28 ต.ค. 2020 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ จุดเปลี่ยนลงทุนไทย
2
โค้งสุดท้ายของศึกการเลือกตั้ง “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 “ชาวอเมริกัน” ต้องเข้าคูหาตัดสินใจเลือก “คู่ชิงคนสำคัญ” ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัวแทนพรรครีพับลิกัน และ “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต ท่ามกลางทั่วโลกต่างจับตาอย่างใกล้ชิด
เพราะการเมืองและการเลือกตั้งของสหรัฐฯ มักมีอิทธิบทบาทสําคัญต่อการกําหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ และการค้าของประเทศคู่ค้าต่างๆ ด้วยระบบเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายการบริหารประเทศเพียงเล็กน้อย ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังประเทศคู่ค้าทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่การค้าการลงทุนของประเทศไทยในอนาคตด้วย
สำหรับระบบ “การเมืองสหรัฐฯ” ถูกแบ่งออกเป็นสองพรรคหลัก ก็คือ “พรรครีพับลิกัน” ถือเป็นพรรคอนุรักษนิยม หรือเอียงขวา มีนโยบายสนับสนุนตลาดการค้าระบบทุนนิยม เชื่อมั่นระบบการเก็บภาษีแบบเท่าเทียมกัน และสนับสนุนงบประมาณสําหรับกองทัพ มีฐานเสียงผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ในรัฐทางตอนกลางของประเทศ
อดีตผู้นำสหรัฐฯ ที่มาจากพรรคนี้มีจอร์จ ดับเบิลยู บุช โรนัลด์ เรแกน และริชาร์ด นิกสัน
ส่วน “พรรคเดโมแครต”...เป็นพรรคการเมืองนิยมก้าวหน้า หรือ เอียงซ้าย มีนโยบายสนับสนุนกิจอย่างเสรี และเปิดกว้าง เชื่อมั่นระบบการเก็บภาษีตามระดับรายได้แบบขั้นบันได และไม่สนับสนุนงบประมาณสําหรับกองทัพ โดยมีฐานเสียงผู้สนับสนุนส่วนใหญ่อยู่ในรัฐทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ
อดีตผู้นำสหรัฐฯ ที่มาจากพรรคนี้มี จอห์น เอฟ. เคนเนดี บิล คลินตัน และบารัค โอบามา
ตามกระบวนการเลือกตั้ง...ประชาชนอายุ 18 ปี มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครชิงประธานาธิบดีเสียงเดียว แต่จริงๆคือ การเลือกให้บุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี” เข้าไปทำหน้าที่เลือกประธานาธิบดี ที่มีสัดส่วนกับประชากรของรัฐเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่ากับจำนวนตัวแทนของรัฐในสภาคองเกรส
ผู้เลือกตั้งทั้งหมดมี 538 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ 1 เสียงต่อหนึ่งคน หลังการเลือกตั้งทั่วไป และผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่ต้องสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2564
ใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46...“โดนัลด์ ทรัมป์” จะรักษาตำแหน่งสมัยที่สองได้ หรือ “โจ ไบเดน” จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่นี้
ดร.กัลยา เจริญยิ่ง อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ตามสำนักโพล “โจ ไบเดน” มีคะแนนเหนือกว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” มาตลอด
แต่เรื่องนี้ไม่สามารถไว้ใจสำนักโพลได้ เพราะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ผลโพลออกมาให้ “ฮิลลารี คลินตัน” เป็นผู้มีคะแนนความนิยมเหนือกว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” เกือบ 3 ล้านคะแนน แต่สุดท้ายปรับเปลี่ยนไป “ฮิลลารี คลินตัน” กลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างน่าเสียใจ และเสียดาย
ทั้งยังมีปัจจัยในเรื่องผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย เพราะวิธีการทำโพลการเลือกตั้งสหรัฐฯ มักนำข้อมูลตัวเลขอดีตมาเป็นตัวตั้งคำนวณ แต่ในปี 2016 ชาวอเมริกันมีการออกไปใช้สิทธิค่อนข้างน้อย ทำให้การทำโพลเลือกตั้ง 2020 นี้ “ตัวเลข” อาจคลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามที่สำรวจกันมาก็ได้
สังเกตจากคราวนี้ “สหรัฐอเมริกา” เปิดให้เลือกตั้งล่วงหน้าในการลงคะแนนทางไปรษณีย์กันแล้ว ปรากฏว่า จำนวนผู้ใช้สิทธิมากกว่าครั้งก่อนหลายเท่า สะท้อนให้เห็นว่า “ชาวอเมริกัน” เบื่อหน่ายระบบเดิมๆ ต้องการเปลี่ยน “ผู้นำใหม่” ทำให้ “ทรัมป์” พยายามสร้างความสับสน และความไม่ไว้วางใจการใช้สิทธิเลือกตั้งทางไปรษณีย์
5
คำกล่าวของ “ทรัมป์” กลับสวนทางกับ “นักวิจัย” ที่เคยศึกษาระบบลงคะแนนเลือกตั้งนี้ที่มีโอกาสทุจริตได้น้อยมาก ทั้งยังสามารถตรวจสอบได้ด้วยซ้ำ แต่สาเหตุ “การโจมตีระบบ” มีจุดประสงค์ต้องการให้ “ชาวอเมริกัน” เดินทางออกมาเลือกให้ลำบากมากขึ้น เพราะยิ่งออกมามากเพียงใด “ทรัมป์” ก็มีโอกาสพ่ายแพ้เท่านั้น
ต้องยอมรับว่า “บุคลิกส่วนตัวของโดนัลด์ ทรัมป์” มักถูกกล่าวหาว่า ไม่ชอบเล่นตามเกม และไม่ยอมรับอะไรง่ายๆ แม้ถ้า “พ่ายแพ้” ก็จะไม่ยอมออกไปโดยง่ายเช่นกัน จึงต้องทำทุกวิถีทางให้ตัวเองก้าวสู่ชัยชนะ ทำให้ต่างมองกันไกลถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้อาจจะต้องไปจบลงที่ศาลสูงของอเมริกาด้วยซ้ำ
1
สาเหตุให้ “ทรัมป์” เร่งเสนอชื่อผู้สืบทอดตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่แทนผู้เสียชีวิตไปก่อนนี้ และสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ทำให้ศาลสูงมีผู้พิพากษาแนวคิดอนุรักษนิยมมากกว่าเสรีนิยมอย่างชัดเจน
ถ้าให้วิเคราะห์บุคลิกส่วนตัว...“ทรัมป์” เป็นคนเหยียดสีผิว และมักสนับสนุนกลุ่มคนผิวขาวมาก ในส่วน “พรรคเดโมแครต” เลือกคู่ชิงเป็น “ไบเดน” เพราะบุคลิกไม่ซ้ายสุดโต่ง เพื่อไม่ให้ตรงข้าม “ทรัมป์” เกินไป ในการตอบสนองกลุ่มการเมืองนิยมก้าวหน้า และคนมีความคิดกึ่งกลาง เพื่อป้องกันคะแนนเทให้พรรครีพับลิกัน
ในส่วน...“นโยบาย 2 พรรค” มีความแตกต่างตรงข้ามกันทั้งหมด เช่น “ทรัมป์” ผลักดันปรับลดโครงสร้างภาษีเอื้อประโยชน์ให้ภาคธุรกิจในการจ่ายภาษีที่น้อยลง เพื่อนำเงินมาสนับสนุนอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่นในประเทศ อีกทั้งยังจะยกเลิก “นโยบายโอบามาแคร์” ไม่บังคับให้ “คนอเมริกัน” ต้องซื้อประกันสุขภาพ
อีกทั้งการระบาดโควิด-19 ที่มีคนตกงานจำนวนมาก ทำให้ “ทรัมป์” ถูกโจมตีถึงความล้มเหลวในการรับมืออย่างสิ้นเชิง แต่ประกาศว่า “คนอเมริกัน” จะมีวัคซีนป้องกันแจกจ่ายให้ได้ก่อนเลือกตั้งด้วยซ้ำ ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงเรียกคะแนนเสียงเท่านั้น เพราะ “วัคซีน” ต้องผ่านการทดลองให้มั่นใจใช้ได้ราวในปี 2564
ด้าน “ไบเดน” จะยกเลิกโครงสร้างภาษีเอื้อประโยชน์ และเพิ่มการเก็บภาษีคนรวย เน้นสร้างงานมากกว่าการสร้างความมั่งคั่ง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ มีเงินออมใช้ในช่วงเกษียณอายุ ส่วนนโยบายโอบามาแคร์ยังมีความจำเป็นต้องมี ด้วยการซื้อประกันสุขภาพจากรัฐ ไม่ใช่ซื้อจากเอกชนเช่นอดีต เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพ
และมีคำถามว่า...การเลือกตั้งสหรัฐฯ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือไม่นั้น มองว่า “บุคคลใดจะขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ” ถ้าหาก “ทรัมป์” รักษาตำแหน่งสมัยที่สองได้ ในความเป็น “มหาอำนาจของอเมริกา” อาจลดลงก็ได้ เพราะที่ผ่านมา “ทรัมป์” พยายามปรับเปลี่ยนนโยบายที่ปฏิบัติต่อกันมานับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ยกตัวอย่าง...ด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ มีการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก ที่ทำกันมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย “ฐานะประเทศมหาอำนาจ” แต่ “ทรัมป์” กลับเน้นนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ที่ไม่สนับสนุนกลุ่มความร่วมมือทางการค้าในหลายประเทศ
1
เมื่อเป็นเช่นนี้...“ความสัมพันธ์สหรัฐฯและประเทศไทย” ในสมัยของ “พรรครีพับลิกัน” จึงได้รับความสำคัญค่อนข้างน้อยมาก ถ้าหากเทียบกับ “บารัค โอบามา” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญเซาท์อีสต์เอเชียอยู่เสมอ ดังนั้นในส่วน “ไบเดน” ก็ได้ใช้ทีมงาน “บารัค โอบามา” เข้ามาช่วยด้านเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด
แน่นอนว่า...ถ้า “ไบเดน” ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ว่า “ความสัมพันธ์ของประเทศไทย และสหรัฐฯ” มีโอกาสแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความมั่นคง แต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการส่งเสริมการค้า การส่งออกสินค้า และการดึงดูดกลุ่มการลงทุนมายังในไทยมากกว่านี้ในอนาคตด้วย
1
ตอกย้ำเพราะ “ประเทศไทย” มีแนวโน้มความเอนเอียงใกล้ชิดไปทาง “ประเทศจีน” มีการแสดงออกในการซื้อเรือดำน้ำ รถถัง รวมถึงรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีนทั้งหมด มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคม ทำให้จีนขยายแพร่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมากขึ้น
ทำให้ “สหรัฐฯ” อาจต้องมีการปรับบทบาทเข้ามามีความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้ใหม่ โดยเฉพาะ “ด้านการทูต” เช่น การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทำให้อาจเป็นโอกาสสำหรับไทยในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า และส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น
ทั้งหมดเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า...“การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020” อาจมีผลต่อเศรษฐกิจโลก และการเปลี่ยนแปลงต่อความท้าทายการค้าการลงทุนของไทยไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน.
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา