบุคคลเพื่อกลุ่ม สมาชิกของอินทรีย์ไม่เท่าเทียมกันแม้เป็นมนุษย์ด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่า ใครทำหน้าที่สำคัญแค่ไหนในอินทรีย์
ทฤษฎีอินทรีย์โน้มเอียงสนับสนุนการบังคับโดยรัฐให้เกิดความผสมกลมกลืน โน้มเอียงที่จะละเลยสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของมนุษย์แต่ละคน ในสมัยกลางทฤษฎีนี้สนับสนุนระบบศักดินาภายใต้กษัตริย์ ในปัจจุบันทฤษฎีนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างสนับสนุนระบบชาตินิยมฟาสซิสม์
นักคิดฝ่ายศาสนาคริสต์คนสำคัญผู้สนับสนุนทฤษฎีเทวสิทธิ์และทฤษฎีอินทรีย์ คือ เซนต์ โทมัส อไควนัส (St. Thomas Aquinas, 1220-1274) อไควนัสเกิดใกล้เมืองเนเปิลส์ บิดาเป็นขุนนางชั้นสูง อไควนัสบวชเมื่ออายุ 16 ปี ทั้งๆที่ทางครอบครัวคัดค้านมาก เขาศึกษาที่ เนเปิลส์ (อิตาลี), โคโลญจน์ (เยอรมัน) และ ปารีส (ฝรั่งเศส) เขาไม่สนใจตำแหน่งบริหารคณะสงฆ์ เขาปฏิเสธตำแหน่งอาร์ชบิชอป (Archbishop) อไควนัสใช้ชีวิตสอนและเขียนหนังสือ งานสำคัญที่สุดของเขา คือ "Summa Theologica" ซึ่งเริ่มเขียนใน ค.ศ. 1265 ทางคริสต์ศาสนาใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์สำคัญในการศึกษาพระตลอดมาจนทุกวันนี้
ดันเต้ อาลีกีเอรี (รูปจากกูเกิ้ล)
ปรัชญาของอไควนัส คือ การเสนอระบบจักรวาลทั้งระบบ ถือว่าระบบจักรวาลผสมกลมกลืน แม้ส่วนต่างๆ ปรากฏในรูปลักษณะต่างกัน แต่รวมแล้วก็มีความเป็นหนึ่งเดียว เป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น ความรู้ก็เป็นหนึ่งเดียว ความเชื่อกับเหตุผลไม่ขัดกัน ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ต่างประกอบกันเป็นความรู้ ระบบจักรวาลเป็นระบบที่มีลำดับขั้นลดหลั่น (Hierachy) กันลงมา จากพระเจ้าผู้อยู่บนสุด ต่ำลงมาถึงสิ่งมีชีวิตขั้นต่ำสุด ผู้ที่อยู่สูงกว่าปกครองและใช้ประโยชน์จากผู้อยู่ต่ำกว่า แต่ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ค่าเสียทีเดียว ทุกชิ้นส่วนในจักรวาลมีค่าเพราะต่างก็เป็นส่วนประกอบของระบบหนึ่งเดียวกัน
ชีวิตสังคมและการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบจักรวาล เป็นระบบย่อยที่จำลองมาจากระบบใหญ่ ผู้ที่อยู่ต่ำกว่ารับใช้ผู้ที่อยู่สูงกว่า ผู้ที่อยู่สูงกว่านำและควบคุมผู้อยู่ต่ำกว่า สมาชิกของสังคมต่างทำงานในหน้าที่ของตัว แต่ละคนมีหน้าที่ในสังคมต่างกัน แต่รวมเข้าแล้วต่างก็ทำประโยชน์ให้สังคมด้วยกันทั้งนั้น ระบบสังคมต้องมีส่วนที่เป็นหัวหน้าปกครองเช่นเดียวกับที่ร่างกายมีวิญญาณปกครอง
ในด้านเศรษฐกิจ อไควนัส เสนอทฤษฎีราคายุติธรรม (Just Price) เนื่องจากสมาชิกของสังคมมีพันธะต่อกัน ฉะนั้นราคาสินค้าที่กำหนดขึ้นในการแลกเปลี่ยนควรเป็นราคาที่ยุติธรรม
นักคิดที่สนับสนุนทฤษฎีเทวสิทธิ์ และ ทฤษฎีอินทรีย์อีกผู้หนึ่ง คือ จอห์น ออฟ ซัลสบิวรี่ (John of Salisbury, 1120-1180) ชาวอังกฤษ
จอห์นได้รับการศึกษาในฝรั่งเศส โดยเฉพาะที่ปารีส ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางการศึกษาปรัชญาและศาสนาของโลก จอห์นทำงานเป็นเลขานุการอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี เคยเดินทางไปหาสันตะปาปาที่โรมบ่อยครั้ง เขาเป็นเพื่อนกับ สันตะปาปาเอเดรียนที่ 4 (Adrian IV, 1100-1159) และ โทมัส เบ็คเก็ต (Thomas Becket, 1118-1170) อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี
หลังจากที่ เบ็คเก็ต ถูกฆ่าตาย จอห์น รับเป็น บิชอป แห่งเมืองชาทร์ ในฝรั่งเศส (Chartres, France) ตามคำเชิญของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 และจอห์นได้เขียนหนังสือเล่มที่สำคัญที่สุดชื่อ Policraticus (Statesman's Book)
พระสันตะปาปาฟรานซิส คนปัจจุบัน (รูปจากกูเกิ้ล)
จอห์นเห็นด้วยกับทฤษฎีของสันตะปาปาเกรกอรีที่ 7 ที่ว่าอำนาจกษัตริย์มาจากพระเจ้าผ่านทางสันตะปาปา หากกษัตริย์ประพฤติผิดกฎคำสอนของศาสนา สันตะปาปาย่อมถอดกษัตริย์ได้ ศาสนาให้ความชอบธรรมแก่อำนาจการเมือง
ในความคิดของจอห์น สังคมเปรียบเสมือนร่างกาย แต่ละองค์กร กลุ่มและชนชั้นของสังคมเปรียบได้กับแต่ละส่วนของร่างกาย ชาวนาและกรรมกรเปรียบเสมือนเท้า เจ้าหน้าที่การคลังของรัฐเปรียบเหมือนกระเพาะและลำไส้ ทหารเปรียบเหมือนมือ สภาเปรียบเหมือนหัวใจ และกษัตริย์เปรียบเหมือนศีรษะ องค์กรทางศาสนาคือโบสถ์และคณะสงฆ์อยู่ในที่สูงสุด คือ เปรียบได้ว่าเหมือนกับวิญญาณที่อยู่ในร่างกาย วิญญาณเป็นผู้ปกครองสูงสุดของร่างกายฉันใด พระเจ้าและผู้แทนพระเจ้าทางศาสนา (สันตะปาปา) ก็เป็นผู้ปกครองจักรวาลสูงสุดฉันนั้น ผู้ปกครองทางโลก (กษัตริย์) ต้องอยู่ภายใต้พระเจ้าและสันตะปาปา
ดันเต้ อาลีกีเอรี (Alighieri Dante, 1265-1321) รัฐบุรุษและกวีชาวอิตาเลียน เป็นนักคิดอีกผู้หนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีเทวสิทธิ์ และทฤษฎีอินทรีย์
ดันเต้ มีชีวิตที่ระหกระเหิน ถูกเนรเทศออกจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence, Italy) ที่เกิดของเขา ด้วยสาเหตุทางการเมือง เขาใช้ชีวิตอยู่ในตอนเหนือและตอนกลางของอิตาลี ดันเต้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงคือ "Monarchia (1313)" ว่าด้วยปรัชญาการเมือง และ "Divina Comedia (1321)" ว่าด้วยศาสนา
ดันเต้เสนอว่า รัฐบาลในอุดมคติคือรัฐบาลโลก ตั้งขึ้นด้วยการรับรองของพระเจ้า มีกษัตริย์ซึ่งได้รับเทวสิทธิ์ปกครอง รัฐบาลของเขตหรืออาณาจักรหนึ่งๆนั้น มักเป็นรัฐบาลที่มนุษย์ตั้งขึ้นกันเอง มักเป็นรัฐบาลของมนุษย์คนบาป ควรรวมทุกรัฐบาลเข้าด้วยกันตั้งเป็นรัฐบาลโลก ยึดกฎและคำสอนของศาสนา ในเมื่อทางด้านองค์กรศาสนายังจัดเป็นองค์กรเดียวขึ้นกับสันตะปาปา ทางโลกก็ควรจัดเป็นองค์กรเดียวขึ้นกับกษัตริย์ผู้ได้รับเทวสิทธิ์ ดังนี้ก็จะนำสันติภาพมาสู่โลก
สรุปได้ว่าแนวคิดทฤษฎีเทวสิทธิ์รับรองความไม่เท่าเทียมกันใน จักรวาล โลก และสังคมมนุษย์ สังคมมีองค์ประกอบที่มีฐานะลดหลั่นจากสูงลงมาต่ำ จากพระเจ้าลงมาถึงสันตะปาปา กษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง และคนธรรมดา อำนาจการปกครองเป็นของพระเจ้า พระเจ้ามอบให้สันตะปาปา สันตะปาปามอบให้กษัตริย์ (บางคนว่ามอบให้กษัตริย์โดยตรง) แม้ว่าสังคมมีความไม่เท่าเทียมกันดังที่กล่าวมานี้ ก็ถือกันว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว เป็นความปรารถนาของพระเจ้าที่ให้เป็นเช่นนั้น นอกจากนั้นแม้สมาชิกของสังคมมีความไม่เท่าเทียมกันมาก ก็จะต้องจัดให้สังคมผสานกลมกลืนสามัคคีเป็นอินทรีย์เดียวกัน ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ไม่ให้ขัดแย้งกัน ใครอยู่ในฐานะใดก็ทำตามไปตามฐานะของตน โลกนี้เป็นเพียงทางผ่านให้ยอมรับเสีย ให้เชื่อพระเจ้า พระเยซูบุตรพระเจ้า และรับการไถ่บาปของพระเยซู จะได้มีความสุขนิรันดร์ในสวรรค์โลกหน้า
ทฤษฎีเช่นนี้ค้ำจุนสนับสนุนระบบศักดินา และอธิบายว่าระบบศักดินาชอบธรรมแล้ว
พระสันตะปาปาฟรานซิส คนปัจจุบัน (รูปจากกูเกิ้ล)
ตามสารบัญ ตอนหน้าพบกับ "ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิ์" ที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดีนะครับ
Cr.:
หนังสือลัทธิเศรษฐกิจการเมือง
คุณฉัตรทิพย์ นาถสุภา
อาจารย์จรัสเรือง ศิริวัฒนรักษ์
#PassiveDeathWish
#รบชนฮซหคชห

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา