29 ต.ค. 2020 เวลา 09:08 • กีฬา
เรามักจะสอนเด็กๆเสมอ เรื่องทำอย่างไรจะประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะสอนเด็กๆว่า "จะรับมือกับความผิดหวังอย่างไร" นี่คือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจริงในวงการฟุตบอลอังกฤษ กับ 1 ชีวิตของเจเรมี่ วิสเท่น
1
ข่าวใหญ่ในวงการฟุตบอลอังกฤษสัปดาห์นี้ คือการฆ่าตัวตายของเจเรมี่ วิสเท่น อดีตนักเตะอะคาเดมี่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
หลังจากไม่ได้รับสัญญานักเตะอาชีพ เขาจมอยู่กับความทุกข์ก่อนจะปลิดชีพตัวเองอย่าง น่าเศร้า โดยวิสเท่นจากโลกนี้ไปด้วยวัยแค่ 18 ปีเท่านั้น
วิสเท่นเกิดที่ประเทศมาลาวี ในเดือนตุลาคม 2002 พออายุ 1 ขวบ เขาย้ายตามคุณพ่อ-คุณแม่ ที่อพยพมาทำงานที่อังกฤษ โดยตั้งรกรากอยู่ที่แคว้นเกรตเตอร์ แมนเชสเตอร์ และไม่นานนัก ตัววิสเท่นก็ได้รับสัญชาติอังกฤษเรียบร้อย
วิสเท่น เริ่มเล่นฟุตบอลโดยการสังกัดทีมเยาวชนอัลทรินแชม ทีมในระดับท้องถิ่น และเล่นได้อย่างโดดเด่นมากๆ จนหลายสโมสรสนใจ อยากดึงตัวเข้าอะคาเดมี่ ซึ่งวิสเท่นก็พิจารณาทุกชอยส์อย่างละเอียด จนในที่สุดเลือกแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพราะนี่เป็นสโมสรที่เหมาะสมที่สุดที่จะปั้นเขาเป็นนักเตะอาชีพได้
ข้อเสนอของแมนฯซิตี้ดีทุกอย่าง วิสเท่นได้ย้ายไปอยู่โรงเรียนเอกชนชั้นหนึ่งชื่อ เซนต์บี้ด คอลเลจ ที่ผูกสัมพันธ์กับสโมสรเอาไว้ คือนักเตะสามารถลงซ้อมกับแมนฯซิตี้ ตามโปรแกรม พร้อมกันนั้นจะได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดในระดับมัธยมไปพร้อมๆกันด้วย
จุดเด่นของอะคาเดมี่ของแมนฯซิตี้ คือสนามซ้อมของทีมเยาวชน กับสนามซ้อมของทีมชุดใหญ่ จะใช้ที่เดียวกัน นั่นคือเอติฮัด แคมปัส บรรดาดาวรุ่ง จะมีโอกาสเห็นสตาร์ของทีม อย่างกุน อเกวโร่, เควิน เดอ บรอยน์ หรือ ราฮีม สเตอร์ลิ่งอย่างใกล้ชิด พี่ๆจะมีโอกาสแนะนำน้องๆ ถ้าเป็นไปได้ ซึ่งต่างกับบางสโมสรที่ ทีมชุดใหญ่ กับทีมเยาวชน จะแยกซ้อมกันคนละที่กันเลย
สำหรับวิสเท่น เขาย้ายไปอยู่อะคาเดมี่ของแมนฯซิตี้ ตอนอายุ 13 ปี และได้รับการยกย่องว่า เป็น "เน็กซ์แวงซ็องต์ ก็องปานี" จากการยืนตำแหน่งที่ยอดเยี่ยม และมีร่างกายแข็งแรงกว่าเด็กวัยเดียวกัน คือชีวิตของเขากำลังเดินหน้าไปได้อย่างสวยงาม เขามีลุ้นมากๆ ที่จะได้สัญญานักเตะอาชีพ
ภาพความจริงของวงการฟุตบอลอังกฤษนั้น มีเยาวชน 1.5 ล้านคน ที่ลงเล่นในระดับเยาวชน แต่มีเพียงแค่ 1% เท่านั้น (15,000 คน) ที่มีโอกาสได้เข้าสังกัดในทีมเยาวชนของสโมสร ที่เหลืออีก 99% ก็ต้องกลับไปเรียนหนังสือ เพื่อประกอบอาชีพอื่นๆ
ถ้าหากคุณอยู่ใน 1% นี้ได้ มันก็การันตีได้ว่าฝีเท้าคุณเหนือกว่าเด็กคนอื่นๆทั่วไปแล้ว ซึ่งวิสเท่นเองเมื่อได้รับเลือกจากแมนฯซิตี้ เขาก็วาดฝันถึงอนาคตอันสวยงามที่รออยู่ข้างหน้า
แต่ปัญหาที่วิสเท่นคิดไม่ถึงก็คือ การมาเข้าสังกัดสโมสร ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะได้รับสัญญาอาชีพ เพราะในขั้นต่อไป สโมสรต้องทำการคัดกรองอย่างเข้มข้นเพื่อหาหัวกะทิจริงๆเท่านั้น ที่จะเก็บเอาไว้กับทีมต่อ โดยในตัวเลข 15,000 คน จะมีเพียงแค่ 10% เท่านั้น (1,500 คน) ที่เหลือรอด ได้สัญญาอาชีพกับสโมสร
ถ้าคุณเป็นกลุ่มคนใน 99% แรกสุด รู้ว่าตัวเองไม่มีแววแน่ๆ แบบนี้ก็ทำใจได้เร็ว ฟุตบอลอาจไม่ใช่ทางของเรา มันก็ตัดใจง่าย เพราะฝีเท้าไม่ถึงอยู่แล้ว
แต่กับเด็กๆบางคน พวกเขามีฝีเท้าดีใช้ได้ จนถูกคัดเลือกให้อยู่ใน 15,000 คนนั้น มันเต็มไปด้วยความหวัง เพราะมันใกล้ถึงเส้นชัยมากๆแล้วจริงๆ
และคนกลุ่มนี้ล่ะ เวลาโดนสโมสรตัดทิ้ง ก็จะเจ็บยิ่งกว่าใครเพื่อน เพราะมันเหมือนความฝันสลายไปต่อหน้าต่อตา
สำหรับสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะประกาศว่าเยาวชนคนไหนจะได้สัญญาอาชีพ หลังจากตัวนักเตะมีอายุครบ 16 ปี ปรากฎว่าในช่วงปี 2017-2018 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนที่ เจเรมี่ วิสเท่นจะมีอายุครบ 16 เขาเจอปัญหาอาการบาดเจ็บเล่นงานอย่างต่อเนื่อง
จากที่เคยฟอร์มดีมากๆ ในช่วง 2 ปีแรกที่ย้ายมาอยู่อะคาเดมี่ แต่ปีสุดท้ายก่อนถึงวันเซ็นสัญญา เขาเจ็บเข่าบ่อยมาก เดี๋ยวเจ็บเดี๋ยวหาย ลงเล่นได้แป้บๆก็เจ็บต่อ จนฟอร์มขาดความสม่ำเสมอ นั่นทำให้สุดท้ายแมนฯซิตี้ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน และ "ไม่ยื่นสัญญาอาชีพ" ให้กับวิสเท่น
เท่ากับว่าความฝันของวิสเท่นกับทีมเรือใบสีฟ้าก็สลายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แมนฯซิตี้ ก็ไม่ได้โหดร้ายถึงขนาดตัดทิ้งอย่างไร้เยื่อใย ตรงกันข้าม แมนฯซิตี้พยายามจะช่วยให้นักเตะที่โดนตัดทิ้ง หาทีมลงเล่นให้ได้
พวกเขามีการจัดทัวร์นาเมนต์ซัมเมอร์แคมป์ เพื่อเอากลุ่มนักเตะเยาวชน ที่ไม่ได้รับสัญญา มาเล่นฟุตบอลโชว์ เพื่อให้บรรดาทีมเล็กๆ ในระดับแชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน หรือ ลีกทู ได้พิจารณา เลือกเซ็นสัญญาไปแบบฟรีๆโดยไม่มีค่าตัว
คือนักเตะอะคาเดมี่ของแมนฯซิตี้ บางคนอาจฝีเท้าไม่ถึงจะเล่นให้ทีมเรือใบก็จริง แต่ก็ยังอาจจะดีพอ ถ้าเล่นในลีกระดับรองๆลงไป ดังนั้นความหวังในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของเด็กๆเหล่านี้ก็ยังอยู่ พวกเขาอาจเริ่มจากทีมเล็กๆ แล้วค่อยๆพัฒนาตัวเอง จนก้าวมาเล่นพรีเมียร์ลีกในอนาคตก็ได้
1
อย่างไรก็ตาม ในช่วงซัมเมอร์แคมป์ เจเรมี่ วิสเท่น ยังเจ็บเข่าอยู่และไม่ได้เข้าร่วมการโชว์ฝีเท้าด้วย ซึ่งเพื่อนๆของเขา ต่างโดนสโมสรอื่นๆ เซ็นคว้าตัวกันทั่วหน้า แต่วิสเท่น ไม่มีใครสนใจเลย ซึ่งก็ไม่แปลก สโมสรอื่นๆ ที่ไหนจะกล้ามาเซ็นสัญญากับนักเตะที่พวกเขาไม่เคยเห็นฟอร์มล่ะ
เท่ากับว่า พอครบอายุ 16 วิสเท่นจึงลอยเคว้งไม่มีทีมลงเล่น และเมื่อเขาออกจากอะคาเดมี่ของแมนฯซิตี้แล้ว ก็ต้องออกจากโรงเรียนเอกชน เซนต์บี้ด คอลเลจด้วย ทุกอย่างต้องนับหนึ่งใหม่หมด เขาต้องกลับไปเริ่มเรียนหนังสืออีกครั้งที่โรงเรียนอื่น หรือไม่ก็หาอาชีพอื่นทำแล้ว
หลังจากวิสเท่นออกจากอะคาเดมี่ของแมนฯซิตี้ไปเกือบ 2 ปี มาร์ก รีส อดีตโค้ชเยาวชนของทีมเรือใบสีฟ้า ไปเจอวิสเท่นโดยบังเอิญ ทั้งคู่ก็ทักทายกัน แล้วรีสก็ถามขึ้นมาว่า เป็นไงบ้าง ทำอะไรอยู่ ตอนนี้เล่นกับสโมสรไหน ที่ถามแบบนั้น เพราะเขามั่นใจว่า ฝีเท้าของวิสเท่น ดีพอที่จะเล่นในระดับอาชีพได้
"ผมไม่ได้เล่นแล้ว ผมเลิกเล่นฟุตบอลแล้ว" วิสเท่นตอบ ซึ่งมาร์ก รีสก็งง แล้วถามกลับไปว่า มันหมายความว่าไง
"ผมไม่สามารถหาสโมสรได้ ดังนั้นผมต้องหางานทำแล้ว ผมไม่ได้เล่นฟุตบอลอีกแล้ว" วิสเท่นสรุป
รีสตกใจมาก เพราะเด็กคนนี้ที่เขารู้จัก เคยถูกยกย่องว่ามีโอกาสเป็นแวงซ็องต์ ก็องปานีคนต่อไป แต่สุดท้ายตอนนี้ความฝันกลับไม่เหลืออะไรเลย และไม่มีโอกาสได้เล่นฟุตบอลอีกครั้ง อาการบาดเจ็บของวิสเท่น มาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
มาร์ก รีส พยายามปลอบใจ และชวนวิสเท่นมาเล่นฟุตบอลกันกับมูลนิธิสตรองฮาร์ท คือต่อให้ไม่เป็นนักเตะอาชีพ แต่วิสเท่นก็ยังสามารถเอ็นจอยกับการเล่นได้
รีสไม่อยากให้วิสเท่นคิดมาก ซึ่งวิสเท่นก็ตอบรับคำเชิญ เขาไปเตะบอลกับมูลนิธิสตรองฮาร์ทอยู่ 3-4 ครั้ง ซึ่งทุกอย่างก็ดูปกติดี "เจเรมี่เป็นเด็กที่น่ารักนะ เขาไม่ค่อยพูดอะไรเท่าไหร่ มาถึงที่สนาม เตะบอลร่วมกัน แล้วก็กลับบ้าน ทุกอย่างดูปกติดี"
วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม รีสชวนวิสเท่นอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาไม่ได้มา ซึ่งรีสก็ไม่ได้คิดอะไรมาก บางทีวิสเท่นอาจจะติดธุระอย่างอื่น
1
จากนั้นพอเล่นบอลเสร็จ เขาเดินไปที่ล็อกเกอร์ห้องแต่งตัว เช็กโทรศัพท์มือถือ และในที่สุดก็พบข่าวที่เขาเองก็ไม่อยากเชื่อ วิสเท่น ฆ่าตัวตาย ปลิดชีพตัวเองด้วยวัย 18 ปีเท่านั้น
โดยสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้น คุณพ่อของเจเรมี่ เปิดเผยว่า เพราะลูกชายของเขาไม่สามารถสลัดความคิดเรื่องการเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้
ครั้งหนึ่งเจเรมี่ได้รับการยกย่องมากมาย ว่าเป็นดาวรุ่งฝีเท้าดี นั่นทำให้เขาวาดฝันถึงชีวิตที่สุขสบาย ร่ำรวยเงินทองและชื่อเสียงที่รออยู่ข้างหน้า แต่พอต้องมาเจอความจริงว่า มันเป็นแค่ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง เจ้าตัวรู้สึกช็อกและรับไม่ได้
เรื่องนี้คุณพ่อไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดของสโมสร คือแมนฯซิตี้ ทำดีที่สุดแล้ว แต่จังหวะชีวิตของเจเรมี่มันโชคร้ายเอง และตัวลูกชายของเขาก็เก็บความเสียใจเอาไว้ โดยไม่บอกใครเลย จนในที่สุดเมื่อจิตใจรับมือกับมันไม่ไหวแล้ว จึงระเบิดออกมาในที่สุด ซึ่งบางคนอาจระบายด้วยการกินเหล้า หรือเสเพล แต่เจเรมี่ระเบิดมันด้วยการปลิดชีพตัวเอง
"เราขอบคุณแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ให้โอกาสกับลูกชายของเรา" มะนิลา วิสเท่น คุณพ่อของเจเรมี่กล่าว "เจเรมี่ มีโอกาสดีๆมากมายที่สโมสรแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเขาช่วยแมนฯซิตี้ คว้าแชมป์เยาวชนระดับประเทศ ซึ่งเป็นความภูมิใจของตัวเจเรมี่มากๆ ดังนั้นผมต้องขอขอบคุณเฮดโค้ชมาร์ก เบอร์ตัน ที่ใส่ใจเขาเป็นอย่างดี รวมถึงสตาฟฟ์ทุกคนที่แมนฯซิตี้ด้วย"
1
"แต่ปัญหาคือในปีสุดท้าย ก่อนจะถึงวันพิจารณาสัญญาอาชีพ ตัวเจเรมี่ได้รับบาดเจ็บบ่อยมากจนไม่สามารถลงเล่นได้ คือเขาก็พยายามฟื้นฟูร่างกายให้หายกลับมา แต่ก็ยังเจ็บอยู่เรื่อยๆ และได้ลงเล่นฟุตบอลน้อยเกินไป จนไม่สามารถคืนฟอร์มได้อีก สุดท้ายจึงถูกสโมสรปล่อยออกมา ซึ่งเราเข้าใจได้ จากนั้นเจเรมี่พยายามไปคัดตัวกับทีมต่างๆ แต่เพราะเขาเจ็บมานาน มันก็ยาก ที่จะทำให้ทีมเหล่านั้นเชื่อว่า เขาจะกลับไปเก่งเหมือนเดิม ตอนก่อนเจ็บได้อีก"
"ครอบครัวของเรา พยายามให้กำลังใจเขา และแนะนำให้เขาลองเล่นกีฬาอื่นดูบ้างก็ได้ แต่สุดท้าย เจเรมี่ก็ตัดสินใจจะจากพวกเราไป"
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเจเรมี่นั้น ทำให้ฟุตบอลอังกฤษได้ตระหนักขึ้นมาเหมือนกันว่า เด็กๆมีการรับมือกับความผิดหวังได้ไม่เท่ากัน บางคนอาจจะสบายๆ ไม่ได้เทิร์นโปร ก็ไปทำมาหากินอย่างอื่น
แต่กับบางคน มันไม่รู้จะทำอะไรต่อ ยิ่งถ้าคนที่ใกล้จะถึงเส้นชัยอยู่แล้ว กลับต้องฝันสลายกันซึ่งหน้า มันก็มืดแปดด้านเหมือนกัน เหมือนตกจากสวรรค์ในชั่วพริบตา ซึ่งถ้าคนที่มีสภาพจิตใจอ่อนแอ ก็อาจคิดสั้น คล้ายๆกับเคสของเจเรมี่ได้
ในอดีตเมื่อปี 2013 เคยมีเคสของ จอช ลีออนส์ นักเตะฝึกหัดของสเปอร์ส ที่โดนปล่อยตัวตอนอายุ 16 สุดท้ายก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา ซึ่งพอมีเคสของเจเรมี่ วิสเท่น อีก มันทำให้ได้เห็นว่า เรื่องนี้ มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกครั้งกับนักเตะดาวรุ่งสักคนในอนาคต
"มันเป็นเรื่องโหดร้ายสำหรับเด็กหนุ่ม ที่ความฝันโดนพรากไปต่อหน้าต่อตาแบบนั้น" ดร.คาเร็น เฮนเดอร์สัน ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาเยาวชนเผย "ความหวังจะได้เป็นนักเตะอาชีพ มันยากมากตั้งแต่แรก และเมื่อคุณเกือบจะทำสำเร็จ แต่สุดท้ายลงเอยด้วยความผิดหวัง เด็กหนุ่มหลายคนเจ็บปวดมาก จนรับมือไม่ไหว"
นักเตะอีกคนที่ยอมรับว่า เคยเกือบฆ่าตัวตายเหมือนกัน คือมาร์วิน ซอร์เดลล์ อดีตนักเตะเยาวชนทีมชาติ ที่พยายามฆ่าตัวตายในปี 2013 แต่ไม่สำเร็จ
"สำหรับคนที่มีความฝันจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แล้วไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้ต่อ มันเหมือนคุณเสียคนรักไปเลย จิตวิญญาณของคุณจะหายไปด้วย ซึ่งมันไม่ใช่ว่าคุณจะผ่านไปได้ด้วยตัวเอง แต่มันต้องมีกระบวนการเป็นเรื่องเป็นราว จากนักจิตวิทยา เพื่อช่วยคุณให้รอดพ้นจากวิกฤติตรงนั้นด้วย"
1
หลังข่าวเจเรมี่ฆ่าตัวตายถูกเปิดเผย สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เต็มไปด้วยความเศร้า โซเชียลมีเดียของสโมสรลงข้อความแสดงความเสียใจในทุกช่องทาง
1
นักเตะทีมชุดใหญ่ ทั้งกุน อเกวโร่, อายเมอริค ลาป็อกต์ และ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ลงข้อความไว้อาลัย เช่นเดียวกับอดีตนักเตะ ทั้งยาย่า ตูเร่, ฌอน โกเตอร์ รวมถึง แวงซ็องต์ ก็องปานี เป้าหมายที่เจเรมี่อยากจะไปให้ถึง ก็ทวีตแสดงความเศร้าใจเช่นกัน
คุณพ่อของเจเรมี่ได้กล่าวแถลงการณ์สรุปในเรื่องนี้ว่า "ผมอยากให้สโมสรฟุตบอลและโรงเรียน ให้ความสนใจกับเรื่องสภาพจิตใจของเด็กๆมากขึ้นกว่านี้อีก เราคิดว่านักฟุตบอลที่ต้องห่วงใยเรื่องสุขภาพจิตคือนักฟุตบอลอาชีพ แต่มันก็น่าจะดี ถ้าเราให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิตของนักเตะเยาวชนให้มากขึ้นด้วย นอกจากนั้นสโมสรกับโรงเรียน อาจช่วยแนะนำพ่อแม่ได้ว่า ถ้าหากลูกต้องเจอความผิดหวังแบบนี้ คนเป็นพ่อเป็นแม่ ควรทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเราควรมาเรียนรู้เรื่องนี้ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มีครอบครัวอื่น เจอความเศร้าแบบที่เราเผชิญอยู่"
กรณีของวิสเท่น เป็นบทเรียนสำคัญ ให้กับคนที่ทำงานในแวดวงฟุตบอลเยาวชน ว่าจิตใจของเด็กๆ มันไม่ได้แข็งแรงอย่างที่เราคิด ความเจ็บปวด ความผิดหวังที่ถาโถมเข้ามา ไม่ใช่ทุกคนที่จะรับมือกับมันได้ดี
ที่ไทย อาจไม่มีเคสถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่ก็มีดาวรุ่งหลายคน เมื่อเอาดีทางฟุตบอลไม่ได้ ก็ใช้ชีวิตเหลวแหลกไปเลย ทั้งๆที่คุณยังมีเส้นทางที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตทางอื่นอีกมากมาย
สำหรับเคสของเจเรมี่ วิสเท่น ไม่มีใครอยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น จริงอยู่ มันไม่ใช่ทุกคนที่ดีพอ จะได้สัญญาอาชีพ แต่คนที่ไปไม่ถึงฝันในวันนี้ ไม่ได้แปลว่าคุณจะล้มเหลวตลอดกาล อนาคตคุณอาจจะสร้างอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่ มากกว่าการได้เป็นนักเตะอาชีพก็ได้
ดูอย่างเชฟกอร์ดอน แรมซีย์ ในอดีตเขาเคยติดทีมเยาวชนของกลาสโกว์ เรนเจอร์ส และเกือบจะได้เป็นนักเตะอาชีพแล้ว แต่มาได้รับบาดเจ็บหนักตอนอายุ 15 สุดท้ายโดนปล่อยตัวทิ้ง เขาเองก็เสียใจ แต่ก็มามองตัวเองว่า จะเอาดีทางอื่นได้ไหม พอเรียนจบมัธยม ก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนอาหาร และผันตัวมาทำงานเป็นเชฟในภัตตาคาร
2
ปัจจุบันแรมซีย์ ได้รายได้ปีละ 46 ล้านปอนด์ ทำเงินมากยิ่งกว่าแกเร็ธ เบล นักฟุตบอลที่ได้ค่าเหนื่อยมากที่สุดในพรีเมียร์ลีกเสียอีก
จะเห็นได้ว่า เส้นทางประสบความสำเร็จในชีวิตมันมีได้มากกว่าหนึ่งทาง เพียงแต่เด็กในวัยนั้นอาจจะยังไม่รู้ คิดว่าโลกที่ตัวเองเผชิญอยู่คือโลกทั้งใบของเขาแล้ว เมื่อความฝันสลาย ก็คิดว่าโลกสิ้นสุดไปด้วย ซึ่งความจริงแล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย
สำหรับผู้ปกครอง และครูอาจารย์ที่ใกล้ชิดกับเยาวชน สิ่งที่เราสอนพวกเขาเสมอ คือ "วิธีประสบความสำเร็จในชีวิต" ซึ่งก็ใช่ นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้
แต่อีกหนึ่งการสอน ที่สำคัญไม่แพ้กัน และมองข้ามไม่ได้เลย คือ "วิธีรับมือกับความล้มเหลว"
เพราะโลกใบนี้ คนที่เจอความล้มเหลว เจอความผิดหวัง แล้วประคองตัวผ่านไปได้โดยไม่เจ็บช้ำนานจนเกินไป มันก็คือการประสบความสำเร็จรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
#Wisten
โฆษณา