30 ต.ค. 2020 เวลา 07:19 • การศึกษา
ท่าอากาศยาน คือ อะไร
ก่อนที่จะบุ่มบ่ามไปทำความรู้จักกับสนามบิน เพื่อความเข้าใจเราควรต้องปูและมีความรู้พื้นฐาน โดยศาสตร์ใหญ่ที่คลุมเรื่องของ ‘ท่าอากาศยาน’ คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วย โลจิสติกส์ (logistics) และการขนส่ง (transportation) นั่นเอง
โลจิสติกส์ หรือ ลอจิสติกส์ (อังกฤษ: logistics) มาจากภาษาฝรั่งเศสคำว่า logistique ที่มีรากศัพท์คำว่า โลเชร์ (loger) ที่หมายถึงการเก็บ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการขนส่งสินค้าทางการทหาร ทั้งเสบียง อาวุธ กำลังพล เพื่อสนับสนุนการรบ หรือ กิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ จากอีกที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง อาจมีการจัดเก็บระยะเวลานานหรือระยะเวลาชั่วคราว เช่น เอกสาร สินค้าสำเร็จรูป วัตถุดิบ และอื่น ๆ ด้วยความที่มีรากมาจากวัฒนธรรมทหาร ในศัพท์ทหารไทย จึงใช้คำว่า ‘การส่งกำลังบำรุง’ แต่คำนี้ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ในภาคธุรกิจสังคมโดยทั่วไป จึงเลือกที่จะเรียกทับศัพท์ว่า ‘โลจิสติกส์’
โลจิสติกส์ จึงหมายถึง ระบบการจัดการการส่งทรัพยากรใดใด ไม่ว่าจะเป็น คน สินค้าหรือข้อมูล จากจุดต้นทางไปยังจุดปลายทาง (จุดบริโภค) ตามวัตถุประสงค์หรือความต้องการของห่วงโซ่อุปทาน โลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับการผสมผสานของข้อมูล การขนส่ง การบริหารวัสดุคงคลัง การจัดการวัตถุดิบ การบรรจุหีบห่อ โลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทาน ที่มีมูลค่าเพิ่มโดยการบริหารและการใช้ประโยชน์ของวิธีการขนส่ง เวลาและสถานที่
การขนส่ง คือการเคลื่อนย้ายทรัพยากรใดใดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การขนส่งแบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ ดังนี้ ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และ อื่นๆ (เช่น ทางท่อ ทางสาย) เราสามารถพิจารณาการขนส่งได้จากหลายมุมมอง โดยคร่าว ๆ แล้ว เราจะพิจารณาในสามมุมคือ มุมของโครงสร้างพื้นฐาน, ยานพาหนะ, และการดำเนินการ
โครงสร้างพื้นฐาน พิจารณาโครงข่ายการขนส่งที่ใช้ เช่น ถนน ทางรถไฟ เส้นทางการบิน คลอง หรือ ท่อส่ง รวมไปถึงสถานีการขนส่ง เช่น ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ ท่ารถ และ ท่าเรือ ในขณะที่ ยานพาหนะ คือเครื่องจักรกล อุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ไปบนโครงข่ายนั้น เช่น รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน เรือ ส่วนสุดท้าย การดำเนินการ จะสนใจเกี่ยวกับการควบคุมระบบ เช่น ระบบจราจร ระบบควบคุมการบิน และนโยบาย เช่นวิธีการจัดการเงินของระบบ เช่นการเก็บค่าผ่านทาง หรือการเก็บภาษีน้ำมัน เป็นต้น
กล่าวคร่าว ๆ ได้ว่า การออกแบบโครงข่ายการขนส่งเป็นงานของสาขาวิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering) และสาขาผังเมือง การออกแบบยานพาหนะเป็นงานของสาขาวิศวกรรมเครื่องกล และสาขาเฉพาะทางเช่นวิศวกรรมเรือและวิศวกรรมอวกาศยาน และสำหรับในส่วนของการดำเนินงานก็นั้นมักเป็นสาขาเฉพาะทาง ว่ากันเป็นเรื่อง ๆ ไป
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การขนส่งเป็นส่วนประกอบหลักของโลจิสติกส์ และ ‘สนามบิน’ เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยหนึ่งในหมวดการขนส่งทางอากาศ
กลับไปที่ ‘โลจิสติกส์’ เป็นที่ยอมรับในสากลมานานแล้วว่า โมเดลหรือกลยุทธ์การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ Hub & Spoke (‘ดุมล้อ’ และ ‘ซี่ล้อ’) โดยที่ Hub คือ การใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ในการเป็นจุดศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยงกิจกรรมเกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ทั้งหมดไว้อย่างเป็นระบบ ส่วน Spoke เปรียบดังซี่ล้อเป็นเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมไปยังจุดศูนย์กลางหรือดุมล้อ หรือถ้าจะกล่าวแบบเข้าใจยาก ๆ เป็นภาษานักวิชาการ คือ หลักการของแบบจำลองโครงข่ายแบบ โดย Hub หมายถึง จุดที่ใช้รวมการไหลของ Node อื่น ๆ และจัดกลุ่มใหม่เพื่อส่งต่อไปยัง Hub (หรือ Node) อื่น หรือทำการส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทางของทรัพยากรนั้น ๆ สามารถแยกเป็น 2 ระดับคือ
1) Hub Level Network เป็นระดับของการเชื่อมโยงระหว่างจุดศูนย์ (Hub) กับจุดศูนย์กลาง (Hub)
2) Spoke Level Network เป็นระดับของการเชื่อมโยงระหว่าง Node กับ HUB ดังแสดงระบบ Hub & Spoke
จากที่เกริ่นไปแล้วว่า การขนส่งทางอากาศเป็นเพียงหมวดหนึ่งของการขนส่ง ซึ่งก็เป็นส่วนประกอบของโลจิสติกส์ ทำให้เมื่อเกิดการปฏิวัติระบบการขนส่งทางอากาศและเมื่อต้องการประสิทธิภาพสูงสุด - โมเดล Hub & Spoke จึงถูกนำมาประยุกต์และพูดถึงอย่างแพร่หลาย
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ท่าอากาศยานเป็นสิ่งอานวยความสะดวก (facility) ที่อานวยการในต่อเชื่อมระหว่างการขนส่งทางอากาศและการขนส่งในหมวด (mode) อื่น ๆ และนั่นเองที่ทำให้เห็นความสำคัญที่ว่า นอกจากผู้บริหารท่าอากาศยานมีความจำเป็นในการทำให้การเดินทางขึ้น-ลง เครื่องบิน ปลอดภัย สะดวก รวดเร็วและคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว ตัวชี้วัดที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ ประสิทธิภาพในการต่อเชื่อมและการเข้าถึงระหว่างท่าอากาศยานกับหมวดการขนส่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางบก ทางราง ทางน้ำ หรืออื่น ๆ
โฆษณา