Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Reporter Journey
•
ติดตาม
1 พ.ย. 2020 เวลา 16:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ
GSP คืออะไร มันแย่จริงหรือไม่ที่โดนตัดสิทธิ์
วิธีแก้เกมส์ ปรับกระบวนท่าอย่างไรให้รอด
กลายเป็นข่าวคึกโครมข้ามวันข้ามคืนเลยทีเดียว เมื่อสหรัฐฯ สั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย โดยจะส่งผลต่อมูลค่าการค้าประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยคำสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่จู่ๆ ก็ฟาดแซ่อำนาจที่กำลังจะหมดในมืออีกไม่กี่วันก่อนถึงการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐฯ ก็มาจากการที่ไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องเทศที่ใส่สารเร่งเนื้อแดง หรือแรปโตพามีน ให้เข้ามาขายในไทย ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่ไม่อยากจะรับเนื้อสัตว์ใส่สารเร่งของสหรัฐฯ เข้ามาจำหน่าย และก็โดนสหรัฐฯ ใช้ไม้นี้เล่นงานกลับไปหลายประเทศเช่นกัน
แต่ก่อนจะไปรู้ถึงรายละเอียดว่ามันเกิดอะไรขึ้นทำไมไทยถึงโดนตัดสิทธิ GSP ขออธิบายก่อนว่า GSP มันคืออะไรแบบกระชับ
GSP หรือ Generalized System of Preference เป็นสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษีศุลกากรที่ประเทศมหาอำนาจในกลุ่มชาติพัฒนาอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จะให้สิทธิกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาที่เป็นชาติสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO โดยจะได้ใช้สิทธิภาษีนำเข้าที่ต่ำลงกว่าปกติ เพื่อให้สามารถแข่งขันทางการค้าได้โดยไม่โดนกีดกันด้วยกำแพงภาษี
เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศแต่ละแห่งบนโลกใบนี้มีการพัฒนาที่เร็วหรือช้าแตกต่างกัน ประเทศไหนที่พัฒนามากกว่าก็จะมีพลังอำนาจในการค้าขายหรือทำธุรกิจได้มากกว่า แต่ประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าที่มีข้อจำกัดเรื่องของเทคโนโลยี อำนาจการค้า หรือชื่อชั้นบนเวทีการค้าโลก ก็อาจจะไม่มีสิทธิ์ในการแข่งขันทางการค้าได้เลยหากไม่มีการใช้กระบวนการทางภาษีพิเศษนี้เข้ามาช่วย
1
แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบต่อประเทศคู่ค้าที่อยู่นอกสิทธิ์ GSP เช่นกัน เรียกได้ว่าก็ช่วยๆ กันไปทั้งมหาอำนาจ และชาติลูกกระจ๊อกทั้งหลาย
ซึ่งความไม่พอใจของทรัมป์ครั้งนี้ทำให้สินค้าไทยโดนตัดสิทธิ์ GSP สูงถึง 200 รายการ จากประมาณกว่า 500 รายการ พอสินค้าที่โดนตัดสิทธิ์และจะวางจำหน่ายในสหรัฐฯ ก็ต้องเจอกับกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต้นทุนการส่งออก และการแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ นั่นเอง
แต่นี่คือเหตุผลที่ทรัมป์ตัดสินใจติดสิทธิ์ GSP ไทยในครั้งนี้ แต่จริงๆ แล้วมันก็มีเรื่องอื่นๆ ที่มาประกอบกัน ซึ่งในอดีตมีการเคยติดสิทธิ์มาก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าใครจำกันได้ในช่วงที่ไทยโดนทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โจมตีในเรื่องของการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม มีการใช้แรงงานเด็ก และการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานต่างด้าว ซึ่งทำให้ไทยถูกลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ลงไปอยู่ Tier 3 โดยเป็นระดับที่ต่ำที่สุด ซึ่งตอนนั้นก็เป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต เพราะมันกระทบต่อภาคการผลิต การเกษตร และการประมงของไทยอย่างมหาศาล ทำให้ไทยต้องเร่งออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายฉบับสำหรับแรงงานไทยและต่างด้าวเลยทีเดียว เพื่อสร้างความมั่นใจกับประเทศคู่ค้าให้เห็นว่าไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว
1
กระทั่งไทยได้เลื่อนขึ้นมาจาก Tier 3 สู่ Tier 2 Watch List ในสายตาของสหรัฐฯ ที่มองไทยดีขึ้นมาเล็กน้อยในเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงาน แต่ก็ยังอยู่ในกลุ่มที่ต้องจับตาเฝ้าระวังเป็นพิเศษอยู่
ส่วนสหภาพยุโรปก็ยกเลิกใบเหลืองที่เคยเตือนไทยเรื่องสิทธิแรงงานต่างด้าวชาวประมงเช่นกัน
แต่ประเด็นก็คือ ภายใต้เงื่อนไขที่ไทยจะต้องปรับตัวให้เป็นไปตามที่ประเทศคู่ค้าต้องการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแล้ว มันก็จะมีการแฝงเรื่องข้อเรียกร้องต่างๆ ในการบีบให้นำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้ามหาอำนาจนี่แหละที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นการยากที่จะปฏิเสธ เพราะหากปฏิเสธไปก็อาจจะโดนเล่นแง่อีกได้ เพราะประเทศเล็กๆ ที่ต้องค้าขายกับต่างชาติระดับมหาอำนาจก็มักจะเสียเปรียบในตรงนี้อยู่ร่ำไป
ถึงอย่างไรอำนาจการต่อรองก็อยู่ในมือรายใหญ่เต็มๆ อยู่แล้ว รวมทั้งการจะระงับและยกเลิกสิทธิพิเศษได้หากประเทศที่ได้รับสิทธิไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ดังนั้นเราต้องตระหนักว่า “GSP จึงไม่ใช่สิทธิพิเศษถาวร” เขาจะให้หรือจะเลิกให้เมื่อไหร่ก็ได้
ต้องยอมรับว่า GSP เป็นประเด็นท้าทายสําคัญสําหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เคยใช้สิทธิ GSP ในการส่งออกไปสหรัฐฯ อาจจะได้รับกระทบประมาณหนึ่ง จึงต้องรีบปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการถูกตัด GSP และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยการใช้นวัตกรรมมากขึ้น รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพเป็นทางหนีไฟเอาไว้
นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพควรพิจารณาลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV ที่ยังคงได้สิทธิ GSP เพื่อใช้เป็นฐานผลิตสำหรับการส่งออก อาจฟังดูแล้วเหมือนวิ่งหนีไปหาที่อยู่ใหม่ แต่ไม่ช้าไทยก็ต้องโดนตัด GSP อยู่แล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อประเทศพัฒนาสูงขึ้น มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จะมานั่งกอดสิทธิ์ GSP ที่ไม่ใช่ของเราตลอดไปก็คงยาก ดังนั้นก็ต้องหาทางขยับขยาย สร้างฐานทัพใหม่แทน หากธุรกิจใดยังจำเป็นต้องพึ่งพาสิทธิทางภาษีนี้อยู่ อีกทั้งยังได้ประโยชน์ในด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าในไทยอีกด้วย หากมองสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในประเทศผู้นําเข้าเป็นปัจจัยในการขยายตลาด
นอกจาก GSP แล้วก็ควรพิจารณาใช้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งหมายถึงเขตการค้าเสรีหรือข้อตกลงทางการค้าเสรี นั่นคือ ประเทศคู่ค้าทั้งสอง หรือหลายประเทศจะรวมกลุ่มกันเพื่อทําการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็น 0 และใช้อัตราภาษีที่สูงกับประเทศนอกกลุ่ม โดยปัจจุบันมี FTA ที่ไทยได้ลงนามและมีผลบังคับใช้แล้วหลายเขต การค้า เช่น ในกลุ่มอาเซียน หรือระหว่างอาเซียน - จีน ไทย - อินเดีย ไทย - ออสเตรเลีย ไทย - นิวซีแลนด์ และ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และอยู่ในระหว่างการดําเนินการอีกหลายแห่ง เช่น ระหว่างไทย - BIMSTEC อาเซียน - อินเดีย ไทย - สหรัฐฯ และไทย - เปรู เพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ กระจายความเสี่ยงออกไปให้ต่ำที่สุด เพราะการเลือกคู่ค้าเฉพาะเจาะจงอยู่ที่เดียว มันมีความเสี่ยงหากเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะแบบนี้ และมันจะทำให้ไม่มีทางหนีไฟสำรองไว้เอาตัวรอด
1
8 บันทึก
18
2
8
8
18
2
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย