วิเคราห์จากปราสาทหินในวัฒนธรรมขอมที่พบสูงสุดที่แขวงสะหวันนะเขตในปัจจุบัน เหนือสาละวันขึ้นไปเล็กน้อย นั่นก็อาจจะแปลว่า ชาวพื้นเมืองในบริเวณนี้แต่ก่อนอยู่ในอำนาจขอม แล้วจึงตกมาอยู้ในอำนาจลาวในสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มจนถึงสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช รวมเป็นเวลา 100 ปี จึงคิดประกาศเอกราช ตั้งราชอาณาจักรของตัวเอง
.
สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้ายกทัพมาตีจนถึงเมืองโองการอัตตะบือ ในพงศาวดารลาวกล่าวว่าเป็นกลอุบายของพระยาละคร (นครพนม) สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าสูญหายไปในลำน้ำโขง กองทัพหลวงเวียงจันทร์แตกกลับคืนไป สิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้า ใน พ.ศ.2115 นี้เอง แต่ตำนานเมืองไซยเสดถา พื้นเมืองอัตตะปือกล่าวว่า สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้าถูกข่าจับตัวไป และภายหลังก็ยกขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองชาวข่าชาวกวยพื้นเมืองนั้น พระองค์ร่วมกันกับพระภิกษุและชาวเมืองสร้างเมืองไซยะเสดถาขึ้น จึงปรากฏวัดวาอารามใหญ่โต เจริญรุ่งเรือง พระองค์สวรรคตในเมืองไซยะเสดถาที่ทรงสร้างใน พ.ศ.2118 พระภิกษุและชาวเมืองได้ก่อธาตุบรรจุพระบรมอัฐิไว้ที่วัดไซยะเสดถา ปรากฏมาถึงปัจจุบันนี้
.
ในระหว่าง 3 ปีที่ทรงประทับอยู่ที่เมืองไซยะเสดถานั้น พระองค์ได้ทรงฝึกหัดพลเมืองชาวข่าและชาวกวย พร้อมทั้งฝึกจับช้างเถื่อนมาฝึกหัดเป็นช้างศึก ปรากฏชื่อสถานที่ต่างๆ ที่ใช้ฝึกกองทัพในพื้นเมืองอัตตะปือ มีภาพจิตรกรรมใาผนังเล่าเรื่องของพระองค์ปรากฏอยู่ที่วัดไชยะเสดถาจนถึงทุกวันนี้ ความเข้มแข็งของกองทัพกวยกองทัพข่าในตอนนั้น จะปรากฏในพงศาวดารลาวต่อมา
.
ทางด้านเวียงจันทน์ เมื่อกองทัพหลวงแตกกลับคืนไปแล้ว สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้ามีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง นามว่า พระหน่อเมือง ประสูติแต่พระมเหสีผู้เป็นธิดาของพระยาแสนสุรินทร์ (ตำแหน่งเมืองแสน เทียบกับตำแหน่งอัครเสนาบดีฝ่ายกลาโหมของไทย) ขณะนั้นพระราชโอรสมีพระชนม์เพียง 5 ชันษา พระยาแสนสุรินทร์ (นามเดิมว่า จัน เป็นบุตรกวานบ้านหนองคาย) จึงเข้าสำเร็จราชการแทน พระยาจันสีหราช (หรือพระยาจันกองนาง ตำแหน่งเมืองจันทน์ เทียบตำแหน่งอัครเสนาบดีฝ่ายมหาดไทยของไทย) จะอภิเษกพระหน่อเมืองขึ้นเป็นพระเจ้าเวียงจันทน์ตามราชประเพณี พระยาแสนสุรินทร์ไม่ยอม ฆ่าพระยาจันสีหราชเสีย แล้วประกาศตัวขึ้นเป็นพระเจ้าเวียงจันทน์ ใช้พระนามว่าพระสุมังคลอัยโกโพธิสัตว์ แสนสุรินทรฦๅชัย คนทั่วไปเรียกว่าพระเจ้าตาหลาน คงจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงทรงประทับและใกกองทัพอยู่ที่เมืองไซยะเสดถา หมายจะยกกลับไปเอาราชบัลลังก์คืน หากแต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน
.
ในพงศาวดารลาวกล่าวต่อไปว่า เมื่อพระยาแสนสุรินทร์ชิงราชบัลลังก์แล้ว หัวเมืองเห็นว่าเป็นไพร่ต่างไม่ยอมรับอำนาจ ตั้งแข็งเมือง กระด้างกระเดื่องไม่มาอ่อนน้อม ชาวพระนครในแขวงเวียงจันทน์แตกหนีกระจัดกระจาย ข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งขวาและทางใต้ตั้งแต่แขวงเมืองร้อยเอ็ดจนไปถึงจำปาสักแทรกอยู่กับชนพื้นเมืองกวยและข่าเป็นจำนวนมาก เสนาอำมาตยไม่เต็มใจทำราชการ บ้านเมืองระส่ำระสาย พระเจ้าแผ่นดินกรุงหงสาวดียกกองทัพมาเอานครเวียงจันทน์ได้โดยง่าย พระสุมังคลอันโกฯ นั่งเมืองได้ 2 ปี ถึง พ.ศ.2117 เสียงกรุงเวียงจันทน์ให้กับพระเจ้าหงสาวดี จับเอาพระสุมังคลอัยโกและพระหน่อเมืองกลับไปหงสาวดี แล้วโปรดให้พระมหาอุปราชวรวังโส พระราชอนุชาสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชกลับมาปกครองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.2118 ในฐานะเมืองประเทศราชส่งส่วยหงสาวดีเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา
.
ถึง พ.ศ.2120 มีพระภิกษุรูปหนึ่งอ้างตัวว่าเป็นสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ยกกองทัพข่าและกวยยกขึ้นตีเมืองมั่น เมืองทองคำ ได้ทุกเมือง ประชาชนและแม่ทัพนายกองลาวเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก แล้วยกขึ้นตีเมืองละคร จนถึงเวียงคุก สมเด็จพระมหาอุปราชวรวังโสเห็นว่าจะรักษาเมืองไม่ได้ พาเอามเหสีและราชธิดา 2 องค์ เสด็จหนีจะไปหงสาวดี ไปถึงแก่งกลางแม่น้ำโขงแห่งหนึ่ง เรือล่มจมน้ำสิ้นพระชนม์ทั้งสิ้น กองทัพข่าและกวยยกเข้าตั้งในนครเวียงจันทน์ เหตุการณ์นี้แสดงถึงความเข้มแข็งยิ่งใหญ่ของกองทัพข่าและกวย ซึ่งจะเป็นมูลเหตุในการตั้งราชอาณาจักรต่อมา
.
ฝ่ายหงสาวดีถือว่าเวียงจันทน์เป็นเมืองขึ้นของตน ก็ส่งกองทัพมาปราบปรามกบฏข่าและกวย กองทัพข่าและกวยก็ถอยกลับไปที่แขวงอัตตะปือ พระเจ้าหงสาวดีโปรดฯ ให้พระสุมังคลอัยโกโพธิสัตว์ พระยาแสนสุรินทรฦๅชัย กลับมาปกครองเวียงจันทน์อีกครั้งใน พ.ศ.2123 และเกิดความวุ่นวายต่อมาอีกหลายปี เวียงจันทน์ไม่มีกำลังพอจะยกลงมาทำศึกกับหัวเมืองทางใต้ ชนชาติข่าและกวยก็ขาดจากอำนาจของเวียงจันทน์ตั้งแต่นั้นมา
.
ความอ่อนแอของเวียงจันทน์ ประกอบกับความเข้มแข็งของกองทัพข่าและกวยที่ปรากฏในพงศาวดาร ชนพื้นเมืองทางใต้จึงตั้งเป็นเอกราชตั้งราชอาณาจักรขึ้น ชาวกวยเอาราชธานีเก่าของพวกขอมเป็นที่มั่น ในพงศาวดารนครจำปาสัก ฉบับพระพรหมเทวานุเคราะห์ กล่าวว่าปฐมกษัตริย์ของราชอาณาจักรนี้มีนามว่าพระยากมมะทา ปรากฎชื่อในพงศาวดารว่า “นครกาลจามบากนาคบุรีศรี” ซึ่งพระยาประกิจกรจักร์ (แช่ม) ให้ความหมายว่า นคร-เมือง กาล-ดำ จาม-จาม บาก-พราก หนี รวมความว่า เมืองที่จามดำ (คือขอม) ทิ้งไว้
.
นครกาลจามบากนาคบุรีศรี มีกษัตริย์ปกครองเรื่อยมา จนถึงรัชกาลของพระเจ้าสุทัศราชาก็สิ้นเชื้อพระวงศ์ โดยมีเค้าในพงศาวดารนครจำปาสัก ฉบับ ม.ร.ว.ปฐม คเนจร ว่า … ครั้นพิราลัยแล้วเจ้าสุทัศนราชาผู้บุตรได้ครองเมืองต่อมาจนถึง จุลศักราช 1000 ปี (พ.ศ.2181) พิราลัยไม่มีบุตร ประชุมชนจึงยกผู้มีตระกูลผู้หนึ่งนามไม่ปรากฏ ขึ้นเป็นผู้อำนวยการบ้านเมืองได้ 6 ปี ก็ถึงแก่กรรม นางแพงบุตรนางเภาหลานได้เป็นหัวหน้าอำนวยการบ้านเมืองต่อมา ….
.
จนกระทั่งเจ้าราชครูโพนสเม็ก ได้อัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์เชื้อวงศ์ลาวเวียงจันทน์มาปกครองนครกาลจามบากนาคบุรีศรี เมื่อ พ.ศ.2256 ราชาภิเษกเป็นเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธรางกูร เปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็นนครจำปาสัก ราชอาณาจักรกวยตั้งเป็นเอกราชตั้งแต่ พ.ศ.2123 จนกลายเป็นเมืองลาวใน พ.ศ.2256 รวมระยะเวลา 123 ปี
.
ราชอาณาจักรกวยมีพื้นที่กว้างขวาง ปรากฏในพงศาวดารนครจำปาสักว่า ทิศตะวันตกจรดแดนอยุธยาที่ลำกะยุงพิมาย ทิศตะวันออกจดแดนญวนที่เทือกเขาบรรทัด ทิศใต้คงจะถึงเชียงแตงหรือสตึงเตรง ที่โปรดให้ท้าวสุดไปปกครอง ทิศเหนือถึงสาละวันที่โปรดฯให้ท้าวมั่นไปปกครอง ดินแดนที่อ้างถึงนี้สันนิษฐานว่าเป็นราชอาณาจักรกวยที่นางแพงปกครองอยู่ก่อน แล้วมอบเวนอำนาจให้กับเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธรางกูรต่อมา ปรากฎในพงศาวดารนครจำปาสักตอนเจ้าศรีสร้อยสมุทรพุทธรางกูรตั้งเจ้าเมือง ว่า
…..แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุท ฯ
– ให้จารหวดเป็นนายอำเภอรักษาบ้านดอนโขง ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในลำแม่น้ำโขง (คือที่เรียกว่าเมืองศรีทันดรบัดนี้)
– ให้ท้าวสุดเป็นพระไชยเชษฐ์รักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกอง ซึ่งอยู่ฝั่งโขงตะวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้)
– ให้จารแก้วเป็นนายอำเภอรักษาบ้านทง (ภายหลังเรียกบ้านเมืองทงคือเมืองสุวรณภูมิบัดนี้) ให้จันสุริยวงศ์เป็นอำเภอรักษาบ้านโพนสิมเมืองตะโปนเมืองพินเมืองนอง
– ให้นายมั่นบ่าวเดิมของนางแพง เป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพน (ภายหลังเรียกว่าเมืองมั่นคือเมืองศาลวันเดี๋ยวนี้)