31 ต.ค. 2020 เวลา 03:12 • ไลฟ์สไตล์
เปิบข้าว - การกิน 3 นิ้วที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง
การชู 3 นิ้วกำลังท็อปฮิต เป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมทางการเมืองโดยเด็กรุ่นใหม่ แต่ Gourmet Story นั้นการเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่เรื่องกิน เห็นเด็กชู 3 นิ้วแล้วก็ทำให้นึกถึงอาหารที่ต้องกินด้วยนิ้วมือ 3 นิ้วขึ้นมา
ขอบคุณภาพประกอบจาก broadcastthai.com/buppesannivas
อันที่จริงการกินข้าวด้วยนิ้วมือ 3 นิ้วก็เป็นวิธีการรับประทานของคนหลายชาติหลายภาษา อย่างของไทยคนในสมัยก่อนก็เรียกว่า “เปิบข้าว”
อย่างในบทกวี “เปิบข้าวทุกคราวคํา จงสูจําเป็นอาจิณ …..” ของจิตร ภูมิศักดิ์ เอ๊ะ ทำไมไปพูดเรื่องการเมืองอีกจนได้
คำว่า “เปิบ” หรือ “เปิบข้าว” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่าเป็นคำกริยา หมายถึง “ใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง” วิธีเปิบข้าวโดยทั่วไปก็นิยมใช้นิ้ว 3 นิ้ว ได้แก่ นิวโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางตะล่อมข้าวและกับข้าวให้พอดีคำส่งเข้าปาก
การเปิบข้าวนี้เป็นวิธีกินอาหารของคนไทยแต่โบร่ำโบราณนะครับ ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนบอกว่า สมัยโบราณ ครอบครัวไทยนั่งรับประทานอาหารกับพื้น ใช้ผ้าสะอาดหรือเสื่อปูลาดบนพื้นบ้าน ผู้ที่จะรับประทานนั่งล้อมวงกัน ตักข้าวจากโถใส่จานอาหาร จัดมาเป็นสำรับ วางสำรับไว้ตรงกลางวง มีช้อนกลางสำหรับตักกับข้าว ใส่จานของตน และเปิบอาหารด้วยมือ บางบ้านจะมีขันหรือจอกตักน้ำ และกระโถนเตรียมไว้ เพื่อรองน้ำล้างมือด้วย
เราเพิ่งจะมาใช้ช้อนส้อมกันในภายหลังนี้เอง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ ว่า
“ถ้าว่าถึงเมืองไทยนี้ ยังจำได้ว่าเพิ่งใช้มีดช้อนส้อมอย่างฝรั่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากประพาสเมืองสิงคโปร์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ เริ่มตั้งโต๊ะเสวยที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีเจ้านายบางพระองค์เอาพระหัตถ์ซ้ายถือส้อมปักแทงชิ้นอาหารให้ทะลุรึงไว้กับจานเอาพระหัตถ์ขวาถือมีดหั่นเป็นอาหารชิ้นน้อย ๆ เรียกเยาะกันว่า “แผลงศร” ก็เห็นจะมาแต่ลักษณะใช้ช้อนส้อมสองง่ามนั่นเอง….”
ขอบคุณภาพประกอบจาก th.openrice.com/
บุคคลบางคนอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แม้จะทรงเป็นนักเรียนนอกได้ไปศึกษาวิชาการยังประเทศตะวันตกอยู่หลายปีก็ยังโปรดที่จะเสวยด้วยพระหัตถ์ ดังปรากฏในเรื่อง ““เสวยต้น” พระราชกิจประจำวันที่รัชกาลที่ 6 โปรดดำเนินตามพระราชบิดา” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ของวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ได้พูดถึงเมื่อเวลาจะเสวยว่า
“ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นพระหัตถ์ขวาออกมาเหนือพระสุพรรณราช คุณพระนายจะค่อยๆ รินน้ำจากคนโทเงินถวายชําระให้สะอาด แล้วจึงเริ่มเสวยด้วยพระหัตถ์ (เว้นแต่วันใดมีพระราชกิจที่จะต้องทรงปฏิบัติภายหลังเสวยจึงมักจะทรงใช้ช้อนส้อม)”
มาดูทางประเทศญี่ปุ่นบ้าง การรับประทานข้าวหน้าปลาดิบหรือซูชิ(sushi)นั้น ถ้าแบบดั้งเดิมจริง ๆ ก็ต้องทานด้วยมือ ไม่ใช่ตะเกียบ อย่างเช่นร้าน Sukiyabashi Jiro เป็นร้านซูชิที่เคยได้มิชลิน 3 ดาวมาตั้งแต่ปี 2007 ผู้ทำซูชิคือ คุณปู่ Jiro Ono วัย 94 ปี โดยซูชิที่คุณปู่ทำนั้นก็จะเสิร์ฟแบบไม่มีตะเกียบ ต้องใช้มือรับประทาน
ร้าน Sukiyabashi Jiro ได้มีโอกาสรับรองแขกบ้านแขกเมืองของญี่ปุ่นคือประธานาธิบดีบารัก โอบามา โดยนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะเป็นผู้พามารับประทานอาหารเย็นด้วยกันที่นี่เมื่อปี 2014 ประธานาธิบดีโอบามาก็ต้องกินซูชิฝีมือคุณปู่ Jiro ด้วยมือเหมือนกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.bbc.com
วิธีการรับประทานซูชิที่จะได้รสชาติที่ดีที่สุดคือ เอามือจับซูชิแล้วพลิกให้ด้านที่เป็นเนื้อปลาจิ้มลงในน้ำซีอิ๊วเล็กน้อย เหตุที่ต้องเอาด้านเนื้อปลาลงจิ้มเพราะว่าถ้าเอาด้านที่เป็นข้าวลงไป ข้าวจะดูดซึมน้ำซีอิ๊วทำให้ซูชิเค็มเกินไป และเมื่อเอาเข้าปากก็จะต้องให้ด้านที่มีเนื้อปลานั้นสัมผัสกับลิ้นก่อน ไม่ใช่เอาด้านที่เป็นข้าว เพื่อให้ผู้รับประทานได้สัมผัสรสชาติของเนื้อปลาและความประทับใจอย่างเต็มที่ และประการสุดท้ายต้องทานให้หมดในคำเดียว อยากกัดแบ่งเป็นอันขาดเพราะจะทำให้เสียรสชาติเช่นกัน
คุณพิชชารัศมิ์ ได้เขียนถึงซูชิของคุณปู่ Jiro ไว้ใน www.marumura.com ว่า “รสชาติแบบ "จิโร่" คือ การทำซูชิที่ดึงรสชาติและกลิ่นหอมดั้งเดิมของเนื้อปลาออกมาให้ได้มากที่สุด เมื่อเคี้ยวในปาก จะมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งปาก และข้าวกับปลาเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน”
การทำซูชิของคุณปู่ Jiro นั้น “...คนอื่นอาจคิดว่าเขาจู้จี้ เคร่งเครียดแต่เขาทำเพื่อให้ได้ซูชิที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสรรวัตถุดิบชั้นเยี่ยม แสวงหากรรมวิธีเพื่อคงสภาพวัตถุดิบบางประเภทให้มีใช้ตลอดปี หรือการทำให้รสชาติอาหารดีขึ้น เช่น การคิดค้นเทคนิคการหุงข้าวให้อร่อยมากขึ้น การนวดหนวดปลาหมึกเพื่อให้นุ่มอร่อย หรือการรักษาอุณหภูมิอาหารที่ดีที่สุด เขาสนใจลูกค้าที่มาร้านและจะเสิร์ฟขนาดซูชิต่างกันสำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง หรือลูกค้าที่ถนัดขวาหรือซ้าย
……………………………………...
จะเห็นได้ว่าการทำซูชิเป็นอิคิไกของคุณจิโร่ เขารู้สึกมีความสุขตลอดวันที่ได้ทำซูชิ เงินทองกลับเป็นเรื่องรองสำหรับเขา เพราะความสนใจหลักของเขาอยู่ที่ว่าจะทำซูชิให้ดีขึ้นได้อย่างไร”
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.asiaone.com
ในเว็บไซต์ของร้าน Sukiyabashi Jiro ได้อธิบายวิธีกินซูชิที่ถูกวิธีไว้ ต่อไปเวลาเราไปทานซูชิจะได้ทำถูกต้อง แล้วก็ได้รสชาติของปลาและข้าวอย่างเต็มที่ราวกับไปกินที่ร้านมิชลินเลยนะครับ ไปดูได้ที่
ในศาสนาอิสลาม ก็มีคำสอนที่พูดถึงเรื่องการกินอาหารด้วยนิ้วมือ 3 นิ้วว่าให้ใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง และต้องของมือขวาเท่านั้น มือซ้ายไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้นิ้วมือทานอาหารก็เป็นเพียงแต่คำแนะนำหรือมารยาท(etiquette)ในการรับประทานอาหารเท่านั้น มิใช่ข้อกำหนดที่บังคับว่าจะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด
จะเห็นว่าการเปิบอาหารนั้นมีอยู่ในวัฒนธรรมของหลาย ๆ ชาติ ความจริงก็เป็นของทุกชาติด้วยซ้ำก่อนที่จะหัดใช้มีดช้อนส้อมกัน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า “เคยเห็นหนังฉายเรื่องหนึ่ง เขาทำเรื่องครั้งพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ ประเทศอังกฤษประเทศอังกฤษ เห็นจะราวเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ ก็ยังกินด้วยมือ”
และก็อย่านึกว่าเป็นวิธีการของคนโบราณที่การสาธารณสุขยังล้าหลังหรือเพราะยังไม่รู้จักการใช้อุปกรณ์ในการส่งอาหารเข้าปากนะครับ มีคนรวบรวมไว้ว่าการกินอาหารโดยการเปิบมีผลดีต่อสุขภาพมากมายเช่น ป้องกันโรคเบาหวาน ช่วยในการย่อยอาหาร และอื่น ๆ เพราะฉะนั้นอย่าประมาทภูมิปัญญาของคนโบราณเป็นอันขาด
ไปดูได้ในบทความเรื่อง Here's Why Eating Food With Hands Is A Healthy Habit ได้ที่
ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกเหมือนกัน KFC ที่ขายไก่ทอดที่เรารู้จักกันดีก็แจกถุงมือพลาสติกซึ่งมีแค่ 3 นิ้วให้กับลูกค้าในการรับประทานไก่ทอด
ความจริงไก่ทอด KFC (หรือยี่ห้ออื่น ๆ) ไปต่างประเทศ เขาจะไม่มีอุปกรณ์การกินให้ จะต้องรับประทานด้วยมือกัน ดังจะเห็นได้จากคำขวัญของ KFC แต่ดั้งเดิมที่ว่า "Finger Lickin' Good" รู้สึกจะมีแต่ KFC ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีมีดกับส้อมพลาสติกให้
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.timeout.com
ถุงมือ 3 นิ้วที่ KFC แจกนี้เป็นถุงมือพลาสติกที่ใส่เฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางเท่านั้น ก็จะทำให้เปิบไก่ทอดเข้าปากได้โดยไม่ทำให้นิ้วทั้ง 3 ต้องเปรอะเปื้อน แล้วอีก 2 นิ้วที่เหลือไว้ทำอะไร? ทำไมไม่ต้องใส่ถุงมือ?
คำตอบก็คือ อีก 2 นิ้วที่เหลือก็ไว้ใช้กดหรือไถโทรศัพท์ ไว้ดูเรื่องราวต่าง ๆ ในระหว่างที่รับประทานไก่ทอดได้ไงครับ
แหม...ช่างคิดได้รอบคอบเสียจริง ๆ นะครับ
Gourmet Story - เรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เป็นความรู้ เล่าสู่กันฟัง
เพิ่มความอร่อยของอาหารที่เรารับประทาน ติดตามได้ที่
โฆษณา