1 พ.ย. 2020 เวลา 12:41 • ประวัติศาสตร์
ตำนานก๋วยเตี๋ยว
เป็นหนึ่งในอาหารประเภทเส้นของจีนที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าโดยมากจะลวกให้สุกในน้ำเดือด สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาใส่เครื่องปรุงชนิดต่างๆ นิยมรับประทานทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง นิยมใช้ตะเกียบเป็นเครื่องมือช่วยรับประทาน
คำว่า "ก๋วยเตี๋ยว" อาจจะมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยนหรือภาษาจีนแต้จิ๋วคำว่า 粿条/粿條 โดยแต้จิ๋วอ่าน "ก๋วยเตี๊ยว" ฮกเกี้ยนอ่าน "ก๊วยเตี๋ยว" ส่วนในจีนกลางจะอ่านว่า "กั่วเถียว" (guǒtiáo) แปลว่า เส้นข้าวสุก เป็นคนละคำกับ 粉条/粉條 (fěntiáo) ที่หมายถึงวุ้นเส้น หรือ 面条/麵條 (miàntiáo) ที่หมายถึงบะหมี่
ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารประเภทเส้นของชาวจีนแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน มีลักษณะคล้ายกับป่านเถียว (粄条/粄條, bǎntiáo) ของชาวจีนฮากกา, เหอเฝิ่น (河粉, héfěn) ของชาวจีนกวางตุ้ง เฝอของชาวเวียดนาม และข้าวซอยก็นับเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือของไทย ส่วนก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ใส่เส้นจะเรียกว่า เกาเหลา
สันนิษฐานกันว่าก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยมีมาเมื่อประมาณสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากมาย และชาวจีนก็ได้นำเอาก๋วยเตี๋ยวเข้ามากินกันในเรือ โดยต้มในน้ำซุป มีการใส่หมู ใส่ผักและเครื่องปรุงเพื่อความอร่อย แต่สำหรับคนไทยแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในยุคนั้น และได้นำมาประกอบเป็นอาหารอื่นๆ บริโภคกันจนมีความเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และเริ่มมีการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทย
ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายรัฐนิยมที่สนับสนุนให้ประชาชนบริโภคก๋วยเตี๋ยว ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่าหากประชาชนหันมาร่วมกันบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจของชาติในตอนนั้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนในประเทศ ดังคำกล่าวของจอมพล ป. ในสมัยนั้นว่า
อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์ต่อ ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละ หนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยขน์เต็มที่ในค่าของเงิน
— จอมพล ป.พิบูลสงคราม
สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงหลังสงครามครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างในคนทุกระดับชั้น การรณรงค์ให้บริโภคก๋วยเตี๋ยวถือว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัยนั้น เดิมจะไม่มีการใส่ถั่วงอกลวกในก๋วยเตี๋ยว ซึ่งการใส่ถั่วงอก เกิดจากแนวความคิดและนโยบายของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เพราะถั่วงอกเพาะปลูกได้ง่ายและใช้พื้นที่น้อย
ชนิดของเส้นก๋วยเตี๋ยว
เส้นหมี่ หรือภาษาท้องถิ่นบางที่เรียก "หมี่ขาว" หรือ "เส้นหมี่ขาว" เพื่อป้องกันการสับสนระหว่างบะหมี่ ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า เป็นเส้นเรียวเล็ก ยาว มักใช้เครื่องจักรผลิต ก่อนนำมาทำอาหาร ต้องนำไปแช่น้ำเสียก่อน
เส้นเล็ก ลักษณะกว้างกว่าเส้นหมี่ และตัดเป็นท่อนๆ เพื่อความง่ายในการรับประทาน เมื่อลวกเสร็จแล้วจะเหนียวกว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวอื่นๆ มักจะใช้นำไปทำผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก
เส้นใหญ่ มีขนาดความกว้างกว่าเส้นเล็ก ประมาณ 3-4 เท่าตัว เมื่อลวกเสร็จแล้วจะนิ่ม รับประทานง่าย มักนำไปทำก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ผัดซีอิ๊ว เย็นตาโฟ และราดหน้า
กวยจั๊บ เส้นมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยม เมื่อนำไปต้มในน้ำร้อนก็จะม้วนตัวเป็นหลอด
เกี๊ยมอี๋ ลักษณะคล้ายลอดช่อง มีสีขาว มักทำเป็นก๋วยเตี๋ยวเกี๊ยมอี๋
อาหารเส้นของชาติต่างๆ
อาหารประเภทเส้นนอกจากก๋วยเตี๋ยวในอาหารไทยแล้ว ยังพบในอาหารของชาติอื่นอีก ดังนี้
จีน ส่วนใหญ่เป็นบะหมี่น้ำบะหมี่แห้ง มีหลายรูปแบบและหลายรสชาติตามภาคต่างๆของประเทศ
ญี่ปุ่น อาหารประเภทเส้นของญี่ปุ่นมีหลายแบบ ได้แก่
โซบะ ลักษณะของเส้นใหญ่กว่าเส้นบะหมี่ธรรมดา ทำจากบักวีตผสมแป้งสาลี
ราเม็ง ทำจากแป้งสาลีผสมไข่ นิยมทำเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำ มีหลายแบบตามเครื่องที่ราดบนหน้า
อุด้ง ทำจากแป้งสาลีผสมเกลือและน้ำ ไม่ใส่ไข่
เกาหลี มีเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น เส้นแนงเมียน ทำจากบักวีตผสมแป้งมันฝรั่ง ดาวเมียน ทำจากแป้งมันเทศ เป็นต้น
เวียดนาม เรียกเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าว่า เฝอ ส่วนเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าหมักเคลือบด้วยแป้งมันสำปะหลังเรียก จ๋าว คนไทยเรียกจ๋าวว่าก๋วยจั๊บญวน
ลาว พบทางชายแดนที่ติดกับจีน ซึ่งชาวไทลื้อและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีข้าวซอยแบบเดียวกับชาวไทใหญ่และชาวไทลื้อในจีน
พม่า มีอาหารเส้นที่คล้ายข้าวซอยของทางภาคเหนือของไทย เรียกเข้าโซย ได้รับอิทธิพลจากชาวไทใหญ่
ชาวมลายูในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีอาหารเส้นเรียกละก์ซา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก lakhsha ในภาษาเปอร์เซีย ละก์ซาในแต่ละถิ่นจะต่างกันไป เช่น ละก์ซาในรัฐกลันตันคล้ายขนมจีนน้ำยาของไทย ส่วนละก์ซาปีนังใช้เส้นหมี่ขาว ละก์ซาเลอมักใช้เส้นที่คล้ายจ๋าวของเวียดนาม เป็นต้น
ฟิลิปปินส์ เรียกอาหารเส้นว่าปันสิด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคนจีนที่เข้ามาค้าขายในฟิลิปปินส์ คำว่าปันสิด มาจาก pan it sit ในภาษาจีนฮกเกี้ยน
อิตาลี อาหารเส้นที่มีชื่อเสียงคือพาสตา อาจจะมาจากขนมปังสมัยกรีก-โรมันหรือจาก lakhsha ของชาวอาหรับ พาสตาของอิตาลีมีหลายแบบ แบบหนึ่งที่เป็นที่รู้จักทั่วไปคือ มะกะโรนี
ไทย ก๋วยเตี๋ยวโบราณ มีจุดเด่นที่น้ำซุป ที่ทำจากเครือเทศและสมุนไพร เรียกว่าน้ำซุปคือหัวใจหลักของ ก๋วยเตี๋ยวโบราณ และได้พัฒนาเป็นสิ่งที่คนนิยมพูดการว่าก๋วยเตี๋ยวเรือโบราณ
ชนิดของอาหารที่ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยว แก้ไข
มีมากมายดังนี้
ก๋วยเตี๋ยวหมู ไก่ เป็ด เนื้อ ปลา
เย็นตาโฟ
ก๋วยเตี๋ยวเรือ หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำตก
ก๋วยเตี๋ยวคั่ว
ผัดซีอิ๊ว
ก๋วยจั๊บ
ผัดไทย หรือ ผัดไท
ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย หรือ ก๋วยเตี๋ยวชากังราว
ราดหน้า
แป้หม่าเก่า Ancient Phrae # อนุรักษ์ สืบสาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต เมืองแพร่
No History no Future
@jakarat
ที่มาข้อมูล https://th.m.wikipedia.org/wiki
ที่มาภาพ แฟนเพจ 50+
โฆษณา