30 ต.ค. 2020 เวลา 05:09 • ข่าว
เวลาป่วยเป็นโรคขั้นสุดท้าย หลายครั้งที่ผู้ป่วยไม่ต้องการที่จะได้รับการรักษาต่อ อยากจากไปแบบสงบมากกว่าอยู่ต่อไปกับความทรมานจากโรค ประเทศนิวซีแลนด์ก็มีการถกเถียงประเด็นเรื่องนี้มาแล้วกว่า 2 ปีเช่นกันเกี่ยวกับเรื่องการการุณยฆาตผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิต
เมื่อปีที่แล้วรัฐสภานิวซีแลนด์มีการร่างกฎหมายการุณฆาต "the End of Life Choice Act 2019" โดยร่างกฎหมายได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาด้วยคะแนนเสียง 69 ต่อ 51 อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามในการร่างกฎหมายถึง 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ซึ่งในร่างกฎหมายได้ระบุว่า อนุญาตให้ทำการุณยฆาตเฉพาะผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ประเมินว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกไม่เกิน 6 เดือน โดยผู้ป่วยต้องยื่นความจำนงต่อแพทย์ก่อน แล้วหากแพทย์ 2 คนมีความเห็นชอบ ก็สามารถทำการการุณยฆาตผู้ป่วยได้
จนมาถึงขั้นตอนในการจัดทำประชามติระดับชาติเพื่อฟังความเห็นประชาชนอีกรอบเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยกับกฎหมายการุณยฆาตถึง 65.2% ซึ่งประชามติที่ทำในครั้งนี้จะนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2564
จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของนิวซีแลนด์ สนับสนุนกฎหมายนี้ อันที่จริงเธอต้องการผ่านร่างกฎหมายนี้โดยไม่ต้องผ่านการลงประชามติ เพราะเสียงของประชาชนสะท้อนผ่านตัวของพวกเขาที่เป็นผู้แทนอยู่แล้ว
แม้จะมีผู้สนันสนุนการการุณยฆาตเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีคนออกมาคัดค้านกฎหมายนี้เช่นกัน มีกลุ่มผู้ประท้วงออกมายืนถือป้ายข้างนอกรัฐสภาว่า "assist us to live not die (ช่วยเราให้มีชีวิตต่อไม่ใช่ตาย) euthanasia is not the solution (การุณยฆาตไม่ใช่ทางออก) caring not killing (ดูแลไม่ใช่ฆ่า)" เป็นต้น
นิวซีแลนด์จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่มีการอนุญาตให้กระทำการการุณยฆาต ณ ขณะนี้การการุณยฆาตถูกกฎหมายใน เบลเยียม แคนาดา โคลอมเบีย ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่การช่วยฆ่าตัวตาย (assisted suicide) ได้รับอนุญาตในสวิตเซอร์แลนด์
สำหรับประเทศไทยเอง การการุณยฆาตยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 มาตรา 12 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการเสียชีวิตในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
ดังนั้น ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงกำหนดให้แพทย์สามารถยุติการรักษา และให้ผู้ป่วยเสียชีวิตตามธรรมชาติหรือตามระยะของโรค ตามเจตจำนงของผู้ป่วยที่ได้ระบุไว้ ทั้งการสื่อสารปกติ คือการพูดหรือการทำหนังสือแสดงเจตจำนง โดยไม่อนุญาตให้ใช้กระบวนการที่เป็นการฉีดสารเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
#Euthanasia #NewZealand #TheInfinity
โฆษณา