Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WonderVenture
•
ติดตาม
31 ต.ค. 2020 เวลา 09:06 • ประวัติศาสตร์
ลอยกระทงเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมีบรรยากาศเป็นอย่างไร?
ขอพาท่านผู้อ่านย้อนชมบรรยากาศในอดีตผ่านตัวหนังสือกับ "เทศกาลลอยกระทง"
ณ พระบรมมหาราชวังริมแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ
เราสามารถเรียนรู้วิถีชีวิตสังคมและวัฒนธรรมไทยในอดีตนี้ได้ จากนวนิยาย "สี่แผ่นดิน” ผู้เขียนโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งได้นำข้อมูลจริง จากสถานที่จริง มาใส่รายละเอียดลงในนวนิยาย เป็นเกร็ดเบื้องหลังประวัติศาสตร์ ที่ไม่สามารถหาอ่านได้ที่ไหนครับ
"สี่แผ่นดิน" ยังแฝงไปด้วยประวัติศาสตร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ รวมทั้งสามารถอธิบายลักษณะสังคมศาสตร์ในยุคนั้นได้ดีเลยครับ
ผมจึงขออนุญาตพาท่านผู้อ่านจินตนาการบรรยากาศในอดีต ผ่านตัวอักษร
เชิญครับ....
ในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงนี้เองที่ชาวเมืองกรุงเทพทั้งพระนครต่างเฝ้ารอ เพราะเป็นเทศกาลที่เต็มไปด้วยความสนุก ในคืนวันงานนั้น ถึงแม้เด็กๆทั้งในและนอกเขตวังจะง่วงแสนง่วง
แต่พอตอน ๕ ทุ่มก็ถึงกับต้องล้างหน้าให้หายง่วงครับ เพราะว่างานใหญ่แห่งปีกำลังจะเริ่มขึ้นในเวลาสองยาม
พอถึงเวลาสองยามในหลวงและบรรดาเจ้านายก็เสด็จออกท่ามกลางเสียงประโคม ทุกอย่างที่ถูกเตรียมพร้อมไว้เพื่องานนี้โดยเฉพาะ ก็เริ่มมีชีวิต
เสียงโขลนร้องลากเสียงบอกกันต่อๆไป เวลาเจ้านายเสด็จออกจากวังว่า
"เปิดข้าง!" แล้วก็มีเสียงร้องรับกลับมาว่า
"เปิดข้างแล้ว!” (คล้ายกับในหนังจีนที่บอกฮ่องเต้เสด็จแล้วนั่นแหละครับ)
สัญญาณนี้เป็นสัญญาณที่ทุกคนในวังจะทราบทันทีว่าได้เปิดประตูข้างเพื่อให้เจ้านายเสด็จผ่านไปยังท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระบรมมหาราชวังนั่นเองครับ
พระเจ้าอยู่หัวจะประทับเรือบัลลังก์ซึ่งจอดอยู่หน้าตำหนักแพ พร้อมด้วยเจ้านายข้างใน ส่วนคนในและคนนอกวังก็จะพยายามเบียดเสียดแย่งพื้นที่กันเพื่อให้ใกล้ริมน้ำมากที่สุด เพื่อจะดูกระทงให้เห็นเต็มตา เบื้องหน้าออกไปในท้องน้ำมีเรือล้อมวงจอดอยู่เรียงราย มีเสียงปี่พาทย์และกลองแขกดังอยู่ไม่ขาด
มีการกำหนดบริเวณเพื่อมิให้ใครเข้ามากล้ำกรายโดยมีทุ่นลอยเป็นสัญลักษณ์ นอกทุ่นออกไปนั้นเป็นเรือราษฎรที่มาดูงานและมาเฝ้าในหลวงมากมายหลายพันลำ ดูเต็มท้องน้ำไปหมด และมีเรือของเจ้าพนักงานปักโคมบัวพายขึ้นล่องลอยตรวจตรารักษาความสงบ
ที่หน้าบัลลังก์นั้นเจ้าพนักงานจอดเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเตรียมไว้บนบุษบกตั้งพระชัย หัวท้ายเรือพระที่นั่งจุดโคมกระจกสีต่าง ๆ ดูแพรวพราว
ที่หน้าบุษบกอันเป็นที่ตั้งพระพุทธรูป ตั้งเครื่องนมัสการ มีธูปเทียน ต่อชนวนมายังเรือบัลลังก์ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดชนวนในพริบตาเดียว เทียนหน้าพระก็สว่างพรึ่บขึ้นพร้อมกัน
ต่อจากนั้น เจ้านายข้างในทรงจุดเทียนภายในเรือนั้นอีกจนทั่ว ทำให้เรือพระที่นั่งลำมหึมานั้นสว่างแจ้งด้วยแสงประทีป แสงไปกระทบลวดลายสลักที่ปิดทองล่องชาดและติดกระจก บังเกิดแสงสะท้อนดูเหมือนกับว่าเรือพระที่นั่งนั้นมีชีวิต และเป็นสัตว์ที่แสนจะงดงามลอยมาจากอีกโลกหนึ่ง
เมื่อทรงจุดเทียนเสร็จ ฝีพายในเรือพระที่นั่งก็เริ่มพายและเรือพระที่นั่งก็เคลื่อนที่ออกไปช้าๆ พร้อมด้วยเสียงเห่เรือและเสียงฝึพายรับกึกก้อง
ต่อจากนั้นเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ก็ลอยเข้ามาเทียบหน้าเรือบัลลังก์เพื่อให้ทรงจุดเทียนเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งลำก่อน จากเรือใหญ่ซึ่งลอยลำออกไปกลางน้ำ ส่องแสงสว่างจากลำไปรอบบริเวณ เหมือนพระอาทิตย์พระจันทร์ในท่ามกลางความมืด และแสงสว่างนั้นจับใบหน้าคนหลายพันที่อยู่ในเรือเล็กเรือน้อย ที่มาคอยชมอยู่ ให้แลเห็นได้ชัด
ต่อจากนั้นก็มีการปล่อยเรือกระทงเล็ก ๆ ทำเหมือนเรือพระที่นั่งและเรือกราบของจริง แต่ส่วนเล็กลงไปหมดพร้อมจุดเทียนและโคมสว่างทั่วทั้งลำ ภาพทั้งหมดเป็นภาพที่ผู้คนที่ได้มาครั้งนั้น คงไม่มีวันลืมเลือน
เวลาที่ผู้คนรู้สึกว่าสนุกที่สุดก็คือตอนจุดดอกไม้ไฟ ซึ่งเริ่มต้นหลังจากทรงจุดดอกไม้เพลิงเป็นสัญญาณที่หน้าเรือบัลลังก์ ในชั่วไม่กี่อึดใจทั้งท้องน้ำก็ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยดอกไม้เพลิงเพราะเรือต่าง ๆ ที่จอดอยู่นับจำนวนไม่ถ้วนนั้น ต่างพากันจุดดอกไม้เพลิงขึ้นพร้อมกัน
บางอย่างก็น่าดู เช่นพุ่ม ตะไล ที่เขาจุดตามทุ่น บางอย่างก็น่ากลัว เช่น พลุและรัดทาซึ่งส่งเสียงดังภายในระยะเวลาติต ๆ กัน บนท้องฟ้าก็เต็มไปด้วยดาวสีต่าง ๆ ที่ร่วงพรูกลับลงมา แล้วก็เสียงพลุเสียงพะเนียง เกิดเป็นดาวกระจายเต็มท้องฟ้าแทนกันอยู่ไม่ขาด
ในน้ำเบื้องหน้ามีแต่ดอกไม้เพลิงน้ำทุกขนาด ส่งเสียง มุดน้ำหรือพ่น ไฟออกจากตัวอยู่ไม่ขาดระยะ
เจ้าพนักงานจัดดอกไม้น้ำทุกชนิดแต่ขนาดย่อมกว่าธรรมดาไว้แจกถวายเจ้านายข้างในทรงจุดและมีเหลือพอสำหรับข้างในที่มีใช่เจ้านาย ตลอดจนผู้คนและเด็กๆ
ตอนนี้เป็นตอนที่สนุกที่สุดเพราะจะมีการส่งเสียงวี้ดว้ายกันบ้างก็ได้ เพราะด้วยเสียงดอกไม้เพลิงนั้นดังกว่าคอยกลบเสียงคนอยู่ เด็กบางคนที่ทะโมนถือโอกาสที่ผู้ใหญ่กลัวดอกไม้เพลิง จุดดอกไม้หลายดอก แต่ไม่โยนลงน้ำ กลับทำร่วงเข้าไปในหมู่ชาววังที่นั่งอยู่ ทำให้เกิดหวีดร้องและลุกขึ้นหนีกันชุลมุน
ความสนุกกับเทศกาลลอยกระทงของคนในยุคนั้น ต่างกับยุคนี้มากพอสมควรเลยครับ
นี้คือบรรยากาศเทศลอยกระทงในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ผมนำฝากทุกท่านครับ
คงเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของวรรณกรรมชิ้นนี้ ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพผ่านตัวหนังสือ เห็นภาพเรืองรองในความทรงจำ ในจินตนาการ ทั้งทั้งที่นวนิยายนั้นก็ไม่ได้มีภาพอะไรสักนิด
เพียงอ่านหนังสือและก็สร้างจินตนาการ จินตนาการอันงดงาม ซึ่งทุกคนที่อ่านก็จะมีภาพเป็นของตัวเอง ถึงแม้ว่าภาพอาจจะไม่ตรงกัน แต่อย่างหนึ่งที่ตรงกันก็คือ เป็นภาพแห่งความสุขครับ
เป็นความสุขยามได้อ่านหนังสือดีดี ได้มองเห็นภาพ ซึ่งเป็นภาพส่วนตัวของเรา
มากกว่าร้อยปีแล้วที่อะไรๆก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางสิ่งอาจได้เลือนหายไปและบางสิ่งอาจเกิดขึ้นมาแทนที่
สังคมยุคปัจจุบันเราหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น วัฒนธรรมคงจะปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของเวลา
ลอยกระทงในความทรงจำของใครหลายคนอาจไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ยังคงไว้ให้เราได้ระลึกถึงคือ ความงดงามแห่งวัฒนธรรมและประเพณีของชาติไทย
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
ขอฝากเรื่องพระประทีป(กระทง)สุดท้ายของในหลวง ร.9 ด้วยครับผม
blockdit.com
เจาะเวลาหาอดีต
พระประทีปสุดท้าย (กระทง) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีผู้เก็บได้และนำมาถวาย ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ในการเทศกาลวันลอยกะทงในปี พ.ศ. 2558 ไม่มีใครทราบว่าครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายของการลอยพระประทีป ณ ท่าน้ำโรงพยาบาลศิริราช
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง
- "สี่แผ่นดิน” หน้า 79,80
35 บันทึก
69
15
29
35
69
15
29
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย