15 พ.ย. 2020 เวลา 13:45 • ปรัชญา
Ep.03: เสรีนิยมคลาสสิก (Classical Liberalism)
ในสมัยกลางมนุษย์ถูกจำกัดเสรีภาพอย่างมากด้วยประเพณี ศาสนา และการปกครองระบบศักดินาสนับสนุนด้วยทฤษฎีเทวสิทธิ์
ครั้นถึงเริ่มสมัยใหม่ก็มีระบบสมบูรณาญาสิทธิราชให้อำนาจเด็ดขาดแก่กษัตริย์อีก โดยอ้างว่าเพื่อความสามัคคีของประเทศ ในทางเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกับทางการเมือง เสรีภาพการผลิตถูกจำกัดในระบบศักดินา ต้องผลิตเพื่อส่งมอบแก่ขุนนางและเจ้านายในปราสาท การติดต่อค้าขายกระทำได้จำกัด มาเริ่มสมัยใหม่ก็เกิดมีลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ขึ้นมาพร้อมกับ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ลัทธิพาณิชย์นิยมเน้นว่าต้องผลิตเพื่อความมั่งคั่ง เพิ่มเงินและทองคำแท่งให้แก่ประเทศ ต้องจำกัดการค้าขายแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะจำกัดการสั่งสินค้าเข้า ความมั่งคั่งในเงินและทองแท่งมาก่อนความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชน
ลัทธิเศรษฐกิจการเมืองสำนักคลาสสิกปฏิเสธการบังคับจำกัดเสรีภาพ สำนักนี้เน้นเสรีภาพของมนุษย์ในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และการให้สิทธิและความรับผิดชอบแก่ปัจเจกชน ความคิดสำนักคลาสสิกเป็นต้นกำเนิดลัทธิเสรีนิยม นักคิดแห่งสำนักนี้ปฏิเสธการบังคับในระบบเทวสิทธิ์และระบบสมบูรณาญาสิทธิราช การจำกัดการค้าขายและการไม่ให้เสรีภาพ
ในการประกอบการ
สำนักคลาสสิกเกิดขึ้นในอังกฤษ ประกอบด้วยนักคิดคนสำคัญ คือ จอห์น ลอค (John Looke, 1632-1704) อดัม สมิท (Adam Smith, 1723-1790) โรเบิร์ต มัลทัส (Robert Malthus, 1766-1834) และเดวิด ริคาร์โด (David Ricardo, 1772-1823)
และที่อังกฤษนี่แหละที่ขบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจได้เริ่มขึ้นเป็นแห่งแรก และประสบผลสำเร็จในระยะปลายศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ความคิดและขบวนการนี้แผ่ขยายไปในภาคพื้นทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ เป็นพื้นฐานก่อให้เกิดระบบประชาธิปไตยทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจวิสาหกิจเอกชน (Private Enterprise Economy)
จะได้กล่าวถึงนักคิดสำคัญแห่งสำนักนี้แต่ละคนตามลำดับในประวัติศาสตร์ โดยจะได้กล่าวถึงจอห์น ลอค ก่อน ซึ่งเป็นผู้ที่คิดหนักไปทางด้านการเมือง
จอห์น ลอค
จอห์น ลอค (John Locke, 1632-1704) เป็นบุตรนายทหารอังกฤษ ได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หลังจากเรียนสำเร็จแล้วได้เป็นครูประจำบ้านที่มหาวิทยาลัยอยู่ระยะหนึ่ง เขาได้ศึกษาวิชาการแพทย์ด้วย และ ทำการรักษาเป็นบางครั้ง ใน ค.ศ. 1666 ลอคได้มีโอกาสใกล้ชิดลอร์ด เอชลี่ (Lord Ashley 1621 -1683) โดยได้ทำการผ่าตัดท่านลอร์ดเป็นผลสำเร็จ
ลอร์ดผู้นี้เป็นหัวหน้าของพรรควิก (Whig) ซึ่งต่อมาได้รับยศเป็นเอิร์ลแห่งชาฟเบอรี่ (Earl of Shaftesbury) และเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ลอคได้มีส่วนช่วยเอิร์ลแห่งชาฟเบอรี่ในด้านการเมืองและการปกครอง โดย
ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการสภาการค้าและไร่ขนาดใหญ่ (Council of Trade and Plantations) เมื่อรัฐบาลชุดเอิร์ลแห่งชาฟเบอรี่ล้มลง ลอคได้เดินทางไปฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1675 และใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส 4 ปี
เขากลับมาอังกฤษใน ค.ศ. 1679 ขณะนั้นเอิร์ลแห่งชาฟเบอร์รี่เป็นผู้นำทางฝ่ายค้าน ซึ่งทำการรณรงค์ทางการเมือง แต่ลงท้ายได้ถูกบังคับให้หนีไปฮอลแลนด์ ด้วยความกลัวภัยทางการเมืองลอคก็หนีออกจากอังกฤษไปอยู่ฮอลแลนด์บ้างใน ค.ศ. 1633
ลอคอยู่ฮอลแลนด์จนถึง ค.ศ. 1689 ภายหลังการปฏิวัติอันรุ่งเรือง (The Glorious Revolution 1688) ซึ่งนำอังกฤษเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย เขาจึงได้กลับมาเกาะอังกฤษ ที่ฮอลแลนด์นี้เองที่ลอคได้มีโอกาสเขียน
หนังสือว่าด้วยทฤษฎีการเมืองซึ่งได้รับการจัดพิมพ์ภายหลัง ที่สำคัญที่สุด คือ หนังสือสองเล่มที่พิมพ์ออกด้วยกันใน ค.ศ. 1690 ชื่อว่า Two Treatises of
Government โดยเฉพาะเล่มที่สองซึ่งมีชื่อว่า “An Essay Concerning the True Original, Extent, and End of Civil Government ซึ่งเสนอทฤษฎีที่ว่ารัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยความยินยอมของประชาชน และต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิการของประชาชน กล่าวกันว่าลอคเขียนหนังสือนี้ขึ้นเพื่อให้เหตุผลสนับสนุนการปฏิวัติ ค.ศ. 1688 ซึ่งนำพรรควิกขึ้นสู่อำนาจในอังกฤษ จำกัด
อำนาจพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชซึ่งมีมาแต่เดิม
นอกจากหนังสือเล่มสำคัญนี้แล้วลอคยังได้เขียนหนังสือเล่มอื่นอีกเช่น Letters on Toleration (1689-1692) เกี่ยวกับการเมือง และ Essay Concerning Human Understanding (1690) เกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยความรู้ของมนุษย์
หลังจากที่ลอคกลับมาอังกฤษแล้วเขาได้รับแต่งตั้ง
เป็นอธิบดีกรมการค้าและไร่ขนาดใหญ่ (Commissioner of Trade and Plantations) ซึ่งภายหลังก็คือสภาการค้าและกระทรวงอาณานิคม สุขภาพ
ของเขาก็เสื่อมโทรมลง ลอคจึงได้ลาออกและใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบที่เมือง Oates ในแคว้นเอสเซค (Essex) จนถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1704
ในหนังสือ Two Treatises of Government ลอคชี้ให้เห็นว่าอิสรภาพและเสรีภาพเป็นสิทธิมูลฐานของมนุษย์ สิทธินี้เกิดจากความเป็นผู้มีเหตุผลของมนุษย์ มนุษย์เกิดมาเป็นอิสระเพราะมนุษย์เกิดมามีเหตุผล เหตุผลคือเสียงของพระเจ้าในตัวมนุษย์ เป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มากับมนุษย์ทุกคน เหตุผลเป็นสิ่งชี้ให้มนุษย์กระทำสิ่งที่ถูกต้อง ให้มนุษย์ตัดสินใจได้เองและ เลือกได้เองโดยคำนึงถึงหลักการโดยไม่ต้องมีการบังคับ
ลอคกล่าวว่ากฎของธรรมชาติคือกฎแห่งเหตุผล ในสภาพธรรมชาติที่ไม่มีรัฐบาลกฎแห่งเหตุผลเป็นกฎของสังคม โดยที่เหตุผลนี้พระเจ้าให้มากับมนุษย์ทุกๆ คน ดังนั้น “มนุษย์ทุกคนจึงเป็นอิสระแก่กันและเท่าเทียมกัน พระเจ้าไม่ได้ปรารถนาที่จะให้มนุษย์ผู้ใดได้สิทธิจากพระเจ้ามากกว่าผู้อื่น และในหนังสือเล่มแรกของ Two Treatises of Government ลอคได้แสดงให้เห็นโดยละเอียดว่า ที่นักคิดผู้หนึ่ง คือ เซอร์ โรเบิร์ต ฟิลเมอ (Sir. Robert Filmer) เขียนว่ามนุษย์บางคนได้สิทธิจากพระเจ้าที่จะปกครองนั้นไม่ถูกต้อง โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมามีเสรีภาพและเท่าเทียมกัน มนุษย์ผู้ซึ่งเอามนุษย์ผู้อื่นมาอยู่ใต้อำนาจ อยู่ใต้ความต้องการ ปฏิเสธไม่ให้มนุษย์ผู้อื่นเป็นอิสระ และไม่ยอมรับว่ากฎระหว่างมนุษย์ คือกฎแห่งเหตุผล มนุษย์ผู้นั้นย่อมถูกทำลายโดยผู้เสียหายและมวลมนุษย์อื่นได้ เพราะเขาก็เปรียบเสมือนเป็นสัตว์ป่า เพราะเขานั้นขาดเหตุผลเสียแล้ว
ลอคเชื่อว่าก่อนที่จะมีรัฐ มนุษย์อยู่ในสภาพธรรมชาติ (The State of Nature) ในสภาพธรรมชาตินี้มีกฎแห่งธรรมชาติ คือ กฎแห่งเหตุผลควบคุมการติดต่อสังคมของมนุษย์ เป็นสภาพที่มีระเบียบแบบแผน เพราะถึง
แม้มนุษย์ในสภาพธรรมชาติจะมีเสรีภาพและเท่าเทียม กฎแห่งเหตุผลก็บ่งชี้ว่ามนุษย์จะต้องเคารพเสรีภาพและไม่ก้าวก่ายในสิทธิของมนุษย์ผู้อื่น สภาพธรรมชาติจึงไม่ใช่สภาพสงคราม (The State of War) ซึ่งมนุษย์ใช้กำลังทำลายล้างแย่งชิงซึ่งกันและกันดังเช่นที่ฮอบส์ (Thomas Hobbes) กล่าวอ้าง สภาพธรรมชาติมีสันติภาพ ในสภาพธรรมชาตินี้มีการบังคับให้ปฏิบัติตามกฏโดยมีการลงโทษผู้ที่ละเมิดด้วย แต่อำนาจในการลงโทษจัดการกับผู้กระทำผิดกระจายอยู่กับสมาชิกของสังคม ทั้งผู้ที่เสียหายโดยตรง และสมาชิกของสังคมอื่น อำนาจในการลงโทษต่างกับสิทธิป้องกันตัวเอง เพราะผู้มีอำนาจนี้คือสมาชิกของสังคมทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ถูกรุกราน หรือถูกทำให้เสียสิทธิ
ในสภาพธรรมชาตินี้นอกจากมนุษย์จะมีเสรีภาพและเท่าเทียมกันแล้วมนุษย์ยังมีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินด้วย สิทธิในการเป็นเจ้าของเกิดจากแรงงานของมนุษย์ กล่าวคือ แม้ว่าพระเจ้าจะสร้างโลกนี้ให้มนุษยชาติโดยส่วนรวม พระองค์ก็ต้องการให้มนุษย์แต่ละคนใช้ประโยชน์โดยเฉพาะด้วย จึงต้องมีวิธีการให้แต่ละคนใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่พระเจ้าสร้าง คือ ได้เป็นเจ้าของโดยเฉพาะ วิธีการก็คือ เมื่อมนุษย์ใช้แรงงานของเขาเข้าผสมผสานกับธรรมชาติที่พระเจ้าให้มาก็เท่ากับว่าเขาได้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ สิ่งนั้นควรเป็นสมบัติของเขาแต่ผู้เดียว เพราะแรงงานที่ลงไปเป็นของมนุษย์ผู้นั้น สิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินจึงเป็นสิทธิมูลฐานตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน มิใช่มนุษย์ได้รับสิทธินี้จากรัฐ ความคิดของลอคในเรื่องสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินนี้ แย้งกับลัทธิศักดินาที่มอบให้เจ้านายหรือกษัตริย์เท่านั้นเป็นเจ้าของที่ดิน ลอคเห็นว่ามนุษย์แต่ละคนก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นส่วนตัวได้ ความคิดของลอคจึงเป็นพื้นฐานสนับสนุนหลักกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (Private Property)
นอกจากนี้ ลอคยังระบุไว้ชัดแจ้งด้วยว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนี้จะต้องไม่ใช่เพื่อกดขี่เอาเปรียบผู้อื่น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นหลักการที่จะช่วยส่งเสริมให้มนุษย์มีอิสระกระทำการต่าง ๆ ได้ ในทรรศนะของลอคกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นเครื่องสนับสนุนเสรีภาพ มิใช่เครื่องมือสำหรับใช้บังคับกดขี่ นอกจากนั้นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลน่าจะถูกจำกัดด้วยปริมาณทรัพย์สินที่มี
ลอคมีความเห็นว่าบุคคลควรมีสิ่งของมากเท่าที่เขาจะใช้ประโยชน์บริโภคได้ไม่ปล่อยทิ้งให้เหลือเปล่าเสียหาย แต่ลอคก็ยอมรับว่าด้วยการคิดค้นทองและเงินขึ้นมาใช้ มนุษย์สามารถเก็บทรัพย์สินไว้ได้มากเท่าใดก็ได้โดยไม่ต้องทิ้งเสียหาย และมนุษย์ก็ยอมรับค่าของเงินของทอง
ดังนั้น ด้วยการใช้เงินใช้ทองจึงทำให้เกิดการสะสมทรัพย์สินขึ้นมา ลอคไม่ได้กล่าวว่าการสะสมทรัพย์สินในรูปเงินทองเป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งเท่ากับในท้ายที่สุดลอคก็ยอมรับโดยปริยายว่าอาจเกิดความไม่เท่าเทียมในทรัพย์สินขึ้นได้
เหตุผลสนับสนุนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลของลอคต่อมาได้ถูกอ้างเป็นหลักพื้นฐานของลัทธิเสรีนิยม และระบบเศรษฐกิจวิสาหกิจเอกชน แต่ขณะเดียวกันเหตุผลของลอคที่ว่า กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเกิดจากแรงงาน
ก็ถูกอ้างเหมือนกันว่ากรรมสิทธิ์ควรเป็นของฝ่ายผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ในข้อนี้ลอคได้เขียนไว้ยอมรับโดยปริยายว่า การใช้ให้ผู้อื่นทำงาน ก็ทำให้ผู้ใช้ได้กรรมสิทธิ์ในผลผลิตเหมือนกัน ฉะนั้น ลอคจึงไม่ได้หมายความเคร่งครัด ว่ากรรมสิทธิ์จะต้องเกิดจากการใช้แรงงาน โดยตรง เท่านั้น อาจจะตีความได้ว่า การกระทำการอื่นที่ทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นอาจทำให้เกิดสิทธิการเป็นเจ้าของได้
จะเห็นได้ว่า ในสภาพธรรมชาติลอคคิดว่ามนุษย์มีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สิทธิทั้ง 2 ประการนี้มนุษย์มีมาแต่เกิด เป็นสิทธิมูลฐานจากความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลและผู้ใช้แรงงาน มิใช่ว่ามนุษย์ได้สิทธิ
ทั้ง 2 ประการนี้จากรัฐบาล ปัญหามีว่า ถ้าเช่นนั้น ทำไมมนุษย์จึงละทิ้งสภาพทางธรรมชาติก่อตั้งสังคมการเมือง (Political Society) และรัฐบาลขึ้น?
ลอคอธิบายว่ามนุษย์พบว่าสภาพธรรมชาติขาดความสมบูรณ์ 3 ประการ คือ
1. มนุษย์อาจเห็นกฎข้อบังคับซึ่งเกิดจากเหตุผลไม่เหมือนกัน มนุษย์อาจเข้าข้างตัวเองเพราะผลประโยชน์ และถือเอาผลประโยชน์ของตนเองเป็นธรรมชาติ
2. เมื่อเกิดการขัดแย้งขาดฝ่ายที่สาม ซึ่งไม่มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียเป็นผู้พิพากษา การให้มนุษย์ตัดสินข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับตนเอง อาจทำให้เกิดการใช้อารมณ์และการแก้แค้น
3. ฝ่ายที่เสียหายอาจไม่มีความเข้มแข็งพอ ที่จะจัดการให้มีการลงโทษตามความยุติธรรมได้
นอกจากนี้ในสภาพธรรมชาติที่เกิดปัญหา 3 ประการนี้อาจเป็นอันตรายต่อสิทธิมูลฐาน คือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เพื่อคุ้มครองรักษากรรมสิทธิ์ส่วนตัวและก่อตั้งสถาบันที่แน่นอนในการออกและรักษากฎ ทำให้มนุษย์ยอมที่จะละออกจากสภาพธรรมชาติและก่อตั้งสังคมการเมืองขึ้น สังคมการเมือง (Political Society) นี้ จัดตั้งขึ้นโดยความยินยอม (Consent) ของสมาชิกเท่านั้น เพราะในการก่อตั้งสังคมการเมือง หรือชุมชน (Community) ขึ้นเป็นหน่วยการเมืองหนึ่งนั้น มนุษย์
ต้องยอมมอบอำนาจในการบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่กระจายอยู่เป็นของตนให้แก่ชุมชน
ดังนั้น ลอคจึงอธิบายว่าสังคมการเมืองเกิดขึ้นได้โดยการให้การยินยอมระหว่างมนุษย์ ซึ่งเดิมอยู่ในสภาพธรรมชาติ การให้ความยินยอมนี้ครั้งแรกเป็นการแสดงออกโดยตรง แต่ต่อมาอาจเป็นการแสดงออกโดยปริยายก็ได้ ก็เท่ากับเป็นการต่อสัญญานั้นมาเรื่อย ๆ จากสมัยโบราณมาจนปัจจุบัน การแสดงออกซึ่งความยินยอมโดยปริยายก็คือ การที่มนุษย์ยอมรับมรดกของบิดาภายใต้ความคุ้มครองของรัฐ ลอคกล่าวด้วยว่าการยินยอมอยู่ในสังคมการเมืองเดียวกัน หมายความว่าสมาชิกยินยอมที่จะอยู่ภายใต้กฎแห่งเสียงข้างมาก มิฉะนั้นสังคมการเมืองก็จะทำอะไรไม่ได้เลย
มนุษย์ทำสัญญาระหว่างกันจัดตั้งสังคมการเมืองขึ้น นั่นเป็นเพียงขั้นหนึ่ง ขั้นต่อไปสังคมการเมืองต้องมีองค์กรกลางในการปกครอง คือ รัฐบาล เพื่อออกกฎหมายตีความกฎหมาย และบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย
ปัญหามีว่า รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาได้อย่างไร? ลอคอธิบายว่ารัฐบาลไม่ได้ถูกจัดตั้งโดยสัญญาเหมือนสังคมการเมือง กล่าวคือ ไม่ได้มีสัญญาระหว่างสมาชิก
สังคมการเมืองกับรัฐบาล รัฐบาลเกิดจากการจัดตั้งทรัสท์ที่ได้รับความไว้วางใจ (Fiduciary Trust) ในการจัดตั้งองค์กรออกกฎหมาย (The Legislature) มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาล คือ มีอำนาจเหนือองค์กรบริหาร แต่องค์กรออกกฎหมายนี้ยังมีสิ่งที่เหนือกว่า คือ ประชาชน ลอคเห็นว่า องค์กรออกกฎหมายเป็นแต่เพียงผู้ได้รับความไว้วางใจ อำนาจอธิปไตยแท้จริงอยู่ที่ประชาชน ความคิดเรื่องรัฐบาลมีลักษณะเป็นทรัสท์นี้ อธิบาย
ขยายความได้ กล่าวคือ
ทรัสท์ปกติมีผู้เข้าร่วม 3 ฝ่าย:
1. ผู้มอบความไว้วางใจ
(The Trust)
2. ผู้มีหน้าที่จัดการบริหารทรัสท์หรือทรัสตี (The Trustee) และ
3. ผู้รับมอบความไว้วางใจ (The Beneficiary)
ทรัสท์จัดตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายที่ 3 นี้ ในทรรศนะของลอคการจัดตั้งรัฐบาลมีเพียง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายประชาชนซึ่งเป็นทั้งผู้มอบความไว้วางใจและผู้ได้ประโยชน์ ส่วนฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้มีหน้าที่จัดการบริหาร หลักการที่สำคัญที่สุด คือ ฝ่ายทรัสตีผู้บริหารมีพันธะมากกว่าสิทธิ์ จุดประสงค์ของทรัสท์กำหนดโดยผลประโยชน์ของผู้ได้ประโยชน์ (The Beneficiary) ไม่ใช่กำหนด โดยความปรารถนาของทรัสต์ ทรัสตีมีหน้าที่รับใช้ผู้มอบความไว้วางใจและผู้ได้ประโยชน์ ทรัสตีอาจถูกถอดถอนโดยผู้มอบความไว้วางใจก็ได้ ถ้าเขาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ลอคจึงกล่าวว่า "ประชาชนยังคงมีอำนาจสูงสุดที่จะย้ายหรือเปลี่ยนแปลงฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อเขาพบว่าฝ่ายนิติบัญญัติกระทำการตรงข้ามกับทรัสท์ที่ให้ไว้ เพราะอำนาจทั้งหมดที่ให้ไว้ก็เพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายหนึ่งก็ย่อมถูกจำกัดโดยจุดหมายนั้น เมื่อจุดหมายนั้นถูกละเลยหรือถูกต่อต้านก็ชัดแจ้งว่าเท่ากับเป็นการทำลายความไว้วางใจ และอำนาจกลับเข้าสู่มือของผู้ที่ให้ไปซึ่งอาจมอบให้ใหม่กับผู้ที่เขาคิดว่าดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงของเขา การที่จะตัดสินว่าทรัสตีละเมิดทำลายความไว้วางใจลงหรือยังนั้น เป็นสิทธิของประชาชนผู้มอบความไว้วางใจ และถ้าเกิดปัญหาฝ่ายทรัสตีไม่ยอม ประชาชนก็อาจร้องเรียนต่อพระเจ้าได้ ซึ่งในที่นี้เป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงปฏิวัติล้มทรัสตีเสีย
ในทรรศนะของลอค ประชาชนไม่ได้มอบอำนาจทั้งหมดให้รัฐบาล กฎแห่งธรรมชาติยังคงใช้บังคับอยู่ ซึ่งก็คือกฎแห่งเหตุผลนั่นเอง เพียงแต่สภาพธรรมชาติเท่านั้นที่หมดไปเพราะมีการรวมอำนาจการออกกฎหมาย ตีความกฎหมาย และบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่กับรัฐบาล แทนที่ต่างคนต่างทำดังในสภาพธรรมชาติ แต่รัฐบาลยังคงต้องออกกฎหมาย
ตามกฎแห่งธรรมชาติ จะคัดค้านทำลายกฎแห่งธรรมชาติไม่ได้ ในสภาพธรรมชาติมนุษย์แต่ละคนยังไม่มีอำนาจทำลายชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สิน
ของมนุษย์ผู้อื่น (นอกจากเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด)
ฉะนั้น รัฐบาลซึ่งเป็นทรัสท์ของประชาชนก็จะมีอำนาจนี้ไปไม่ได้ กฎแห่งธรรมชาติซึ่งรับรองเสรีภาพและทรัพย์สินมีมาก่อนรัฐบาล รัฐบาลต้องเคารพกฎแห่งธรรมชาตินี้
รัฐบาลในทรรศนะของลอคจึงมีอำนาจ ภายในขอบเขต และไม่มีลักษณะเบ็ดเสร็จ อำนาจที่รัฐบาลใช้ก็ไม่ใช่อำนาจของตนเอง แต่เป็นอำนาจของประชาชนที่ให้รัฐบาลเพียงแต่ใช้ และให้ใช้ในลักษณะเป็นทรัสตี คือ ใช้เฉพาะเพื่อประโยชน์ของประชาชน และนอกจากนั้นรัฐบาลยังต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติด้วย ในทรรศนะของลอครัฐบาลมีขึ้นกฎหมายมีขึ้นเพื่อส่งเสริมขยายเสรีภาพ ไม่ใช่ทำลายหรือกีดขวางเสรีภาพ อำนาจทางการ (Authority) สนับสนุนอิสรภาพ (Freedom) ไม่ใช่ขัดขวางอย่างที่เคยเข้าใจกันมาในสมัยก่อน เพื่อประกันการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง
ลอคยังเสนอให้มีการแบ่งแยกอำนาจของรัฐบาลให้อยู่ในต่างองค์กรกัน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislative) องค์กรหนึ่ง และฝ่ายบริหารองค์กรหนึ่ง
ฝ่ายบริหารนี้รับผิดชอบอำนาจสองประการ คือ อำนาจบริหาร (Executive) และอำนาจในการติดต่อต่างประเทศ (ซึ่งลอคเรียกว่า Federative)
นอกจากนั้นดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้ารัฐบาลละเมิดกฎแห่งธรรมชาติ ไม่ปฏิบัติการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิล้มล้างรัฐบาลด้วยการปฏิวัติได้
จากการจัดตั้งสังคมการเมืองและรัฐบาลตามทฤษฎีของลอค จะเห็นได้ว่ารัฐบาลที่ถูกต้องชอบด้วยหลักการ (Legitimate) จะต้องเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับความยินยอมจากประชาชน
ลอคชี้ไว้ชัดว่ารัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยการใช้กำลังหรือการรุกรานไม่ใช่รัฐบาลที่ชอบ เช่นเดียวกับรัฐบาลของกษัตริย์ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองเด็ดขาด โดยอ้างลัทธิเทวสิทธิ์ (Divine Right) ทั้งนี้เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นของประชาชนอยู่ก่อนในสภาพธรรมชาติ รัฐบาลจะใช้อำนาจทางการเมืองได้ก็ต่อเมื่อประชาชนยินยอม ดังที่ลอคได้อธิบายถึงสังคมการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลเป็นทรัสท์ขึ้น ประชาชนเป็นที่มาแห่งอำนาจทางการเมือง และสามารถเรียกอำนาจของเขาคืนได้ รัฐบาลที่ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชนเป็นรัฐบาลที่มิชอบ
โดยสรุป ทฤษฎีของลอคกำหนดหน้าที่ของรัฐและรัฐบาลว่า คือ การรักษาสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน รัฐในทรรศนะของลอคเป็นรัฐเสรี มีอำนาจจำกัดไม่เข้าเกี่ยวข้องบังคับในกิจการของปัจเจกชน นอกจากเมื่อจําเป็นจริง ๆ เพื่อรักษาเสรีภาพและทรัพย์สินของสมาชิก นอกเหนือจากนั้นปล่อยให้สมาชิกจัดการเอง โดยมีสมมติฐาน
ว่ามนุษย์ทุกคนเป็นผู้มีเหตุผลและความรับผิดชอบ จึงควรมีเสรีภาพที่จะจัดกระทำการต่างๆ ได้ รวมทั้งมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวและทำการผลิตส่วนตัว ซึ่ง
มนุษย์ก็มีสิทธินี้อยู่แล้วตามธรรมชาติ รัฐจะยิ่งช่วยพิทักษ์และส่งเสริมสิทธิมูลฐานนี้
กล่าวได้ว่าลอคเป็นนักทฤษฎีเสรีประชาธิปไตยคนสำคัญ ทฤษฎีของเขาถูกใช้เป็นพื้นฐานความชอบธรรมอ้างสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเสรีประชาธิปไตยในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ทฤษฎีของลอคประสบกับการโต้แย้ง โดยเฉพาะจากทฤษฎีที่ว่าด้วยอำนาจเด็ดขาดของรัฐและรัฐบาล เช่น ทฤษฎีของฮอบส์และของเฮเกล ข้อโต้แย้งที่สำคัญคือปัญหาว่าด้วยสิทธิต่าง ๆ ของมนุษย์ มนุษย์มีสิทธิ์เหล่านี้มาก่อนจริงหรือไม่? หรือได้รับจากรัฐบาล? และคงอยู่ได้ก็เพราะมีรัฐบาลรับรอง? สภาพธรรมชาติที่ไม่มีรัฐบาลมีจริงหรือไม่? ถ้ามีจริงเป็นสภาพที่มีสันติภาพเนื่องจากมนุษย์มีเหตุผล ดังที่ลอคกล่าวอ้างหรือไม่?
นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว คำอธิบายของลอคเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ก็ถูกโจมตี แทนที่กรรมสิทธิ์จะช่วยให้เกิดเสรีภาพดังที่ลอคคาดหวัง
กรรมสิทธิ์อาจนำไปสู่การกดขี่และความไม่เท่าเทียม บุคคลกลุ่มน้อยอาจได้มีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต ขณะที่บุคคลกลุ่มใหญ่มีแต่แรงงาน ยากจน และถูกเอารัดเอาเปรียบ การกล่าวถึงสิทธิที่จะมีกรรมสิทธิ์ แต่ละเลยความสามารถที่จะใช้สิทธิดังกล่าว สิทธิดังกล่าวก็ไร้ประโยชน์ การรับรองกรรมสิทธิ์อาจไม่เป็นสิ่งพอเพียงที่จะประกันเสรีภาพ อาจจำเป็นต้องมีการกระจายกรรมสิทธิ์ด้วยเสรีภาพนั้นจึงจะเป็นของคนทุกคนโดยแท้จริง
อดัม สมิท
อดัม สมิท (Adam Smith, 1723-1790) เป็นชาวสก็อตแลนด์ ได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ต่อมาเป็นศาสตราจารย์ในวิชาปรัชญาศีลธรรม (Moral Philosophy) ที่
มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ใน ค.ศ. 1759 เขาเขียนหนังสือ ชื่อ Theory of Moral Sentiments ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงมาก และได้รับติดต่อให้เป็นอาจารย์สอนขุนนางอังกฤษคนหนึ่งโดยได้รับค่าจ้างอย่างงาม เขาจึงลาออกจากอาจารย์มหาวิทยาลัยและรับงานสอนดุ๊กแห่งบัคคลู (Duke of Buccleuch) โดยติดตามศิษย์ของเขาไปในทวีปยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศส ที่ยุโรปสมิทได้พบปะกับนักปรัชญา และนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อหลายท่าน เช่น วอลแตร์ (Voltaire, 1694-1778) และพวกฟิสิโอคราต (The Physiocrats)
ใน ค.ศ. 1776 เขาออกจากงานสอนและรับบำนาญ เขากลับไปอยู่ที่บ้านเกิดของเขาที่เมืองเคิร์กคาลดี (Kirkcaldy) ในสก็อตแลนด์ และมีชีวิตอย่าง
สบายจากเงินบำนาญจำนวนมาก ใน ค.ศ. 1776 เขาพิมพ์หนังสือเล่มสำคัญที่สุดคือ The Wealth of Nations ซึ่งเขาใช้เวลาเขียนประมาณ 10 ปี
หนังสือได้รับการต้อนรับอย่างดีและได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง ใน ค.ศ.1778 สมิท ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมศุลกากรของเมืองเอดินบะระ เขาดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1790
สมิทได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักคิดรุ่นก่อน และนักคิด ร่วมสมัยหลายคนด้วยกัน เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Issac Newton, 1642-1727) ได้ให้ความคิดแก่เขาว่า โลกธรรมชาติเป็นโลกที่มีระเบียบและกฎเกณฑ์
ส่วน เอิร์ลแห่งชาฟเบอรี่ (Earl of Shaftesbury,1671-1713) นักปรัชญาศีลธรรมแห่งอังกฤษก็เชื่อว่ามนุษย์มีศีลธรรม ซึ่งทำให้มนุษย์แยกได้ระหว่างการ กระทำที่ถูกและที่ผิดเป็นแรงถ่วงดุลความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่มีระเบียบและกฎเกณฑ์เหมือนกับโลกกายภาพ ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคมประสานกันได้ (Harmony of Interest)
ส่วนแมนเดวิล (Bernard Mandeville, 1670-1733) นายแพทย์ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงชื่อ Fable of the Bees : Private Vices, Public ,Benefits ใจความสำคัญของหนังสือมีว่า อารยธรรมเป็นผลจากความชั่วของมนุษย์ คือ เป็นผลจากความต้องการที่จะอยู่อย่างสบาย สุรุ่ยสุร่ายของมนุษย์ แต่ผลจากความชั่วของมนุษย์แต่ละคนนี้กลับส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ที่ดีแก่สังคม คือทำให้เกิดอารยธรรม จะเห็นได้ว่าข้อเขียนของแมนเดวิลต่างกับของชาฟเบอรี่ เพราะชาฟเบอรี่เชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนจะทำดีเพื่อผลประโยชน์ของสังคม แต่ทั้งแมนเดวิลและชาฟเบอรี่ก็เห็นเหมือนกันว่า ในท้ายที่สุดแล้วสังคมจะได้ประโยชน์จากการกระทำของมนุษย์แต่ละคน
อีกบุคคลหนึ่งที่สมิทได้รับอิทธิพลทางความคิด คือ ศาสตราจารย์ฟรานซิส ฮัดจีสัน (Francis Hutcheson, 1694 -1746) อาจารย์ของเขาที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ฮัดสันเชื่อว่ามนุษย์โดยธรรมชาติแล้วต้องการทำคุณประโยชน์มากกว่าทำชั่ว ซึ่งสิ่งนี้ทำให้การผสานผลประโยชน์ในสังคมเป็นไปได้ ความมีศีลธรรมโน้มให้มนุษย์ทำดีต่อผู้อื่น ในความคิดของฮัดจีสันการทำคุณประโยชน์คือการทำดี และคนทำความดี จะมีความรู้สึกเป็นสุข เขาเป็นคนแรกที่กล่าวว่า "การกระทำที่ดีที่สุดคือ การกระทำที่ก่อให้เกิดความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด” ซึ่งภายหลังถือเป็นหลักการสำคัญของพวกประโยชน์นิยม (Utilitarianism)
นักคิดอีกสองท่านที่สมิทได้รับอิทธิพล คือ ปูเฟนเดอร์ฟ (Samuel von Pufendorf, 1632-1694) และ จอห์น ลอค (John Locke, 1632-1704) ปูเฟนดอล์ฟเป็นเจ้าของความคิดเรื่องสิทธิธรรมชาติ (Natural Rights) ของมนุษย์ สิทธิธรรมชาตินี้อยู่กับความเป็นมนุษย์เอง และผู้ใดหรือองค์กรใดจะเอาไปไม่ได้ รัฐจะต้องเคารพสิทธินี้และต้องจำกัดอำนาจของตนเองให้
อยู่ในขอบเขต จอห์น ลอค ก็ได้รับอิทธิพลจากความคิดเรื่องสิทธิธรรมชาตินี้
ดังที่กล่าวแล้ว ลอคเห็นว่ามนุษย์ควรมีสิทธิในชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สมบัติรัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิของมนุษย์และรัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยความยินยอมของสมาชิก สมิทได้ขยายขอบเขตคำอธิบายสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ของลอคจากเสรีภาพในด้านการเมืองไปสู่เสรีภาพในด้านเศรษฐกิจ สรุปได้ว่า สมิทได้รับอิทธิพลจากนักคิดแห่งยุค “แสงสว่างแห่งปัญญา
(Enlightenment)" ซึ่งเป็นนักคิดพวกมนุษยนิยม (Humanism) ที่เน้นความสำคัญของมนุษย์ นักคิดกลุ่มนี้เน้นว่าเหตุผลจะนำไปสู่สัจจะ โลกนี้เป็นโลกที่มนุษย์สามารถเข้าใจได้ เป็นโลกที่มีกฎเกณฑ์มีระเบียบ ทั้งชาฟเบอรี่, ฮัดจีสัน, ปูเฟนดอร์ฟ และลอค ต่างเชื่อว่าสังคมมนุษย์เป็นสังคมผสานผลประโยชน์ มนุษย์จะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีการบังคับกันทุกฝีก้าว สังคมมนุษย์ที่ให้เสรีภาพแก่มนุษย์จะปรับตัวเข้าสู่สภาพที่ดีที่สุดได้เอง โดยมี "มือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand)" กำกับ ซึ่งคือธรรมชาติการแลกเปลี่ยนและผสานผลประโยชน์ของมนุษย์
หนังสือ The Wealth of Nations ให้ความสำคัญมากกับการแบ่งงานกันทำ (Division of Labour) การแบ่งงานกันทำก่อให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทำให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้นด้วยทรัพยากรเท่าเดิม ทั้งนี้เพราะ
ก) แรงงานมีความชำนาญเพิ่มขึ้นในงานเฉพาะที่เขา
กระทำ
ข) ทำให้ประหยัดเวลา เพราะสามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนลักษณะ
งานอยู่เสมอ และ
ค) ทำให้เกิดการคิดค้นวิธีการปรับปรุงเทคนิคการผลิตที่เกิดขึ้น เนื่องจากการให้คนงานแต่ละคนทำงานอย่างเดียว
สมิทยกตัวอย่างการผลิตเข็มหมุดในโรงงานขนาดเล็กมีคนทำงาน 10 คน โดยการแบ่งงานกันทำ โรงงานสามารถผลิตเข็มหมุดได้ 4,800 เล่ม ในหนึ่งวัน ซึ่งถ้า
ต่างคนต่างทำแล้วแต่ละคนอาจผลิตไม่ได้ 1 เล่ม
การแบ่งงานกันทำนี้เป็นไปได้ เพราะมนุษย์มีการแลกเปลี่ยน ทำให้มนุษย์สามารถจะมีสินค้าหลายชนิดได้โดยมิต้องลงมือทำเองทุกชนิด ในแง่นี้มนุษย์ต่างกับสัตว์เพราะสัตว์ไม่มีการแลกเปลี่ยน สมิทยกตัวอย่าง สุนัขสองตัวมีกระดูกกันตัวละอัน ไม่เคยคิดที่จะแบ่งกระดูกกันกิน การแลกเปลี่ยนนี้มีพื้นฐานจากผลประโยชน์ส่วนตัวและความรักตัวเองของมนุษย์ มนุษย์
คำนึงถึงผลให้แก่ตัวเองที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน การที่เราได้มีอาหารเย็นรับประทานไม่ใช่เพราะความใจดีของพ่อค้าเนื้อ พ่อค้าเหล้าหรือพ่อค้าขนมปัง แต่เพราะความเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลเหล่านั้น เราไม่ได้ขอร้องให้เขาเห็นแก่มนุษยธรรม แต่ให้เขาเห็นแก่ตัวเขาเอง สมิทกล่าวว่า นอกจากขอทานแล้วก็ไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่โดยฟังความใจดีของผู้อื่น สมิท
เชื่อว่า "บุคคลที่สามารถชักชวนให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเขาอย่างที่เขาต้องการได้โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้ปฏิบัติเองนั่นแหละ คือผู้ที่จะประสบผลสำเร็จ"
แต่การแลกเปลี่ยนถูกจำกัดด้วยขนาดของตลาด ดังนั้น การแบ่งงานกันทำก็ถูกจำกัดด้วยขนาดของตลาดไปด้วย ถ้าตลาดมีขนาดเล็ก ผู้ผลิตก็ไม่ปรารถนาที่จะผลิตเฉพาะสินค้าชนิดเดียว เพราะเขาไม่มีตลาด
ใหญ่พอที่จะรับซื้อสินค้าชนิดเดียวกันจำนวนมากที่เขาผลิตขึ้น ตลาดจะใหญ่ขึ้นเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับการขนส่งที่สะดวกและการค้าที่เสรีไม่มีการเก็บภาษี
สินค้าผ่านแดน
ในทรรศนะของสมิท การแบ่งงานกันทำยังขึ้นกับปริมาณทุนอีกด้วย สมิทกล่าวว่าในสังคมที่ไม่มีการแบ่งงานกันทำและไม่มีการแลกเปลี่ยน สังคมที่สมาชิกทำสิ่งของไว้ใช้ของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีการสะสมทุนไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดต้องการสิ่งใดก็ผลิตสิ่งนั้นขึ้นมาในทันที แต่เมื่อมีการแบ่งงานกันทำ บุคคลจะต้องทำสินค้าที่ตนถนัดจนเสร็จสิ้นแล้วเอาไปขายได้เงินมา จึง
จะนำเงินนั้นไปซื้อสินค้าอื่นที่ต้องการได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีทุนไว้ก่อนเพื่อเลี้ยงชีวิต และเพื่อซื้อเครื่องมือและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อย่างน้อยก็จนกระทั่งเมื่อนำสิ่งของที่ผลิตได้ไปแลกเปลี่ยน การแบ่งงานกันทำจึงขึ้นอยู่กับระดับของการสะสมทุน ยิ่งมีการสะสมทุนมากก็ยิ่งมีการแบ่งงานกันทำมาก นอกจากนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานให้สูงยิ่งขึ้นอีก ก็จะต้องเตรียมหาเครื่องมือและเครื่องจักรมาให้ใช้ประกอบกับแรงงานไว้ก่อนซึ่งก็ย่อมหมายถึงการเพิ่มการสะสมทุนขึ้นอีก ปริมาณทุนจำกัดการอุตสาหกรรม ปริมาณทุนนี้ขึ้นอยู่กับการออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระทำของสมาชิกแต่ละคนในสังคมเอง ซึ่งต่างต้องการจะยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของตน ความต้องการนี้ติดกันมากับมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และจะไม่จากมนุษย์ไปจนกว่ามนุษย์จะอยู่ในหลุมฝังศพ การออมทรัพย์เพื่อลงทุน เป็นการกระทำเพื่อตัวเองของมนุษย์แต่ละคนโดยแท้ มิใช่เป็นการกระทำของสังคม
ใจความสำคัญของทฤษฎีเศรษฐกิจการเมืองของสมิท ก็คือ การผลิตและการแลกเปลี่ยนจะดำเนินไปโดยให้ผลดีที่สุด โดยการกระทำของมนุษย์แต่ละคนเอง อันเกิดจากสัญชาตญาณความรักตัวและเห็นแก่ตัวเอง มนุษย์แลกเปลี่ยนก็เพื่อประโยชน์ของตัวเอง มนุษย์ออมทรัพย์ก็เพื่อยกฐานะของตัวเอง แต่ผลที่ได้คือการขยายตัวของการแบ่งงานกันทำ การเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต และการเพิ่มผลผลิตของประเทศ การกระทำเพื่อตัวเองของมนุษย์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมด้วย ขณะเดียวกัน การประสานงานในสังคมเศรษฐกิจเป็นผลจากการแลกเปลี่ยนอันเป็นการกระทำด้วยตัวเอง ของปัจเจกชนมากมาย มิได้มีองค์การกลางใดทำหน้าที่วางแผนการ หรือได้มีการตกลงกันไว้ก่อนระหว่างบุคคลทั้งหลาย สภาพเช่นนี้เป็นไปได้และให้ผลดีที่สุดด้วย นี่คือรากฐานของความคิดเสรีนิยมที่เน้นเสรีภาพของมนุษย์ในทางเศรษฐกิจและการเมือง
ในสังคมเศรษฐกิจที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นอิสระต่อกัน และต่างมีเสรีภาพในการผลิตและการบริโภค มีปัญหาว่า การผลิตจะปรับตัวกับความต้องการอย่างไร ในกรณีนี้จะต้องพิจารณาทฤษฎีมูลค่าและราคา (Theory of Value and Price) ของสมิท
สมิทกล่าวว่ามีมูลค่า (Value) อยู่สองชนิด คือ มูลค่าที่เกิดจากประโยชน์ในการใช้ (Value-in-Use) และมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน (Value-in-Exchange) มูลค่าที่เกิดจากประโยชน์ในการใช้คือความสำคัญของสิ่งของในทรรศนะของผู้ใช้ สิ่งนี้นักเศรษฐศาสตร์ยุคต่อมาเรียกว่า ประโยชน์ (Utility) ส่วนมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนคือ อำนาจของของสิ่งนั้นที่จะเรียกสิ่งของอื่นมาแลกเปลี่ยนกันในตลาด หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปริมาณของสิ่งของอื่นที่ประชาชนในตลาดยินดีนำมาแลกกับของสิ่งนั้น
สมิทกล่าวว่า มูลค่าที่เกิดจากประโยชน์ในการใช้กับมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน เขายกตัวอย่าง เช่น น้ำ มีมูลค่าที่เกิดจากประโยชน์ในการใช้มาก แต่กลับมีมูลค่าที่เกิดจากการเเลกเปลี่ยนต่ำ และที่สมิทสนใจอธิบายคือมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน
มูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยน คือ ราคาตลาด (Market Price) ราคานี้จะถูกกำหนดด้วยสภาพดีมานด์และซัพพลายของสินค้า ซึ่งอาจสูงกว่า หรือต่ำกว่าราคาธรรมชาติ (Natural Price) ซึ่งคือราคาที่เท่ากับค่าผลิต สมิทเรียกปริมาณที่ต้องการที่ราคาธรรมชาติว่า ดีมานด์ซึ่งทำให้เกิดผล (Effectual Demand) ณ ระดับราคาซึ่งสูงกว่าราคาธรรมชาติปริมาณที่ต้องการจะลดลง และ ณ ระดับราคาซึ่งต่ำกว่าราคาธรรมชาติปริมาณที่ต้องการจะมากขึ้น ถ้าซัพพลายในตลาดมีน้อยและเท่ากับปริมาณที่ต้องการ ณ ระดับราคาสูง ราคาตลาดก็จะขึ้นสูงถึงระดับนั้น กล่าวคือ ผู้ขายจะขาย ณ ราคาที่เขาสามารถจะได้รับ และสามารถขายได้หมดด้วย แต่ถ้าซัพพลายมีมากและจะสามารถขายได้หมดก็เมื่อราคาลดต่ำลง การแข่งขันระหว่างผู้ขายเพื่อจะขายให้ได้จะผลักดันให้ราคาลดต่ำลง ที่สมิทกล่าวมานี้
ก็คือ ทฤษฎีราคา ของวิชาเศรษฐศาสตร์นั่นเอง การผลิตปรับตัวกับความต้องการผ่านทางการปรับตัวของระดับราคา และระบบราคานี่แหละ ที่กำหนด
การแจกจ่ายทรัพยากร (Allocation of Resources) โดยที่รัฐและรัฐบาลไม่ต้องเข้ามายุ่งด้วย
สมิทได้ชี้ให้เห็นทฤษฎีสำคัญของเศรษฐศาสตร์นี้มา
แต่แรกเริ่มแล้ว แต่นักเศรษฐศาสตร์อื่นในสำนักของเขาไม่ได้เข้าใจทฤษฎีของเขาอย่างชัดแจ้ง และไปเข้าใจว่าดีมานด์มีอยู่ปริมาณเดียวตายตัวและหันไปให้
ความสำคัญกับซัพพลายเท่านั้น
สมิทกล่าวว่า ในระยะยาวแล้วราคาตลาดจะโน้มเอียงเท่ากับราคาธรรมชาติ เพราะถ้าการผลิตปัจจุบันมีปริมาณน้อยกว่าดีมานด์ซึ่งทำให้เกิดผลและราคาสูงกว่าราคาธรรมชาติ ก็หมายความว่า ค่าจ้าง กำไร หรือค่าเช่า ซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมนี้จะสูงกว่าในอุตสาหกรรมอื่น ทำให้ดึงดูดปัจจัยการผลิตจากการว่าจ้างที่ให้ค่าตอบแทนต่ำกว่ามาสู่อุตสาหกรรมที่กล่าวถึง
ทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น จนทำให้ราคาลดลง จนถึงระดับราคาธรรมชาติ
ตรงกันข้ามถ้ามีการผลิตสินค้ามากเกินไปและราคาตลาดต่ำกว่าค่าผลิต ก็จะมีผลกระทบแรงงาน ทุน และที่ดินที่ใช้ในอุตสาหกรรมนั้น ทำให้ปัจจัยการผลิตผละออกไปสู่การจ้างงานอื่น ปริมาณการผลิตจะลดลง ทำให้ราคาสูงขึ้นจนถึงระดับราคาธรรมชาติซึ่งเท่ากับค่าผลิตทฤษฎีของสมิทในเรื่องราคาตลาดโน้มเอียงเท่ากับราคาธรรมชาติ คือ ความคิดเรื่องระดับราคาโน้มสู่สมดุล (Equilibrium) ซึ่งเป็นที่ยึดถือของนักเศรษฐศาสตร์ต่อมา จะเห็นได้ว่าทฤษฎีของสมิทมีสมมติฐานว่า ปัจจัยในการผลิตเคลื่อนย้ายได้โดยเสรี
จากอุตสาหกรรมที่ให้ค่าตอบแทนต่ำไปสู่อุตสาหกรรมที่ให้ค่าตอบแทนสูง ไม่มีสิ่งกีดขวางการเคลื่อนย้ายเช่นว่านั้น และมนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพ ที่จะออกจากงานและกิจการเก่าซึ่งให้ค่าตอบแทนต่ำไปสู่กิจการที่ให้ค่าตอบแทนสูงสุด ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นระบบที่ให้เสรีภาพเต็มที่ ซึ่งเสรีภาพนี้จะอำนวยต่อการจัดระบบสู่ดุลยภาพเองและทำให้ราคาตลาดเป็นราคาที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไป แต่จะเท่ากับราคาธรรมชาติ สมิทกล่าวด้วยว่า ในบางกรณีระบบเศรษฐกิจก็มิได้อยู่ในสภาพอุดมคติดังที่เขาวาดภาพไว้ บางครั้งราคาตลาดอาจสูงกว่าราคาธรรมชาติได้เป็นเวลานาน เช่น ถ้าผู้ผลิตมีวิธีพิเศษในการผลิตซึ่งทำให้ค่าผลิตลดลงมาก หรือได้ยึดครองที่ดินซึ่งให้ผลอุดมอย่างผิดคาดหรือเป็นผู้ผูกขาดในการผลิต สมิทกล่าวว่า ผู้ผูกขาดจะจำกัดซัพพลายให้น้อยอยู่เสมอ คือ ให้ต่ำกว่าปริมาณดีมานด์ที่ทำให้เกิดผล (Effectual Demand) ทำให้ขายสินค้าได้ในราคาสูงกว่าราคาธรรมชาติ สมิทชี้ให้เห็นว่าราคาผูกขาดเป็นราคาที่สูงที่สุด ขณะที่ราคาธรรมชาติหรือราคาที่ปล่อยให้มีการแข่งขันเสร็จะเป็นราคาที่ต่ำที่สุด
สมิทมองเห็นว่าการจัดตัวในระบบเศรษฐกิจจะเป็นการกระทำโดยนักธุรกิจนายจ้างทั้งหลายผู้ซึ่งจะใช้ปัจจัยในการผลิตในกิจการที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ส่วนแรงงานก็จะหางานที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดทำ ถ้าไม่มีการผูกขาด หรือการคุ้มครองหรือการให้อภิสิทธิ์แล้ว เมื่อมีการแข่งขันการใช้ทรัพยากรจะเป็นไปในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งแก่ปัจเจกชน
และแก่สังคม และทำให้ระดับราคาต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คือ เท่ากับราคาธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงค่าผลิต การจัดตัวของระบบเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นโดยกระบวนการที่เสรีของแต่ละหน่วยเศรษฐกิจเอง มิต้องมีการแทรกแซงโดยรัฐและรัฐบาล ดังที่สมิทได้กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจมี "มือที่มองไม่เห็น (The Invisible Hand)” กำกับให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายดำเนินไปได้โดยเป็นประโยชน์ ทั้งแก่ปัจเจกชนและแก่สังคม
คำอธิบายของสมิทที่ว่าด้วยส่วนประกอบของค่าผลิต ได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ สมิทกล่าวว่าในสังคมเศรษฐกิจล้าหลังค่าผลิตเกิดจากแรงงานอย่างเดียว มูลค่าของสิ่งของก็เท่ากับค่าของแรงงานอย่างเดียว นักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อมาบางคนได้ตีความหมายคำอธิบายของสมิทในเรื่องเฉพาะสังคมล้าหลังนี้ว่าเป็นเรื่องทั่วไป และถือว่า
สมิทเป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีมูลค่าเกิดจากแรงงาน (Labour Theory of Value) แต่เมื่อพิจารณาข้อเขียนของสมิทโดยละเอียดแล้วจะเห็นว่าสมิท เพียงแต่
"ถือว่าทฤษฎีนี้เป็นจริงเฉพาะในสังคมเศรษฐกิจล้าหลังซึ่งการผลิตยังไม่ต้องการปัจจัยการผลิตอื่นมาประกอบ แต่ในสังคมที่เจริญขึ้นแล้วค่าผลิตประกอบด้วยค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าและกำไร เพราะในการผลิตต้องการที่ดินและทุนด้วย แรงงานจึงต้องแบ่งปันค่าตอบแทนกับเจ้าของที่ดินและนายทุน กล่าวคือ สมิทถือว่าในการผลิตปัจจัยอื่นมีส่วนในการผลิตและควรได้รับค่าตอบแทน ซึ่งในบทหลังจะเห็นว่าแตกต่างกับคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งถือว่าการผลิตเกิดจากแรงงานเท่านั้น และแรงงานเท่านั้นควรได้ค่าตอบแทน
ฉะนั้นถ้าจะถือว่าคาร์ล มาร์กซ์ได้ความคิดมาจากทฤษฎีของสมิทในเรื่ององค์ประกอบของค่าผลิตก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะเป็นการเข้าใจทฤษฎีของสมิทที่ยังผิดพลาดอยู่ อย่างไรก็ตามก็จะต้องยอมรับว่าสมิทอธิบายเรื่องมูลค่าสินค้ากับแรงงานนี้สับสนอยู่บ้าง และการแยกแยะต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะถึงแม้สมิทจะยอมรับว่ามูลค่าสินค้าเกิดจากค่าผลิตหลายชนิด
ในส่วนหนึ่งของหนังสือของเขา สมิทกล่าวว่า มาตรฐานวัดมูลค่าขั้นสุดท้ายแล้วคือแรงงาน แต่ในที่นี้สมิทไม่ได้หมายความว่าปริมาณของแรงงานกำหนดมูลค่าของสินค้า สมิทเพียงบอกว่ามูลค่าของสินค้าสามารถเทียบออกมาได้เป็นปริมาณของแรงงาน และการเทียบนี้จะสามารถทำได้เป็นการทั่วไปและเป็นข้อยุติที่ดี เพราะสมิทถือว่าปริมาณแรงงานในหนึ่งวันมีค่าตายตัว ส่วนค่าของเงินทองนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้
ด้วยความเชื่อในการผสานประโยชน์ของสมาชิกของสังคมผ่านทางการแลกเปลี่ยนโดยเสรี และการแข่งขันในตลาด สมิทจึงเห็นว่าบทบาทของรัฐบาลควรมีจำกัด การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลมากเกินไปจะเป็นการ
ทำลายธรรมชาติของการติดต่อแลกเปลี่ยนของมนุษย์ หน่วยการผลิตควรเป็นของเอกชน เอกชนเป็นผู้สะสมทุนและตั้งกิจการในทางเศรษฐกิจ สมิทเห็นว่ารัฐบาลควรมีหน้าที่จำกัดเพียง 3 ประการ คือ
1. ป้องกันประเทศ
2. คุ้มครองสมาชิกของสังคมจากความอยุติธรรม
3. จัดการก่อตั้งและบำรุงรักษาสถาบันสาธารณะและกิจการสาธารณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ยิ่งแก่สังคม แต่มีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ในข้อนี้สมิทเสนอให้รัฐบาลมีหน้าที่จัดการเรื่องเงินตรา การขนส่ง สิทธิบัตร
และการศึกษา
จะเห็นได้ว่าในทรรศนะของสมิท รัฐบาลมีหน้าที่เพียงเป็นคนกลางคอยรักษากฎเกณฑ์ของสังคม และคอยตัดสินโดยยุติธรรม และให้บริการ
กิจการรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมบางประการเท่านั้น นอกนั้นปล่อยให้เป็นกิจกรรมของปัจเจกชน ตามความคิดลักษณะนี้ รัฐบาลเป็นเพียงเครื่องมือที่รับไปให้ปัจเจกชนรวมอยู่เป็นสังคมได้
ในสังคมเศรษฐกิจของสมิท หน่วยเศรษฐกิจอิสระทั้งหลายจะได้รับการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยทางสถาบันตลาด คือ การแลกเปลี่ยนซึ่งจะให้ประโยชน์แก่ผู้แลกเปลี่ยนทั้งสองฝ่าย และแก่สังคมส่วนรวมด้วย การแลกเปลี่ยนเป็นไปโดยสมัครใจ กล่าวคือ ระบบตลาดเป็นระบบที่มีการแข่งขันเสรี ทำให้แต่ละบุคคลมีโอกาสเลือกที่จะแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ให้ประโยชน์แก่เขาสูงสุด
ระบบตลาดนี้จะเป็นผู้กำหนดการใช้ทรัพยากรของเศรษฐกิจ และทำให้มีการใช้ทรัพยากรในทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ปัจเจกชนและสังคม กล่าวคือจะมีการใช้ทรัพยากรมากในกิจการที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งหมายความว่าเป็นกิจการที่มีความต้องการมาก และ
การใช้ทรัพยากรจะเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเพราะในระบบแข่งขันการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพจะดำรงอยู่ไม่ได้ เนื่องจากขาดทุนต้องเลิกกิจการ ระบบเศรษฐกิจของสมิทจึงเป็นระบบที่ให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจเต็มที่กับสมาชิก
สมิทอธิบายว่าการประสานงานในระบบเช่นนี้เป็นไปได้โดยไม่ต้องมีการบังคับ และระบบเช่นนี้จะนำมาซึ่งความก้าวหน้าสูงสุด ลัทธิเศรษฐกิจที่สมิทเสนอนี้ คือ ต้นกำเนิดลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ลัทธินี้ต่อต้านระบบศักดินาโดยตรง เพราะในระบบศักดินาบุคคลจะประกอบกิจการเศรษฐกิจโดยเสรีไม่ได้ แต่ต้องผลิตตามประเพณีและส่งมอบผลผลิตแก่ผู้ปกครอง ไม่มี
การแลกเปลี่ยนเสรีในตลาด การค้าขายเป็นกิจการผูกขาดของผู้ปกครองหรือไม่ก็ถูกจำกัดต่าง ๆ โดยผู้ปกครอง ลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจของสมิทได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดระบบการค้าขายเสรีและการจำกัดการแทรกแซงของรัฐบาลในการเศรษฐกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมของยุโรปตะวันตก ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกเมื่อศตวรรษที่ 18 และ 19 เป็นการกระทำของปัจเจกชนเป็นส่วนใหญ่
มีข้อโต้แย้งสิทธิของสมิทหลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะข้อสมมติของสมิทที่ว่าในตลาดมีการแลกเปลี่ยนโดยเสรีซึ่งทุกฝ่ายได้ประโยชน์ มีผู้โต้แย้งว่าการค้าขายแลกเปลี่ยนโดยเสรีนั้นมิได้ปรากฏในความเป็นจริงเสมอไป เพราะจะมีฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้สามารถเอาประโยชน์ได้จากการแลกเปลี่ยน ทำให้ไม่ใช่เป็นการแลกเปลี่ยนแท้จริง แต่มีลักษณะการขึ้นอยู่แก่กันและการบังคับให้ส่งมอบสินค้าแฝงอยู่ ฉะนั้นการที่สมิทกล่าวว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้นจึงอาจไม่เป็นความจริง
เสมอไป อาจเป็นได้ว่าเฉพาะบางฝ่ายเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการติดต่อในตลาด การที่รัฐบาลมิได้เข้าแทรกแซงปล่อยให้ปัจเจกชนต่อรองกันเอง
เป็นช่องทางให้ผู้ที่แข็งแรงเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอได้ สมิทเองก็ยอมรับว่า บุคคลทำการแลกเปลี่ยนก็เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา ซึ่งในแง่นี้สมิทต่างกับนักคิดก่อนหน้าเขาที่เห็นว่ามนุษย์แลกเปลี่ยนเพราะมนุษย์เป็นคนดี ปรารถนาจะช่วยมนุษย์ผู้อื่น เมื่อการติดต่อสัมพันธ์ในตลาดเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเช่นนี้แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ถ้ามีโอกาสมนุษย์จะไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และเฉพาะบางฝ่ายเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการติดต่อสัมพันธ์
โรเบิร์ต มัลทัส
โรเบิร์ต มัลทัส (Thomas Robert Malthus, 1776-1834) เป็นชาวอังกฤษ บิดาเป็นนักกฎหมายมีฐานะดี มัลทัสได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หลังจากจบการศึกษาเขาได้สมัครเป็นนักบวชของ
ศาสนาคริสต์ นิกายอังกฤษและได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนศาสนาในตำบลหนึ่ง ระหว่างที่ถือบวชอยู่ มัลทัสได้เขียนหนังสือชื่อ An Essay on the Principles of Population (1798) ซึ่งเป็นข้อเขียนเกี่ยวกับประชากรที่มีชื่อเสียงมาก หนังสือเล่มนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมที่สำคัญหลายครั้ง โดยมัลทัสได้เพิ่มเติมหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก ด้วยประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการเดินทางท่องเที่ยวในภาคพื้นทวีปยุโรป ใน ค.ศ. 1805 มัลทัสได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองที่
East India College ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในอังกฤษเพื่อสอนผู้ที่จะทำงานในบริษัทอินเดียตะวันออก มัลทัสสอนที่วิทยาลัยนจนกระทั่งถึงแก่กรรม ระหว่างที่เขาเป็นศาสตราจารย์เขาได้สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ เดวิด ริคาร์โด และได้ร่วมกันตั้ง Political Economy Club ใน ค.ศ. 1821โดยในปีก่อนหน้านั้น (1820) มัลทัสได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ Principles of Political Economy
มัลทัสได้รับชื่อเสียงมากจากทฤษฎีประชากรของเขาซึ่งเป็นที่กล่าวอ้างกันมาจนถึงทุกวันนี้ เขากล่าวว่า ประชากรเพิ่มขึ้นตามอัตราเรขาคณิต
(Geometric Progression) หรืออัตราทวีคูณ คือ 1,2,4,8,16 ... ขณะที่ อาหารเพิ่มขึ้นตามอัตราเลขคณิต (Arithmetic Progression) หรืออัตรา
บวก คือ 1,2,3,4,5 ..... เมื่อเป็นเช่นนี้ภายในเวลาไม่นานอัตราส่วนระหว่างประชากรกับอาหารจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังตัวเลข ดังต่อไปนี้
ประชากร 1,2,4,6,8,16,32,64,128,256
อาหาร 1,2,3,4,5,6,7,8,9
หมายความว่าจะเกิดการขาดแคลนอาหารขึ้นอย่างมากมาย มัลทัสกล่าวว่าทฤษฎีของเขามีสมมติฐานเพียง 2 ประการ คือ 1. อาหารจำเป็นสำหรับ
การดำรงชีวิตของมนุษย์ และ 2. อารมณ์ระหว่างเพศเป็นสิ่งจำเป็นและจะดำรงอยู่ในลักษณะปัจจุบัน
มัสทัสกล่าวว่า ถ้าสมมติฐาน 2 ข้อนี้เป็นจริง ทฤษฎีประชากรก็จะเป็นดังที่เขากล่าวอ้าง
มัลทัสสนับสนุนข้ออ้างของเขาที่ว่าประชากรจะเพิ่มในอัตราเรขาคณิต เพียงด้วยตัวอย่างประสบการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเขาพบว่าประชากรเพิ่มขึ้นเท่าหนึ่งใน 25 ปี สำหรับอัตราเพิ่มของอาหาร
มัลทัสก็กล่าวว่าอาหารจะเพิ่มขึ้นเท่าหนึ่งทุก 25 ปีเหมือนกัน และในกรณีของอาหารนี้มัสทัสก็ไม่มีตัวอย่างสนับสนุน แต่อาจอนุมานได้ว่าการที่ถือ
เอาอัตราเลขคณิตเป็นอัตราเพิ่มหมายความว่ามัลทัสเห็นว่าการผลิตอาหารอยู่ภายใต้กฎการลดถอยลงของผลตอบแทน (The Law of Diminishing Returns) โดยมีที่ดินเป็นปัจจัยที่จำกัด และไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเทคนิคของการผลิต
การเพิ่มอย่างไม่สมดุลกันระหว่างประชากรกับอาหารนี้ไม่สามารถดำเนินไปได้ตลอด เท่าที่ผ่านมามีสิ่งขวางกั้น (Check) ไม่ให้ประชากรเพิ่มมากเกินปริมาณอาหาร สิ่งขวางกั้นนี้มัลทัสกล่าวว่ามีสองชนิด
ชนิดแรกเรียกว่า Positive Check คือสิ่งที่บั่นทอนชีวิตมนุษย์ให้สั้นลง เช่น โรคระบาด สงคราม การขาดอาหาร เป็นต้น เหล่านี้ก่อให้เกิดความยากแค้นอย่างยิ่งแก่มนุษย์ และที่สำคัญคือมีผลทำให้การเพิ่มประชากรหยุดชะงัก
สิ่งขวางกั้นชนิดที่สองเรียกว่า Preventive Check มัลทัสได้ขยายความความหมายของสิ่งขวางกั้นชนิดที่สองนี้ในการพิมพ์ An Essay on the Principles of Population ครั้งหลัง เขาอธิบายว่า Preventive Check หมายถึงการควบคุมทางจิตใจ คือการเลื่อนการสมรสออกไปจนกว่าคู่สมรสจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ และไม่ยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกการสมรส มัลทัสกล่าวว่า positive check เป็นข้อกีดกั้นการเพิ่มประชากรในสังคมล้าหลังและสังคมโบราณ ส่วนวิธี preventive check เป็นวิธีของสังคมที่มีอารยธรรม มัลทัสแนะนำว่าควรให้การศึกษาแก่บุคคลให้เข้าใจปัญหาประชากรและชี้แจงให้เขาเลื่อนการสมรสออกไปจนกว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอ
ความหมายสำคัญของทฤษฎีประชากรของมัลทัส คือ ระดับค่าจ้างที่แท้จริง (Real wage) ของแรงงานย่อมมีแนวโน้มเท่ากับระดับพอยังชีพ (Subsistence Level) เพราะถ้าค่าจ้างเพิ่มขึ้นการเพิ่มของประชากรอย่าง
รวดเร็วก็จะดึงอัตราค่าจ้างลงมาเท่ากับระดับพอยังชีพอีก มนุษย์มีกรรมที่ไม่สามารถหนีจากห่วงของความยากจนได้ ตรงข้ามกับแนวคิดของสมิท ซึ่งตั้งชื่อ
หนังสือของเขาว่า "การค้นหาสาเหตุของความมั่งคั่งของชาติ”
มัลทัส ได้ชี้เห็นว่าในระบบเศรษฐกิจมีปัญหาบางประการแฝงอยู่ซึ่งอาจนำไปสู่ "ความยากจนของชาติ" ได้ แม้ว่ามัลทัสจะมิได้คัดค้านสมิทในเรื่องความ
ผสมกลมกลืนของผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมและการดำเนินงานของกลไกของตลาด มัลทัสก็เริ่มชี้ให้เห็นว่าการผลิตอาจมีข้อจำกัด และไม่ควรมองเศรษฐกิจด้วยการเล็งผลเลิศแต่ถ่ายเดียว ต่อจาก มัลทัสแล้ว ริคาร์โดเป็นนักเศรษฐศาสตร์อีกผู้หนึ่งในสำนักคลาสสิกที่ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการวิภาค
สมมติฐานข้อสำคัญของมัลทัสก็คือการที่เทคนิคในการผลิตคงที่ สมมติฐานข้อนี้ต่อมาได้รับการพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริงเสมอไป การพัฒนาเศรษฐกิจในยุโรปตะวันตกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการผลิตทั้งในทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม มีการใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ ซึ่งมีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มสูงมาก และผลตอบแทนมีลักษณะเป็นเพิ่มทวีคูณ (Increasing Returns) ไม่ใช่ลดน้อยลง (Diminishing Returns) การที่มัลทัสกล่าวว่า อาหารจะเพิ่มขึ้นในอัตราเลขคณิตจึงไม่เป็นความจริงในยุโรปตะวันตก เช่นเดียวกับอัตราการเพิ่มของประชากรก็มีแนวโน้มลดลงเมื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดำเนินไป เพราะประชาชนได้เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการมีบุตร
ตรงกันข้ามกับสภาพการณ์ในยุโรปตะวันตก ประเทศด้อยพัฒนาปัจจุบันกำลังประสบปัญหาประชากร ทฤษฎีของมัลทัสสามารถใช้อธิบายปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะในประเทศด้อยพัฒนาเทคนิคการผลิตยังมิได้เปลี่ยนแปลง ขณะที่ประชากรเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา นับว่าจำนวนประชากรที่มากเกินไป เป็นสาเหตุสำคัญข้อหนึ่ง ทำให้ประเทศเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ในวัฏจักรของความยากจน
นอกจากทฤษฎีประชากรแล้ว มัลทัสยังเป็นผู้เริ่มตั้งข้อสงสัยและชี้ปัญหาสินค้าเหลือในตลาดเพราะขาดดีมานด์ ตามทฤษฎีของสมิทนั้นการเปลี่ยนแปลงในระดับสินค้าจะทำให้ขายสินค้าได้หมด
ศิษย์ชาวฝรั่งเศส ของสมิทคือ ยัง แบบติสต์ ซาย (Jean Baptiste Say, 1767-1832) ยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า "ซัพพลายก่อให้เกิดดีมานด์ (Supply Creates Its Own Demand)" ซึ่งหมายความว่า ผู้ผลิตสินค้าขึ้นมาก็เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนในตลาดกับสินค้าอื่น ดังนั้นสินค้าที่ผลิตขึ้นมา (ซัพพลาย) จึงก่อให้เกิด
ดีมานด์สำหรับสินค้าชนิดอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่ง รายได้ที่เกิดจากการผลิตสินค้าจะก่อให้เกิดรายจ่ายสำหรับซื้อสินค้าเป็นจำนวนที่เท่ากันเสมอ และรายจ่ายจำนวนนี้จะเพียงพอที่จะซื้อสินค้าทั้งหมดที่ผลิตขึ้นมาได้ ดังนั้นการที่สินค้าล้นตลาดจึงเป็นไปไม่ได้ มัลทัสคัดค้านความคิดนี้ เขาเชื่อว่าการที่สินค้าเหลือในตลาดเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เขาแบ่งสินค้าออกเป็น 2 ชนิด คือ
สินค้าจำเป็น ส่วนใหญ่คืออาหาร และ สินค้าไม่จำเป็น
สำหรับสินค้าจำเป็นนั้นไม่มีการเหลือดังที่ได้แสดงให้เห็นแล้วจากทฤษฎีประชากร แต่สำหรับสินค้า
ไม่จำเป็นอาจมีการเหลือได้ เพราะการซื้อสินค้าเหล่านี้ขึ้นกับผู้มีรายได้สูง เช่น นายทุนและเจ้าของที่ดิน ขึ้นกับรสนิยมของบุคคลจำนวนน้อยนี้ บุคคลเหล่านี้อาจเก็บเงินรายได้ไว้แทนที่จะนำมาใช้สอย ซึ่งการออมทรัพย์นี้ทำให้เกิดสินค้าเหลือขึ้น
อีกประการหนึ่งการที่รัฐบาลอังกฤษลดรายจ่ายทางทหารลงหลังจากสงครามนโปเลียนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดีมานด์ทั้งหมดมีไม่พอซื้อสินค้า จะเห็นได้ว่ามัลทัสเริ่มสงสัยกลไกของตลาดในการจัดจำหน่ายสินค้าในตลาดให้หมดสิ้นว่าอาจทำได้ไม่สมบูรณ์ทีเดียว กฎของซายที่ว่าซัพพลายก่อให้เกิดดีมานด์อาจเป็นจริงเฉพาะเมื่อรายได้ถูกใช้จนหมด แต่ถ้ามีการออมทรัพย์และเก็บรายได้ส่วนหนึ่งไว้เฉย ๆ ก็อาจก่อให้เกิดการมีสินค้าเหลือได้ เพราะดีมานด์ทั้งหมดมีไม่พอ ในหนังสือ Principles of Political Economy มัลทัสจึงได้เสนอข้อแก้ไขว่าให้ส่งเสริมการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นบ้าง ให้เจ้าของที่ดินจ้างแรงงานที่ไม่มีงานทำ ทำงานในที่ดินของตน และให้รัฐจัดทำกิจการสาธารณะต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างงาน
ข้อสังเกตและข้อเสนอของมัลทัสในเรื่องนี้ต่อมาภายหลังได้รับการขยายความและสร้างเป็นทฤษฎีสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ โดยจอห์น เมนาร์ด เคน (John Maynard Keynes, 1883-1946) นักเศรษฐศาสตร์
อังกฤษในศตวรรษที่ 20 เรียกว่า "ทฤษฎีรายได้และการจ้างทำงาน"
เดวิด ริคาร์โด
เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo, 1772-1823) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวชาวยิวในเนเธอร์แลนด์ พ่อของริคาร์โดเป็นชาวยิวมีอาชีพเป็นนายหน้าตลาดหุ้น ริคาร์โดได้เข้า
ทำงานในธุรกิจตลาดหุ้นแต่อายุยังน้อย เมื่อเขาแต่งงานกับภริยาซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ เขาก็เปลี่ยนศาสนาและแตกกับครอบครัวเดิมของเขา ริคาร์โด
จึงตั้งกิจการนายหน้าตลาดหุ้นของเขาเอง และได้กำไรอย่างดี คาดกันว่าเขามีเงินถึง 2 ล้านปอนด์จากธุรกิจตลาดหุ้น ซึ่งเงินจํานวนนี้ถือว่ามากในสมัย
นั้น ริคาร์โดมิได้รับการศึกษาในมหาวิทยาลัยดั่งเช่น อดัม สมิท เขาได้รับความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จากการทำงานธุรกิจ ริคาร์โดเริ่มเขียนหนังสือทางด้านการเงินและธนาคารก่อน จนใน ค.ศ. 117 เขาจึงได้พิมพ์หนังสือเล่มสำคัญที่สุดของเขา The Principles of Political Economy and Taxation หนังสือได้รับการต้อนรับดีและทำให้ริคาร์โดมีชื่อเสียง หนังสือ
เล่มนี้เขียนเป็นลักษณะนามธรรม (Abstract) และเข้าใจยาก แต่ก็นับเป็นหนังสือทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกที่ให้ความสนใจมากกับการวิภาค (Distribution) ต่างกับหนังสือของอดัม สมิท ซึ่งให้ความสนใจกับการผลิต (Production) ใน ค.ศ. 1819 ริคาร์โดได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษมาจากเขตเลือกตั้งในไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้มีสิทธิออกเสียงน้อยมาก มีผู้กล่าวหาว่าริคาร์โดซื้อเสียงในการเลือกตั้ง แต่เขาก็ได้รับการนับถือดีในรัฐสภาว่าเป็นผู้มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ เขาอยู่ข้างเดียวกับพวกเสรีนิยมที่เสนอให้มีการปรับปรุงต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1821 ริคาร์โด
ได้ร่วมตั้งสมาคมเศรษฐศาสตร์การเมือง (The Political Economy Club) ในอังกฤษซึ่งมีโรเบิร์ต มัลทัส เป็นสมาชิกด้วย สมาคมนี้ได้มีส่วนในการ
เผยแพร่ความคิดในเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกให้เป็นที่แพร่หลายในเกาะอังกฤษ
เช่นเดียวกับโรเบิร์ต มัลทีส, เดวิด ริคาร์โด เป็นนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกที่มองสังคมเศรษฐกิจในแง่ร้าย และเห็นว่าระบบเศรษฐกิจเสรี ถึงแม้จะเป็นระบบที่ดีที่สุด แต่ก็มีปัญหาแฝงอยู่มาก และในท้ายที่สุดปัญหาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความชะงักงันในความจำเริญทางเศรษฐกิจได้
ถึงแม้หลักเศรษฐศาสตร์ของริคาร์โดจะมีพื้นฐานอยู่บนลัทธิเสรีนิยมของ อดัม สมิท ทฤษฎีบางส่วนของริคาร์โดก็ได้ถูกนำไปใช้ขยายความโดยฝ่ายมาร์กซิสม์และฝ่ายสังคมนิยม ทฤษฎีมูลค่า (Theory of Value) ของริคาร์โด ได้ถูกคาร์ล มาร์กซ์ นำไปใช้เป็นพื้นฐานอธิบายทฤษฎีมูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) ส่วนทฤษฎีค่าเช่าของเขาถูกขยายความต่อโดยพวกสังคมนิยมเฟเบี้ยน (Fabian Socialism) และถือเป็นเหตุผลในการเสนอโอนปัจจัยการผลิตบางส่วนเป็นของรัฐ จะได้กล่าวถึงทฤษฎีมูลค่าของริคาร์โดก่อน และกล่าว
ต่อไปถึงทฤษฎีการแบ่งรายได้เป็นค่าเช่า ค่าจ้าง และกำไร และลงท้ายด้วย ทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ
ทฤษฎีมูลค่าของริคาร์โดกล่าวว่า มูลค่าแลกเปลี่ยน (Exchange Value) ของสินค้าขึ้นอยู่กับ ปริมาณ แรงงานซึ่งจำเป็นในการผลิตสินค้าโดยเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับสมิท, ริคาร์โดให้ความสำคัญน้อยมากกับประโยชน์ (Utility) ของสินค้าในการกำหนดมูลค่าแลกเปลี่ยน ถึงแม้ริคาร์โดจะยอมรับว่าสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์ไม่มีดีมานด์จะไม่มีมูลค่าแลกเปลี่ยน ริคาร์โดก็มีความเห็นว่า ในระยะยาวแล้วมูลค่าแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับค่าผลิตมากกว่า คือขึ้นอยู่กับการปรับตัวของซัพพลายกับความต้องการ ทั้งนี้ ยกเว้นสิ่งของที่ผลิตเพิ่มไม่ได้ เช่น รูปภาพ เหรียญ หรือหนังสือหายาก
กล่าวคือ ริคาร์โดเห็นว่าไม่ว่าดีมานด์จะเป็นเท่าใด ในระยะยาวแล้วมูลค่าแลกเปลี่ยนขึ้นกับค่าผลิต ถ้าค่าผลิตสูงหมายความว่าการผลิตทำขึ้นด้วยความยากลำบากมูลค่าแลกเปลี่ยนก็สูง ถ้าค่าผลิตต่ำหมายความว่าการผลิตทำได้ง่ายมูลค่า แลกเปลี่ยนก็ต่ำ ค่าผลิตเปรียบเทียบนี้ ริคาร์โดกล่าวว่าขึ้นกับปริมาณแรงงานซึ่งจำเป็นในการผลิตสินค้าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งในข้อนี้ความคิดของริคาร์โดแตกต่างไปจากของสมิท เพราะในทรรศนะของสมิทค่าผลิตขึ้นกับปัจจัยการผลิตอื่นด้วยนอกจากแรงงาน คือ ขึ้นอยู่กับที่ดินและทุน แต่สำหรับริคาร์โดค่าผลิตเปรียบเทียบขึ้นอยู่กับปริมาณแรงงานเปรียบเทียบในการผลิตแต่อย่างเดียว ในขณะที่ทฤษฎีของสมิทกล่าวว่าในสังคมล้าหลังเท่านั้น
ที่แรงงานอย่างเดียวกำหนดมูลค่าแลกเปลี่ยน
ริคาร์โดถือว่าทฤษฎีที่ว่า
ปริมาณแรงงานอย่างเดียวกำหนดมูลค่าแลกเปลี่ยนใช้ได้กับสังคมปัจจุบัน
ด้วย และนี่คือ ทฤษฎีมูลค่าเกิดจากแรงงาน (Labour Theory of Value)
ริคาร์โดอธิบายให้เหตุผลสนับสนุนทฤษฎีมูลค่าของเขาอย่างไร?
เขากล่าวว่าปัจจัยในการผลิตมี 3 ชนิด คือ แรงงาน ที่ดิน และทุน แรงงาน
ได้รับผลตอบแทนคือค่าจ้าง ที่ดินได้รับค่าเช่า และทุนได้รับกำไร (ในความคิดของริคาร์โด กำไรรวมดอกเบี้ยด้วย) ริคาร์โดกล่าวว่าค่าตอบแทนต่อที่ดินนั้น ไม่มีส่วนในการกำหนดมูลค่าของสินค้า แต่ถูกกำหนดโดยมูลค่าของสินค้า กล่าวคือ ในสังคมเศรษฐกิจหนึ่งๆ จะมีที่ดินอยู่ปริมาณจำกัด และที่ดินเหล่านี้จะมีคุณภาพในการเพาะปลูกต่างๆ กันไป จากดีไปสู่เลว เมื่อยังมีประชากรน้อยและมีความต้องการใช้ที่ดินไม่มากที่ดินก็ยังไม่มีค่าเช่า ต่อมาเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น การลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้มีการขยายการใช้ที่ดินออกไปสู่ที่ดินใหม่ที่เลวลง ค่าผลิตในที่ดินที่เลวลงจะต้องเพิ่มขึ้นเพราะต้องใช้แรงงานมากขึ้นในการผลิต ส่วนที่ดินเดิมที่ใช้แรงงานน้อยกว่าจะได้รับค่าตอบแทนเรียกว่าค่าเช่า
ค่าเช่าจึงเป็นผลจากการเพิ่มในค่าผลิตเมื่อมีการขยายการผลิตไปสู่ที่เลวลง ฉะนั้น ค่าผลิตจึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยค่าเช่า ในทรรศนะของริคาร์โด ค่าผลิตคือค่าตอบแทนต่อการผลิตในเขตที่ดินที่สภาพแวดล้อมเลวที่สุด (ซึ่งไม่มีค่าเช่า)
เมื่อค่าเช่าไม่ใช่สิ่งกำหนดมูลค่าแล้ว ก็เหลืออยู่เพียงแรงงานและ ทุน ที่จะมีส่วนกำหนดมูลค่า ริคาร์โด อธิบายอย่างไรว่าทุนไม่มีส่วนกำหนดมูลค่าแลกเปลี่ยน ในหนังสือ The Principles of Political Economy
and Taxation บทที่ 1 ส่วนที่ 3 ริคาร์โดอธิบายว่า ทุนคือแรงงานเดิมที่วัดกันอยู่ในเครื่องมือและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เครื่องมือและสิ่งก่อสร้างประกอบด้วยแรงงานเดิมที่ใช้ไปในการสร้างสิ่งของเหล่านี้ขึ้นมา จึงอาจ
จัดรวมส่วนของเครื่องมือและเครื่องก่อสร้างเหล่านี้โดยถือว่าเท่ากับปริมาณเท่านั้นเท่านี้ของหน่วยแรงงานได้
อดัม สมิทเคยยกตัวอย่างว่า ในสังคมล้าหลัง ถ้าการล่าตัวบีเวอร์ตัวหนึ่งใช้เวลา 2 ชั่วโมง ส่วนการล่ากวางตัวหนึ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมง บีเวอร์ตัวหนึ่งจะแลกได้กวาง 2 ตัว ริคาร์โดจึงอธิบายเพิ่มเติมว่าถ้าเครื่องมือในการล่าบีเวอร์ใช้แรงงานมากกว่าในการประดิษฐ์เมื่อ
เทียบกับเครื่องมือในการล่ากวาง บีเวอร์ตัวหนึ่งก็จะมีมูลค่าแลกเปลี่ยนมากกว่ากวาง 2 ตัว ในกรณีนี้มูลค่าแลกเปลี่ยนก็คือปริมาณแรงงานปัจจุบัน บวกกับปริมาณแรงงานในอดีตที่ปรากฏอยู่ในรูปทุน
แต่ในบทที่ 1 ส่วนที่ 4 ริคาร์โดอธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่มีการใช้ทุนกับแรงงานในอัตราส่วนต่างกัน หลักที่ว่ามูลค่าแลกเปลี่ยนกำหนดโดยปริมาณแรงงานจะต้องมีการขยายความ ริคาร์โดยกตัวอย่างว่า ถ้ามีการ
ใช้แรงงานกับทุนใน 2 กรณีต่างกัน คือ ในกรณีแรกใช้แรงงาน 100 คนผลิต เครื่องจักรเสีย 1 ปี แล้วในปีที่สองใช้แรงงานดังกล่าวร่วมกับเครื่องจักรผลิตผ้า ในกรณีที่สองใช้แรงงาน 100 คน ผลิตข้าวโพดโดยตรงหนึ่งปี ริคาร์โดกล่าวว่าเครื่องจักรและผ้าที่ผลิตได้ (แรงงาน 100 คนใน 2 ปี) จะมีค่ามากกว่า 2 เท่าของข้าวโพดที่ผลิตได้ (แรงงาน 100 คนใน 1 ปี)
ทั้งนี้เพราะในกรณีแรกได้มีการลงทุนซ้ำสำหรับกำไรที่ได้รับ กล่าวคือ ลงทุนซ้ำลงไปในเครื่องจักร ในกรณีนี้ผู้ลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนทันทีในปีแรกเพราะทำสินค้า (ผ้า) ออกขายยังไม่ได้ เพราะเพิ่งผลิตเครื่องจักรเสร็จ กำไรจึงแฝงอยู่ในเครื่องจักร จนกระทั่งสิ้นปีที่สองจึงนำสินค้าออกขายได้ ฉะนั้น ผู้ลงทุนในกรณีนี้ควรได้รับค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่เสียไปก่อนที่จะทำสินค้าออกสู่ตลาดได้ ยิ่งเสียเวลานี้นานเท่าไหร่มูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้านั้นก็ยิ่งสูงขึ้น จะเห็นได้ว่าริคาร์โดอธิบายความตอนนี้สับสนมาก
เพราะเป็นการนำเอากำไรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าแลกเปลี่ยนด้วยทั้งๆ ที่ริคาร์โดกล่าวว่าโดยหลักทั่วไปแล้ว มูลค่าแลกเปลี่ยนกำหนดโดยปริมาณ แรงงานเปรียบเทียบ เท่ากับว่าริคาร์โดมีความเห็นว่าหลักทั่วไปของเขาไม่ใช่หลักที่ใช้ได้ทั่วไปจริง ๆ แต่ใช้ได้เฉพาะกรณีที่มีการใช้ทุนกับแรงงานในอัตราส่วนเดียวกัน สำหรับสินค้าที่จะนำมาเปรียบเทียบกัน และ
ถ้าเป็นเช่นนั้นทฤษฎีของเขาที่ว่ามูลค่าเกิดจากแรงงานก็ใช้เฉพาะเช่นเดียวกัน
เท่ากับว่าริคาร์โดอธิบายขัดกับตัวเองอยู่ไม่น้อย
นอกจากทฤษฎีมูลค่าแล้วริคาร์โดยังมีชื่อเสียงมากสำหรับคำอธิบายทฤษฎีการวิภาค (Distribution) ของเขา ริคาร์โดระบุไว้ในคำนำของหนังสือของเขาว่า การวิภาคเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และเขาเห็นว่านักเศรษฐศาสตร์เดิมยังไม่ได้ตอบปัญหานี้อย่างน่าพอใจเขาจึงขอเสนอทฤษฎีของเขาในเรื่องนี้ ในทรรศนะของริคาร์โดรายได้แบ่งออก
เป็นค่าเช่า ค่าจ้างและกำไร ดังที่กล่าวมาแล้ว ค่าเช่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะที่ดินมีจำกัด ยิ่งต้องขยายการเพาะปลูกออกไปในที่ดินที่ไม่สมบูรณ์ก็ต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้นในที่ดินเหล่านั้น ที่ดินที่ดีก็ได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น
ส่วนค่าจ้างนั้นริคาร์โดกล่าวว่าโน้มเอียงที่จะเท่ากับราคาธรรมชาติของแรงงาน ซึ่งคือค่าผลิตแรงงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือค่าใช้จ่ายที่ให้แรงงานพอยังชีพอยู่ได้และมีจำนวนคงที่ (หมายความว่า มีลูกขึ้นมาพอดีทดแทนแรงงานที่ล้มตายไป) เพราะถ้าค่าจ้างสูงกว่านี้แรงงานจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็จะเพิ่มปริมาณขึ้น เมื่อปริมาณแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าจ้างก็จะลดลงเท่ากับ
ระดับพอยังชีพอีก แต่ถ้าค่าจ้างต่ำกว่าราคาธรรมชาติ แรงงานก็จะยังชีพอยู่ไม่ได้และล้มตายไป จำนวนแรงงานจะลดลง ค่าจ้างก็จะสูงขึ้น ฉะนั้น
ค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) จะคงที่ คือ เท่ากับค่าตอบแทนเพียงเพื่อให้แรงงานยังชีพและมีจำนวนคงที่
ในลักษณะนี้ริคาร์โดมองดูค่าจ้างแรงงานในแง่ร้ายกว่ามัลทัสเสียอีก เพราะเขาคิดว่าค่าจ้างจะอยู่แค่ระดับพอยังชีพของแรงงานเท่านั้น ถ้าค่าจ้างสูงกว่านั้นแล้วจำนวนมนุษย์จะเพิ่มขึ้นเสมอไป
ส่วนมัลทัสเชื่อว่ามนุษย์ยังสามารถจำกัดการเพิ่มจำนวนของตนได้ด้วยการยับยั้งชั่งใจของตนเอง ทำให้คงรักษาระดับค่าจ้างที่สูงกว่าระดับพอยังชีพไว้ได้ แต่แม้ว่าริคาร์โดเห็นว่าค่าจ้างที่แท้จริงจะคงที่ ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินนั้นจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาอาหารแพงขึ้น, เนื่องจากต้องใช้แรงงานผลิตมากขึ้น, เนื่องจากใช้ที่ดินคุณภาพเลวลง คนงานคงได้รับสินค้าอาหารปริมาณเท่าเดิมแต่ราคาของสินค้าเพิ่มขึ้น เช่นนี้นายทุนจะต้องจ่ายเงินเป็นค่าจ้างสูงขึ้น กำไรของนายทุนจะลดลงทุกที สรุปได้ว่าเมื่อการผลิตขยายตัวออกไปค่าเช่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินจะสูงขึ้นแต่ค่าจ้างแท้จริงจะคงที่ส่วนกำไรจะลดลงเรื่อยๆ และเมื่อใดที่กำไรลดลงจนเท่ากับศูนย์แล้วระบบ
เศรษฐกิจก็จะถึงขั้นหยุดกับที่ (Stationary State) เพราะการสะสมทุนเพิ่มจะไม่เกิดขึ้น ไม่มีการเพาะปลูกในที่ดินใหม่อีก และจำนวนประชากรจะคงที่ เศรษฐกิจจะหยุดการเจริญเติบโต
กรณีการหยุดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจนี้ อาจแก้ไขได้โดยการค้าระหว่างประเทศแบบเสรี กล่าวคือ เมื่อราคาอาหารแพงขึ้นก็ให้สั่งอาหารจากต่างประเทศ และในกรณีของอังกฤษ ริคาร์โดก็แนะนำให้สั่ง
ข้าวโพดจากต่างประเทศ ยกเลิกกฎหมายเก็บภาษีคุ้มครองการผลิตข้าวโพดภายในประเทศเสีย เมื่อราคาอาหารถูกลงเพราะผลิตในต่างประเทศค่าผลิต
ต่ำกว่า ค่าจ้างในอังกฤษก็ไม่สูงขึ้นกำไรก็ยังคงมีได้และการสะสมทุนคงดำเนินต่อไป ริคาร์โดเชื่อในการค้าระหว่างประเทศโดยเสรีเช่นเดียวกับ อดัม สมิท เขาเป็นผู้เสนอทฤษฎีการได้เปรียบเปรียบเทียบ (Theory of Comparative Advantage) ในวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานอธิบายประโยชน์ของการค้าเสรี
ริคาร์โดได้ยกตัวอย่างว่า ถ้าอังกฤษจะผลิตผ้าหนึ่งหน่วยต้องใช้แรงงาน 100 คนใน 1 ปี แต่ถ้าจะผลิต
เหล้าองุ่นหนึ่งหน่วยต้องใช้แรงงาน 120 คนใน 1 ปี ส่วนโปรตุเกสถ้าจะผลิตเหล้าองุ่นจะต้องการแรงงาน 80 คนในหนึ่งปี และถ้าจะผลิตผ้าจะต้องการแรงงาน 90 คนในหนึ่งปี ในกรณีเช่นนี้อังกฤษควรใช้แรงงานทั้งหมดผลิตผ้า ส่งผ้าเป็นสินค้าออกและสั่งเหล้าองุ่นเป็นสินค้าเข้า ส่วนโปรตุเกสควรผลิตเหล้าองุ่นเพื่อส่งออกและรับผ้าเป็นสินค้าเข้า ทั้งอังกฤษและโปรตุเกส
จะได้ประโยชน์ ทางด้านอังกฤษอาจหาเหล้าองุ่นมาได้โดยใช้แรงงานเพียง 100 คนในหนึ่งปี (คือ ผลิตผ้าและส่งผ้าไปแลกเหล้าองุ่น) ส่วนโปรตุเกส ก็สามารถหาผ้ามาได้โดยใช้แรงงาน 80 คนในหนึ่งปี (คือ ผลิตเหล้าองุ่นแล้วส่งเหล้าองุ่นไปแลกผ้า)
ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของริคาร์โดเป็นการเริ่มปูพื้นฐานความสงสัยในทฤษฎีของอดัม สมิท เพราะแม้ว่าริคาร์โดจะเห็นด้วยกับสมิทว่า ระบบเศรษฐกิจเสรีเป็นระบบที่ดีที่สุด ริคาร์โดก็มองภาพเศรษฐกิจด้วย
สายตาที่กังวลกว่าสมิทมาก การที่ที่ดินที่มีจำกัดทำให้การผลิตต้องขยายไป สู่ที่ดินที่เลวลงเป็นลำดับ เพราะการใช้ทุนมากขึ้นในที่ดินเดิมจะก่อให้เกิดปัญหาการลดน้อยลงของผลตอบแทน (The Law of Diminishing Returns) การขยายการผลิตไปสู่ที่ดินที่เลวลงจะทำให้ต้องใช้แรงงานมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ค่าเช่าสูงขึ้น ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงคงที่และกำไรลดลง เศรษฐกิจจะหยุดขยายตัว รายได้ที่คงที่จะต้องถูกแบ่งกันระหว่างเจ้าของที่ดิน นายทุน และแรงงาน ถ้าฝ่ายใดได้มากขึ้นอีก 2 ฝ่ายก็จะได้รับ
น้อยลง เท่ากับเป็นการชี้ให้เห็นโดยปริยายว่า ผลประโยชน์ของบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ในสังคมนั้นอาจมิได้ประสานกันแน่นสนิทดังที่สมิทมองเห็น แต่อาจขัดแย้งกันก็ได้ การผลิตเองก็อาจไม่ขยายตัวเสมอไปดังเช่นที่สมิท กล่าวไว้ การผลิตอาจประสบอุปสรรคและก้าวหน้าต่อไปด้วยความยากลำบากขึ้นเมื่อต้องใช้ที่ดินที่เลวลง นอกจากนั้นในขณะที่แรงงานต้องทำงานหนักโดยได้ค่าจ้างแท้จริงเพียงค่ายังชีพ พวกเจ้าของที่ดินกลับมีรายได้โดยไม่ต้องออกแรงทำงานและรายได้จากค่าเช่านี้สูงขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วย
เช่นเดียวกับมัลทัส ริคาร์โดมองไม่เห็นว่าเทคนิคการผลิตย่อมเปลี่ยนแปลงดีขึ้นได้ และกฎการลดน้อยลงของผลตอบแทนอาจไม่เป็นจริงทุกกรณี ตรงกันข้ามอาจมีสภาพที่ผลตอบแทนกลับเพิ่มขึ้น (Increasing
Returns) เพราะใช้เทคนิคการผลิตที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ผลิตได้มากขึ้นในที่ดินเดิม ไม่จำเป็นต้องถึงกับใช้ที่ดินที่เลวในการเพาะปลูก และในการผลิตอุตสาหกรรมที่ดินก็มิใช่ปัจจัยจำกัด ที่สำคัญ เมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้นได้จากการใช้เทคนิคใหม่ ๆ รายได้ของบุคคลแต่ละฝ่ายก็สามารถเพิ่มขึ้นด้วยกันได้ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าถ้ารายได้ของฝ่ายหนึ่งเพิ่มขึ้น รายได้ของ
ฝ่ายอื่นจะลดลง
ตามสารบัญ ตอนหน้าพบกับ "สังคมนิยมยูโตเปีย" กันบ้างนะครับ
Cr.:
หนังสือลัทธิเศรษฐกิจการเมือง
คุณฉัตรทิพย์ นาถสุภา
อาจารย์จรัสเรือง ศิริวัฒนรักษ์
#PassiveDeathWish
#รบชนฮซหคชห

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา