Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โหราทาสเล่าเรื่อง
•
ติดตาม
30 ต.ค. 2020 เวลา 08:50 • การเมือง
ประชาธิปไตยเป็นแค่ความคิดมนุษย์
สัตวาธิปไตยเป็นความจริงพื้นฐาน
มนุษย์มีสัญชาตญาณสัตว์หลงเหลืออยู่มาก
ถึงได้คงเจริญเผ่าพันธุ์ทุกวันนี้
เผ่าพันธุ์ของสัตว์ที่อยู่รอดได้ จะมีความสามารถสองประการ คือการขยายเผ่าพันธุ์ และการระวังภัยเพื่อป้องกันการสูญพันธ์
สัตว์ที่มีพละกำลังแข็งแรงกว่า จึงสามารถสืบเผ่าพันธุ์ออกไปได้ ขณะเดียวกันสัตว์ที่พละกำลังน้อยก็จะเด่นในเรื่องการหาที่หลบภัย หาที่อยู่อาศัย แยกแยะสิ่งที่กินได้และไม่ได้ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่เป็นคุณและโทษ
สัตว์บางชนิดจึงต้องอยู่รวมกันเป็นฝูง จ่าฝูงจึงถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติ ตัวที่มีพละกำลังแข็งแกร่งสุด ส่งเสียงตวาดได้ดีและน่ากลัวสุดสามารถสยบลูกฝูงมิให้ทะเลาะกัน ส่งเสียงร้องเตือนได้เมื่อภัยมา สัตว์ในฝูงจะรับรู้โดยสัญชาติญาณว่าเป็นคุณวิเศษที่จ่าฝูงมีและแตกต่างไปจากตัวอื่นๆ
เมื่อมนุษย์รับสัญชาติญาณสัตว์มา จึงมีธรรมชาติต้องการผู้นำที่มีคุณวิเศษเหนือตน มาคอยปกป้อง ดูแล แบ่งสัน ปันส่วน ทรัพยากรและปัจจัยดำรงชีวิต ให้เกิดความอยู่รอดปลอดภัยตามสัญชาตญาณสัตว์ ซึ่งต่อมาได้ขยายไปถึงความเท่าเทียมกันตามความคิดมนุษย์
จึงก่อให้เกิดผู้นำเผด็จการในเบื้องแรก
ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ธรรมชาติของสัตว์
เพราะเหตุนี้ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์
แต่มนุษย์มีสิ่งที่แตกต่างจากสัตว์ คือมนุษย์มีความคิด ความคิดนี้ทำให้อารมณ์ความรู้สึกสงบระงับ ไม่ดิ้นไปตามสัญชาติญาณเอาตัวรอด คือความโลภที่จะขยายพันธ์ หรือความกลัวการสูญพันธ์ถึงขั้นต้องเบียดเบียนสัตว์อื่นหรือแม้แต่มนุษย์ด้วยกัน
ความคิดของมนุษย์ที่ทำให้สงบระงับได้จะแตกต่างกัน
โดยสุดโต่งมนุษย์มีสองประเภท
ประเภทแรก ชอบการอยู่นิ่ง สงบ มั่นคง ไม่เคลื่อนไหว รักษากฏระเบียบ เห็นอาการดังกล่าวว่าปราณีต นานวันก็เห็นว่าสิ่งที่มนุษย์ที่มาก่อนสร้างเอาไว้ให้นั่นดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องแก้ไขแต่อย่างใด มนุษย์ประเภทนี้ถูกเรียกว่าหัวอนุรักษ์
ขณะที่มนุษย์อีกประเภท ชอบการเคลื่อนไหว. สังคม แลกเปลี่ยน เกิดความคิดเปรียบเทียบสิ่งใหม่กับสิ่งเก่า สิ่งที่เป็นกับสิ่งที่เห็น มักแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแก้ไขเป็นสิ่งประณีต มนุษย์ประเภทนี้ถูกเรียกว่าหัวก้าวหน้า
ในทุกสังคมล้วนผสมผสานด้วยมนุษย์ทั้งสองประเภทนี้ มากบ้าง น้อยบ้าง คราใดที่ปัจจัยดำรงชีวิตอุดมสมบูรณ์ ไม่เกิดภาวะขาดแคลน ถึงขั้นต้องแก่งแย่งกัน มนุษย์ทั้งสองประเภทก็อยู่ร่วมกันเป็นสังคมอย่างสงบ พร้อมรับฟังและยึดถือเรื่องเล่าที่ตรงกัน ทั้ง ความเชื่อ ความศรัทธา จารีต ค่านิยม อุดมคติ เอามายึดเป็นหลักการดำรงชีวิต เข้มอ่อนแล้วแต่จริตด้านอนุรักษ์หรือก้าวหน้าที่มีในตน ฝ่ายอนุรักษ์จะยึดมั่นไม่ผันแปร ฝ่ายก้าวหน้าก็คิดว่าเปลี่ยนแปลงในตน ก่อนไปเปลี่ยนสังคม ไม่มีใครโทษใคร เพราะต่างกินอิ่ม นอนหลับกันถ้วนหน้า
แต่ในคราใดที่ปัจจัยดำรงชีวิตเริ่มขาดแคลน อัตคัดฝืดเคืองจากปัจจัยธรรมชาติ (ภัยแล้งกันดาร ขาดแคลนอาหาร น้ำท่าไม่บริบูรณ์ โรคระบาด) หรือที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง (เศรษฐกิจตกต่ำ ฝืดเคือง) การแบ่งสรรทรัพยากรไม่ทั่วถึง สัญชาติญาณเอาตัวรอดของสัตว์ก็กลับมาทำงาน แบ่งแยก แย่งชิง รักษา สงวน แบ่งปัน ไว้เฉพาะกลุ่มตนเอง ผ่านกลุ่มตัวแทนของตนเอง ที่เราเรียกว่านักการเมือง (จึงมีคำกล่าวว่า การเมืองคือการแย่งชิงอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อกลุ่มของตัวเอง)
มนุษย์บางเหล่าได้มากเกิน บางเหล่าน้อยเกิน ความไม่พึงพอใจในสังคมมนุษย์ก็เกิดขึ้น เราเรียกมันว่าความอยุติธรรม (ที่จริงธรรมชาตินั้นยุติธรรมเสมอ ในเมื่อทรัพยากรไม่พอแบ่งปัน ผู้มีอำนาจจัดสรร ย่อมแบ่งปันให้พวกตนกลุ่มตัวเองก่อน ตามธรรมชาติขยายพันธ์กับป้องกันการสูญพันธ์ุ)
เมื่อความอยุติธรรมเกิดขึ้นแล้ว หัวอนุรักษ์มักจะอดทน ทำใจ เพราะยังยึดถือเรื่องเล่าเดิม เพื่อสร้างคำอธิบายว่าสิ่งนั้นสมควรแก่เราแล้ว
ขณะที่หัวก้าวหน้าจะไหวตัวได้ทัน ผ่านการเคลื่อนไหว แลกเปลี่ยน เปรียบเทียบ จนเห็นเป็นฉันทาคติว่าเรื่องเล่าที่มีอยู่ นั้นไม่จริง และจำเป็นต้องเปลี่ยน เกิดการสร้างเรื่องเล่าใหม่ ต้องการขยายกลุ่มไปยังสังคมวงกว้าง เพื่อมาทดแทนเรื่องเล่าเดิม
หากการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่า เป็นไปอย่างประนีประนอม ค่อยเป็นค่อยไป อดทน รอคอย เพื่อให้สังคมโดยรวมคล้อยตามทีละนิดทีละหน่อย นานวันเมื่อปัจจัยดำรงชีวิตกลับมาอุดมสมบูรณ์ (เร่งโดยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น) มนุษย์ค่อยลืมความบาดหมางไม่ลงรอย สังคมกลับมาสงบ เราเรียกมันว่าการปฏิรูป
แต่เมื่อใดที่การเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่า เป็นไปอย่างเร่าร้อน เร่งรีบ ไม่อดทน ไม่รอคอย เกิดการแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกันอย่างสุดขั้ว สงครามก็เกิด (ทั้งความคิดและการกระทำ ทั้งในระบบการเมืองและในสภา และท้องถนน นอกสภา) ระหว่างกลุ่มคนเห็นว่าสิ่งที่มี ที่เป็นอยู่นั้นดีแล้ว กับกลุ่มคนเห็นว่าสิ่งที่มี ที่เป็นอยู่นั้นไม่ดีเราเรียกมันว่าการปฏิวัติ
เมื่อสงครามเกิดขึ้นแล้ว จะทำลายทรัพยากรที่มีส่วนในการสร้างปัจจัยดำรงชีวิต (เลิกอุดหนุนร้านค้าที่ไม่ใช่พวกตน หยุดการผลิตปัจจัยดำรงชีวิต เพื่อไปทำสงคราม เป็นต้น) ก็ยิ่งซ้ำเติมปัจจัยดำรงชีวิตที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ให้ขาดแคลนอัตคัดยิ่งขึ้น เกิดความเจ็บแค้นขึ้นทั้งสองฝ่าย ต่างเห็นความชอบธรรมในการทำสงครามต่อกันยิ่งขึ้น ต่างฝ่ายต่างยิ่งเชื่อในเรื่องเล่าของกลุ่มตนมากขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไปฝ่ายก้าวหน้าที่ทวีจำนวนขึ้นได้เร็วกว่า เพราะชอบการเคลื่อนไหว เผยแพร่ แลกเปลี่ยน เรื่องเล่าของตน ก็จะชนะในท้ายที่สุดด้วยจำนวนที่มากกว่า สามารถสถาปนาเรื่องเล่าตนเป็นฉันทาคติของสังคม ปัจจัยดำรงชีวิตกลับมาอุดมสมบูรณ์ สังคมก็กลับมามีเรื่องเล่าตรงกันอีกครั้งหนึ่ง เรื่องเล่าเดิมก็กลับกลายเป็นประวัติศาสตร์ หัวก้าวหน้าก็กลับกลายเป็นหัวอนุรักษ์ ที่จะถูกท้าทายโดยหัวก้าวหน้ารุ่นถัดๆไป หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนเป็นวัฏจักร ไม่มีต้น ไม่มีปลาย
หมายเหตุ
ในทางโหราศาสตร์แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ตลอดจนถึงชุดเรื่องเล่าของคนในสังคม ล้วนได้อิทธิพลจากพระพฤหัสและพระเสาร์ซึ่งโคจรมาทำปฏิกิริยาต่อกันอย่างรุนแรง (ร่วมในราศีเดียวกัน) ทุก 20 ปี
โดยจะวนเวียนอยู่ในราศีที่เป็นธาตุเดียวกัน(ไฟ-ดิน-ลม-น้ำ) ในทุก 200 ปีจะเกิดผู้นำใหม่ รัฐบาลใหม่ ระบบปกครองใหม่ แต่ไม่ถึงกลับเปลี่ยนเรื่องเล่า จึงเรียกว่าการเปลี่ยนสมัย
แต่พระเคราะห์ทั้งคู่ จะมีวนเวียนครบสี่ธาตุ ในทุก 800 ปีจะเกิดลัทธิความเชื่อใหม่ ระบอบการปกครองใหม่ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าอย่างถอนรากถอนโคน จึงเรียกการเปลี่ยนยุค
เมื่อใดเปลี่ยนสมัย เมื่อใดเปลี่ยนยุค คงต้องเชิญนักโหราศาสตร์การเมืองมาร่วมเสวนา
โหราทาส
๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๓
1 บันทึก
21
4
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติโหราศาสตร์และอื่นๆ
1
21
4
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย