28 ต.ค. 2020 เวลา 05:04
บางช่วงเวลาที่เราเขยิบเข้าใกล้ความเศร้าซึม หากปล่อยไว้นานอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ผมมีโอกาสนั่งฟังเพื่อนพี่น้องหลายคนปรับทุกข์อย่างไว้วางใจ บางคนผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปแล้ว บางคนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ ขออนุญาตส่งกำลังใจและฝาก 'แว่น' ไว้สำรวจตัวเองเพื่อผ่อนปรนและใจดีกับตัวเองในช่วงเวลาที่เราอาจกดดันตัวเองมากเกินไปมากับข้อเขียนนี้ครับ
สิ่งที่เป็นตัวจุดชนวนความเศร้าซึมคือความรู้สึกแย่กับตัวเอง เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นนี้ขึ้นต้องระวังมิให้ดำดิ่งลงไป หรือคิดวนอยู่กับมันเนิ่นนานนัก อาจใช้วิธีการพาตัวเองออกจากความคิดวนเวียนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าเรื่องงาน ความรัก ครอบครัว หรือสังคม ให้เวลาตัวเองได้ผ่อนคลายและวางเรื่องนั้นลงบ้าง
อนุญาตให้ตัวเองได้นั่งเฉยๆ เดินเล่นสบายๆ ฟังเพลง อ่านหนังสือ พบปะมิตรสหาย หรือทำกิจกรรมที่อยากทำ กินขนมที่อยากกิน แล้วค่อยกลับไปลุยกับสิ่งจริงจังนั้นต่อ เพราะถ้าลุยตลอดเวลาเราอาจพังก่อนเวลาอันควร
ความทุ่มเทอย่างหนักมีข้อเสียของมันเช่นกัน เมื่อใส่แรงลงไปเยอะเรามักคาดหวังเยอะตามไปด้วย ถ้าผลยังไม่เป็นดังหวัง บ่อยครั้งกลับเพิ่มแรงกดดันกลับมาที่ตัวเอง ทำให้รู้สึกแย่ที่ยังไปไม่ถึงไหนเสียที
...
มีนิสัย 5 อย่างที่ต้องตรวจสอบตัวเองว่า 'เยอะ' ไปไหม
1. Perfectionism
ความคาดหวังที่สูงและเป็นอุดมคติ ไม่ว่าจะเรื่องความรัก การงาน ความสำเร็จ หรือสังคมก็แล้วแต่อาจก่อความเครียดขึ้นในใจ เพราะฝันสมบูรณ์แบบนั้นมักต้องเผชิญกับความผิดหวัง หากตั้งเป้าสวยงามไว้ก็อาจต้องเหลือพื้นที่ให้ตัวเองด้วยว่า ผู้คน ความสัมพันธ์ การงาน ความฝันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด 100%
สิ่งที่ช่วยได้คือการมีทัศนะที่ดีต่อความล้มเหลว มองเห็นบทเรียนที่ได้รับจากเวลาผิดหวัง และมองเห็นภาพกว้างว่าชีวิตยังมีอย่างอื่นอีก นอกจากความฝันอันสมบูรณ์แบบของเรา
...
2. ระแวงว่าคนอื่นจะมองว่าเราแย่
เวลารู้สึกแย่กับตัวเอง บ่อยครั้งเราเผลอคิดว่าคนอื่นมองเราแย่เหมือนที่เรารู้สึก เช่น คิดว่าเราอ่อนแอ เราห่วย ต่างๆ นานา ความรู้สึกเช่นนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ลง เพราะเราจะรู้สึกไม่ปลอดภัย สิ่งสำคัญคือต้องมองเห็นตัวเองว่ากำลังตัดสินคนอื่นด้วยความรู้สึกของตัวเองอยู่หรือเปล่า อาจแก้ไขได้ด้วยการหาเพื่อนที่ไว้ใจแล้วบอกเล่าความรู้สึกให้ฟัง รวมถึงถามหาข้อดีหรือจุดแข็งของเรา เพื่อจะได้รู้ว่าเพื่อนไม่ได้รู้สึกกับเราในเชิงลบอย่างที่เราคิด ตรงกันข้าม, เพื่อนยังมองเห็นคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างในตัวเราด้วยซ้ำ นอกจากกระชับสัมพันธ์แล้วยังได้เพิ่มพลังให้ตัวเองด้วย
...
3. ทำเพื่อคนอื่นมากเกินไป
เวลารู้สึกแย่กับตัวเอง เรามักพยายามทำเต็มที่ที่สุดเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเราไม่ได้แย่ จึงเป็นช่วงเวลาที่ปฏิเสธไม่เป็น ตอบรับและเอาใจคนอื่นไปทั่วเพื่อให้เขารู้สึกดีกับเรา ซึ่งการเอาอกเอาใจทุกคนนั้นเสี่ยงต่อความเหนื่อยล้าอ่อนแอในใจตัวเอง ยิ่งถ้ามีใครเอาเปรียบจากความใจดีของเราก็ยิ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้นไปอีก ลองสังเกตตัวเองว่ากำลังพยายามเอาใจคนอื่นจนล้นเกินเพื่อพิสูจน์ตัวเองหรือเปล่า อาจต้องพูดคำว่า "ไม่" บ้าง แล้วเราจะค่อยๆ เข้าใจว่าเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจเราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องพยักหน้าตลอดเวลาขนาดนั้น
...
4. รู้สึกผิด
ทุกคนทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น แต่คนที่อยู่ในภาวะเศร้าซึมจะเคลื่อนออกจากความรู้สึกผิดได้ยากกว่า หากเริ่มมองเห็นวังวนของการโทษตัวเองซ้ำๆ รู้สึกผิดวนเวียนต้องระวัง เพราะจะนำไปสู่การโทษตัวเองว่า "สมควรแล้วที่เป็นแบบนี้" ความรู้สึกเช่นนี้คือ "ความรู้สึกผิดที่ไม่มีประโยชน์" ลองแยกความผิดที่แก้ไขไม่ได้เพราะผ่านไปแล้วออกไปให้ชัดๆ ให้อภัยตัวเอง แล้วลงมือทำสิ่งใหม่ การให้อภัยตัวเองเป็นเรื่องที่ต้องฝึกให้ชำนาญ เพราะชีวิตนี้เรายังทำผิดพลาดอีกหลายหน และตัวเราเองก็คู่ควรต่อการให้อภัยไม่น้อยไปกว่าคนที่เราอภัยและใจดีต่อเขา บางคนให้อภัยทุกคนในโลก ยกเว้นตัวเอง ต้องฝึกใจดีกับตัวเองมากขึ้น
...
5. อาวรณ์อดีต
การหวนกลับไปคิดว่า "ตอนนั้นฉันน่าจะทำแบบนั้นแบบนี้" ทำให้เราวนเวียนอยู่กับสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ ชีวิตเป็นส่วนผสมของสิ่งที่ตัดสินใจได้ถูกกับตัดสินใจผิด ไม่มีใครตัดสินใจถูกตลอดเวลา เพราะผิดจึงไม่ทำอีก ทุกคนมีเรื่องที่อยากแก้ไขแต่แก้ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเราไม่ได้ทำผิดทั้งหมด ลองถามตัวเองดูว่า "อะไรบ้างในอดีตที่เราทำได้ดีแล้ว" จะพบว่ามีสิ่งที่ทำและเลือกได้ดีจำนวนไม่น้อย รู้สึกดีกับอดีตมากขึ้น เก็บบทเรียน (โดยไม่ต้องโทษตัวเอง) เพื่อทำอนาคตให้ดี ยังมีพรุ่งนี้รออยู่
...
ทุกคนล้วนมีโอกาสตกลงไปในพายุแห่งความรู้สึกแย่กับตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ช่วงเวลาที่อยู่ในพายุย่อมไม่ง่ายที่จะเดินออกมา กระนั้น การมองเห็นองค์ประกอบที่ก่อพายุอารมณ์ขึ้นอาจทำให้เราพอจะจัดการกับมันได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่พายุยังเพิ่งเริ่มก่อตัว
เราอาจผิดพลาด อาจยังทำได้ไม่ได้ แต่นั่นเป็นธรรมดาของมนุษย์ ต้องลองตรวจสอบเป้าหมายที่ตั้งไว้กับตัวเองว่าไม่คาดคั้นกับตัวเองเกินไปใช่ไหม ความรู้สึกผิดแต่ละครั้งหนักหน่วงเกินไปหรือเปล่า
วิธีที่ช่วยได้คือ ยืดอกยอมรับในสิ่งที่ตัวเราเป็น ผิดก็ผิด ห่วยก็ห่วย แต่ไม่ต้องรีบพยายามพาตัวเองไปสู่จุดสมบูรณ์แบบ การยอมรับตัวเองโดยไม่รู้สึกผิดคือทัศนคติที่ให้โอกาสตัวเอง มองไปข้างหน้า รู้ว่าวันนี้ยังทำได้ไม่ดี แต่พรุ่งนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ
ทุกคนก็เคยผิดเคยห่วยด้วยกันทั้งนั้น ชีวิตมีพรุ่งนี้เพื่อให้เราทำถูกมากขึ้น เก่งขึ้น ทำได้ดีขึ้น รักษาตัวรักษาหัวใจเอาไว้ สิ่งนี้สำคัญยิ่งกว่าความเก่ง ความสำเร็จ หรือความฝันใดๆ
จริงจังกับชีวิตเป็นเรื่องที่ดี แต่บางทีก็จำเป็นต้องวางมันลงบ้าง เพื่อมีพลังจริงจังกับมันอีกหน
ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามา ถ้าเห็นตัวเองว่าเป็นข้อใดหรือหลายข้อ อย่าลืมว่า ไม่ต้องโทษตัวเองที่เป็นแบบนั้น เรารู้สึกผิดกับตัวเองมามากเกินไปแล้ว เพียงเห็น ระวัง และปรับเปลี่ยน เพื่อไม่ตกอยู่ในห้วงอารมณ์แย่ๆ ฟื้นฟูกำลังวังชา เติมพลังให้หัวใจ ผ่อนเป้าหมายลงบ้าง
ไม่แปลกที่จะมีช่วงเวลาเช่นนี้ ในเมื่อมันคือสภาวะหนึ่งของมนุษย์
ให้เวลาตัวเอง, ค่อยๆ ดีขึ้น
ขอส่งกำลังใจให้เพื่อนๆ ทุกคนครับ
---
ข้อมูลประกอบการเขียน: http://1ab.in/sPT
Cr : Roundfinger
โฆษณา