1 พ.ย. 2020 เวลา 02:06 • บ้าน & สวน
บ้านชิ้นส่วนสำเร็จรูป
เรื่องสุดท้ายในซีรีย์ 'บ้าน-บ้าน' เป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้านที่นิยมก่อสร้างในหมู่บ้านจัดสรรปัจจุบัน ก็คือ บ้านที่ก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูป
1
Cr. : precast-bangkok.com
บ้านหลายหลังที่เราเห็นทุกวันนี้  ถ้าดูเผินๆเราจะดูไม่ออกเลยว่า บ้านหลังไหนก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป  หลังไหนสร้างด้วยระบบปกติแบบเดิมๆ
Cr. : yellow.co.th
แล้วระบบการก่อสร้างแบบนี้ มีข้อดีข้อจำกัดอย่างไร ?
เราในฐานะผู้อยู่อาศัยต้องรู้อะไรบ้าง ? ทำไมถึงเป็นที่นิยมในกลุ่มดีเวลลอปเปอร์ ?
เชิญติดตามมาเลยครับ
ระบบก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูป เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เร่งรีบมากขึ้น ค่าแรงแพงขึ้น จึงมีคำถามในแวดวงก่อสร้างว่า ทำอย่างไรให้สามารถก่อสร้างบ้านได้รวดเร็วขึ้น ประหยัดค่าแรงมากขึ้น ระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามดังกล่าว
การก่อสร้างในรูปแบบเดิมๆ คือการก่อสร้างไปตามขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ ทำฐานราก จากนั้นหล่อแบบคอนกรีตเพื่อทำเป็นเสา คานและพื้นโครงสร้าง แล้วบ่มคอนกรีตรอเวลาคอนกรีตเซ็ตตัว พอจะรับน้ำหนักได้จึงทำโครงสร้างชั้นต่อไป ซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์/ชั้น
ระบบการก่อสร้างทั่วไป Cr. : jp-builder.com
แต่การใช้ระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปจะตัดระยะเวลาที่ต้องรอคอนกรีตเซ็ตตัวออกไป เพราะชิ้นส่วนเสา,คาน,พื้นและผนังเหล่านี้สามารถหล่อเอาไว้ได้ก่อนภายในโรงงาน
Cr. : thaitechno
การก่อสร้างหน้างานจึงเป็นการนำชิ้นส่วนพวกนี้มาประกอบกันขึ้นเป็นโครงอาคาร ทำให้ประหยัดเวลาการก่อสร้างหน้างานลงไปได้มาก ทำให้ประหยัดค่าแรงงาน
อีกทั้งเมื่อผลิตในโรงงานซึ่งควบคุมปัจจัยต่างๆได้ง่ายกว่า ทำให้ควบคุมการผลิตทำได้ง่ายตามไปด้วย เศษคอนกรีตเหลือทิ้งก็มีน้อย ต้นทุนค่าก่อสร้างจึงลดลง นี่จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เหล่าโครงการบ้านจัดสรรทั้งหลายนิยมเลือกใช้
แต่แน่นอน ทุกอย่างไม่ได้มีแต่ด้านดีเสมอไป เราต้องมองให้ลึก ถึงข้อจำกัดต่างๆด้วย
ข้อจำกัดของระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูปแยกเป็นสองส่วนคือ
๏ ส่วนแรก ข้อจำกัดของผู้รับเหมา
ชิ้นส่วนสำเร็จรูปเป็นชิ้นส่วนที่ต้องผ่านการออกแบบมาแต่ต้นว่าจะเป็นงานในส่วนไหน รอยต่อระหว่างชิ้นส่วนเป็นอย่างไร (ยกเว้นแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ที่มีผลิตออกมาหลายขนาดให้เลือกใช้) และชิ้นส่วนเหล่านี้จะต้องผลิตในโรงงาน จากนั้นจึงจะขนส่งมาที่หน้างานก่อสร้าง
1
Cr. : แบบบ้าน
ดังนั้นผู้รับเหมาที่จะก่อสร้างด้วยระบบนี้ จึงต้องมีความพร้อม ทั้งในเรื่อง การออกแบบชิ้นส่วน โรงงานที่ผลิต การขนส่ง และต้องคำนวนความคุ้มค่าว่า จำนวนชิ้นส่วนที่ผลิตนั้นมีปริมาณมากพอ ที่จะคุ้มทุนในการเปิดสายการผลิตชิ้นส่วนนั้นๆ ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ผู้ที่ใช้ระบบนี้ในการก่อสร้างจึงเป็นแบรนด์ใหญ่ๆในแวดวงอสังหาฯทั้งสิ้น
การออกแบบรอยต่อ ระหว่างชิ้นส่วนแต่ละชิ้น Cr. : pantip
๏ ส่วนที่สอง ทางด้านฝั่งผู้อยู่อาศัย
ก็ควรต้องรู้เช่นกันว่า บ้านลักษณะนี้มีข้อจำกัดอะไรบ้าง
- ต้องรู้ ลักษณะของโครงสร้างบ้านว่า มีการใช้ชิ้นส่วนสำเร็จรูปหรือไม่ ถ้าใช้ ใช้ในส่วนไหน เพราะแต่ละชิ้นส่วนมีข้อจำกัดของมัน เช่น
พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปห้ามใช้กับพื้นที่ที่มีโอกาสรับน้ำ เช่น พื้นห้องน้ำ พื้นกันสาดดาดฟ้า เพราะรอยต่อมีมากโอกาสแตกร้าวรั่วซึมจึงเกิดขึ้นได้สูง (และถ้ารั่วแล้ว การซ่อมแซมทำได้ยากมาก สุดท้ายก็ต้องทุบพื้นที่รั่วซึมส่วนนั้นทิ้งแล้วเทคอนกรีตใหม่)
Cr.: medium
ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ส่วนมากจะถูกใช้เป็นผนังโครงสร้างที่รับน้ำหนักอาคาร ดังนั้นจะไม่สามารถทุบหรือเจาะผนังภายหลังได้ เหมือนผนังก่ออิฐ(ที่พออยู่ไปนา เราอาจจะอยากทุบรื้อปรับปรุงบ้านขึ้นมา)
Cr. : FTlebusiness.com
- การต่อเติมบ้านชิ้นส่วนสำเร็จรูป มักจะทำได้ยาก เพราะเป็นระบบที่คิดมาแบบสำเร็จรูปจบในตัว เปรียบเหมือนตัวต่อเลโก้ที่ทำสำเร็จมาแล้ว ถ้าเราอยากจะขยายพื้นที่เพิ่มเติม วิธีที่ทำได้ก็คือ สร้างอีกส่วนเพิ่มเติมแล้วมาแนบติดกัน ไม่แนะนำให้ทุบหรือต่อเติมจากบ้านชิ้นส่วนสำเร็จรูปเดิมนะครับ
Cr. : บ้านและสวน
ไม่ว่าบ้านจะมีลักษณะใด ขอเพียงให้เราเข้าใจลักษณะโครงสร้างและองค์ประกอบเบื้องต้นของมัน ก็ช่วยให้เราใช้งานและอยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
แต่จะก่อสร้างหรือตกแต่งเพียงใด ก็อย่าละเลยส่วนที่สำคัญที่สุดในบ้าน ก็คือ ผู้อยู่อาศัยในบ้านนะครับ
ขอให้มีความสุขกับการอยู่อาศัยครับ
***********************************
สำหรับเพื่อนๆ Blockdit ที่สนใจแนวอื่น ผมมีเขียนลงอีก 2 เพจคือ
๏ 'Bear's Books'  = ข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่าน
๏ 'Bear's Blog'  = ภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ล่าสุด การ์ตูนกวนเมือง
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
แล้วพบกันนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา