30 ต.ค. 2020 เวลา 11:22 • กีฬา
NBA The Player Part 5:
NBA ดราฟต์เกียรติยศในคราบน้ำตา
โดย วิธพล เจาะจิตต์
สุดยอดความฝันของนักบาสเกตบอลเกือบทุกคน คือการที่ได้ยินชื่อตัวเองถูกประกาศโดยนายสนามว่าได้รับการคัดเลือกโดยทีมใน NBA ซึ่งมักตามมาด้วยเสียงโห่ร้องแสดงความยินดี โผเข้ากอดสมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนฝูงที่มาให้กำลังใจ ต่อด้วยเดินขึ้นเวทีท่ามกลางแสงไฟแฟลชระยิบระยับของนักข่าว นายสนามสัมผัสมือต้อนรับเข้าสู่ลีก นักกีฬาดึงหมวกประจำทีมที่คัดเลือกตนเองมาสวมใส่ พร้อมชักภาพด้วยกันอีกครั้ง เป็นวินาทีที่นักกีฬาทุกคนได้อยู่ในสปอตไลต์อย่างที่ตนเองเฝ้ารอ หลายคนหลั่งน้ำตาแห่งความยินดี ด้วยสิ่งที่เพียรพยายามมาตลอดชีวิตได้พาพวกเขามาถึงฝั่งฝันแล้ว
ทว่ามีนักกีฬาคนหนึ่งที่ชื่อของเขาได้ถูกเรียกขานในงานดราฟต์ สวมกอดครอบครัว ก้าวขึ้นสู่เวทีพร้อมน้ำตา สัมผัสมือกับนายสนาม NBA อดัม ซิลเวอร์ ได้สวมหมวกลีก และชักภาพร่วมกัน โดยที่เขาไม่ได้รับเลือกจากทีมใดทีมหนึ่งเลย กระนั้นผู้คนที่มาร่วมงานดราฟต์ในวันนั้นต่างส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ หลายคนน้ำตาไหล หากแต่ไม่มีใครบอกได้ว่ามันเป็นน้ำตาแห่งความยินดี ความเสียใจ ต้องการให้กำลังใจ หรือเป็นเพราะเรื่องราวของนักกีฬาคนนี้นำพาอารมณ์ไป
นี่คือเรื่องราวของการดราฟต์แห่งความทรงจำใน NBA ของ ไอเซอาห์ ออสติน
ออสตินตกหลุมรักบาสเกตบอลตั้งแต่เขาเริ่มเล่นกีฬานี้ แม้ว่าจะเล่นเบสบอลได้ดีเช่นกัน เขาเป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ด้วยร่างกายที่สูง 6 ฟุต 4 นิ้ว ตอนอยู่เกรด 7 (เทียบเท่า ม. 1) ซึ่งเกินมาตรฐานเด็กวัยเดียวกัน ทำให้พ่อแม่เริ่มเห็นว่านอกเหนือจากส่วนสูงแล้ว สัดส่วนร่างกายของเขาก็อาจไม่เหมือนเด็กทั่วไป จึงได้ขอให้แพทย์ตรวจว่าเขาเสี่ยงจะเป็นโรค Marfan Syndrome ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมมากน้อยเพียงใด แต่ด้วยวัยในขณะนั้นทำให้แพทย์ไม่อนุญาตให้เขาเข้าตรวจได้
ความเก่งกาจของออสตินพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ นำทีมโรงเรียนประสบความสําเร็จอย่างต่อเนื่อง และเข้าชิงแชมป์เมืองตอนเขาอยู่เกรด 8 ซึ่งเป็นนัดที่เพื่อนร่วมทีมยุยงส่งเสริมให้ออสตินขึ้นดั๊งก์ประกาศศักดา และเขาก็หาโอกาสทำอย่างนั้นจริงๆ โดยขึ้นดั๊งก์สุดแรงใส่ทีมคู่แข่งสมใจ และแล้วเหตุการณ์ผิดปกติก็เกิดขึ้น เมื่อเขาลงสู่พื้นหลังจากดั๊งก์แล้ว พบว่าทุกอย่างที่เขาเห็นเป็นสีแดงไปหมด แม้ว่าความกลัวจะเกิดขึ้นจับใจ แต่ออสตินก็แข่งต่อจนจบเกม และทีมของเขาก็คว้าแชมป์ไปครอง
หลังจบเกมเขาเล่าให้พ่อแม่ฟัง พวกท่านพาเขาเข้ารักษา ออสตินก็พบว่าจอประสาทตาของเขาฉีกขาดเกือบทั้งหมด และสมควรต้องเข้าผ่าตัดทันที หลังจากศัลยกรรมไปหลายรอบ ออสตินก็ต้องยอมรับความจริงอันโหดร้ายว่าตาข้างขวาบอด ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถรับรู้ความลึก (Depth) ของระยะ และเกิดปัญหาการคะเนจุดกลางของสิ่งของหรือพื้นที่ได้
1
ชีวิตของออสตินหลังจากนั้นเจอกับความยุ่งยากเป็นอย่างมาก จะรินน้ำก็หกจากแก้วเสมอ เดินเข้าประตูครั้งใดไหล่ขวาก็มักจะกระแทกขอบประตู เขาต้องมาฝึกรินน้ำ เดินผ่านประตู และฝึกเรื่องจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตต่างๆ ใหม่ทั้งหมด แต่ความหวาดกลัวขั้นสุดของเด็กที่รักบาสเกตบอลอย่างจับใจคือ ถ้าเขาไม่สามารถรับรู้ระยะความลึกและประมาณศูนย์กลางได้ แล้วจะส่งบอลลงห่วงได้อย่างไร เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากฝึกหนัก เพื่อให้กล้ามเนื้อและร่างกายจดจำระยะแทนสายตา นับตั้งแต่นั้นมา การส่งบอลลงห่วงของเขาทุกลูกมาจากการจดจำของกล้ามเนื้อและร่างกายของตัวเองทั้งสิ้น
2
ออสตินมักจะกล่าวถึงคำพูดของคุณแม่ที่พาเขากลับมาสู้ต่อที่ว่า “ลูกอาจจะเลือกใช้เหตุการณ์โชคร้ายนี้ เพื่อเป็นข้อแก้ตัวในการเลิกเล่นบาสเกตบอล หรือลูกจะใช้มันเป็นโอกาสในการสร้างประวัติศาสตร์ก็ได้” ด้วยวัยขณะนั้นเมื่อพบกับโชคร้ายที่ยากมากจะเกิดกับคนคนหนึ่ง ออสตินคงไม่อาจบอกได้ว่าจะสร้างประวัติศาสตร์ได้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาตอบตัวเองได้อย่างชัดเจนคือ จะเล่นบาสเกตบอลต่อไปด้วยตาเพียงข้างเดียว
2
ออสตินกลับมาเล่นบาสเกตบอลอีกครั้งตอนเกรด 11 โดยปกปิดความจริงเรื่องนัยน์ตาจากคนส่วนใหญ่ เพราะไม่อยากให้ใครมาเห็นอกเห็นใจนัก ยกเว้นแต่เพื่อนร่วมทีมที่สนิทและโค้ชเท่านั้นที่รู้ และเพื่อให้สามารถกลับมาเล่นได้ดี นอกเหนือจากการต้องฝึกยิงบอลเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง เพื่อให้ร่างกายจดจำการยิงบอลในทุกระยะ เขายังต้องทำการบ้านอย่างหนักทั้งในเรื่องเข้าทำแต้มด้วยมือซ้าย และศึกษาให้เข้าใจรูปแบบการเล่นว่าในแต่ละแผนเพื่อนร่วมทีมจะเคลื่อนไหวอย่างไร เพื่อสามารถส่งบอลให้เพื่อนได้อย่างแม่นยำ และไม่ทำให้แผนการเล่นเสียเพียงเพราะเขากะระยะคลาดเคลื่อน
ด้วยความเพียรพยายามออสตินสามารถนำทีม Grace Preparatory Academy ได้แชมป์รัฐ 2 ปีติดกัน และได้รับเลือกให้อยู่ในทีม McDonald’s All American หรือทีมรวมผู้เล่นสุดยอดระดับมัธยม เขาถูกจัดอันดับเป็นผู้เล่นเก่งสุดลำดับ 3 ของผู้เล่นมัธยมทั้งประเทศ
ด้วยความเก่งกาจ ออสตินได้รับเทียบเชิญจากหลายมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านบาสเกตบอล และในที่สุดเขาก็เลือกมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ (Baylor) ที่ซึ่งเขากลายเป็นผู้เล่นมัธยมลำดับสูงสุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มหาวิทยาลัยเคยคัดเลือกมา เพื่อเล่นภายใต้การโค้ชของ สกอตต์ ดรู ผู้ที่แม้จะทราบดีว่าออสตินตาบอดข้างขวา แต่เขาไม่เคยเปลี่ยนใจในการดราฟต์ออสตินเลย
ออสตินประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีกับเบย์เลอร์ ด้วยการเป็นผู้เล่น 5 คนแรกทุกเกมในปีแรกที่เล่นให้มหาวิทยาลัย และเป็นผู้นำในการบล็อกของสายบิ๊ก-12 ตลอด 2 ปี เขานำทีมเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หรือ NCAA ในปี 2014 ซึ่งเขาได้แสดงให้คนทั้งประเทศเห็นถึงทักษะที่พบเห็นได้ยากในผู้เล่นความสูงขนาด 7 ฟุต 1 นิ้วแบบเขา
ออสตินตระหนักดีว่า หลังจากจบฤดูกาล หากเขาอยากเข้าดราฟต์ตัวใน NBA เขาจะต้องแจ้งให้คนที่เกี่ยวข้องทราบถึงความไม่ปกติของร่างกายตัวเอง ด้วยเหตุนี้หลังการฝึกซ้อมวันหนึ่งโค้ชดรูจึงให้เขาเล่าให้เพื่อนร่วมทีมทุกคนฟัง เพื่อนร่วมทีมหลายคนถึงกับอึ้ง เพราะไม่เชื่อว่าผู้เล่นที่ตาขวาบอด รับรู้ระยะไม่ได้ จะฝีมือฉกาจขนาดนี้
1
เมื่อเรื่องราวของเขาถูกบอกกล่าวต่อๆ กันไป ออสตินก็ได้รับจดหมายทั้งให้กำลังใจและขอบคุณสำหรับการสร้างแรงบันดาลใจให้คนจำนวนไม่น้อย แรงใจอันท่วมท้นนี้ทำให้ออสตินยิ่งมุ่งที่จะสานฝันต่อไปใน NBA เขาเข้าร่วมการคัดเลือกตามกระบวนการของ NBA โดยร่วมซ้อมกับทีมต่างๆ ที่สนใจเขา เข้าทดสอบทางกายภาพตามขั้นตอน และถูกคาดหมายกันว่าเขาจะเป็นผู้เล่นที่ถูกดราฟต์คนแรกๆ ของปี 2014 ด้วยซ้ำ อนาคตสดใสที่จะกลายเป็นนักกีฬาอาชีพกำลังรอเขาอยู่อีกไม่กี่วัน
2
แต่แล้วเพียง 5 วันก่อนวันดราฟต์ วันนั้นเป็นวันที่ 21 มิถุนายน 2014 ออสตินก็ได้รับข่าวร้ายว่าลีกไม่อนุญาตให้เขาเข้าดราฟต์ เนื่องด้วยเขามีอาการ Marfan Syndrome รุนแรง กล่าวคือเส้นเลือดที่ส่งเลือดเข้าเลี้ยงหัวใจมีขนาดใหญ่ เปราะบาง และง่ายต่อการฉีกขาด ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่เขาจะเสียชีวิตในเกมการแข่งขันที่หนักหน่วงและเข้มข้นเช่นใน NBA
ข่าวร้ายนี้ไปถึงหูของ อดัม ซิลเวอร์ นายสนามของลีก ผู้ทำหน้าที่ประกาศดราฟต์ในแต่ละอันดับในวันนั้น เขาได้แจ้งกับออสตินและครอบครัวว่า ยังขอเชิญทุกคนเข้าร่วมในงานดราฟต์ดังเดิม แม้ว่าจะมีข่าวร้ายนั้นก็ตาม ทั้งออสตินและครอบครัวไม่ทราบแน่ชัดว่าทาง NBA ได้เตรียมสิ่งใดไว้ แต่ออสตินก็เตรียมชุดสูทที่ดีที่สุด เดินทางไปบรู๊คลินพร้อมครอบครัว
ในวันดราฟต์ หลังเสียงความยินดีของการดราฟต์ลำดับที่ 15 ผ่านไป อดัม ซิลเวอร์ เริ่มเล่าเรื่องราว และสาเหตุที่ออสตินไม่ได้เข้าร่วมดราฟต์จาก NBA บรรยากาศของสถานที่หม่นเศร้าลงโดยพลัน และเมื่อจบลง ซิลเวอร์ได้กล่าวต่อทุกคนในที่นั้นว่า
“ในการคัดเลือกผู้เล่นลำดับที่ 16 สำหรับการดราฟต์ของ NBA ในปีนี้ NBA ขอเลือก ไอเซอาห์ ออสติน”
สิ้นเสียงประกาศ ฝันส่วนหนึ่งของออสตินกลายเป็นจริงที่ได้ยินชื่อเขาถูกเรียกในงาน ออสตินเดินขึ้นเวทีทั้งน้ำตา จับมือซิลเวอร์และสวมใส่หมวกของลีก
นี่เป็นดราฟต์ครั้งแรกที่ นักกีฬาผู้ถูกเรียกขานชื่อไม่ได้รับเลือกเข้าสู่ทีมใด
นี่เป็นดราฟต์ครั้งแรกที่ NBA ดราฟต์นักกีฬาเข้าเป็นสมาชิกของลีก
นี่เป็นดราฟต์ครั้งแรกที่ ผู้ประกาศกล่าวถึงประวัติของนักกีฬา
นี่เป็นดราฟต์ครั้งแรกที่ ลีกยกย่องสปิริตและความรักในเกมบาสเกตบอล
นี่เป็นดราฟต์ครั้งแรกที่ ลีกให้การยอมรับในความสามารถของนักกีฬาที่ไม่ได้รับการเลือกเข้าสู่ทีม
แม้ว่าจะได้รับเกียรติจากลีกในงานดราฟต์ แต่ออสตินก็ยังต้องอยู่กับความจริงที่ว่า เขาอาจจะไม่สามารถเล่นบาสเกตบอลอาชีพได้ดังฝัน
เขากลับสู่เบย์เลอร์โดยทำหน้าที่เป็นหนึ่งในสตาฟโค้ชของทีม และไม่ได้เล่นบาสเกตบอลอีกเลยในช่วงหนึ่งปีครึ่งต่อมา
หลังจากเหตุการณ์วันดราฟต์ ออสตินมุ่งมั่นทำความเข้าใจกับอาการของโรค วิธีรักษา และบรรเทาบางอาการ โดยการเข้าร่วมกลุ่มผู้ป่วย Marfan Syndrome อย่างต่อเนื่อง จนได้มาพบกับศาสตราจารย์ เดวิด เหลียง (Prof. David Liang) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านความผิดปกติทางพันธุกรรม ออสตินเข้ารักษาตามโปรแกรมอย่างมีวินัย และแล้วเมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี ศาสตราจารย์เหลียงก็ระบุว่าออสตินมีอาการ Marfan Syndrome ก็จริงแต่ไม่ได้รุนแรง และเขารับรองว่าออสตินจะสามารถลงแข่งในระดับอาชีพได้
เมื่อการรับรองของศาสตราจารย์เหลียงเผยแพร่ต่อสาธารณะ ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับจรรยาแพทย์ค่อนข้างรุนแรง โดยตำหนิว่าไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่อชีวิตของออสตินจากการลงแข่งเลย ศาสตราจารย์เหลียงตอบข้อวิพากษ์เหล่านั้นอย่างชัดเจนและมั่นคงว่า เขาตระหนักดีเรื่องความเสี่ยงชีวิตของออสติน แต่สิ่งที่เขาให้น้ำหนักไม่แพ้กันคือ ข้อเท็จจริงที่ว่าหากไม่ให้เด็กคนนี้เล่นบาสเกตบอลต่อไป เขาจะดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและรักษาตัวตนของเขาได้หรือเปล่า ซึ่งเขาเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนคนหนึ่งที่พยายามขนาดนี้ จะไม่มีทางมีความสุขได้เลยหากสิ่งที่รักเท่าๆ กับชีวิตตนเองถูกพรากไป
1
“การลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต อาจจะไม่เลวร้ายเท่าการตัดสินใจที่ทำให้คนคนหนึ่งไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต”
เมื่อข่าวการวินิจฉัยของศาสตราจารย์เหลียงแพร่ออกไป ทีมอาชีพจำนวนมากเริ่มติดต่อตัวแทนของออสติน เพื่อยื่นข้อเสนอสัญญาให้พิจารณา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งแรกที่ทั้งศาสตราจารย์เหลียงและออสตินต้องการ คนทั้งสองได้ร่วมกันยื่นเรื่องขอให้ NBA พิจารณาคุณสมบัติด้านกายภาพของออสตินอีกครั้ง ทั้งคู่ได้เดินทางไปพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพของ NBA เพื่ออธิบายรายละเอียด แต่แล้วฝันร้ายก็มาเยือนออสตินเป็นครั้งที่สอง เมื่อลีกยังยืนยันว่า ด้วยระดับความเข้นข้นของเกม NBA มันยังคงอันตราย และเสี่ยงเกินไปที่จะให้ออสตินลงเล่น
เมื่อข่าวนี้สะพัดออกไป หลายทีมที่เดิมเคยตั้งใจจะยื่นข้อเสนอก็ถอนออกไป ชีวิตออสตินก็ดูเหมือนจะต้องถอยไปสู่จุดเริ่มต้นที่ไม่รู้จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไรอีกครั้ง
แต่แล้วก็มีทีมเอฟเอ็มพี (FMP) ที่ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของออสติน และเสนอสัญญาในการเล่นอาชีพในลีกเซอร์เบียให้กับออสติน
แม้ว่าจะต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน ในประเทศที่ตนเองไม่รู้ภาษา ต้องห่างไกลจากครอบครัว แต่ในที่สุดออสตินก็ได้ลงแข่งในฐานะนักบาสเกตบอลอาชีพตามที่ใจอยากมาตลอด และแม้ว่าเส้นทางบาสเกตบอลอาชีพของเขาจะไม่ได้โด่งดัง แถมยังต้องพเนจรไปหลายทีมในหลายประเทศ แต่เขาก็ยังได้ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขใจ สร้างชีวิตครอบครัวจากฝันที่เขาเฝ้ารักษา และเพียรพยายามให้เป็นจริง
1
ชีวิตของออสตินเปรียบเสมือนภาพยนตร์ที่ให้ข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับชีวิตว่า “ไม่ว่าเราจะตั้งใจดีและพยายามอย่างที่สุดเท่าไหร่ก็ตาม หลายครั้งชีวิตก็ให้บททดสอบที่ท้าทายกับเรา หลายครั้งบททดสอบก็ดูจะไม่เป็นธรรมเอาเลย หลายครั้งมันก็มากเสียจนกำลังใจสู้แทบไม่เหลือ แต่การที่เรายังคงตอบบททดสอบเหล่านั้น และวิธีที่เราจัดการความท้าทาย เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าแท้จริงแล้วเราเป็นคนอย่างไร”
ออสตินจึงเป็นตัวอย่างที่ดีมากของ “การเฝ้ารักษาและทะนุบำรุงความฝัน และความหมายของการมีชีวิตอยู่ของคนหนึ่งคน”
หลายครั้งคนส่วนใหญ่หลงลืมความสำคัญของการดำรงอยู่ของตนเอง ทว่าเรายังโชคดีที่มีเรื่องราวของคนอย่างออสติน ช่วยสะท้อนให้ไม่ลืมความเป็นตัวเรา และความหมายของการตามหาความฝันของตนเอง
#อดัมซิลเวอร์ #Baylor #MarfanSyndrome #ไอเซอาห์ออสติน #NBA #เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
ฝากติดตาม https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา